Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
30 พ.ค. 2021 เวลา 08:57 • ประวัติศาสตร์
ลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism)
หากใครที่เป็นคอประวัติศาสตร์ น่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของ “ลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism)” มาบ้าง
2
ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ชาติมหาอำนาจต่างพยายามที่จะขยายอิทธิพลและอำนาจเข้าไปยังดินแดนต่างๆ ผ่านการล่าอาณานิคม
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นในปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) ชาติมหาอำนาจต่างๆ ในยุโรป ต่างก็ขยายอำนาจเข้าไปยังดินแดนต่างๆ และจนถึงทุกวันนี้ หลายๆ ชาติก็ยังคงเหลือร่องรอย รากฐานอำนาจของชาติในยุโรปที่เคยเข้ามายึดครอง
สงครามโลกครั้งที่ 1
ถ้าจะให้นิยามถึงลัทธิล่าอาณานิคม ก็คือการที่ชาติมหาอำนาจที่มีความพร้อมมากกว่าทั้งเทคโนโลยี กองทัพ และเงินทุน เข้าไปมีอำนาจ ครอบครองอีกประเทศที่ด้อยกว่า โดยเข้าไปครอบงำทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ทรัพยากร รวมทั้งการเมือง
1
ในหลายๆ ครั้ง เป้าหมายของการล่าอาณานิคมก็เพื่อหาประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศนั้นๆ รวมทั้งหาประโยชน์จากผู้คนในประเทศนั้นๆ
3
การล่าอาณานิคมนี้ บางครั้งชาติมหาอำนาจก็อาจจะมีการเผยแพร่ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมของตน รวมทั้งแนวคิดทางการเมืองให้แก่ประชาชนของประเทศนั้นๆ
ถึงแม้ว่าการล่าอาณานิคมจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย ไร้ศีลธรรม ทำให้ประเทศที่ตกอยู่ใต้อำนาจต้องประสบกับภาวะที่ลำบาก หากแต่การล่าอาณานิคมนี้ หลายประเทศที่ตกอยู่ใต้อำนาจของชาติมหาอำนาจ ก็ได้ประโยชน์จากการตกเป็นอาณานิคมเช่นกัน
การตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ ทำให้ชาติที่ด้อยพัฒนาหลายๆ ชาติได้โอกาสเข้าสู่ตลาดการค้าในยุโรป
ชาติในยุโรปหลายๆ ชาติจำเป็นต้องพึ่งทรัพยากรธรรมชาติ และความต้องการทรัพยากรก็มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ทำให้ชาติที่ตกเป็นอาณานิคม สามารถส่งออกทรัพยากรไปขายยังตลาดยุโรปได้เป็นจำนวนมาก
สำหรับประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นอกจากประโยชน์ทางด้านการค้าแล้ว อังกฤษยังได้เผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านต่างๆ ให้ประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย สิทธิต่างๆ การเงินและการธนาคาร ทำให้เศรษฐกิจของชาตินั้นเติบโต
การปฏิวัติอุตสาหกรรม
แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับหลายๆ ชาติ ข้อเสียของการตกเป็นอาณานิคมหรือ “เมืองขึ้น” ดูจะเลวร้ายกว่าที่ข้อดีจะมาหักล้างกันได้
1
รัฐบาลของชาติที่เป็นเจ้าอาณานิคมมักจะกำหนดกฎหมายใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งรีดภาษีจากชนพื้นเมืองหรือประชาชนของชาตินั้นๆ
มีการเข้ายึดครองและทำลายสถานที่ต่างๆ ของชาตินั้น อีกทั้งชนพื้นเมืองจำนวนมากก็ถูกจับเป็นทาส หลายคนก็เสียชีวิตจากโรคระบาดหรือภาวะอดอยาก อีกเป็นจำนวนมากก็ต้องบ้านแตก อพยพหนีไปอยู่ที่อื่น
4
ถ้าให้ยกตัวอย่าง ชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ต่างก็มีบรรพบุรุษเป็นชาวแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบจาก “ลัทธิอาณานิคมในทวีปแอฟริกา (Scramble for Africa)”
“ลัทธิอาณานิคมในทวีปแอฟริกา (Scramble for Africa)” เป็นช่วงเวลาของจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคมตั้งแต่ปีค.ศ.1880-1900 (พ.ศ.2423-2443) โดยในช่วงเวลานี้ มหาอำนาจยุโรปได้เข้ามาครอบครอง แผ่อำนาจไปเกือบจะทั่วแอฟริกา
ในทุกวันนี้ เชื่อว่ามีเพียงสองชาติ คือ เอธิโอเปีย และไลบีเรีย ที่ไม่เคยตกอยู่ใต้อำนาจของยุโรป
2
การรุกรานของชาวยุโรปผิวขาวในคราวลัทธิอาณานิคมในทวีปแอฟริกา
สำหรับประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคมนั้น สามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่เมื่อ 1,550 ปีก่อนคริสตกาล
ในเวลานั้น อาณาจักรกรีกโบราณ อาณาจักรโรมัน อาณาจักรอียิปต์ และฟินิเซีย เริ่มจะแผ่อำนาจของอาณาจักรตนเข้าไปยังดินแดนต่างๆ
อาณาจักรที่กล่าวมาเหล่านี้ ล้วนแต่ใช้กองทัพที่เกรียงไกรของตน แผ่อำนาจเข้าไปยังดินแดนต่างๆ และเกณฑ์ผู้คน อีกทั้งยังใช้ทรัพยากรของดินแดนนั้นให้เป็นประโยชน์ต่ออาณาจักรตน
สำหรับการล่าอาณานิคมในยุคสมัยใหม่นั้น เริ่มขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 15 ในช่วงเวลาของยุคแห่งการสำรวจ (Age of Discovery)
ในเวลานี้ ชาติต่างๆ ต่างมองหาเส้นทางใหม่เพื่อใช้ในการค้าโดยในปีค.ศ.1419 (พ.ศ.1962) นักสำรวจโปรตุเกสได้พิชิตนครเซวตาในแอฟริกาเหนือ และสร้างอาณาจักรที่จะอยู่ต่อมาอีกหลายร้อยปี
4
ยุคแห่งการสำรวจ (Age of Discovery)
จากนั้นโปรตุเกสก็ได้ขยายอาณาจักรและอำนาจ ก่อนที่ในปีค.ศ.1492 (พ.ศ.2035) “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)” นักสำรวจชาวเจนัว จะออกเดินเรือเพื่อตามหาเส้นทางไปจีนและอินเดีย (อ่านรายละเอียดได้ในบทความยุคแห่งการสำรวจที่ผมเคยเขียนเอาไว้ครับ)
ลัทธิล่าอาณานิคมรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยศตวรรษที่ 17 โดยฝรั่งเศสและเนเธอแลนด์ได้ขยายอำนาจไปยังหลายประเทศ ควบคู่มากับอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นมีอำนาจเหนือดินแดนต่างๆ เกือบจะทั่วโลก
1
ในช่วงเวลาที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดในต้นศตวรรษที่ 20 อังกฤษได้แผ่อำนาจไปยังพื้นที่ต่างๆ เกือบ 25% ของโลก และเป็นมหาอำนาจที่แทบทั้งโลกเกรงกลัว
แผนที่แสดงดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของอังกฤษ (สีแดง)
แต่ถึงจะทรงอำนาจ แต่การล่มสลายของลัทธิล่าอาณานิคม ก็ส่อเค้ามาตั้งแต่ปีค.ศ.1783 (พ.ศ.2326)
3
ในปีค.ศ.1783 (พ.ศ.2326) “การปฏิวัติอเมริกา (American Revolution)” ได้สิ้นสุดลง และเป็นจุดเริ่มต้นของความล่มสลายของลัทธิการล่าอาณานิคมของยุโรป เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยอยู่ใต้อำนาจของอังกฤษ ได้รับอิสรภาพ
เมื่อสูญเสียอเมริกา อังกฤษและชาติยุโรปอื่นๆ จึงเริ่มเล็งมายังแอฟริกาใต้ อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การปฏิวัติอเมริกา (American Revolution)
ในช่วงปลายยุคค.ศ.1870 (พ.ศ.2413-2422) ไปจนถึงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ลัทธิล่าอาณานิคมของยุโรป ได้เป็นที่รู้จักในนามของ “ลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ (New Imperialism)”
ในเวลานั้น ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น ได้แข่งขันกันขยายอำนาจเข้าไปยังดินแดนอื่นๆ
ในช่วงเวลาที่ชาติต่างๆ เหล่านี้ขยายอำนาจเข้าไปยังดินแดนต่างๆ ประชาชนของประเทศที่ถูกยึดครองก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่มีการใช้หลักสิทธิมนุษยชน ชนพื้นเมืองก็ถูกกดขี่
ช่วงท้ายๆ ของลัทธิล่าอาณานิคมมาถึงเมื่อคราวสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยชาติต่างๆ ที่ตกอยู่ใต้อำนาจของเยอรมนีซึ่งเป็นผู้แพ้สงคราม ได้รับอิสรภาพในที่สุด
ความล่มสลายของลัทธิล่าอาณานิคมของญี่ปุ่นตามมาในภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม และเป็นการแสดงให้ชาติต่างๆ เห็นว่ามหาอำนาจอาณานิคม ก็ไม่ได้จะอยู่ยืนยง และสามารถพ่ายแพ้ได้
และผลแห่งความพ่ายแพ้และสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำให้อาณานิคมหรือเมืองขึ้นต่างๆ ล้วนแต่อ่อนแอ ไม่มั่นคง
ในช่วงสงครามเย็น ได้มีการเรียกร้องอิสรภาพจากหน่วยงานของชาติต่างๆ เช่น สหประชาชาติ ก็มีส่วนช่วยในการทำให้ชาติต่างๆ ได้รับอิสรภาพ อีกทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็ได้กดดันให้มหาอำนาจยุโรป มอบเอกราชให้กับชาติต่างๆ
1
ในทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าการล่าอาณานิคมจะหมดไปแล้ว แต่ชาติต่างๆ ที่เคยตกเป็นอาณานิคม ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการเคยเป็นอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นในด้านดีหรือด้านร้าย
วัฒนธรรม ภาษา แนวคิดของหลายๆ ชาติที่เคยเป็นอาณานิคม ก็ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากชาติมหาอำนาจที่เคยครอบครองชาติตน
ประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษา และเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ให้แง่คิดหลายๆ อย่างแก่มนุษยชาติ
References:
https://www.thoughtco.com/colonialism-definition-and-examples-5112779
https://world101.cfr.org/historical-context/prelude-global-era/what-colonialism-and-how-did-it-arise
https://subjectguides.library.american.edu/c.php?g=1025915&p=7749710
https://www.nationalgeographic.com/culture/article/colonialism
54 บันทึก
46
2
24
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความประวัติศาสตร์, ข่าวสารทั่วๆ ไป , นอกเรื่อง, ๆลๆ , วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.2020-ปัจจุบัน
54
46
2
24
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย