29 พ.ค. 2021 เวลา 10:38 • ประวัติศาสตร์
ดินแดน 2 ภาษาที่จันทบุรี
เขียนเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2556
ระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-1 ก.พ.2556 ในโอกาสที่ผมไปตรวจสอบประเมินผลพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดในเขตพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ผมไปนอนพักรีสอร์ทแถว อ.โป่งน้ำร้อน พอมีเวลาว่าง ผมแอบแวะไปเดินชม ตลาดชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ บ.ผักกาด และด่านถาวรบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี นอกจากจะพบเห็นการค้าขายผลผลิตทางเกษตร สินค้าอุปโภค บริโภค เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ แล้ว สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างของทั้งสองด่านก็คือ "บ่อนการพนัน" ซึ่งตั้งอยู่ในเขตราชอาณาจักรกัมพูชา
ตลาดชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ บ.ผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
หาซื้อลำไยไม่ได้
ที่โป่งน้ำร้อนนี้ แรงงานที่รับจ้างทั่วไป ทำสวนลำไย หรือทำไร่มันสำปะหลัง ล้วนเป็นชาวกัมพูชา (เขมร) เกือบทั้งสิ้น (ส่วนเจ้าของก็คือ นายทุนที่เป็นคนไทย) แม้แต่พนักงานรีสอร์ทที่ผมพักอยู่ก็เป็นชาวเขมร แรกๆ ผมพูดหรือทักทายกับเขา เขากลับทำหน้างงๆ สงสัยเขาคงจะฟังเราไม่รู้เรื่องแน่เลย ก็ปรากฏว่าจริงครับ "เขาเป็นคนเขมร"
พื้นที่บริเวณโป่งน้ำร้อนนี้ ส่วนใหญ่ปลูกลำไยกัน สวนลำไยเต็มสองข้างทางไปหมด เพราะรายได้ดีกว่าปลูกยางพารา และที่โป่งน้ำร้อนนี้สภาพดินและภูมิอากาศเหมาะแก่การปลูกลำไย แต่เชื่อไหมครับ ผมหาซื้อลำไยดีๆ ไม่ได้เลย มีอยู่บ้างก็ตามเพิงเล็กๆ ข้างทางตามสี่แยก ลำไยก็ลูกเล็กๆ หล่นๆ ถามคนในพื้นที่ได้ความว่า ลำไยพวกนี้ คนไทยไม่ได้กินหรอกครับ เพราะมันถูกคัดและส่งออกต่างประเทศหมด ออกไปทางกัมพูชา ต่อไปยังเวียดนาม จีน
คนไทยก็เลยได้กินเฉพาะลำไยที่ถูกคัดทิ้งแล้วเท่านั้น......
หนังสือขายดี
สำหรับชาวเขมรหน้าใหม่ ที่เพิ่งผ่านแดนเข้ามาทำงานในเขตประเทศไทย สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่ต้องหาชื้อ คือ หนังสือสนทนาภาษาไทยแบบเร่งด่วน ซึ่งมีขายอยู่ตามร้านในตลาดชายแดนฯ เกือบทุกร้าน เพื่อจะได้พูดคุยสนทนากับนายจ้างคนไทยได้ ไม่อย่างนั้นคงสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ผมลองซื้อมาอ่านดู ก็พอจะสนทนาภาษาเขมรได้บ้างเล็กน้อย แต่อีกไม่นานก็คงจะลืมเพราะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน
หนังสือขายดีสำหรับเขมรมือใหม่ สนทนาภาษาไทยด่วน
ดินแดน 2 ภาษา
แถวนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาที่มารับจ้างแรงงาน บางส่วนเข้ามาตอนเช้ากลับออกไปตอนเย็น บางส่วนนายจ้างคนไทยก็จัดที่พักให้เลย ภาษาที่ใช้พูดกันส่วนใหญ่จะเป็นภาษาเขมร การเขียนป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์จะเป็น 2 ภาษาคือภาษาไทย และภาษาเขมร แต่บางครั้งก็เขียนภาษาเขมร ภาษาเดียวเลยก็มี รถวิ่งแห่โฆษณางานต่างๆ ก็ต้องใช้ 2 ภาษาเช่นกัน
ป้ายเชิญชมคอนเสิร์ต "อีวา" นักร้องขวัญใจชาวเขมร นี่ปักในเขตประเทศไทยนะครับ แต่ภาษาเขมร
ผมเดินในตลาดชายแดนไทย-กัมพูชาที่บ้านผักกาด และบ้านแหลม นี้ รู้สึกเหมือนเดินอยู่ในประเทศกัมพูชาเลยครับ ไม่ต้องข้ามพรมแดนไปในประเทศกัมพูชาให้เสียเวลา โดยเฉพาะที่ด่านถาวรบ้านแหลม แถบนี้จะเป็นคนเขมรเกือบทั้งนั้น ทั้งๆ ที่อยู่ในเขตไทย ชาวไทยและชาวเขมรในพื้นที่นี้ อยู่ด้วยกันแบบมิตรภาพ มีความเป็นพี่เป็นน้องกันจริงๆ แตกต่างกับทาง อ.กัณฑลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยสิ้นเชิง
ด่านถาวรบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ข้ามไปคือราชอาณาจักรกัมพูชา
บ่อนการพนัน คู่ชายไทย-กัมพูชา
ผมสังเกตเห็นรถตู้รับจ้างวิ่งกันทั้งวัน ไปด่านบ้านผักกาดบ้าง ไปด่านบ้านแหลมบ้าง นึกว่าคนไปท่องเที่ยวหรือไปซื้อของกัน แต่ที่แท้รถตู้เหล่านั้น กำลังพาลูกทัวร์คนไทยไปเล่นการพนันที่ฝั่งกัมพูชา แปลกนะครับ "คนเขมรค้าขายและใช้แรงงาน รับจ้างทุกอย่างที่ได้สตางค์ แต่คนไทยกลับชอบเสี่ยงโชคหาสตางค์กับการพนัน" บ่อนที่นี่ยังไม่มาตรฐานเท่าแถบ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แต่ก็มีคนไทยเข้ามาเล่นกันอย่างไม่ขาดสาย บ่อนการพนันนี้ สังเกตดูได้ว่า จะมีอยู่รอบขอบชายแดนไทย-กัมพูชา เกือบทุกแห่ง ทุกช่องผ่านแดน เหมือนกับว่ามันเป็นของคู่กัน
ด่านผ่านแดนถาวรบ้านแหลมเข้าสู่ประเทศกัมพูชา เข้าไปคือบ่อนการพนัน ที่คนไทยมักชอบไปเสี่ยงโชคกัน
#จันทบุรี #ทุ่นระเบิด #บ่อนการพนัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา