29 พ.ค. 2021 เวลา 11:29 • การเกษตร
จากกระแสคลิปเจ๊คนขายทุเรียนชื่อดัง ออกมาพูดว่า ทุเรียนป้ายขั้ว ป้ายยาแรง กินแล้วร้อนใน จนเกิดดรามาในโลกโซเชียล และผู้บริโภครวมถึงคนที่ไม่ได้รู้ข้อมูลอาจจะตกอกตกใจกัน
งั้นโพสนี้จะมาอธิบายคำถามที่หลายคนสงสัย
ตั้งแต่เรื่องทำไมต้องป้ายขั้ว สารที่ใช้เอามาป้ายคืออะไร เป็นยาแรงอย่างที่เจ๊ว่าไหม คนกินแล้วอันตรายไหม กินแล้วจะร้อนในไหม บลา ๆ ๆ ๆ
แต่ก่อนที่จะมาคุยเรื่องการป้ายขั้วทุเรียน มาอ่านทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการสุกของผลไม้ให้เข้าใจก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวอธิบายไปจะไม่เข้าใจ
กระบวนการสุกของผลไม้
1. การสุก (ripening) เป็นกระบวนการที่ผลไม้เข้าสู่ระยะชราภาพ
โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างภายในผล เช่น ผลจะอ่อนนุ่ม เกิดกลิ่นตามชนิดของผลไม้นั้น รสชาติหวานขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ปริมาณกรดลดลง ผิวเปลี่ยนสีเป็นสีแดงเหลืองหรือสีอื่นๆ ตาม ชนิดของผลไม้ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้พลังงานอย่างมาก ซึ่งพลังงานนี้จะได้มาจากการหายใจที่เกิดขึ้นภายในผล การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ผลจะเปลี่ยนสภาพจากผลดิบกลายเป็นผลสุกภายในเวลาไม่กี่วัน
2. ผลไม้ที่ผลสุกนี้จะมีการหายใจสูงมากจึง เรียกผลไม้ เหล่านี้ว่า
climacteric fruit เช่น มะเขือเทศ มะม่วง ละมุด กล้วย ทุเรียน
3. ส่วนผลไม้อีกประเภทหนึ่งเมื่อผลแก่จัดแล้วไม่มีการสุกเกิดขึ้น การหายใจในผลอยู่ในระดับตํ่า เรียกว่า non-climacteric fruit ได้แก่ ส้ม สับปะรด มะนาว เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ ผลไม้เหล่านี้ เมื่อเก็บเกี่ยวมาแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในผลเกิดขึ้นน้อยมาก รสชาติของผลมักจะคงที่ ตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนกระทั่งหมดอายุ ดังนั้นถ้าเก็บเกี่ยวผลในระยะที่ยังไม่แก่จัดหรือผลยังเปรี้ยวอยู่ ก็มักจะคงรสชาตินั้นจนกระทั่งผลเน่าเสียไป
4. ซึ่งต่างจากผลพวก climacteric fruit เช่น ทุเรียน เมื่อเก็บเกี่ยวในขณะที่ผลแก่จัดแต่ยังดิบอยู่ จะมีรสหวานนิดๆและมีแป้งตามเปอร์เซนต์ที่ตัดมา แต่เมื่อทิ้งไว้จะมีการสุกเกิดขึ้นและรสชาติจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้จะเข้าใจได้ว่า ทุเรียน เป็นผลไม้ที่อยู่ในผลไม้พวก climacteric fruit คือผลไม้ที่ยังมีการหายใจสูงมากระหว่างที่จะเกิดการสุก
จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุเรียนจึงสามารถตัดมาเพื่อรอให้สุกได้นั่นเอง ทำให้การขายทุเรียนจึงตัดเป็นเปอร์เซนต์มาขายได้ ไม่ต้องรอให้สุก (ที่พ่อค้าแม่ค้าบอกว่ามันแก่แต่ยังไม่สุก และมัผู้บริโภคหลายคนไม่เข้าใจจนมีดรามาผ่าก่อนสุกกันให้เห็นทุกวัน)
หลังจากที่เข้าใจเรื่องกระบวนการสุกของทุเรียนคร่าวๆแล้ว
มารู้จักกับว่า
👉👉👉 " เอทิลิน " 👈👈👈
เอทิลีน เป็นแก๊สไฮโดรคาร์บอนที่มีโมเลกุลเล็ก เกิดจากการเผาไหม้และผลิตได้ตามธรรมชาติระหว่างการสุกของผลไม้ ซึ่งในทุเรียนเองก็มีการผลิต เอทิลินได้เองอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งการสร้างเอทิลินของทุเรียนก็เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่บนต้น คือถ้าสุกจนทุเรียนหล่นจากต้นมาเอง นั่นแหละจึงเป็นสุกอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายวันถ้าเป็นหมอนทอง บางที 130-140 ทุเรียนยังไม่สุกจนหล่นเลยก็มี
บางคนอาจจะสงสัยว่า อ้าวพี่ควาย งั้นในเมื่อทุเรียนมันมีการสร้าง เอทิลิน เองได้อยู่แล้ว ทำไมแม่ค้าทุเรียน ชาวสวนทุเรียน เวลาขายทุเรียนต้องเอายามาป้ายขั้วทำไม และ สารที่เอามาป้ายมันเป็นสารอะไร ?
อธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆโง่ๆเลย คือ ผลไม้ เป็นสินค้าที่เวลาเอามาขายมันเอาแบบสุกจัดๆมาขายเลยไม่ได้ เพราะแม่ค้าพ่อค้าเวลาซื้อมาขายที ซื้อเป็นร้อยๆโล บางคนซื้อมาเป็นตัน กว่าจะเดินทาง กว่าจะได้มาขาย ขายหมดเอาทุเรียนสุก หรือ แก่จัดๆ มาขายเลย ถ้าขายไม่ทัน ขายไม่หมดก็เจ๊งกันพอดี
และอีกเหตุผลนึงคือ ทุเรียน โดยเฉพาะ พันธุ์ยอดนิยมอย่างหมอนทอง ถ้าปล่อยให้สุกตามธรรมชาติเลย มันสุกไม่ค่อยจะพร้อมกัน บางทีพูนี้สุก อีกพูไม่สุก คนขายไปก็มีปัญหา คนซื้อไปก็คงไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่
ดังนั้นจึงได้มีการเอาสารเคมีบางตัวมาป้ายที่ขั้วทุเรียนเพื่อเร่งการสร้าง เอทิลิน ทำให้ทุเรียนสุกพร้อมๆกันนั่นเอง ซึ่งสารที่ใช้มีชื่อว่า
👉👉 สาร อิทิฟอน (ethephon)
สาร อิทิฟอน เป็นสารที่ปลดปล่อยแก๊สเอทิลีน เร่งกระบวนการสุก และทำให้ทุเรียนสุกเสมอกันทั้งลูก
สารอิทิฟอน ซึ่งในสภาพปกติจะอยู่ในรูปของแข็งและผลิตออกมาจำหน่ายในรูปสารเคมีการเกษตรโดยเตรียมให้อยู่ในรูปของเหลว ซึ่งสะดวกต่อการใช้มากขึ้น สารชนิดนี้เมื่อนำมาผสมนํ้าก็จะเริ่มปลดปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมา จึงมีผลต่อพืชเช่นเดียวกับการใช้ก๊าซเอทิลีนโดยตรง อิทิฟอน สามารถเร่งการสุกของผลไม้ได้ โดยมีวิธีการใช้ได้หลายแบบ เช่นการจุ่มผลลงในสารละลาย การพ่นสารละ ลายไปยังผล ความเข้มข้นของ อิทิฟอน ที่ใช้ค่อนข้างตํ่าคือประมาณ 200 ถึง 1,000 มก/ล ส่วนใหญ่มักจะกระตุ้นให้ผลสุกได้ภายใน 2-3 วันหลังการให้สาร ทั้งการป้ายขั้ว และ การชุบลูก
ส่วนอันตรายของสาร อิทิฟอน นั้นอย่างไรก็ตามยังไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่าการใช้ อิทิฟอน บ่มผลไม้จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ แต่ก็มีข้อมูลเบื้องต้นที่ศึกษาความเป็นพิษของสาร อิทิฟอน พบว่าถ้าสัตว์ทดลองได้รับสาร อิทิฟอน เข้าไปร่างกายจะขับสารทิ้งออกมาเกือบหมดโดยเหลือคงค้างอยู่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลา 72 ชั่วโมง
ส่วนในประเทศไทยนั้น เมื่อปี 2559 มีงานวิจัยจาก ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล และคณะ จากศูนย์ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้ดำเนินการศึกษาปริมาณสารเอทีฟอน ตกค้างในผลทุเรียนบ่ม พบว่าการบ่มทุเรียนด้วยสารละลายเอทีฟอนในสภาพจำลองการจำหน่ายในประเทศมี
สารตกค้างที่เปลือกมากกว่าการบ่มในสภาพจำลองการส่งออกทางเรือซึ่งใช้
ระยะเวลานานกว่า สารจึงมีระยะเวลาในการสลายตัวได้มากกว่า เมื่อพิจารณาวิธีการบ่ม พบว่า การบ่มทุเรียนโดยการชุบผลในสารละลายเอทีฟอนเข้มข้น 0.2% และ 0.4% มีสารตกค้างในส่วนเปลือกมากที่สุดและมากกว่าการบ่มโดยการป้ายเฉพาะบริเวณรอยตัดที่ก้านผลด้วยผลทั้งหมดทั้งที่บ่มและไม่บ่ม ไม่พบว่ามีสารตกค้างในส่วนเนื้อผลที่รับประทานได้เกินกว่ามาตรฐานไทย มาตรฐานสากล และมาตรฐานยุโรป ส่วนมากไม่มีสารตกค้างในส่วนเนื้อเลย มีเพียงบางผลที่พบสารในปริมาณที่น้อยมาก โดยผลที่พบสารตกค้างในส่วนเนื้อมากที่สุดเป็นผลที่บ่มโดยการป้ายขั้วด้วยสารละลายเข้มข้น 52% มีสารตกค้างเพียง 0.190 มิลลิกรัม/เนื้อทุเรียน 1 กิโลกรัม เท่านั้น
1
ดังนั้นการบ่มผลทุเรียนด้วยสารละลายเอทีฟอนจึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
และคำตอบสำหรับคนที่กินทุเรียนแล้วร้อนใน
ปรกติในทุเรียนเป็นผลไม้ธาตุร้อน มีส่วนประกอบของกำมะถัน ที่ทำให้เกิดความร้อน ความอบอุ่นในร่างกายได้อยู่แล้ว การกินทุเรียนป้ายยาจึงไม่ใช่สาเหตุของอาการร้อนในแต่อย่างใด เพราะถึงจะกินทุเรียนป้ายหรือไม่ป้าย ก็ร้อนในได้เหมือนกัน เพราะเป็นผลไม้ธาตุร้อนอยู่แล้ว เหมือนคนกินลำไยเยอะๆก็มีโอกาสเป็นร้อนในได้เหมือนกับกินทุเรียนนี่แหละ เพราะมีกำมะถันเยอะเหมือนทุเรียน กินทีเยอะๆ จะร้อนในก็ไม่ใช่เรื่องแปลก รวมไปถึงภูมิต้านทานของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บางคนกินเยอะก็ไม่เห็นจะร้อนใน (เช่นควายดำเป็นต้น) บางคนกินแค่พูสองพูก็ร้อนในแล้ว เพราะฉนั้นการเป็นร้อนในจากกินการทุเรียน สาเหตุคงไม่ใช่มาจากการป้ายยาแต่อย่างใด
เขียนมาซะยาวฝากกดไลค์ กดแชร์ กันไปเยอะๆ สร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค เขียนแบบเข้าใจง่ายที่สุดแล้วนะ ถ้ายังไม่เข้าใจ ไม่เชื่ออีกก็เรื่องของพวกมึงแล้วละ 5555+
ด้วยรักจากควายดำทำเกษตร เพจเกษตรที่ทำมาหากินอยู่เขตสวนทุเรียน กินทุเรียนปีนึงไม่รู้กี่ลูกทั้งป้ายยา ไม่ป้ายยา ยังไม่เคยเป็นร้อนใน แต่เบาหวานอันนี้ไม่แน่ใจ ขอไปตรวจก่อน
ขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล และคณะ จากศูนย์ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โฆษณา