30 พ.ค. 2021 เวลา 12:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รีวิว iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่นที่ 5 (ชิป M1 ปี 2021)
iPad Pro 12.9 นิ้ว ปี 2021
โดยปกติผมใช้ iPad ทำงานเกี่ยวกับการพิมพ์เอกสาร การจด Lecture และการอ่านเอกสารทางวิชาการหรือ PDF เป็นหลักในตอนเรียน มีการทำ Infographic การตัดต่อวีดีโอ การทำเพลง (แบบเล่น ๆ) บ้าง แต่ก็ใช้ในการแสวงหาความสุขกับการดูซีรีส์ อนิเมะ และ YouTube เช่นกัน (เพราะทำงานเยอะไปแล้วเครียด เน้นคุณภาพงานดีกว่าเน้นปริมาณอย่างเดียว สาย Productivity ครับ)
การรีวิวครั้งนี้จะเป็นการใช้งานแบบที่เคยใช้มาอย่างที่กล่าวข้างต้นครับ ตัวก่อนหน้าที่ผมใช้จะเป็น iPad Pro 11 นิ้ว รุ่นปี 2018 (ชิป A12X) จะมีการนำมาเทียบกันให้เห็นภาพว่าดีขึ้นหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ
รีวิวแบบสั้น ๆ
1. จอแบบใหม่ Liquid Retina XDR สีสดใสเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความสมจริง มืดคือมืด สว่างคือสว่าง มีแค่ในรุ่นเขียง 12.9 นิ้วเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นเป้นเรื่องปกติ คือ Blooming เนื่องจากส่วนที่ทำให้สว่างจาก Backlight มีขนาดใหญ่กว่าพิกเซล ทำให้เห็นคล้ายแสงลอดด้านข้างได้ (ชมรายละเอียดได้ในรีวิวเต็มในบทความนี้ครับ)
2. ชิป M1 ใหม่ เร็ว แรง เห็นผลจริง แต่ด้วยข้อจำกัดของ iPadOS 14 หากถูกอัพเดตทางซอฟต์แวร์แล้ว จะรีดศักยภาพได้เต็มที่กว่านี้
3. กล้องหน้าแบบ Ultra-Wide เห็นมุมกว้างกว่าเดิมเยอะ ผนวกกับ Software สามารถติดตามใบหน้าเราและแสดง Frame แบบ Pan กล้องไปหาตัวเราเองได้จากฟีเจอร์ Center Stage
4. USB-C อัพเกรดเป็นแบบ Thunderbolt และ USB4 ทำให้รับ-ส่งข้อมูลได้เร็วมากยิ่งขึ้น แต่ชาร์จประจุเข้าเครื่องด้วยกำลังไฟฟ้า / ความเร็วเท่าเดิม
1. Design (ดีไซน์ภายนอก)
ดีไซน์ภายนอกถือว่าไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก เมื่อเทียบกับ iPad Pro รุ่น 12.9 นิ้วก่อนหน้านี้ (ทั้งรุ่นปี 2018 และ 2020) หากเทียบกับรุ่นปี 2020 จะมีจุดแตกต่างที่ตำแหน่งและลักษณะของลำโพงที่จำนวนรูน้อยลง และชิดเข้าหากันที่กึ่งกลางมากยิ่งขึ้นครับ
จำนวนรูลำโพงที่น้อยลง ขนาดใหญ่ขึ้น และชิดกึ่งกลางเครื่องมากขึ้น
หากเป็นรุ่น Wi-Fi + Cellular จะมีแถบสัญญาณเพิ่มมาอีก 1 เส้นครับ ส่วนตัวรู้สึกว่าดูดีกว่ารุ่นเก่าเพราะแถบสัญญาณสมมาตรขึ้นครับ
รุ่นนี้สำหรับ Wi-Fi + Cellular จะสามารถใช้ 5G ได้แล้วครับ ซึ่งตอบโจทย์สำหรับคนที่จะใช้งานนอกสถานที่บ่อยครับ (ส่วนตัวผมใช้รุ่น Wi-Fi เพราะพกโทรศัพท์ตลอดเวลา และมักทำงานในที่ที่มี Wi-Fi เสมอ หากไม่มี Wi-Fi ก็ใช้ Personal Hotspot จาก iPhone ได้ครับ (อีกอย่างไม่อยากเสียค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือนซ้ำซ้อนกับของ iPhone ครับ lol)
ส่วนของรุ่น Wi-Fi ก็ยังเป็นแถบยาวคาดแค่ด้านบนของด้านหลังตัวเครื่องเหนือกล้องเหมือนเดิมครับ
FUN FACT: แถบสัญญาณนี้ หากสังเกตแล้วจะพบว่าไม่ได้เป็นโลหะ เพราะเป็นแถบที่ให้ใช้ในการส่ง-รับสัญญาณของตัวเครื่อง หากเป็นโลหะ จะเป็นการรบกวนคลื่นสัญญาณได้ครับ
แถบสัญญาณของ iPad Pro รุ่น Wi-Fi
iPad Pro รุ่นใหม่นี้มีน้ำหนักหนักกว่ารุ่นก่อนหน้าอีกด้วย (รุ่นนี้หนัก 682 กรัม รุ่นก่อนหน้าหนัก 641 กรัม) และหนาขึ้น 0.5 มิลลิเมตร (ความหนา 6.4 มิลลิเมตร) แต่เมื่อถือแล้ว ยังให้ความรู้สึกว่าบางมากอยู่ ผมมองว่ายังเป็นเครื่องที่บางมาก ๆ ในแง่ของการใช้ Tablet ในยุคนี้ครับ
ตอนนี้ยังไม่มีการกล่าวว่ามีการเปลี่ยนวัสดุอะลูมิเนียม (Aluminium) เป็นแบบใหม่ เพราะฉะนั้นยังเป็นข้อกังวลว่าอาจจะยังงอง่ายแบบรุ่นเก่าครับ
ส่วนตัวผมใช้ iPad Pro รุ่น 11 นิ้วมาตั้งแต่ พ.ย. 2018 ใช้คู่กับ Smart Keyboard Folio และ Magic Keyboard ไม่เคยพบปัญหาเครื่องงอแต่อย่างใดครับ (คาดว่าตัว Magic Keyboard เป็นตัวช่วยด้วยที่จะไม่ทำให้เครื่องงอ เพราะโครงสร้างค่อนข้างแข็งแรงครับ)
iPad Pro 11 นิ้ว รุ่นปี 2018 (บน) และ iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่นปี 2021 (ล่าง)
2. Performance (ชิปใหม่ ความแรงที่แรงชิป-หาย)
iPad Pro รุ่นใหม่นี้ ทั้ง 11 นิ้ว และ 12.9 นิ้ว เป็นรุ่นแรกที่เปลี่ยนไปใช้ชิป M1 ซึ่งเป็นชิปตระกูลเดียวกับ Mac รุ่นใหม่ โดย Apple ตอนนี้เปลี่ยนไปใช้ชิปที่มีสถาปัตยกรรมแบบ ARM ใน Mac แล้วครับ แต่สำหรับ iPad แล้ว สถาปัตยกรรมชิปก็เป็น ARM มาตั้งแต่ iPad รุ่นแรก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ประสิทธิภาพก้าวกระโดดมากครับ
ใน iPad Pro รุ่นใหม่นี้ ทั้งจิ๋ว (11 นิ้ว) และยักษ์ (12.9 นิ้ว) ทั้งรุ่น Wi-Fi และ Wi-Fi + Cellular จะมีการแบ่งสเปคของ RAM ขึ้นกับความจุเครื่องครับ
ความจุ 128, 256 และ 512 GB จะมี RAM 8 GB
ความจุ 1 และ 2 TB จะมี RAM 16 GB ครับ
เราจะไม่สามารถปรับแต่งสเปคแบบตอนสั่งซื้อ Mac ได้ครับ จะมีให้เลือกดังกล่าวเท่านั้นครับ
รุ่นที่ผมใช้งานอยู่ตอนนี้เป็น 256 GB จะมี RAM อยู่ที่ 8 GB ครับ (เทียบตัวเก่า ความจุ 256 GB เท่ากัน รุ่นปี 2018 มี RAM 4 GB และสำหรับรุ่นปี 2020 มี RAM 6 GB ครับ)
3
ในแง่ของการใช้งานจริง รู้สึกได้ว่าลื่นไหลขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับ iPad Pro จิ๋ว 2018 (ชิป A12X) [เหมือนเทียบกับ iPad Pro 2020 ได้ด้วยครับ เพราะใช้ชิป A12Z ที่ภายในต่างกันแค่ GPU ที่ถูกปลดล็อคให้ใช้งานเพิ่มอีก 1 Core ครับ ความแรงแทบไม่ต่างกัน)
1
ในการใช้งาน 5-6 วันที่ผ่านมา โดยใช้…
- ใช้แอพ Numbers ในการพิมพ์และคำนวณบัญชีหลาย Sheet
- ใช้ Adobe Photoshop ในการทำ Infographic แบบพื้นฐาน
- ใช้ GarageBand ในการลองทำเพลงและมี Layer เสียงพอสมควร
- ใช้ Procreate ในการวาดรูป
- ใช้ Safari แบบ Desktop Site ทั่วไป
- ลองใช้ Pages ในการพิมพ์และแก้ไขเอกสาร 100+ หน้า
- ใช้ Adobe Illustrator ในการเปิดไฟล์ ai เพื่อดู Artwork
- ใช้ Notability เพื่อจด เปิดดูและแก้ไข Lecture เดิมในตอนที่ยังเรียนอยู่
- ใช้ TradingView วิเคราะห์กราฟหุ้นและ Cryptocurrency
- ลองเปิด Magicplan แล้วใช้กล้อง + LiDAR เพื่อสแกนห้องแบบสามมิติเพื่อทำแปลน (Plan) อย่างง่ายดู
- ลองเปิด Keynote ที่เคยทำไว้สำหรับนำเสนอ Thesis ตอนสมัยเรียนที่ไฟล์หนักพอสมควร
- ลองเปิด AutoCAD ของแฟนที่แฟนมีสมัยเรียน
- ลองเล่นเกมที่กราฟฟิคหนักและปรับให้สุดอย่าง Genshin Impact หรือเกมทั่วไปอย่าง PUBG, RoV, GTA, Oceanhorn 2 เป็นต้น
- และลองใช้หลากหลายแอปพลิเคชันพร้อมกัน เพื่อทดสอบ RAM ว่า Handle ได้ดีแค่ไหน
เท่าที่พบเห็น ก็ถือว่าลื่นไหลจากเดิมมากพอสมควร ทั้ง ๆ ที่แต่เดิมก็ไหลลื่นมากแล้ว และเมื่อมี RAM เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถ Handle ได้หลายแอพขึ้น แอพดับเพราะ RAM เต็มยากขึ้น และประสบการณ์การเล่นเกมก็ดีขึ้นเพราะรับมือกับกราฟฟิคที่หนักหน่วงได้ดีขึ้น
แต่ก็มีจุดกระตุกเช่นในแอพ Numbers ที่มีขนาดตารางและจำนวน Sheet เยอะ ๆ มาก ๆ (30 Sheets โดยมี 50 แถวต่อ Sheet) ซึ่งหากเปิดใน MacBook Pro จะไม่มีปัญหา แต่ยังไม่เจอปัญหาแอปเด้งหรือเครื่องมีปัญหาใด ๆ ครับ เพราะเครื่องนี้ในหลาย ๆ อย่าง
ก็ยังมีความเป็น iPad อยู่ครับ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ใช้งานอย่างหนักหน่วง ยังไม่เจอเครื่องร้อนมากแบบรุ่นจิ๋ว 2018 ที่ใช้ประจำครับ แต่ก็ไม่ได้เจอบ่อยครั้งในเครื่องเก่าเช่นกันครับ
ส่วนตัวคิดว่าชิปมีประสิทธิภาพสูงมาก ๆ ครับ และทั้ง iPadOS แอป และตัวอุปกรณ์ก็ Optimize มาได้ดี แต่ตัวเครื่องก็ยังเป็น iPad ที่ไม่ได้รีดออกมาสุดเทียบเท่า Mac ครับ การใช้งานที่ค่อนข้างลึกในระดับหนึ่งและเกี่ยวกับการเขียน ผมว่า iPad ทำออกมาได้ดีเยี่ยมครับ แต่ถ้าเป็นอะไรที่หนักมาก ๆ และการปรับแต่งที่ลึกซึ้ง ผมว่าการไปใช้ Mac เป็นทางที่ดีครับ
เครื่องนี้ผมว่าถูกใจสายทำ Artwork, Illustration, การตัดต่อและปรับแต่งรูปภาพ และโดยเฉพาะสาย Architect แน่ ๆ ครับ เพราะปัจจุบันมีแอปมากมายที่รองรับการทำงานเหล่านี้และทำงานได้อย่างดีเยี่ยม เป็น Productivity ที่เหมาะสำหรับการทำ Task เริ่มต้นของงานใหญ่ ๆ ของ Pro User และต่อยอดงานได้อย่างดีเยี่ยมเลยครับ
ในส่วนของผม ตั้งแต่ตอนเรียน ผมใช้ iPad เป็นหลักมานานมาก ผมเลยค่อนข้างชินกับการใช้ iPad เพราะอยากใช้ก็ดึงออกมาใช้ได้เลย มีความ Intuitive มากกว่า Laptop และ Desktop ครับ เพราะโดยปกติผมไม่ได้ใช้ Pro App บ่อยถึงขนาดนั้นครับ การใช้แอปทำงานอย่าง…
- Pages พิมพ์เอกสาร
- Numbers ทำคำนวณข้อมูลเชิงตัวเลข
- Keynote ทำนำเสนองาน, GarageBand ทำเพลงเล่น
- เปิด Safari หา Scientific Paper
- ใช้ Notability เขียน Lecture และทำ Exercise คำนวณฟิสิกส์
- ใช้ iPad Pro เล่นเกม
- เสพ Netflix, YouTube และอื่น ๆ
iPad จะตอบโจทย์ผมมากกว่า ผมเลยรู้สึกว่าการใช้ iPad Pro รุ่นนี้ทำให้การใช้งานปกติของเราสนุกยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่มีความกังวลเรื่องของชิปใด ๆ ครับ
ตอนนี้ก็รอลุ้นว่าในงาน WWDC 2021 นี้ iPadOS จะมีอะไรใหม่เพิ่มขึ้นและสามารถดึงศักยภาพของ M1 ได้ดีกว่านี้อีกไหม เพราะยังมีพื้นที่ว่างอีกมากมายที่ iPadOS จะถูกพัฒนาไปเป็นระดับ Pro สมชื่อ iPad Pro ได้มากกว่านี้ครับ
เพราะตอนนี้มีอัพเดตมาจากนักพัฒนาว่า iPadOS จำกัดการใช้ RAM ได้สูงสุดแค่ 5 GB ทำให้เมื่อใช้ถึงจุดจำกัด แอพมีโอกาสปิดและเด้งออกไปอัตโนมัติได้ คาดว่าจะต้องรอการอัพเดตใน iPadOS รุ่นต่อไปครับ
iPad Pro กับแอปที่ใช้ทำงาน
3. ของใหม่ในเครื่องนี้
ของใหม่ที่ผมมองว่าต้องถูกพูดถึงมีอยู่ทั้งสิ้น 4 อย่าง คือ ชิป M1, หน้าจอใหม่ Liquid Retina XDR กล้องหน้าใหม่แบบ Ultra Wide และช่อง USB-C แบบ Thunderbolt และ USB4 ครับ
อย่างแรกคือชิป M1 ซึ่งกล่าวไปก่อนหน้าในส่วนของประสิทธิภาพ เพราะผมมองว่าแยกไปเป็นหัวข้อใหญ่เพื่อให้ผู้อ่านตรวจสอบว่าเครื่องและ iPadOS นั้นตอบโจทย์กับจุดประสงค์ของผู้อ่านไหมครับ
ส่วนที่สองคือหน้าจอใหม่ ที่มีแค่เฉพาะรุ่นยักษ์เท่านั้น คือหน้าจอแบบ Liquid Retina XDR (เสียดายรุ่นจิ๋วใหม่นั้นไม่มี)
FUN FACT: Apple กล่าวว่าเทคโนโลยีหน้าจอใหม่นั้นใช้งานกับ iPad Pro รุ่นเขียง 12.9 นิ้วเท่านั้น เพราะว่า Apple สำรวจตลาดผู้บริโภคแล้วพบว่าผู้ใช้งานนั้นชื่นชอบ iPad Pro รุ่นจิ๋ว 11 นิ้ว ที่มีน้ำหนักเบาไม่เกิน 1 ปอนด์และขนาดพอดี ซึ่งการเพิ่มเทคโนโลยีจอใหม่นี้ทำให้ตัวเครื่องนั้นหนักขึ้นและมีความหนาขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ Apple จึงตัดสินใจใส่เทคโนโลยีจอใหม่ที่รุ่นเขียงเท่านั้น
1
หน้าจอใหม่นี้จะให้ขอบเขตสีที่กว้างขึ้นในแง่ที่สีดำมีความมืดที่สนิทที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และความสว่างสูงสุดที่มากกว่ารุ่นเก่า ในแง่ของความสีสันยังคงเป็นแบบเดิมที่มีสีสันดีเยี่ยมอยู่แล้ว อีกทั้งจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเปิดวีดีโอแบบขอบเขตสีกว้าง (High Dynamic Range: HDR) ซึ่งขอบเขตสีจะดีขึ้นไปอีก ส่วนที่สว่างจะสว่างอย่างแท้จริง และส่วนที่มืดจะมืดสุดตามเดิม สามารถลองเปิดวีดีโอในแอป YouTube แบบ 4K และ HDR จะเห็นได้อย่างชัดเจน
ถือว่าตอบโจทย์ตามชื่อของหน้าจอแบบใหม่ คือ XDR ซึ่งมาจาก Extreme Dynamic Range
หน้าจอใหม่นี้เป็นหน้าจอแบบ Mini-LED ซึ่งเป็นประเภทจอที่ต้องการความสว่างจากการฉายแสงจากด้านหลังจอ ด้านในเครื่อง (Backlight) ซึ่งในแบบเก่า จะเป็น IPS-LCD ซึ่งเป็นแบบเดียวกัน โดยมีการฉายแสงทั้งพื้นที่จอ แล้วแสงนั้น ๆ ผ่านพิกเซลที่มีแม่สีแสง 3 สี คือสีแดง สีเขียว และสีฟ้า (Red, Green and Blue ย่อเป็น RGB) แม่สีแสงทั้งสามนี้สามารถลวงตาให้เกิดสีได้ทุกเฉดสีตามที่ต้องการตามสัดส่วนความสว่างของแม่สีแต่ละสี
เช่น หากเปิดจอให้แสดงผลเป็นสีขาวทั้งจอ พิกเซลทุกพิกเซลจะแสดงเป็นแม่สีทุกสีสว่างเท่า ๆ กัน และเห็นความสว่างนั้นตามที่ตาเห็นจาก Backlight ตามที่กล่าวข้างต้นอีกที เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว สีขาวที่เห็นคือการลวงตาจาก RGB ซึ่งเป็นสามสีที่เสมือนว่าจะเห็นรวมกันจากที่จุดพิกเซลเล็กเกินไปเนื่องจากระยะการมองของจอที่ไกลมากพอจนไม่เห็นเม็ดพิกเซลอีกแล้ว
ซึ่งไม่ว่าเราจะเปิดรูปอะไร สีอะไร จอแสดงผลอะไรอยู่ก็ตาม จอใน iPad Pro รุ่นก่อนหน้าจะมี Backlight ที่เปล่งแสงตลอดเวลาขึ้นกับความสว่างของจอที่เราตั้งเอาไว้อีกที
เราสามารถสังเกตได้ว่าในหน้าจอแบบเก่า (ขวา) แถบสีดำตอนที่เปิดวีดีโอจะไม่ได้มืดสนิท ในขณะที่หน้าจอแบบใหม่ (ซ้าย) แถบดำจะมืดสนิท จุดที่มืดจะมืดจริง และจุดที่สว่างจะสว่างขึ้นไปอีก
วีดีโอแบบ HDR เปรียบเทียบหน้าจอแบบใหม่ (ซ้าย) กับหน้าจอแบบเก่า (ขวา) ขอบคุณวีดีโอจาก VIRTUAL JAPAN ใน YouTube (https://youtu.be/n3Dru5y3ROc)
แสดงว่าบทบาทในการทำให้จอนั้นแสดงผลได้ขอบเขตสีที่สมจริงมากขึ้น เราจะสามารถจัดการได้ด้วยการให้ส่วนที่เป็นสีดำบนจอแสดงผลนั้นเป็นสีดำที่มืดมากขึ้นโดยไม่มีแสงจาก Backlight ได้ จึงเป็นบทบาทที่ Mini-LED จะมาช่วยในส่วนนี้ได้ครับ
Backlight ที่ใช้กันเป็นหลอดไฟแบบ LED ในจอแบบเก่า ซึ่งเป็นหลอดใหญ่จำนวนหนึ่ง เปล่งแสงให้ทั่วจอตามที่กล่าวก่อนหน้านี้ ในรุ่นใหม่นี้ Apple ได้ลดขนาดของหลอดไฟ LED ลงจนมีทั้งสิ้น 10,000 ดวง และแบ่งเป็นโซนหรี่แสงเฉพาะที่ (Local Dimming Zone) เป็นทั้งสิ้นประมาณ 2,500 โซน
Backlight แบบ Mini-LED เทคโนโลยีหน้าจอแบบใหม่ที่นำมาใช้กับ iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่นใหม่ปี 2021 จุดแสงไฟเล็ก ๆ คือ Mini-LED มีถึง 10,000 ดวง แบ่งเป็นประมาณ 2,500 โซน ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.apple.com/th/ipad-pro/
หมายความว่า หากเราเปิดรูปหนึ่ง ที่มีพื้นหลังเป็นสีดำ และเป็นรูปสิ่งของชิ้นหนึ่ง ส่วนที่จอจะต้องแสดงผลเป็นสีดำ Mini-LED นี้จะไม่มีการเปล่งแสงใด ๆ เพื่อให้ส่วนที่มืดนั้นมืดอย่างแท้จริง และส่วนที่จอจะแสดงผลสิ่งของที่มีสีสัน Mini-LED นี้จะมีการเปล่งแสงขึ้นมาเพื่อให้สีสันนั้นแสดงบนจอได้อย่างสดใส
การประมวลผลและการแสดงผลในจอลักษณะนี้จะทำให้ขอบเขตของสีกว้างขึ้นอย่างมาก ส่วนที่มืดจะมืดอย่างแท้จริง และส่วนที่สว่างจะสว่างตามปกติได้
แต่ก็มีปัญหาตามมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของจอประเภทนี้ ก็คือในส่วนที่ต้องแสดงสีสันหรือส่วนที่ต้องสว่างนั้นมีขนาด “เล็กกว่าหลอด Mini-LED” จะทำให้เห็นเหมือนแสงลอดออกมาจากขอบของส่วนสว่างที่เล็ก ๆ นั้น (ต่างประเทศเรียกปัญหานี้ว่า Blooming) โดยจะเห็นได้ดังรูป
ปัญหา Blooming ซึ่งเป็นเรื่องปกติของจอประเภทนี้ (ขยายเข้าไปส่วนกลางแล้วจะเห็นชัดเจนว่ามีคล้ายแสงลอดออกจากขอบของตัวอักษร)
ปัญหานี้จะสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นเมื่อใช้ iPad Pro ในที่มืดและเปิดความสว่างมากในระดับหนึ่ง และเปิดใช้งานเป็นรูปนิ่งหรือจอแสดงผลสิ่งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่นจด Lecture เป็นต้น หากเปิดเป็น Video จะไม่เห็นมากเนื่องจากจอมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งของสีที่แสดงในพิกเซล และหลอด Mini-LED ที่มีการปรับความสว่างขึ้น-ลงมากแบบในเพียงหนึ่งวินาที
แต่การมาของเทคโนโลยีจอนี้ จะเป็นจอที่สร้างขึ้นเพื่อลดข้อจำกัดของจอที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมจออย่าง OLED (Organic Light Emitting Diode) ซึ่งแต่ละพิกเซลจะประกอบไปด้วยหลอด LED ขนาดเล็ก ๆ แบบพิเศษที่สามารถแสดงสีและมีการเปล่งความสว่างด้วยตัวมันเอง โดยที่ไม่ต้องใช้ Backlight ในการช่วยใด ๆ ซึ่งจอ OLED จะให้สีสันที่สดใสและส่วนที่มืดนั้นมืดอย่างแท้จริง
หมายความว่า เสมือนจอ OLED มี Local Dimming Zone เท่ากับจำนวนพิกเซลเลย เพราะใช้การเปล่งแสงในตัวของ LED เล็ก ๆ ในพิกเซลด้วยตัวเอง ทำให้ไม่มีปัญหา Blooming เกิดขึ้นแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ OLED คือมีราคาสูงมากและจอเกิดการเบิร์น (Burn-in) ได้ ซึ่งเกิดจากการแสดงผลของจอ OLED ด้วยภาพนิ่งหรือส่วนที่พิกเซลไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยระยะเวลานาน ๆ เช่น เปิดรูปภาพเดียวค้างไว้ทั้งวัน หรือการดูซีรีส์ที่มีการแสดงโลโก้ไว้ที่ตำแหน่งเดิมค้างไว้ตลอดเวลา เป็นต้น
จอ OLED บน iPhone X ที่เปิดในร้านตัวแทนจำหน่ายที่ต่างประเทศ จนเกิดการ Burn-in จากการเปิดจอที่หน้า Home Screen ด้วยความสว่างสูงสุดเกือบตลอดเวลา ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.reddit.com/r/iphone/comments/bvrhvu/iphone_x_screen_burn_in_at_the_sprint_store/
การใช้เทคโนโลยี Mini-LED นี้จะตอบโจทย์ในการใช้งานบน iPad มากกว่ากรณีใช้จอแบบ OLED เพราะมีการคาดเดาว่า iPad มักจะเป็นการเปิดจอที่แสดงผลภาพนิ่งหรือวัตถุที่นิ่ง ๆ (Static Elements) บ่อยครั้ง ซึ่งหากใช้จอ OLED มีโอกาสที่จะเกิดจอเบิร์นได้ และ Mini-LED มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าจอแบบ OLED ครับ
อย่างที่สามที่เป็นของใหม่คือกล้องหน้าใหม่ที่เป็นแบบ Ultra Wide มุมกว้าง (FOV: Field of View) ที่ 120 องศา โดยเมื่อเข้าแอปกล้อง จะสามารถเลือกเป็นมุมกล้องปกติหรือมุมกล้องแบบ Ultra Wide ได้ที่ด้านซ้ายกลาง โดยเป็นการมองจากกล้องแบบเดียวแต่ใช้ Software เข้าช่วยในการตัดภาพเหลือแค่ส่วนที่เหมือนมุมกล้องปกติดั่งใช้ใน iPad Pro รุ่นก่อนหน้านี้ครับ
ความเจ๋งที่ Software ใช้เข้าช่วยอีกอย่างก็คือฟีเจอร์ Center Stage ซึ่งจะถูกใช้งานเมื่อเปิดใช้กล้องหน้าในแอปที่เป็นวีดีโอคอลอย่าง FaceTime เป็นต้น (ในตอนนี้ Zoom ได้ปล่อยอัพเดตให้รองรับฟีเจอร์นี้แล้วเช่นกัน)
1
หลักการทำงานของ Center Stage คือจะมีการติดตามใบหน้าของเราด้วย Algorithm แล้วครอป (Crop) เหลือส่วนหน้าของเราอย่างสมส่วน หากผู้ใช้เดินไปทางซ้าย ระบบก็จะแสดงเป็นเหมือนว่ากล้องนี้ถูก Pan ติดตามเราที่เดินมาทางซ้ายของจอได้เลย
ซึ่งหลักการทำงานจริง ๆ แล้วก็เกิดจากกล้องที่มีมุมมองกว้างมาก ๆ แล้วใช้ Software เข้าช่วย โดยตรวจจับใบหน้าเรา และครอปและล็อก Frame เคลื่อนที่ตามเรา เราจึงเห็นลูกเล่นนี้เหมือนกับว่ากล้องนั้นกำลังหันตามเราจริง ๆ
กรณีที่ผู้ใช้งานมีสองคนขึ้นไป ระบบจะล็อก Frame และ Crop ส่วนที่เห็นทั้งผู้ใช้งานทั้งสอง หากผู้ใช้งานทั้งสองเดินแยกกัน แต่ยังอยู่ในขอบเขตของกล้องหน้า ระบบจะแสดงผลดั่งการซูมออกของกล้องเพื่อให้เห็นผู้ใช้งานทั้งสองครับ
ฟีเจอร์ Center Stage ที่ทำการ Crop เฉพาะส่วนที่ผู้ใช้งานอยู่ ทั้งตอนอยู่นิ่งและตอนเคลื่อนที่ ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.apple.com/th/ipad-pro/
อย่างสุดท้ายที่ถูกอัพเกรด คือช่อง USB-C ที่อัพเกรดเป็นแบบ Thunderbolt และ USB4 ที่เป็นพอร์ตแบบเดิม เพิ่มเติมคือความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลที่ดีขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า (ความเร็วการถ่ายโอนสูงสุด 40 Gbps จากเดิม 10 Gbps ในรุ่นก่อนหน้านี้) จะเห็นผลอย่างชัดเจน เช่น เชื่อมต่อกับ Hard Drive แบบพกพา, Flash Drive, ต่อกับจอเพิ่มเติม หรือต่อ Dongle เพื่อแปลงหัวแบบอื่น ๆ ได้ เป็นต้น
การชาร์จก็สามารถใช้ที่ชาร์จ USB-C ได้เหมือนเดิมดังรุ่นก่อนตามปกติ ถึงแม้ความเร็วในการส่ง-รับข้อมูลจะสูงขึ้น แต่ความเร็วในการชาร์จประจุยังเท่าเดิมครับ
อย่างไรก็ตาม เราสามารถเพิ่ม USB-C ได้อีก 1 ช่อง ด้วยการต่อ iPad Pro เข้ากับอุปกรณ์เสริมอย่าง Magic Keyboard ได้ครับ ซึ่งจะมีการใช้งานดังหัวข้อต่อไปครับ
พอร์ต USB-C บน Magic Keyboard ที่ใช้งานกับ iPad Pro
4. Accessories ที่ใช้ร่วมกันได้
Accessories หรืออุปกรณ์เสริมที่สามารถใช้ร่วมกันได้กับ iPad Pro ตัวใหม่นี้ยังเป็นอย่างเดิมคือ Smart Keyboard Folio, Magic Keyboard (คีย์บอร์ดพร้อม Trackpad) และ Apple Pencil รุ่นที่สอง ไม่ต่างจากอุปกรณ์เสริมที่ใช้ร่วมกับ iPad Pro รุ่นก่อนหน้านี้ ทั้งรุ่นปี 2018 และรุ่นปี 2020 ครับ
โดยจุดที่อาจต้องระวังเล็กน้อยคือ Magic Keyboard ที่ใช้ หากเป็นรุ่นใหม่ ก็จะสามารถปิดฝาพับได้สนิทพอดี ไม่มีปัญหาใด ๆ ทั้งกรณีแบบมีฟิล์มกระจกหรือไม่มีฟิล์มกระจก
แต่หากใช้ Magic Keyboard รุ่นก่อนหน้านี้ ที่วางขายพร้อม iPad Pro รุ่นปี 2020 จะทำให้การปิดเครื่องนั้นรู้สึกตัน ๆ บ้าง แต่ก็ยังใช้ร่วมกันได้ในกรณีที่ไม่มีการพับปิดครับ
และปีนี้มี Magic Keyboard สีใหม่เป็นสีขาว แบบที่ผมใช้ในรูปเลยครับ
ข้อดีคือแปลกใหม่ ข้อเสียคือดำง่ายครับ
ใน Magic Keyboard นั้น จะมีพอร์ต USB-C อยู่ที่ด้านซ้ายของตัวจุดหมุน ซึ่ง USB-C นี้จะมีหน้าที่ในการชาร์จประจุเข้าที่ iPad Pro ผ่าน Smart Connector (จุดทอง 3 จุดด้านหลังเครื่อง) ช่อง USB-C นี้ จะไม่สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ (ไม่สามารถต่อ Flash Drive เพื่อดูข้อมูลภายในได้ เป็นต้น)
ช่อง USB-C บน Magic Keyboard ดังกล่าว จะใช้ในการชาร์จประจุได้ช้ากว่า USB-C บน iPad Pro โดยตรง ด้วยข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ครับ (รับกำลังไฟฟ้าได้ต่ำกว่า)
ในส่วนของ Apple Pencil รุ่นที่สองนั้นจะใช้งานได้ไม่ต่างจากรุ่นก่อน ทั้งการแตะสองครั้งที่บริเวณที่จับเพื่อเขียนเพื่อเปลี่ยนเครื่องมือการเขียนเป็นยางลบหรือขึ้นกับการตั้งค่าไว้ เป็นต้นครับ
รูป Magic Keyboard สีขาวแบบใหม่และ Apple Pencial ใช้งานกับ iPad Pro
และที่กล่าวไปทั้งหมด คือรีวิว iPad Pro 12.9 นิ้ว รุ่นที่ 5 ปี 2021 ชิป M1 จาก guided ครับ
หากมีเรื่องสงสัยใด ๆ สามารถสอบถามทิ้งไว้ได้เลยครับ
References: macrumors.com
โฆษณา