28 พ.ค. 2021 เวลา 02:39 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
เมื่อความผิดปกติถูกพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
“ฮันกือรู” จาก Move to heaven
Move to heaven ซีรี่ย์จาก Netflix เป็นเรื่องราวที่นำเสนองานบริการเก็บกวาดข้าวของคนตาย งานสุดแปลกที่เต็มไปด้วยความรู้สึกหดหู่ และทำให้เห็นคุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่
ความน่าสนใจคือตัวละครหลักที่ชื่อว่า “ฮันกือรู” เด็กชายอายุ 20 ปี ที่มีความผิดปกติด้านภาษาและบกพร่องทางทักษะสังคม หรือ ‘โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger syndrome)’ แต่กือรูสามารถดึงเอาจุดเด่นของตนเองที่ไม่เหมือนคนทั่วไปมาทำงานนี้ได้อย่างดีเยี่ยม สามารถไขปริศนาในแต่ละตอนของซีรี่ย์ รับรู้ถึงความต้องการของผู้ตายด้วยข้าวของที่หลงเหลืออยู่
...
“แอสเพอร์เกอร์ กับ ออทิสติก”
ก่อนไปทำความรู้จัก ‘ฮันกือรู’ ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่าในปัจจุบันการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ในเด็กจะไม่มีแล้ว โดยโรคนี้จะถือว่าเป็นกลุ่มโรคออทิสติก (Autistic spectrum disorder) ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน หรือ DSM-5 ดังนั้นจึงขอนำอาการของโรคออทิสติกมาอธิบายร่วมด้วยผ่านมุมมองของ OT Mentor วิชาชีพนักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist)
...
“ความคิดยึดติด ไม่ยืดหยุ่น”
มีหลากฉากที่แสดงให้เห็นว่าฮันกือรูนั้นช่างเป็นเด็กที่ไม่ยืดหยุ่นเอาเสียเลย ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านของเขาจะวางเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยทุกอย่างต้องวางอยู่ที่เดิม แก้วน้ำวางบิดเบี้ยวไปนิดเดียวก็ต้องจัดให้ตรงเหมือนเดิม จนคุณอาของเขาที่พึ่งมาอยู่ด้วยคิดว่ากือรูเป็นเด็กรักสะอาด มีฉากที่พ่อของเขาทำไข่ดาวให้ทานแล้วไข่แดงแตกไหลเยิ้มออกมา นั่นทำให้กือรูถึงกับหงุดหงิดกังวลใจแล้วโวยวายว่าไข่แดงแตก ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ไข่ดาวควรจะเป็น ในใจกือรูยังคงยึดติดว่า ‘ไข่ดาว คือ ไข่แดงกลม ๆ ที่ไม่แตกอยู่ตรงกลางของไข่ขาว’ พ่อเขาจึงนำไข่ใบนั้นไปทานเอง มีฉากที่พ่อของเขาขอสวมกอดกือรู แล้วกือรูปฏิเสธเพราะไม่ชอบการสัมผัส แต่พ่อของเขาก็ยังตื้ออยากกอดลูก กือรูเลยนำเหตุผลที่พ่อเคยสอนว่า การบังคับคนที่เรารักเป็นเรื่องผิด จนพ่อของเขาถึงเสียใจปนขำกับความไม่เข้าใจสถานการณ์ในตัวลูกชาย นั่นแสดงให้เห็นถึงความไม่ยืดหยุ่นของเด็กกลุ่มออทิสติกที่ต้องอาศัยความเข้าใจในการเลี้ยงดู ค่อย ๆ อธิบายให้เข้าใจและยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์
“ความสนใจที่จำกัดและหมกมุ่น”
พฤติกรรมที่ฮันกือรูมักแสดงให้เห็นอยู่บ่อยครั้งคือการมี “ความสนใจจำกัดอยู่เรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่าปกติ” เขาชื่นชอบสัตว์น้ำเป็นอย่างมากสามารถท่องจำชื่อสายพันธ์ได้อย่างคล่องแคล่ว มีฉากที่ทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธพันธ์สัตว์น้ำยังทึ่งในความสามารถของฮันกือรู เพราะเขาสามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติของเหล่าสัตว์น้ำที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยได้อย่างรวดเร็วทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทันได้สังเกตเห็น และดึงดันจะให้สัตว์เหล่านั้นได้หาหมอโดยไว ซึ่งพฤติกรรมนี้ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติส่งผลต่อการเข้าสังคม หากเจ้าหน้าที่ไม่ใช่คนที่ฮันกือรูคุ้นเคย เขาคงโดนหาว่าเป็นเด็กจุ้นจ้านเป็นแน่
...
“ความผิดปกติทางการสื่อสาร อารมณ์ และสังคม”
ลักษณะการพูดของฮันกือรูจะเป็นโมโนโทนเหมือนหุ่นยนต์ เวลาพูดไม่สบตา ไม่แสดงสีหน้า ฉากที่พ่อของเขาเสียชีวิต เขายังไม่ร้องไห้หรือแสดงสีหน้าเศร้าเสียใจเหมือนคนอื่น ๆ นั่นเป็นเพราะว่าเด็กกลุ่มออทิสติกจะมี “ความผิดปกติด้านภาษา” และ “ความผิดปกติของการแสดงอารมณ์ของตนเองและการไม่เข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น” เวลาที่เกิดความกังวล กือรูจะเอาหัวโขกกำแพงหรือนั่งโยกตัวและท่องชื่อสายพันธ์สัตว์น้ำไปด้วย เขาไม่สามารถ ‘บอกอารมณ์’ ของตนเองได้ว่ากำลังเศร้า เสียใจ หรือมีความสุข ทำให้ส่งผลต่อการอยู่ร่วมสังคมกับผู้อื่น มีฉากที่กือรูเดินตามพยาบาลหญิงที่ติดเข็มกลัดที่เขาชอบ เขาอยากได้เข็มกลัดเพื่อนำไปเป็นของขวัญ เขาเดินตามไปตลอดทางจนพยาบาลหญิงนึกว่าเขาคือพวกโรคจิต ถ้าเป็นคุณผู้อ่านบทความนี้คงใช้การเข้าไปพูดคุยสอบถามอย่างสุขภาพซึ่งนั้นคือทักษะสังคม สิ่งที่มีปัญหาอย่างมากในเด็กกลุ่มออทิสติก
...
“ความบกพร่องทางการบูรณาประสาทรับความรู้สึก”
มีฉากที่พ่อของเขาอยากที่จะสวมกอดลูกชายอันเป็นที่รัก แต่พ่อรู้อยู่แล้วว่ากือรูไม่ชอบการถูกกอดเอาเสียเลย นั่นคือการไวต่อสิ่งเร้าทางผิวหนัง (Tactile Defensiveness) ที่เมื่อเด็กออทิสติกถูกสัมผัสตัวจะรู้สึกกระวนกระวายไม่พอใจ ไม่ชอบการถูกสัมผัสแบบไม่รู้ตัว พ่อจึงขออนุญาตกือรูก่อน ไม่ถือวิสาสะกอดโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกพฤติกรรมที่อยู่ในระบบการบูรณาการประสาทรับสัมผัส (Sensory integration) คือการที่กือรูชอบเอามือปิดหูเมื่อได้ยินเสียงที่เขารู้สึกทนไม่ได้ (แต่คนปกติทนได้) นั่นคือการไวต่อสิ่งเร้าทางหู (Auditory Defensiveness) กือรูจึงแก้ไขโดยการชอบใส่หูฟัง เพื่อลดการได้ยินเสียงจากภายนอกเพื่อให้เขาสามารถดำรงตนในสังคมได้ ความผิดปกติด้านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว (Sensorimotor component) ในเด็กกลุ่มออทิสติกแต่ละคนอาจมีพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกันไปไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกราย เช่น บางรายชอบทำเสียงแปลก ๆ ซ้ำ ๆ ชอบอมของ เดินเขย่ง
...
ตัวละคร ‘ฮันกือรู’ ถึงแม้ว่าจะพบพฤติกรรมผิดแปลกไปจากคนทั่วไปอยู่หลายอย่างแต่เขาก็ยังสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้โดยอาศัยครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่เข้าใจ คอยช่วยให้เขาทำความรู้จักกับโลกใบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่เร่งเร้า พ่อของเขาได้ดึงเอาความสามารถที่แปลกและโดดเด่นของกือรูมาใช้ในงานได้อย่างดี ส่งผลให้กือรูได้เจอสิ่งที่เขาถนัดและนำไปประกอบอาชีพได้
การเข้าใจตัวโรคและความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูจึงสำคัญ เด็กออทิสติกไม่สามารถใช่วิธีการหักดิบเช่น เด็กที่ไวต่อสิ่งเร้าทางหู ไม่ชอบเสียงวิทยุ ก็กดดันด้วยการเปิดวิทยุเสียงดังเพื่อหวังให้ชิน แต่นั้นไม่ใช้การบำบัดรักษาที่ถูกต้อง หากแต่ต้องให้เขาเลือกเข้าหาสิ่งเร้าที่เขารู้สึกสบายใจก่อน ค่อย ๆ เข้าหาสิ่งที่เขาไม่เคยชินทีละนิดด้วยการตัดสินใจของเขาเอง
ผู้ดูแลควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ที่เชียวชาญ ควรเปิดโอกาส สร้างแรงจูงใจให้เขาค้นหาและคลุกคลีกับสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมต้องใช้เวลาและการปรับตัวค่ะ
โดย OT Mentor #ขอบคุณนะคะที่สอนหนู
#กิจกรรมบําบัด
เอกสารอ้างอิง
หนังสือ ออทิสติก : ปัญหาที่พบในแต่ละช่วงวัย วิธีการคัดกรอง การประเมิน และการบำบัดรักษาทางกิจกรรมบำบัด โดยภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2550
โฆษณา