29 พ.ค. 2021 เวลา 15:32 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
วิเคราะห์ Ghost Lab - ฉีกกฎทดลองผี: เมื่อ “วิชา” พาไปสู่ “อจินไตย”
*คำเตือน: มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของหนัง
แนะนำให้ไปดูหนังก่อนมาอ่านนะคะ และเป็นการวิเคราะห์ตามความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้นค่ะ
ส่วนตัวให้คะแนนเรื่องนี้ที่ 7/10 นะคะ เพราะบางจุดก็ยังมี Plot Hole หรือจุดที่ไม่สมเหตุผลอยู่บ้าง แต่กระทู้นี้มาวิเคราะห์ล้วน ๆ เลยค่ะ
*หนังจิตวิทยาที่จับเอาผีมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง*
จากบทสัมภาษณ์ของ ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับของหนังเรื่องนี้ เขาได้บอกว่า จุดเริ่มต้นของ Ghost Lab มาจากการเข้าร่วมเวิร์คช็อปของบรรดาผู้กำกับโดยกิจกรรมที่ว่าคือ ให้ผู้กำกับสองคนที่มีสไตล์การกำกับหนังที่แตกต่างกันมาจับคู่กันและคิดพล็อตหนังแนวคู่หู (Buddy Film) ถ้าพล็อตไหนที่ถูกใจคณะกรรมการก็จะได้รับโอกาสให้พัฒนาต่อไปเป็นหนังได้ ซึ่งคุณปวีณ ที่เคยฝากผลงานเอาไว้ใน Body ศพ #19 ก็ได้จับคู่กับคุณเต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังสุดอินดี้อย่าง Mary is Happy, Mary is Happy. ทั้งคู่ได้เลือกหยิบเอาสองสารตั้งต้นที่แตกต่างกันสุดขั้วมาผสมกัน นั่นก็คือ หนังผีกับวิทยาศาสตร์ จนออกมาเป็นพล็อตของหนัง Ghost Lab นั่นเอง
Ghost Lab เล่าถึงความทะเยอทะยานที่อยากไขความลี้ลับของโลกหลังความตายของสองหมอหนุ่มฝึกหัด หมอวี หรือนายแพทย์ ชีวี พรหมเมธัส หมอหนุ่มสุดเนิร์ดหน้าตายที่แอบมีลูกบ้าอย่างไม่น่าเชื่อ กับ หมอกล้า หรือ นายแพทย์ อาจอง สุญญตา หมอหนุ่มหน้าตาดีที่ชักชวนให้เพื่อนของเขาเข้ามาร่วมทำการทดลองนี้ด้วย ทั้งคู่มีความหลงใหลในเรื่องผีจนเข้าขั้นหมกมุ่นตั้งแต่ที่พวกเขาได้พบผีคนไข้ถูกไฟคลอกเข้าโดยบังเอิญในคืนหนึ่ง เหตุการณ์ความสยองขวัญได้เป็นเชื้อไฟของความอยากรู้อยากเห็นและปลุกความสัญชาตญาณของความเป็นนักคิดและนักวิทยาศาสตร์ของทั้งคู่ขึ้นมา แต่เมื่อทั้งคู่ยิ่งคิด ยิ่งค้นคว้าหาคำตอบ มันก็ยิ่งทำให้เรื่องราวนั้นลุกลามบานปลายขึ้นไปเรื่อย ๆ จนสายเกินแก้
โดยส่วนตัวคิดว่า หนังแนวคู่หูเรื่องนี้ ไม่ใช่หนังผีและไม่ใช่หนังวิทยาศาสตร์ แต่คล้าย ๆ จะเป็นหนังแนวจิตวิทยาที่ล้อเล่นและตั้งคำถามกับจิตใจหรือความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์มากกว่า แต่หยิบเอาผี เรื่องลึกลับ และการทดลองมาเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เรื่องราวดำเนินไปได้เพียงเท่านั้น ซึ่งมีรสชาติที่คล้าย ๆ กับ Body ศพ #19 ที่เป็นหยิบเอาอาการเห็นภาพหลอน (Hallucination) และโรคหลายบุคลิก (Dissociative Identidy Disorder) มานำเสนอให้ผู้ชมเห็นผ่านมุมมองของหมอสุธี ซึ่งกลายมาเป็นผู้ป่วยซะเองและกลายเป็นว่าการเห็นภาพหลอนก็ได้สร้างองค์ประกอบที่น่ากลัวและสยองขวัญได้แบบหนังผีเลย และนอกจากนี้ ทางผู้กำกับยังได้แอบใส่อีสเตอร์เอกลงไปใน Ghost Lab ด้วย เช่น โรงพยาบาลที่ตัวเอกทั้งคู่ทำงานเป็นหมออินเทิร์นก็ยังเป็นโรงพยาบาลเดียวที่หมอสุธีทำงานในเรื่อง Body ศพ #19 อีกด้วย
*ด้านมืดของวิทยาศาสตร์และการแพทย์*
Ghost Lab ได้นำเสนอให้เราได้เห็นอีกด้านของวิทยาศาสตร์และการแพทย์ นั่นคือ ด้านมืดของวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่มักไม่มีใครอยากพูดถึงและไม่กล้าพูดถึง เพราะก่อนที่โลกในปัจจุบันของพวกเราจะมีวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ทันสมัยที่ช่วยยื้อชีวิตของผู้คนมากมายเอาไว้ได้ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า มีชีวิตของมนุษย์และสัตว์มากมายที่ต้องเซ่นสังเวยแด่ความกระหายใคร่รู้ของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและความลับต่าง ๆ ของธรรมชาติ พวกเขาต้องสละชีวิตเพื่อเข้าร่วมเป็น "หนูทดลองยา" เพื่อให้พิสูจน์และคำยืนยันว่า การใช้ยาหรือสารเคมีชนิดนั้น ๆ ปลอดภัยต่อร่างกายของมนุษย์ ตลอดจนวิธีการผ่าตัดต่าง ๆ นั้นถูกต้องและสามารถช่วยแก้ไขสิ่งผิดปกติของร่างกายให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ดังนั้น เราจึงควรคำนึงถึงความจริงข้อนี้อยู่เสมอว่า ถ้าหากปราศจากผู้เข้าร่วมการทดลองเหล่านั้น ย่อมไม่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยหรือความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนี้เลย
*หมอก็คน: อาชีพอันมีเกียรติที่ต้องแลกมาด้วยอะไรมากมาย*
นอกจากนี้ Ghost Lab ยังทำให้เราได้เห็นว่า อาชีพหมอนั้นแม้ว่าจะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้รับการยกย่องจากผู้คนในสังคม แต่ในขณะเดียวกัน หมอทุกคนก็ยังต้องแบกรับเอาความกดดันและ ความคาดหวังจากญาติคนไข้ในการรักษาผู้ป่วยให้หายดี และเพราะทุกวินาทีในการทำการรักษาของหมอหมายถึงชีวิตของคนไข้ ดังนั้นในทุกการรักษาหรือการผ่าตัด หมอจำต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และใจเย็นอยู่ทุกขณะในการวินิจฉัยหรือตัดสินใจกระทำการใด ๆ ก็ตามเพื่อยื้อชีวิตคนไข้เอาไว้ให้ได้ และหมอยังถูกคาดหวังให้มีบุคลิกที่สะอาด สุขุม รอบคอบ เพื่อความน่าเชื่อถือ และจำต้องยึดถือจรรยาบรรณหมอเป็นสำคัญอีกด้วย ความกดดันจากความคาดหวังต่าง ๆ นี้เอง ทำให้หมอหรือบุคคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลมีสภาวะความเครียดและซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนปกติมาก ๆ ความเครียดนี้สะท้อนผ่านอาการติดบุหรี่ของหมอวีและอาการผ่าตัดคนไข้ผิดจุดของหมอกล้า และนอกจากนี้ ความหมกมุ่นกับการค้นคว้าเรื่องผียังทำให้พวกเขารู้สึกกดดันมากขึ้นและเสียสมาธิจากการรักษาคนไข้อันเป็นงานหลักไปด้วย
*คำถามของคนข้างหลัง: ฉันทำอะไรผิด? ส่วนคนที่ฆ่าตัวตายเขาคิดอะไรอยู่?*
หนังยังเสนอให้เราเห็นมุมมองของครอบครัวของคนที่จากไปอีกด้วย ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์ ความเศร้าเสียใจ ความสงสัยในเหตุผลของการตัดสินใจปลิดชีพของคนที่รักของพวกเขา ใหม่ คนรักของหมอกล้าและครอบครัวของเขาล้วนมีการตั้งคำถามถึงการกระทำของตนเองว่าพวกเขาทำอะไรผิดหรือ หมอกล้าถึงตัดสินใจทิ้งพวกเขาไป และยังรู้สึกเสียใจว่า ทำไมพวกเขาไม่มีโอกาสได้รับรู้เหตุผลหรือข้อมูลอะไรจากปากคนที่พวกเขารักเลย จนแล้วจนรอด เราจะได้เห็นว่า ทั้งใหม่และครอบครัวของกล้าก็ยังคงไม่ได้รับรู้ข้อมูลอะไรของกล้าเพิ่มเติมเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความตายจากการฆ่าตัวตายของใครสักคนหนึ่งส่งผลกระทบต่อคนที่ยังอยู่ไม่มากก็น้อยเสมอ และยังสะท้อนให้เห็นว่า การรู้อะไรบางอย่างมากเกินไปก็เป็นทุกข์ ในขณะเดียวกันการรู้อะไรน้อยเกินไปหรือการไม่รู้อะไรเลยก็เป็นทุกข์เช่นเดียวกัน
*เมื่อ "วิชา" พาไปสู่ "อจินไตย" : ปรัชญาพุทธที่แฝงอยู่ในการทดลองสุดโต่ง*
Ghost Lab ยังสะท้อนให้เห็นถึงด้านมืดของความรู้ที่ไม่ได้เป็นแสงสว่างส่องทางให้เรามองเห็นความจริงเสมอไป หากแต่การใช้ความรู้ในทางที่ผิด ๆ และความทะเยอทะยานในสิ่งที่ไม่สมควรทำก็สามารถพาตัวเราไปสู่ความตกต่ำของชีวิตได้ เช่นหมอวีและหมอกล้า ที่เป็นตัวแทนของผู้ที่มี "วิชา" หรือมีความรู้ระดับสูงของสังคม แต่ด้วยการมองโลกที่ผิด ๆ พร้อมกับความทะเยอทะยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็ได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น และนอกจากนี้ ความกระหายใคร่รู้ของสองหมอยังตรงกับแนวคิด "อจินไตย" หรือ "สิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยวิสัยของมนุษย์ปกติ" พูดง่าย ๆ คือ เรื่องบางเรื่องจะอยากรู้ไปทำไม ในเมื่อรู้แล้วไม่มีประโยชน์กับการมีชีวิตอยู่หรือไม่ได้ช่วยให้มีความสุขขึ้นในชีวิต เพราะคิดไปก็ไม่สามารถหาคำตอบมายืนยันได้อย่างชัดเจนและยังจะส่งผลให้คนที่คิดอย่างหมกมุ่นอาจถึงขั้นเสียสติได้ พร้อมกันนี้ แนวคิดเรื่องชาติก่อนที่มีปรากฏในพระธรรมต่าง ๆ และแนวคิดอจินไตยยังมุ่งสั่งสอนให้ผู้คนตระหนักถึงชีวิตในขณะปัจจุบันและทำมันให้ดีที่สุดมากกว่าจะไปยึดมั่นถือมั่นในอดีตหรือสิ่งที่จบไปแล้วอีกด้วย
*ศาสนาพุทธ VS วิทยาศาสตร์: คนละเรื่องเดียวกัน*
ในขณะที่วงการวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาคำตอบหรือการไขความลับของธรรมชาติ แต่สิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ก็ได้ หากแต่การรับรู้ เรียนรู้ และเข้าใจชีวิตหรือธรรมชาติอย่างที่มันดำเนินไป อาจจะเป็นหนทางที่ดีกว่าก็เป็นได้ และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ศาสนาพุทธกำลังอยากจะบอกเราอยู่หรือเปล่า ส่วนตัวมองว่า ศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่คล้ายกัน แต่เกิดจากการมองคนละมุม เราจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธถูกมองว่า เป็นศาสนาที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สูง ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมที่สั่งสอนไม่ให้เชื่อโดยปราศจากเหตุผล (หลักกาลามสูตร) ที่สนับสนุนให้มนุษย์ค้นหาความจริงหรือพิสูจน์ก่อนที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ หรือกฎแห่งกรรมที่เราเชื่อว่า ใครทำอะไรมักจะได้สิ่งนั้นกลับมา ที่มีความคล้ายคลึงกับกฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 3 ของนิวตัน (Newton's Third Law ) ที่ว่าด้วยแรงกิริยา (Action Force) และแรงปฏิกิริยา (Reaction Force) ที่กล่าวว่า เมื่อเราออกแรงกระทำต่อวัตถุไปเท่าใด แรงที่สะท้อนตอบกลับมาจากวัตถุก็จะมีแรงเท่ากับแรงกิริยาเสมอ เป็นต้น
แต่แม้ว่าศาสนาพุทธจะสนับสนุนในเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิตผ่านทางการกระทำของตนเองและการฝึกจิตภาวนาเพื่อเรียนรู้และฝึกจิตใจของตนเองให้นิ่งก่อนที่จะเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็ยังได้มุ่งเน้นให้มนุษย์เห็นถึงความพอเหมาะพอควรของการค้นคว้าหาคำตอบของความจริงนั้น โดยหลักทางสายกลางเพื่อมิให้ทุกคนหมกมุ่นกับเรื่อง "อจินไตย" ที่อยู่เหนือวิสัยการรับรู้ของปุถุชนคนธรรมดาได้ ซึ่งขีดจำกัดนี้ไม่มีอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ของโลกภายนอก โดยเฉพาะเรื่องของวัตถุหรือสสารต่าง ๆ ที่สามารถจับต้องได้เท่านั้น และการไร้ขีดจำกัดของความคิดแบบวิทยาศาสตร์นี่แหละที่ได้มอบแนวคิดที่ส่งเสริมอีโก้ให้แก่พวกเราว่า ยิ่งมนุษย์สามารถค้นพบความจริงของธรรมชาติได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสูงส่งกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และเข้าใกล้ความเป็นสมบูรณ์แบบหรือคำว่า "พระเจ้า" มากยิ่งขึ้น โดยในบ้างครั้ง มนุษย์ก็อาจหลงลืมไปว่า ความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง และพวกเราทุกคนก็ล้วนมีข้อบกพร่อง แล้วพวกเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า การเป็นพระเจ้าหรือการเป็นผู้อยู่เหนือทุกสิ่งนั้นจะทำให้ชีวิตเรามีความสุขและเป็นความหมายของชีวิตจริง ๆ
นี่เอง จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรลองคิดถึงตั้งคำถามถึงความจริงข้อนี้ใหม่ โดยแทนที่เราจะตั้งทำถามว่า พวกเราเกิดมาเพื่ออะไรและมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ผีมีจริงหรือไม่ โลกหน้ามีจริงหรือไม่ แต่ถ้าเราลองตั้งคำถามใหม่ว่า เกิดมาหนึ่งชีวิต เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า มีประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเราและคนที่เรารักมีความสุข มันอาจจะดีกว่าก็ได้
(โพสต์นี้ในนามแอดมินเพจเล่นนอกบท ส่วนกระทู้นี้ https://pantip.com/topic/40738153 เราก็เป็นคนตั้งเองค่ะ เดี๋ยวมีคนงงหรือเข้าใจผิดนะคะ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ )
#GhostLab #ฉีกกฎทดลองผี #Netflix #GDH #หนัง #ภาพยนตร์ #วิทยาศาสตร์ #ปรัชญา #ศาสนา #ผี #ทดลอง
โฆษณา