29 พ.ค. 2021 เวลา 17:23 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
เปนชู้กับผี : หนังผีไทยรุ่นคลาสสิคที่บอกเล่าเรื่อง "เพศ" และ "ชนชั้น"
(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)
จริง ๆ แล้วไม่ใช่คนชอบดูหนังผีเลย เพราะดูแล้วจะชอบหลอนตัวเอง แต่ทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนรีวิวอีกครั้ง? เพราะว่า เมื่อสามปีก่อน ไปเดินมหกรรมหนังสือแห่งชาติมา เห็นว่า สนพ. สถาพรบุ๊คส์ มีการนำบทภาพยนตร์มาปรับให้เป็นเวอร์ชั่นนิยาย พร้อมบทพิเศษที่ไม่มีในหนังด้วย มี DVD หนัง Blue-Ray แผ่นแท้ ลดราคา แถมพี่วิศิษฏ์ ผกก. ได้มาให้สัมภาษณ์ด้วย ประกอบกับนี่ก็จะถึงวันฮาโลวีนแล้ว ขอรีวิวให้เข้าบรรยากาศซะหน่อย
และส่วนตัวคิดว่า เปนชู้กับผี เป็นหนังผีไทยที่เรียกได้ว่า คลาสสิค เพราะด้านองค์ประกอบศิลป์ โดยรวมทำได้ดีมาก ทำให้เชื่อว่า เฮ้ย นี่เรากลับไปในปี ๒๔๗๗ จริง ๆ คอสตูมช่วยได้มาก แคสติ้งดีงามตั้งแต่ตัวเอกยัน Extra คนไทยสมัยก่อนผิวคล้ำหน้าคมเข้ม ไปหาข้อมูลมา เพิ่งรู้ว่า หนังเรื่องนี้ถ่ายทำที่ปากช่องด้วย (โคราชบ้านเค้าเอง 😁 ) แถม Extra ก็ใช้คนแถวนั้นด้วย ถึงแม้ไม่มี CG แต่การแสดง การใช้มุมกล้องและการเล่นกับแสงเงาทำให้ดูน่ากลัว ประกอบกับโลเคชั่นคือที่สุดแล้ว หลอน เยือกเย็น ขนลุก แม้มองเฉย ๆ ชื่นชมอีกในเรื่องของบท หนังมีการดำเนินเรื่องชวนให้ติดตามมาก ๆ เข้าใจเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของตัวละครและคนดู แล้วพอถึงจุดไคลแม็กซ์คือเงิบไปตาม ๆ กัน
ถึงแม้ไม่ใช่หนังที่เล่นบทตุ้งแช่มาก แต่ด้วยองค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้หลอนได้นานเป็นสัปดาห์ หลอนในความทรงจำ แถมให้ข้อคิดเรื่องเวรกรรม ความเชื่อเรื่องผี วิญญาณ แบบไทย ๆ ไม่เถียงว่า สมัยนี้ใครเขาเชื่อเรื่องผีกัน แต่ถ้าหากเรามองในแง่ของวัฒนธรรม ความเชื่อเรื่องผีและชีวิตหลังความตาย เป็นการศึกษาวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิดของคนในชาตินั้นได้ดี เพราะเรา ๆ ท่าน ๆ ถูกปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับ "ผี" และ "ชีวิตหลังความตาย" มาตั้งแต่เด็กตามคติพุทธ เชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ การเวียนว่ายตายเกิด ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนเอกลักษณ์ความเชื่อของคนไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านความเชื่อประเภทหนึ่ง ส่วนตัวเลยคิดว่า หนังเรื่องนี้ แม้ดูในอีก ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า มันก็ยังคงทำหน้าที่ให้ความบันเทิงพร้อมสอนใจให้แก่ผู้ชมได้ไม่มีวันล้าสมัย
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://pantip.com/topic/37321202
👻 ความเชื่อเรื่องผีและกฎแห่งกรรมของคนไทย
เปนชู้กับผี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมแนวสยองขวัญของ "ครูเหม เวชกร" ซึ่งเป็นศิลปินชาวไทยรุ่นแรก ๆ ที่มีการเล่น "แสงและเงา" ในการวาดรูป (ตามอิทธิพลของศิลปะตะวันตกที่เข้ามามากขึ้นในยุคราว ๆ ๒๔๙๙-๒๕๑๐) ทำให้ลายเส้นของครูเหมเป็นเอกลักษณ์หาตัวจับยาก
งานที่ขึ้นชื่อของครูเหม คือผลงานการวาดภาพประกอบเรื่องผี ที่มีความน่ากลัว เนื่องจากการใช้แสงเงาที่สมจริง โทนสีทึบทึม โลเคชั่นในชีวิตประจำวันของคนไทย แต่มีความน่ากลัวแบบ ไทย ๆ เมื่อถึงเวลาค่ำคืน เช่น มุ้ง บันได ศาลา หน้าต่าง กองฟาง ใต้ถุนบ้าน ฯลฯ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังผีหลายเรื่องในปัจจุบัน ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานของครูเหมทั้งสิ้น
ผีที่อาศัยอยู่ในบ้านมานั่งมองนวลจัน
แม้แต่ "เปนชู้กับผี" ก็ได้นำผลงานบางเรื่องมาดัดแปลงจนเกิดเป็นฉากผีที่น่ากลัว ในเรื่อง ผีจะไม่ได้โผล่มาแบบให้ตกใจ แต่จะมาแบบเงียบ ๆ สามารถโผล่มาได้ทุกมุมของบ้าน แต่ทำให้หลอนได้นาน เน้นย้ำประโยคหลักของหนังที่ว่า "ผีอยู่ในทุกที่ที่เราอยู่"
ในหนังแสดงให้เห็นว่า ผี คือคนที่เคยอาศัยอยู่ในคฤหาสน์มาก่อน แต่ด้วยความผูกพันกับที่นี่ จึงทำให้วิญญาณยังคงวนเวียนไม่ไปไหน และยังคงดำเนินหน้าที่ของตนตามปกติเสมือนตอนมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ ยังนำเสนอความเชื่อเรื่องผีไทยอื่นๆ เช่น อย่าตากผ้าทิ้งไว้ที่ราวในตอนกลางคืน เพราะผีปอบหรือผีกระสือจะมาเช็ดปากหลังจากกินของเน่าเสร็จ
อีกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญคือ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม นวลจันทร์ นางเอกของเรื่องได้ฆ่าตัวตายพร้อมกับลูกในท้อง (ถือเป็นกรรมหนักที่สุด) ตามความเชื่อในศาสนาพุทธ คนที่ฆ่าตัวตายจะต้องทุกข์ทรมานด้วยการฆ่าตัวตายไปอีก ๕๐๐ ชาติ จึงทำให้นางเอกต้องวนเวียนมารับกรรมที่ตัวเองก่อไปเรื่อย ๆ คือต้องลืมว่าตัวเองได้ตายไปแล้วและต้องกลับมารับรู้เรื่องราวเจ็บปวดใจ โดนผีในบ้านรุมหลอก และฆ่าตัวตายซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้ไปจนกว่าจะสิ้นเวรสิ้นกรรม
รูปปั้นคุณนายรัญจวน
👫 ชนชั้นวรรณะภายใต้ระบบปิตาธิปไตย
อีกประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ การแบ่งชนชั้นวรรณะภายใต้ระบบปิตาธิปไตย (ผู้ชายเป็นใหญ่) ก่อนเรื่องจะเกิดขึ้น คฤหาสน์หลังนี้ถูกปกครองโดยเจ้าคุณพ่อของคุณนายรัญจวน อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นของท่านเจ้าคุณ เมื่อท่านสิ้นบุญ และลูกสาวเพียงคนเดียวได้ขึ้นเป็นนายหญิงของบ้าน เธอจึงคิดจะปกครองบ้านหลังนี้ด้วยวิถีทางของเธอเอง คุณนายเลือกแต่งงานกับผู้ชายที่มียศศักดิ์ต่ำกว่า ก็คือคุณชอบ เพราะไม่ต้องการให้มีผู้ชายคนไหนใช้อำนาจกับเธออีก หนำซ้ำคุณชอบยังต้องทำหน้าที่ปรนนิบัติทางเพศตามที่เธอชอบบ่อยครั้ง (ซึ่งในยุคนั้น การปรนนิบัติรับใช้แทบทุกอย่าง เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง)
คุณชอบ สามีของคุณนายรัญจวนและนวลจัน
การครองคู่ที่มีความไม่เสมอภาคย่อมนำพาความเบื่อหน่ายมาให้ คุณชอบเริ่มอึดอัด และเริ่มปลีกตัวออกห่างโดยอ้างว่า ขอไปเที่ยวชลบุรี การได้พบเจอและช่วยเหลือผู้หญิงชาวบ้านธรรมดา ๆ แต่อ่อนหวาน ใสซื่อบริสุทธิ์ อย่างนวลจันทร์ ก่อให้เกิดความรู้สึกสมชายชาตรีอย่างที่เขาควรจะเป็น ความสัมพันธ์ต้องห้ามจึงเกิดขึ้น ยิ่งได้รู้ว่า เขากำลังจะมีเลือดเนื้อเชื้อไขกับเธอ มันทำให้ความรู้สึกเป็นผู้นำครอบครัวก่อตัวขึ้นอย่างแรงกล้า ผิดกับการอยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่ แต่ไร้เงาของเด็กน้อยวิ่งเล่นให้ชื่นใจ อีกทั้งยังรู้สึกว่าตนเป็นเพียงทาสบำเรอสวาท ดังนั้นคุณชอบจึงเลือกที่จะกลับไปขอหย่ากับคุณนายรัญจวน
คุณนายรัญจวน
แต่เมื่ออำนาจทางสังคมสองรูปแบบมาปะทะกัน ย่อมเกิดหายนะ (อัตตาแบบปิตาธิปไตยของคุณชอบ ปะทะ ยศถาบรรดาศักดิ์ของคุณนาย) ทั้งสองมีปากเสียงกัน คุณชอบเปิดเผยว่า เขามีสาวอื่นที่ชลบุรีและกำลังจะแต่งงานกัน มันทำให้คุณนายรู้ว่า เธอกำลังพ่ายแพ้ จึงอ้อนวอนเขาแต่เมื่อไม่เป็นผล เธอจึงเลือกใช้อำนาจทางสังคมปลิดชีพเขา และเมื่อสมจิต คนใช้ผู้ภักดีมาคอหักตายไปอีกคน เธอจึงปกปิดความผิดของตัวเองเช่นเคย และไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น สะท้อนให้เห็นรูปแบบการใช้อำนาจในทางที่ผิด ยายเอิบที่ลูกสาวโดนคุณนายรัญจวนขังตายในหีบก็เป็นตัวแทนของคนที่ถูกคนมีอำนาจทางสังคมเล่นงาน
ส่วนนวลจันทร์และช้อย คือตัวแทนของคนชายขอบ คนที่ไม่ได้รับโอกาสอย่างที่สมควรได้รับ ไม่รับรู้เหตุการณ์สำคัญหรือเรื่องราวที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง เห็นได้ชัดว่า นวลจันทร์ถูกทิ้งให้อุ้มท้องและรอคอยอย่างเดียวดาย เมื่อมาขออาศัยในบ้าน ก็โดนสมจิตไล่ให้ไปนอนเรือนที่แยกออกไปจากเรือนใหญ่ ได้รับการปฏิบัติอย่างดูถูกดูแคลน และเรียกเธอว่า "นังบ้านนอก/นังไพร่/ผู้หญิงชั้นต่ำ" เพียงเพราะเป็นคนต่างจังหวัด
ช้อยและนวลจันนั่งคุยกันเกี่ยวกับคนรักของนวลจัน
ส่วนช้อยนั้น จากการแต่งกายนุ่งซิ่นและไว้ผมยาวเก็บเป็นมวย ทำให้นึกถึงสาวอีสาน/สาวเหนือสมัยก่อน ถึงแม้เป็นปอบเร่ร่อนที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยในบริเวณบ้าน แต่ก็เป็นศาลเพียงตาหลังเล็ก ๆ สื่อถึงการถูกกีดกันออกจากสังคมในบ้านหลังนั้น ด้วยความที่เป็นคนชายขอบเหมือนกัน ทำให้ช้อยนึกเห็นใจนวลจันทร์และยอมเป็นเพื่อนเพียงคนเดียวของเธอ
ทั้งนวลจันทร์และคุณนายรัญจวน ต่างก็ตกเป็นเหยื่อของระบบปิตาธิปไตย ต่างคนต่างมองว่า อีกฝ่ายเป็นชู้กับสามีตัวเอง ปะทะคารมเพื่อจะแย่งชิงความเป็นหลวง แต่มันก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะต่างฝ่ายก็หัวใจสลาย และสิ้นศรัทธาในรักไม่ต่างกัน
สมจิต แม่บ้านสาวใหญ่ที่ชอบทำตัวลึกลับ
🧥 อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก
หากใครมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า หนังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกค่อนข้างมาก ตั้งแต่ เสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร (คุณนายรัญจวน/คุณชอบ/สมจิต) คุณนายรัญจวนมีการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเบาบางและทำผมสั้นตามสมัยนิยม มีการฟังแผ่นเสียงฝรั่ง ส่วนคุณชอบนั้นก็เล่นไวโอลิน แต่งตัวด้วยเสื้อ-กางเกงแบบผู้ชายตะวันตก ส่วนสมจิต แต่งกายแบบแม่บ้านฝรั่ง การใส่ชุดปิดคอแขนยาวสีดำ ทำให้อดคิดไม่ได้ถึงหนังแนว Gothic ของฝรั่ง นอกจากนี้ยังมีฉากเต้นรำ ฉากเสิร์ฟน้ำชายามบ่าย หรือแม้แต่คฤหาสน์ ก็เป็นการผสมผสานของบ้านทรงไทย + สไตล์โคโลเนียล (เรียกง่าย ๆ ว่า บ้านขนมปังขิง) เนื่องจากมีการฉลุลายไม้อย่างวิจิตรบรรจง คล้ายขนมปังขิงของยุโรป
นอกจากนี้ ยังแอบแฝงอยู่ในทัศนคติของคุณนายรัญจวนด้วย คือเรื่องการที่เพศหญิงมีสิทธิ์เสรีทัดเทียมผู้ชาย หรือมีความเป็นเฟมินิสต์ ซึ่งเห็นได้จากการที่เธอเป็นใหญ่ในเรื่องบนเตียง
1
โฆษณา