29 พ.ค. 2021 เวลา 14:57 • กีฬา
โศกนาฏกรรมเฮย์เซล : จุดพีคฮูลิแกนสู่ยุคมืดลูกหนังอังกฤษ | MAIN STAND
"ฟุตบอลสำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ ? ... สำหรับผมแล้ว แน่นอนที่สุด มันสำคัญ แต่มันไม่มากพอที่จะต้องแลกมาด้วยชีวิต" เคนนี่ ดัลกลิช ตำนานนักเตะของ ลิเวอร์พูล กล่าวหลังจากรู้ข่าวร้ายที่ เฮย์เซล ในเกมนัดชิงแชมป์ยุโรปปี 1985
เลวร้ายยิ่งกว่าความพ่ายแพ้ คือการเสียชีวิตของแฟนบอล 39 คนในวันนั้น และ "ฮูลิแกน" ตกกลายเป็นจำเลยสังคม แฟนบอลหงส์แดงถูกประนามว่าเป็นต้นเหตุยุคมืดของฟุตบอลอังกฤษ
ทว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้เป็นเช่นไร ติดตามได้ที่ Main Stand
อังกฤษ แดนฮูลิแกน
เรื่องราวทั้งหมดอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย หรือไม่ก็อาจจะไม่เลวร้ายขนาดนี้ หากไม่มีแฟนบอลกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "ฮูลิแกน"
Photo : colgadosporelfutbol.com
นักประวัติศาสตร์หลายสำนักได้สืบค้นและลงความเห็นว่า ชื่อ ฮูลิแกน นี้เพี้ยนมาจาก ฮูลิแฮน ที่เป็นนามสกุลของชายชาวไอริชสุดยอดจิ๊กโก๋ และหัวหน้าแก๊งนักเลงแห่งกรุงลอนดอนในยุคก่อนสงครามโลก แพทริก ฮูลิแฮน ... เขาไม่ใช่คนที่น่าชื่นชมอะไร เพราะจากประวัติแล้วจะบอกว่าเป็นคนเลวก็คงพอได้ เนื่องจากมีประวัติอาชญากรเป็นหางว่าว ทั้งทำร้ายร่างกาย ปล้น, ฆ่า และ ชิงทรัพย์ ซึ่งในบั้นปลายเขาก็ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตจากคดีฆ่าตำรวจ ก่อนที่จะเสียชีวิตระหว่างรับโทษ
แม้จะมีเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดจากน้ำมือของ ฮูลิแฮน แต่โลกเรามักจะมีคนที่มีตรรกะแปลก ๆ เสมอ กลุ่มนักเลงหัวไม้ต่าง ๆ ชื่นชมวีรกรรมของ ฮูลิแฮน และบอกเล่าเรื่องราวของอาชญากรชาวไอริช สืบต่อกันมา จนกระทั่งคำนี้เปลี่ยนกลายเป็นคำว่า ฮูลิแกน
เป้าหมายคือการประกาศศักดาสำหรับนักเลงอังกฤษ ที่บ้าฟุตบอลเข้าเส้นเลือด ซึ่งเกมฟุตบอลนั้นมีการเตะแบบ เกมเหย้า-เยือน หากแฟนบอลจะเข้าไปเชียร์ทีมรักเวลาแข่งต่างถิ่นก็ต้องเดินทางข้ามเมืองข้ามจังหวัด และนั่นเองนำมาซึ่งการหวดกันให้ยับในยามที่เจอหน้า ... ถิ่นใครถิ่นมัน เรื่องมันก็เป็นมาประมาณนี้โดยสังเขป จากนั้นก็เติบโตเป็นลัทธิ และทวีความเข้มข้นกันแบบสุด ๆ ในยุค 70s เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่ ฮูลิแกน ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศ แต่พวกเขาออกมาซ่าถึงนอกถิ่นแล้ว
เหตุการณ์ที่สามารถนำมาอ้างอิงได้ คือเหตุแฟนบอลของ ลีดส์ ยูไนเต็ด ที่เดินทางไปยัง ปารีส เพื่อชมเกมชิงชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพ ปี 1975 ที่พบกับ บาเยิร์น มิวนิค แต่พวกเขากลับก่อจลาจลหลังการแข่งขันจบ จนลีดส์โดนแบนจากสโมสรยุโรปไป 2 ปี ถัดมาอีก 2 ปี ถึงคราวแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปอาละวาดทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการแข่งขันกับ แซงต์-เอเตียน ในศึกคัพ วินเนอร์ส คัพ ฤดูกาล 1977-78 และปีศาจแดงก็โดนแบนไปอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตามไม่มีเหตุการณ์ใดที่กลุ่ม ฮูลิแกน จากอังกฤษเป็นที่โจษจันมากที่สุด เท่ากับเหตุการณ์ที่ เฮย์เซล ในนัดชิงชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปัจจุบัน) ปี 1985 ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ ยูเวนตุส อีกแล้ว ...
โศกนาฏกรรมเฮย์เซล
29 พฤษภาคม 1985 คือวันที่เกิดเรื่องเลวร้ายที่สุดเรื่องหนึ่งนโลกฟุตบอล ณ เฮย์เซล สเตเดียม (คิง โบดวง สเตเดียม ปัจจุบัน) ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สังเวียนนัดชิงชนะเลิศระหว่าง หงส์แดง กับ ม้าลาย
Photo : colgadosporelfutbol.com
การคัดเลือกสนามสำหรับเกมสำคัญเกิดขึ้นก่อนที่นัดชิงชนะเลิศจะเริ่มแข่งหลายเดือน ซึ่งนั่นมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสนามได้หากเกิดเหตุจำเป็น ... ฝั่งบอร์ดบริหาร ลิเวอร์พูล เชื่อว่านี่คือสนามที่ไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้รับการบูรณะมานานกว่า 50 ปี สภาพเก่าและทรุดโทรมนี้ อาจจะไม่เหมาะกับเกมสำคัญที่แฟนบอลมีอารมณ์ร่วมมากเป็นพิเศษ
1
ลิเวอร์พูล ลงสนามเพื่อป้องกันและไล่ล่าแชมป์ยุโรปครั้งที่ 5 ของพวกเขา ขณะที่ ยูเวนตุส นำทีมโดย มิเชล พลาตินี่ และ เปาโล รอสซี่ ก็หมายมั่นปั้นมือสร้างยุคสมัยของของพวกเขา ด้วยการคว้าแชมป์ยุโรปสมัยแรกให้ได้ นี่จึงเป็นเกมที่มีความหมายสำหรับแฟนบอลทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะต้องทุบกระปุกออมสิน หรือแม้จะหมดตัวยังไงก็ตาม สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ต้องไปเชียร์ทีมรักที่เบลเยียมให้ได้
แฟนบอลเต็มความจุในวันนั้น ทว่าหลังจากเสียงนกหวีดเริ่มเกมดังได้ไม่นาน กล้องถ่ายทอดสดก็ต้องเปลี่ยนโฟกัสจากเกมในสนาม ไปเป็นเหตุการณ์บนอัฒจันทร์แทน เนื่องจากมีการตะลุมบอนกันของแฟนบอลทั้งสองฝั่ง ภาพที่ปรากฏ คือการกรูเข้าหากันและมีการลงไม้ลงมือแบบลุกลาม จากกลุ่มเล็กเป็นกลุ่มใหญ่
สุดท้ายทุกอย่างก็บานปลาย แฟนบอลทั้งสองฝั่งซัดกันมั่ว นัวไปหมดจนไม่รู้ใครเป็นใคร แฟนบอลบางคนที่ไม่ได้มาเพื่อสู้รบปรบมือ ต่างก็หนีเอาชีวิตรอดจากการตะลุมบอนครั้งนั้น โดยเฉพาะแฟนฝั่งยูเวนตุส ที่ถอยหนีด้วยจำนวนคนในการปะทะที่น้อยกว่าจนหลังติดกำแพง
Photo : turinskiturinski.wordpress.com
ภาพที่เกิดขึ้นมันวุ่นวายเกินจะแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร บางคนกำลังวางมวย, บางคนกำลังตะโกนด่าทอยั่วยุ, บางคนพยายามปัดป้อง และบางคนก็พยายามจะปีนกำแพงหนีเพื่อรักษาชีวิต
ทันใดนั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อกำแพงเกิดถล่มลงมา ทับแฟนบอลที่หนีไปรวมกันบริเวณนั้น ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตภายใต้ซากปรักหักพังทั้งสิ้น 39 คน ทราบภายหลังว่าผู้เสียชีวิตเป็นชาวอิตาลี 32 คน, ชาวเบลเยียม 4 คน, ชาวฝรั่งเศส 2 คน และชาวไอร์แลนด์เหนือ 1 คน รวมถึงมีบาดเจ็บอีกกว่า 600 คนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เรื่องเลวร้ายนี้ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพราะในขณะที่มีคนตายบนอัฒจันทร์ ฝ่ายจัดการแข่งขันจึงได้มีการประชุมด่วนระหว่างที่เกมยังแข่งอยู่ สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ลงมติว่า "แข่งต่อ" เพราะหากปล่อยให้เกมค้างเติ่งครึ่ง ๆ กลาง ๆ และการจัดหาสนามใหม่รวมถึงการแก้ปัญหาอะไรต่อมิอะไรพร้อม ๆ กัน คงเป็นอะไรที่ยุ่งยาก นั่นจึงทำให้ทุกฝ่ายต้อง The Show Must Go On
นักเตะทั้งสองฝั่งกลับมาลงสนาม พร้อมทั้งขอร้องแฟนบอลของพวกเขาให้อยู่ในความสงบ ก่อนที่จะลงแข่งต่อ และจบเกมด้วยชัยชนะของ ยูเวนตุส 1-0 จากจุดโทษของ พลาตินี่ ... แน่นอนว่าถึงตอนนี้ไม่มีใครจำแล้ว พวกเขาอยากจะรู้ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังกันแน่
เช้าวันถัดมา แฟนบอลของทั้งสองทีมทะยอยเดินทางกลับประเทศของตัวเอง และพาดหัวข่าวชี้ชัดว่า แฟน ลิเวอร์พูล คือผู้ก่อเรื่อง โดยการรายงานของ BBC อธิบายเพิ่มเพิ่มว่า "ทีมจากอังกฤษจะต้องถูกแบน ห้ามเดินทางออกมาแข่งนอกยุโรปเป็นระยะเวลา 5 ปี และแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล จำนวน 10 คน ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย ต้องโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 3 ปี"
Photo : www.80scasualclassics.co.uk
ฮูลิแกน อังกฤษ และ แฟนบอล ลิเวอร์พูล ตกเป็นจำเลยของโลก พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปิดยุคสมัยของฟุตบอลอังกฤษ เพราะการไม่ได้ไปแข่งฟุตบอลยุโรป 5 ปี (ลิเวอร์พูล ทีมต้นเรื่องโดนบวกเพิ่มเป็นแบน 6 ปี) ส่งผลต่อพัฒนาการของฟุตบอลลีกเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของฟุตบอลและในแง่ของเม็ดเงิน
อย่างไรก็ตาม "ความจริงอีกด้าน" ที่น้อยคนจะตระหนักรู้คือ ที่จริงแล้ว แฟนของ ลิเวอร์พูล ผิดในเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียวจริงหรือไม่ ? ... เรื่องดังกล่าวมาถูกไขเอาภายหลัง และดูเหมือนว่าแฟน ลิเวอร์พูล จะต้องรับกรรมเกินจริงไปสักหน่อย สำหรับการถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร และการเป็นทีมที่นำพายุคมืดมาสู่ฟุตบอลอังกฤษ
ความจริงนั้นก็คือ
อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น ไม่มีใครอยากจะฆ่าใครตายด้วยการป่วนจนสนามพังอย่างแน่นอน ปัญหาทุกอย่างเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกสนามชิงที่เก่าและทรุดโทรม
นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาใหญ่คือ ฝ่ายจัดการแข่งขันได้เปิดโควต้าขายตั๋วฟุตบอลให้กับแฟนบอล "เป็นกลาง" ที่อยากจะเข้าชมเกมนี้แม้ไม่ได้เชียร์ทั้ง 2 ทีม ซึ่งนั่นเองเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดพ่อค้าหัวใส เอาโควต้าของแฟนบอลเป็นกลาง ซื้อตั๋วมาและเอามาขายต่อเพิ่มราคาอีกหลายเท่า หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "ตั๋วผี" นั่นเอง
Photo : www.thetimes.co.uk
ตั๋วผีนี้ส่งผลต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะมันทำให้เกิดการนั่งปะปนกันของแฟนบอลทั้งสองทีม หรือแฟนบอลที่มีความเห็นไม่ตรงกัน สุ่มเสี่ยงต่อการมีเรื่องโดยแท้จริง
นอกจากนี้ยังมีมาตรการการป้องกันที่ติดลบ ฝ่ายจัดเตรียมเจ้าหน้าที่มาคอยกั้นระหว่างแฟนบอลสองฝั่งเพียงหลักสิบเท่านั้น นอกจากนี้สิ่งที่ช่วยป้องกันยังเป็นเพียงลูกกรง ที่แค่พร้อมใจกันเขย่าก็พร้อมจะหักคามือแล้ว
ทั้งหมดนี้คือปัจจัยสุ่มเสี่ยงต่อการฟาดฟันกันเป็นอย่างมาก และมันก็เกิดขึ้นจริง เพราะอารมณ์ของทั้งสองฝั่งนั้นมาคุตั้งแต่ก่อนเกมเริ่ม 1 ชั่วโมง พวกเขาตะโกนด่าทอ เยาะเย้ยกันมาตั้งแต่นอกสนาม จนกระทั่งเมื่อเข้ามาในสนามก็ยังไม่หยุด มีการขว้างปาสิ่งของใส่แฟนลิเวอร์พูล ตามคำกล่าวอ้างของผู้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น หลังจากนั้นกลุ่มแฟนบอลสายบู๊ ก็เหลืออดและถอดใจจากการดูเกม เปลี่ยนเป็นการไล่กระทืบกันแทน
เรื่องดังกล่าวไม่ได้บอกว่า แฟนลิเวอร์พูล ผิด หรือไม่ ผิด แต่ความจริงคือมาตรการการป้องกันหละหลวมเป็นอย่างมาก พวกเขารู้ทั้งรู้ว่าแฟนบอลอังกฤษจะต้องเมากันหัวทิ่ม อีกทั้งกระแสของแฟนบอลฮูลิแกนก็มีไม่น้อย แต่สุดท้ายก็ยังจัดการผิดพลาด ทั้งการเลือกสนามที่ทรุดโทรม การปล่อยให้แฟนบอลนั่งปะปนกัน และสุดท้ายการวางกำลังเจ้าหน้าที่เพียงหยิบมือระดับ เจ้าหน้าที่ 1 คนต่อแฟนบอล 100 คน
Photo : www.sportmediaset.mediaset.it
ดังนั้นเมื่อเหตุเกิดแล้ว ไม่มีทางเลยที่เจ้าหน้าที่จะใช้การปราบจลาจลแบบตัดไฟแต่ต้นลมได้ พวกเขาไม่สามารถต้านแฟนบอลทั้งสองฝั่งไหว และหลังจากนั้นเหตุการณ์ก็บานปลาย จนทำให้เกิดเหตุการณ์อัฒจันทร์ถล่ม ซึ่งจุดนี้ก็ต้องโทษเรื่องปัญหาโครงสร้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของโศกนาฏกรรมเช่นกัน เพราะถ้าหากสนามไม่ถล่ม เต็มที่แฟน ๆ ก็อาจจะแค่ซัดกันจนหมดแรง และสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ระดมกำลังสลายเหตุได้ในท้ายที่สุด แม้จะต้องเสียเลือดเสียเนื้อ แต่ก็ไม่น่าจะหนักถึงขั้นมีการเสียชีวิตอย่างที่เกิดขึ้น
สำหรับแฟนบอลทั้งโลก พวกเขาอาจจะมองว่าแฟนบอล ลิเวอร์พูล เป็นคนเริ่มเรื่องราวความเลวร้ายทั้งหมด แม้กระทั่งรัฐบาลอังกฤษในยุคของนาง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ก็ยังออกกฎหมายปราบปรามฮูลิแกนอย่างรุนแรงและจริงจัง โดยนางแทตเชอร์ เคยกล่าวถึงฮูลิแกนในเกมที่ เฮย์เซล ว่าคือความอับอายของคนอังกฤษ
1
"ฉันหวังว่า ฉันจะจับคนพวกนั้นได้ ให้พวกเขาได้ขึ้นศาล ให้พวกเขาได้มารับผิดชอบ กับสิ่งที่เกิดขึ้น และลงโทษให้หนักที่สุด เพื่อที่จะหยุด พวกเขาทุกคน ที่ยังคิดจะเดินในเส้นทางสายนี้" แธตเชอร์กล่าว หลังเหตุการณ์ วันที่ 29 พฤษภาคม 1985 ที่เฮย์เซล สเตเดี้ยม
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แฟนบอลของ ลิเวอร์พูล ฝังใจเป็นอย่างมาก พวกเขาไม่ชอบหน้า แทตเชอร์ เพราะนอกจากจะจาบจ้วงกล่าวโทษให้แฟนบอลฝั่งพวกเขาแล้ว แทตเชอร์ ยังมีนโยบายลดความสำคัญของอุตสาหกรรม และสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่ตลาดเสรี และเน้นด้านการเงินมากขึ้น ซึ่งทำให้เมือง ลิเวอร์พูล ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมและชนชั้นแรงงานต้องปากกัดตีนถีบ
เรื่องนี้เป็นความแค้นกันจริงจังและยาวนาน จนถึงขั้นที่ว่าในวันที่นางแทตเชอร์ เสียชีวิตเมื่อปี 2013 ยังมีผู้คนออกมาเฉลิมฉลองกันให้เห็นในเมืองลิเวอร์พูลและอีกหลายพื้นที่ด้วย ...
1
Photo : www.itv.com
สุดท้ายแล้วเรื่องราวที่เกิดขึ้น คงเปล่าประโยชน์หากจะบอกว่าใครถูกใครผิด แต่สิ่งสำคัญจริง ๆ คืออย่างน้อย ๆ รัฐบาลของ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ก็เลือกจะเด็ดขาดกับเรื่องนี้
วิธีที่แทตเชอร์นำมาใช้ กับการกวาดล้างฮูลิแกน คือวิธีเดียวกับที่เธอใช้ ในการเปลี่ยนประเทศอังกฤษ คือการให้เอกชนเข้ามามีบทบาท ด้านกีฬา เปลี่ยนฟุตบอลให้กลายเป็นสนามการค้า ขณะที่แฟนบอลก็เหมือนแรงงาน สิทธิและเสียงของพวกเขาน้อยลง
แทตเชอร์สั่งไม่ให้มีอัฒจันทร์ยืนในสนามฟุตบอลอีกต่อไป และบังคับให้สโมสร ต้องปรับปรุงคุณภาพของสนาม มีการรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพเกมฟุตบอล ไม่ให้เป็นพื้นที่ของอันธพาลอีกต่อไป
เมื่อสโมสรฟุตบอล ซึ่งถือครองโดยนายทุน ต้องลงทุนมากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพสนาม และสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าตั๋วเข้าชมเกม จึงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งจากจุดนี้เองก็เหมือนการกีดกันกลุ่มฮูลิแกนให้ออกจากเกมการแข่งขันไปโดยปริยาย ซึ่งที่สุดแล้วเมื่อเข้าสู่ช่วงยุค 90s หลังพ้นการแบนจากฟุตบอลยุโรป 5 ปี และฟุตบอลถูกถือโดยนายทุน พรีเมียร์ลีก ก็กลายเป็นลีกที่ได้รับความนิยมขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นลีกอันอันดับ 1 ของโลก ดังเช่นทุกวันนี้
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา