19 ต.ค. 2021 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
NBA 104 - ประวัติย่อของทีม NBA ตอนที่ 26 - Sacramento Kings
ประวัติทีม Sacramento Kings
ฝั่งที่สังกัด - ฝั่งตะวันตก Pacific Division
ปีที่ก่อตั้ง - 1923
ชื่อเดิม -
Rochester Seagrams (1923-1942)
Rochester Eber Seagrams (1942-1943)
Rochester Pros (1943-1945)
Rochester Royals (1945-1957)
Cincinnati Royals (1957-1972)
Kansas City-Omaha Kings (1972-1975)
Kansas City Kings (1975-1985)
Sacramento Kings (1985-ปัจจุบัน)
สถานที่ตั้ง - เมือง Sacramento รัฐ California
ชื่อสนามเหย้า - Golden 1 Center
เจ้าของทีม - Vivek Ranadivé
CEO - Vivek Ranadivé
GM (General Manager) - Monte McNair
HC (Head Coach) - Luke Walton
ทีมสังกัดใน G-League - Stockton Kings
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ลีก - 1 (1951)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ฝั่งทวีป - 0
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ Division - 5 (1949, 1952, 1979, 2002, 2003)
จำนวนเบอร์เสื้อที่ทำการ Retired - 11 (1, 2, 4, 6, 11, 12, 14, 16, 21, 27, 44)
ประวัติทีมโดยสังเขป
ทีมได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 ในชื่อว่า Rochester Royals และเป็นหนึ่งในทีมสังกัดของลีก NBL (National Basketball League)
Royals 1946 Logo
หลังจากนั้นในปี 1949 ทางลีก BAA (Basketball Association of America) ก็ได้ทำการรวมลีก NBL เข้ามาอยู่ในสังกัด ภายใต้ชื่อใหม่อย่าง NBA ทำให้ทีม Royals กลายเป็นหนึ่งในทีมที่ได้เข้าร่วมกับลีก NBA อย่างเป็นทางการร่วมกับ Pistons, และ Lakers นับตั้งแต่นั้น รวมไปถึง Indianapolis Jets ก่อนที่จะยุบทีมไปหลังฤดูกาล 1948/49 ได้สิ้นสุดลง)
นับว่าเป็นโชคร้ายของทีมที่หลังการจัด Division ทำให้ทีมต้องมาอยู่ร่วมกับ Lakers ที่มักจะทำผลงานได้ดีกว่ามาโดยตลอด แต่อย่างน้อยทีมก็มุ่งมั่นพยายามจนคว้าแชมป์ลีกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) ในฤดูกาล 1950/51 จากการเอาชนะ Knicks ไปได้ในรอบชิงแชมป์ลีกนั่นเอง
แชมป์ประวัติศาสตร์ในฤดูกาล 1950/51
เพียงแต่ว่าการคว้าแชมป์นั้น ก็ไม่ทำให้ปัญหาการเงินของทีมที่มีมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เข้าร่วมลีก NBA ใหม่ๆ ให้หายไปแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะทำการเปลี่ยนสนามเหย้าในปี 1955 เพื่อให้สามารถรองรับที่นั่งเข้าชมได้มากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้
จนกระทั่งในฤดูกาล 1956/57 ที่ทางลีกได้เริ่มกดดันเจ้าของทีมให้ทำการขายทีมออกไปให้กับคนอื่นที่มีความพร้อมมากกว่านี้ แต่ทางเจ้าของทีมก็ได้พยายามแก้ปัญหาโดยการย้ายเมืองไปสู่ Cincinnati แทนในปี 1957 พร้อมกับได้รับโอกาสให้บริหารทีมจากทางลีกได้ต่อไป
จุดกำเนิดสุดยอดเพื่อนซี้ Twyman-Stokes
หลังจากที่ทำการย้ายเมืองพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Cincinnati Royals ในปี 1957 ซึ่งสาเหตุที่เลือกเมืองนี้ส่วนหนึ่งมาจากผู้เล่นในทีมบางคนได้แนะนำมา เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีการก่อตั้งทีมบาสระดับมหาวิทยาลัยที่มีฐานแฟนคลับค่อนข้างแน่นหนา รวมไปถึงยังไม่มีทีมจากลีก American Games ระดับอาชีพได้ถูกก่อตั้งขึ้นในเมืองนี้อีกด้วย
ในฤดูกาล 1957/58 ทีมกลับต้องเผชิญโชคร้ายอย่างใหญ่หลวง เมื่อหนึ่งในผู้เล่นแกนหลักของทีมอย่าง Maurice Stokes เกิดการกระทบกระเทือนที่ศีรษะในระหว่าง Playoffs เกมแรกที่ต้องไปเยือน Pistons แถมยังอาการหนักขึ้นหลังจากเดินทางกลับหลังจากไปเยือนในเกมที่สอง อาการหนักจนกระทั่งไม่สามารถลงเล่นได้อีก กลายเป็นอัมพาต และต้องอยู่ในโรงพยาบาลนับตั้งแต่นั้น
ซึ่งในระหว่างที่ Stokes ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น เพื่อนร่วมทีมที่เป็นแกนหลักอีกคนอย่าง Jack Twyman ได้คอยดูแลและช่วยเหลือ Stokes เป็นอย่างดีเสมอมา เริ่มจากการที่จัดการแข่งนัดพิเศษเพื่อหาทุนค่าใช้จ่ายการรักษาตั้งแต่ปี 1958 เป็นต้นมา โดยมีนักกีฬาหลายรายคอยช่วยเหลือระดมทุนรวมไปถึงทางลีก NBA ด้วย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Maurice Stokes Memorial Basketball Game และกลายเป็น Maurice Stokes/Wilt Chamberlain Celebrity Pro-Am Golf Tournament ในช่วงเวลาถัดมา
หลังจากที่ต้องยื้อกับอาการอัมพาตและกระทบกระเทือนทางสมองมานานกว่า 12 ปี สุดท้ายแล้ว Stokes ก็ต้องเสียชีวิตลงในปี 1970 ด้วยวัยเพียง 36 ปีเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์สุดสลดจากอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ทางทีมได้ให้เกียรติ Retired เสื้อเบอร์ 12 ที่เขาใส่นับตั้งแต่นั้น พร้อมกับการที่ทั้งสองคนได้เข้าสู่ Hall of Fame ในภายหลังอีกด้วย
นอกจากนั้นทางลีกยังต้องการที่จะให้เกียรติประวัติในการกระทำของ Twyman ที่คอยดูแลเพื่อนมาตลอด 12 ปีจนกระทั่งเสียชีวิตได้คงอยู่ต่อไป ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา จึงมีการจัดรางวัลที่เรียกว่า NBA Twyman-Stokes Teammate of the Year Award ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของคู่ซี้คู่นี้นั่นเอง ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้กับเพื่อนร่วมทีมในอุดมคติที่ผู้เล่นแต่ละคนอยากได้มาร่วมทีมด้วยในแต่ละฤดูกาลนั่นเอง
สำหรับรายละเอียดของเรื่องนี้ สามารถติดตามได้จากสารคดีที่ทางลีกได้ปล่อยออกมาในภายหลังตามด้านล่างนี้ได้เลยครับ
หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับ Stokes ผลที่ตามมานอกจากฟอร์มในสนามที่หายไปแล้ว ยังมีเพื่อนร่วมทีมอีกหลายคนที่ไม่สามารถรับได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ทำให้มีหลายคนที่ตัดสินใจออกจากทีมหลังจากที่ฤดูกาล 1957/58 ได้จบลง พร้อมกับการที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีม ทำให้ในฤดูกาล 1958/59 ทีมต้องลงเล่นโดยมีผู้เล่นดาวรุ่งถึง 5 คนอยู่ในทีม ซึ่งผลงานก็ถือว่าดรอปลงไปอย่างน่าเสียดาย
ยุคของ Oscar Robertson
ในปี 1960 ทีมได้ว่าที่สุดยอดผู้เล่นอย่าง Oscar Robertson เข้าสู่ทีม และกลายเป็นแกนหลักของทีมในระยะยาวต่อเนื่องจากนั้นอีกหลายปี
Oscar Robertson
ในช่วงสามปีแรกที่เขาได้ลงเล่น (1960-1963) เขาได้ร่วมผนึกกำลังกับ Twyman และ Jerry Lucas ที่เข้าทีมมาในปี 1963 สร้างสถิติเป็นผู้นำทั้งในด้านการทำแต้มและ Assists ต่อเกม และทำให้ทีมค่อยๆ กลับมาเข้าสู่รอบ Playoffs ได้อีกครั้ง แต่น่าเสียดายที่ทีมไปได้ไกลที่สุดที่รอบชิงแชมป์สายในฤดูกาล 1962/63 เพียงเท่านั้น
หลังจากนั้นในปี 1964 ทีมก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แกนหลักหลายคนถูกปล่อยตัวออกจากทีม ส่วนหนึ่งมาจากทีมต้องยอมลดค่าใช้จ่ายในด้านของเพดานค่าเหนื่อยลง ทำให้แกนหลักเหลือเพียง Robertson และดาวรุ่งอย่าง Lucas เท่านั้น แต่เจ้าตัวก็ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมจนสามารถคว้ารางวัล MVP ประจำฤดูกาลมาครองได้สำเร็จ
จนกระทั่งในปี 1969 ทีมได้ตัดสินใจ Trade Lucas ออกไปให้กับ Warriors ในปี 1969 และส่ง Robertson ไปให้กับ Bucks ในปี 1970 ปิดฉากช่วงเวลาที่สุดยอดของเขากับทีมลงแต่เพียงเท่านี้ หลังจากที่ทำสถิติมากมายให้กับทีมมาตลอดหลายปีที่อยู่ด้วยกันมา
Kansas City Kings
ในปี 1972 ทีมได้มีการย้ายเมืองอีกครั้ง คราวนี้ได้ไปสู่เมือง Kansas City พร้อมกับเปลี่ยนชื่อทีมเป็น Kings เพื่อไม่ให้สับสนกับทีมเบสบอลที่ใช้ชื่อเดียวกัน เพียงแต่ว่าช่วงแรกทีมยังใช้ชื่อว่า Kansas City–Omaha Kings และมีการเฉลี่ยแบ่งสนามเหย้าของทั้งสองเมืองร่วมกันในช่วงแรกที่ทำการย้ายทีม
หลังจากที่แกนหลักเดิมทั้ง Lucas และ Robertson ได้ออกจากทีมไป ทีมก็ได้ Nate Archibald ที่โชว์ฟอร์มดีขึ้นเรื่อยๆ จนได้กลายเป็นแกนหลักใหม่ของทีมแทนที่ทั้งสองคนตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมานั่นเอง
Nate Archibald
น่าเสียดายที่ตลอด 6 ปีที่อยู่กับทีม หลังจากที่สองแกนหลักเดิมได้ย้ายออกไปแล้ว ทีมกลับได้เข้ารอบเพียงแค่ฤดูกาล 1974/75 เพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น และฤดูกาลนี้ยังเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่ใช้สนามเหย้าทั้งสองเมืองอีกด้วย ก่อนที่หลังจากนั้นจะปักหลักใช้เพียงสนามเหย้าเดียว พร้อมกับตัดชื่อออกเหลือเพียง Kansas City Kings นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สุดท้ายแล้วในฤดูกาล 1976/77 เจ้าตัวก็ถูกปล่อยไปให้กับ Nets ในที่สุด ปิดฉากแบบไม่สวยหรูสักเท่าไหร่ ทั้งที่มีผลงานส่วนตัวในระดับที่ดีมากขนาดนี้
หลังจากนั้นทีมก็มีการเปลี่ยนชุดผู้เล่นและโค้ชอีกจำนวนมาก จนกระทั่งมาถึงฤดูกาล 1978/79 ภายใต้การคุมทีมของ Cotton Fitzsimmons และดาวรุ่งประจำฤดูกาลอย่าง Phil Ford พร้อมทั้งผู้เล่นมากฝีมืออย่าง Otis Birdsong ที่ร่วมกันพาทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 48-34 พร้อมทั้งคว้าแชมป์ Division ได้สำเร็จในรอบเกือบ 30 ปี แต่น่าเสียดายที่ต้องตกรอบ Playoffs ไปอย่างรวดเร็ว
ทีมยังสามารถทำผลงานเข้ารอบ Playoffs ได้อีกในสองฤดูกาลถัดมา ซึ่งในฤดูกาล 1980/81 ทีมสามารถไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย ก่อนที่จะถูก Rockets เขี่ยตกรอบไปแบบสู้ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
โชคร้ายที่หลังจากนั้น ทีมกลับไม่สามารถทำผลงานกลับขึ้นไปในระดับเดิมได้อีกเลย ยกเว้นฤดูกาล 1983/84 ที่สามารถกลับเข้าไปเล่นใน Playoffs ได้ แต่ก็ถูกกวาดตกรอบแรกแบบเอาชนะไม่ได้เลยแม้แต่เกมเดียว
ทำให้หลังจากทีมจบฤดูกาล 1984/85 ด้วยสถิติเพียงแค่ 31-51 และทีมเริ่มมีปัญหาในด้านค่าใช้จ่าย เนื่องจากฐานแฟนที่มีจำนวนไม่มาก รวมไปถึงการที่ไม่สามารถหา Sponsor มาช่วยได้มากนักเนื่องจากผลงานไม่เอื้ออำนวย สุดท้ายแล้วจึงตัดสินใจย้ายเมืองใหม่ไปอยู่ที่ Sacramento แทน
ย้ายถิ่นฐานสู่ Sacramento
ในฤดูกาล 1985/86 ทีมได้เปิดตัวภายใต้เมืองใหม่เป็นฤดูกาลแรก และทำผลงานได้ถึง Playoffs รอบแรก ซึ่งถือว่าดีกว่าฤดูกาลสุดท้ายของเมืองเดิมพอสมควร แต่นั่นก็ถือเป็นฤดูกาลเปิดตัวที่ดีที่สุดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก่อนที่ทีมจะเริ่มเข้าสู่ยุคมืดเป็นเวลานานหลายปีนับจากนี้...
ทีมพยายามปั้นดาวรุ่งขึ้นมาเพื่อเป็นแกนหลักหลายต่อหลายคน แต่สุดท้ายแล้วก็ไปไม่รอดเลยแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็น Ricky Berry (1988/89) ที่โชคร้ายเกิดเรื่องจนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในเวลาต่อมา Pervis Ellison (1989/90) ที่บาดเจ็บจนได้ลงเล่นแค่ไม่กี่เกมในฤดูกาลแรกของอาชีพ แถมโดนทีมปล่อยทิ้งทันทีที่จบฤดูกาลอีกต่างหาก และ Lionel Simmons (1990/91) ที่ไม่ได้มีปัญหาเหมือนสองคนแรก แต่ก็ไม่ได้แข็งแกร่งพอจะเป็นแกนหลักให้ทีมได้
จนกระทั่งในปี 1991/92 ที่ทีมได้อดีตดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลอย่าง Mitch Richmond เข้าสู่ทีม ก็นับได้ว่าทีมเริ่มมีแกนหลักคนใหม่อย่างจริงจังได้เสียที
Mitch Richmond
ตลอดช่วง 8 ปีที่อยู่กับทีม เจ้าตัวได้โชว์ฟอร์มระดับสุดยอดจนมีชื่อติดทีม All-Star ได้ถึง 6 สมัย แต่น่าเสียดายที่ตลอดช่วงเวลาที่อยู่กับทีม ถึงแม้ว่าทีมจะพยายามเสริมขุมกำลังเพื่อมาช่วยเจ้าตัวขนาดไหนก็ตาม แต่เขาเองก็สามารถพาทีมเข้ารอบ Playoffs ได้เพียงแค่ครั้งเดียวในฤดูกาล 1995/96 แถมยังถูก Sonics (Thunder ในปัจจุบัน) เขี่ยตกรอบแรกอีกต่างหาก
ในที่สุดเจ้าตัวก็ถูก Trade ออกจากทีมไปให้กับ Wizards ในปี 1998 แต่สิ่งนั้นก็ทำให้ทีมเริ่มกลับมาทำผลงานที่ดีได้อีกครั้ง จากการที่ Trade Chris Webber เข้าสู่ทีมมาแทนที่นั่นเอง
ยุคที่ถูกเรียกว่า "The Greatest Show on Court"
การมาของ Webber รวมไปถึงการ Draft ดาวรุ่งอย่าง Jason Williams และการคว้าตัวผู้เล่นที่เล่นอยู่ในลีกต่างชาติอย่าง Vlade Divac และ Peja Stojaković เข้าสู่ทีม พร้อมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านทีมบริหารทั้ง GM ที่กลายเป็น Geoff Petrie รวมไปถึงโค้ชใหม่อย่าง Rick Adelman ทำให้เกิดยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดนับตั้งแต่ย้ายมาที่เมือง Sacramento เกิดขึ้นเลยทีเดียว
Cheis Webber (Cr.Gettyimages)
ในฤดูกาล 1998/99 ที่ทีมชุดนี้ได้เริ่มลงเล่นด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถเข้ารอบ Playoffs ได้ แต่ก็ทำให้ทีมจบฤดูกาลด้วยผลงานที่ดูดีและคงเส้นคงวาขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ทีมเริ่มมีความหวังที่จะกลับมาเฉิดฉายเกิดขึ้นแล้ว
ต่อมาในฤดูกาล 1999/00 ทีมก็สามารถกลับเข้าสู่ Playoffs ได้อีกครั้งหลังจากจบฤดูกาลด้วยสถิติ 44-38 แต่ก็กลับต้องไปแพ้ให้กับจ่าฝูงอย่าง Lakers อย่างรวดเร็วตั้งแต่รอบแรก
ในฤดูกาล 2000/01 ทีมได้ทำการปรับขุมกำลังให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการ Trade เพื่อนำตัวผู้เล่นมากฝีมืออย่าง Doug Christie เข้าสู่ทีม พร้อมกับการขยับตำแหน่งของ Stojakovic ให้ไปเล่น Small Forward และนั่นทำให้ทีมมีผลงานที่ดีมากๆ จบฤดูกาลด้วยสถิติที่สูงถึง 55-27 พร้อมกับเริ่มถูกเรียกขานว่า "The Greatest Show on Court" โดยมีที่มาจากสื่อชื่อดังอย่าง Sport Illustrated
แต่ฤดูกาลที่เริ่มเป็นที่รู้จักในฉายานี้จริงๆ เกิดขึ้นในฤดูกาล 2001/02 ที่ทีมตัดสินใจ Trade Williams ออกไปให้กับ Grizzlies เพื่อแลกกับผู้เล่นอย่าง Mike Bibby ให้เข้ามาเป็นตัวถือบอลหลักแทน และนั่นทำให้ผลงานของทีมในฤดูกาลปกติมีสถิติที่ยอดเยี่ยมมากที่สุดที่ 61-21 และสถิตินี้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
Christie, Bibby, Stojakovic, Webber, Divac ชุดที่ดีที่สุดของ Kings
น่าเสียดายที่ทีมนี้ไม่สามารถไปได้ถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้ ทำได้ดีที่สุดเพียงรอบชิงแชมป์สายตะวันตกเท่านั้น ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Lakers อย่างฉิวเฉียดในเกมที่ 7 ยุติเส้นทางลงอย่างน่าเสียดายสุดๆ
ในฤดูกาล 2002/03 ทีมจึงตั้งใจที่จะกลับมาล้างแค้นให้จงได้ แต่ผลงานโดยรวมกลับไปไม่ถึงจุดนั้น หลังจากที่ Webber ได้รับบาดเจ็บใน Playoffs รอบสองที่พบกับ Mavericks จนทีมแพ้ Series ไปในช่วงท้าย ถึงแม้เจ้าตัวจะกลับมาได้ในช่วงกลางฤดูกาลถัดมา แต่ก็ไม่สามารถผ่านเข้าไปสู่รอบชิงแชมป์สายได้เช่นเดิม และนั่นก็ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคนี้ไปด้วยโดยปริยาย...
เข้าสู่ยุคขาลงของทีม
หลังจากที่จบฤดูกาล 2003/04 มีผู้เล่นแกนหลักถึงหลายคนไม่ได้อยู่กับทีมต่อ เช่น Divac ที่ย้ายไปอยู่กับ Lakers, Christie ที่ไปอยู่กับ Magic และ Webber ที่โดน Trade ไปให้กับ Sixers ในช่วงกลางฤดูกาล 2004/05
ทั้งหมดนี้ทำให้ทีมเริ่มมีผลงานที่แย่ลง เริ่มจากการตก Playoffs รอบแรกในฤดูกาล 2004/05 รวมไปถึงการเปลี่ยนถ่ายผู้เล่นอีกบางส่วนในฤดูกาล 2005/06 ที่ Stojakovic ถูก Trade ไปให้กับ Pacers เพื่อแลกกับ Ron Artest ผู้เล่นมากฝีมือแต่มีปัญหาด้านอารมณ์ร้อน
อย่างไรก็ดี ถึงการมาของ Artest จะทำให้ทีมยังคงสามารถเข้ารอบ Playoffs ได้ แต่หลังจากที่ถูก Spurs เขี่ยตกรอบแรกแล้ว ในฤดูกาล 2005/06 นี้ ยังถือเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่ทีมเข้ารอบ Playoffs ได้ และนับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ทีมยังไม่สามารถกลับเข้าไปสู่จุดนั้นได้อีกเลย...
ในฤดูกาล 2006/07 ทีมจบด้วยสถิติเพียง 33-49 และเป็นฤดูกาลแรกที่ทีมไม่ได้เข้ารอบ Playoffs ทีมจึงพยายามปรับเปลี่ยนขุมกำลังบางส่วน ทำให้ทีมมีผลงานที่ดูดีขึ้นที่ 38-44 ในปีถัดมา ก่อนที่ทีมจะตัดสินใจ Trade ผู้เล่นฝีมือดีแต่มีปัญหาเรื่องวินัยและการคุมอารมณ์อย่าง Artest ออกจากทีม นั่นกลายเป็นจุดที่ทำให้ฟอร์มโดยรวมของทีมดรอปลงอย่างมาก จบฤดูกาล 2008/09 ด้วยสถิติเพียงแค่ 17-65 เท่านั้น
ความพยายามกลับไปสู่จุดสูงสุดที่ล้มเหลว
ในฤดูกาล 2009/10 ทีมได้พยายามมองหาดาวรุ่งที่จะมาเป็นแกนหลักให้กับทีมยุคใหม่ และตัดสินใจเลือก Tyreke Evans เข้าสู่ทีม
Tyreke Evans
เจ้าตัวโชว์ฟอร์มในปีแรกได้สมความคาดหวัง หลังจากที่ฟอร์มดีจนได้รับรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีมาครอบครอง ซึ่งถือเป็นคนแรกของทีมหลังจากที่ย้ายเมืองมาที่ Sacramento กันเลยทีเดียว
จากนั้นในฤดูกาล 2010/11 ทีมได้ตัดสินใจเลือกว่าที่ผู้เล่นมากฝีมืออีกคนอย่าง DeMarcus Cousins เข้ามาช่วยผนึกกำลังกับ Evans อีกคน
DeMarcus Cousins
ถึงแม้ว่าทั้งสองคนจะโชว์ฟอร์มได้ดีเพียงใด แต่ผลงานของทีมโดยรวมก็แทบไม่ได้ดีขึ้นจากเดิมเลย ทีมยังจบฤดูกาล 2010/11 เพียงแค่สถิติ 24-58 เท่านั้นเอง ทีมจึงเริ่มพยายามมองหาตัวที่จะมาเติมเต็มให้กับทีมได้มากขึ้น หลังจากที่ได้แกนหลักในการสร้างทีมระยะยาวมาแล้ว
ในฤดูกาล 2011/12 ในเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาดันดาวรุ่งได้ผล ปีนี้ทีมจึงพยายามมองหาดาวรุ่งที่มีแววดีอีกคนมาเสริมทีม เพื่อที่จะสร้างทีมชุดใหม่ในระยะยาวต่อไป แล้วก็ตัดสินใจเลือก Jimmer Fredette ที่มีผลงานโดดเด่นมากในลีกมหาวิทยาลัยหรือ NCAA ในขณะนั้น เพียงแต่ว่าพอเจ้าตัวมาแล้วกลับไม่ได้รับความไว้วางใจนัก รวมถึงพอได้โอกาสก็ไม่สามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างที่หวัง จนทำให้ค่อยๆ หลุดออกจากทีมไปในที่สุด
จากนั้นในปี 2013 ทีมได้มีการเปลี่ยนเจ้าของเป็น Vivek Ranadive พร้อมกับวางแผนสร้างสนามเหย้าใหม่ขึ้นเพื่อให้สามารถเพิ่มความจุและขยายฐานแฟนของทีมได้ในระยะยาวอีกด้วย
เพียงแต่ในส่วนของผู้เล่น ทีมกลับตัดสินใจปล่อยหนึ่งในแกนหลักชุดใหม่อย่าง Evans ไปให้กับ Pelicans ถึงแม้จะพยายามเติมผู้เล่นอีกหลายคนเข้ามาทดแทน แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นฟอร์มให้ดีขึ้นได้ ทีมจบฤดูกาล 2013/14 เพียงแค่ 28-54 เท่านั้น
อย่างไรก็ดี Cousins ก็เริ่มที่จะโชว์ฟอร์มร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน จนในที่สุดเจ้าตัวก็เริ่มติด All-Star ครั้งแรกในฤดูกาล 2014/15 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของทีมเลยทีเดียว
หลังจากผลงานทีมไม่กระเตื้องมาเป็นเวลาหลายฤดูกาล จึงมีการเปลี่ยนทีมบริหารบ้าง รอบนี้เป็นอดีตผู้เล่นอย่าง Divac ที่เข้ามาเป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการแทน และพยายามปรับปรุงทีมโดยทำการ Trade ผู้เล่นที่ฟอร์มไม่ดีนักออกไป แล้วเติมด้วยผู้เล่นอายุน้อยแต่มีแววดีเข้ามาแทนหลายคน นำโดย Rajon Rondo และ Marco Belinelli ซึ่งทั้งสองคนก็มีส่วนให้ผลงานของทีมดูดีขึ้นในฤดูกาล 2015/16 ที่จบด้วยสถิติ 33-49
เข้าสู่ยุคปัจจุบัน
แต่ดูเหมือนฟอร์มโดยรวมของผู้เล่นชุดนี้จะไม่ถูกใจ Divac เท่าไหร่นัก ทีมเลยตัดสินใจล้างผู้เล่นชุดใหญ่ Trade ผู้เล่นหลักออกไปอีกหลายคน รวมถึงมือหนึ่งอย่าง Cousins ที่ถูกส่งไปให้กับ Pelicans ในช่วงกลางฤดูกาล 2016/17 ด้วย ถึงแม้ว่าทีมจะยังทำผลงานได้เพียง 32-50 แต่ก็ยังได้แกนหลักชุดใหม่มา 1 คนจากการ Trade ดังกล่าว นั่นก็คือ Buddy Hield นั่นเอง
Buddy Hield
จากนั้นทีมก็ได้พยายามหาดาวรุ่งสายเลือดใหม่มาทดแทนทีมชุดเก่าที่ยังไม่ดีพออีกครั้ง ทั้ง De' Aaron Fox ในปี 2017 และ Marvin Bagley III ในปี 2018 เสียดายที่รายหลังฟอร์มดีก็จริง แต่มักจะได้รับบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง
De' Aaron Fox
ทำให้ในฤดูกาล 2018/19 กำลังหลักจะเป็น Fox ร่วมกับ Hield ในการพาทีมจบด้วยสถิติ 39-43 ซึ่งนับว่าดีที่สุดตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ไม่ได้เข้า Playoffs มายาวนานกว่า 10 ปีเลยทีเดียว ทีมเริ่มมองเห็นความหวังที่จะกลับเข้าสู่ Playoffs ได้อีกครั้งแล้ว
แต่น่าเสียดายที่ฤดูกาล 2019/20 ความหวังของทีมก็ยังไม่เป็นจริง ทีมยังไม่สามารถเข้ารอบ Playoffs ได้ ทำได้แค่เฉียดไปเฉียดมาเท่านั้น เช่นเดียวกันกับฤดูกาลล่าสุดที่ผลงานแย่ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก ทำให้ในขณะนี้ทีมไมไ่ด้เข้ารอบ Playoffs มาแล้ว 15 ฤดูกาลติดต่อกันเข้าไปแล้ว
คงต้องรอดูกันต่อไปว่าทีมจะต้องทำการปรับจูนทีมอีกสักเท่าไหร่ ถึงจะกลับมาเข้ารอบ Playoffs และลบล้างสถิติสุดเลวร้ายนี้ลงได้เสียที
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา