30 พ.ค. 2021 เวลา 04:46 • ประวัติศาสตร์
ลีลาคชยุทธที่ขอบขัณฑสีมา
เขียนเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2556
ผมได้มีโอกาสไปสักการะ "พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระพุทธรูปของชาวไทยใหญ่" ที่เจ้ายอดศึกแห่งไทยใหญ่ และทหารไทยได้ร่วมกันสร้างขึ้นบนดอยสูงสุด บนกึ่งกลางเส้นแบ่งขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทยและประเทศเมียนมา ณ ตำบลนาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่นั้น ผมได้พบภาพเขียนเกี่ยวกับ "ลีลาคชยุทธจำนวน 12 ท่า 12 ภาพ" แขวนไว้ในศาลาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไทยใหญ่ เป็นความรู้ใหม่ของผมที่ได้พบ จึงถ่ายรูปมาและบันทึกไว้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระพุทธรูปของชาวไทยใหญ่บนกึ่งกลางเส้นแบ่งขอบขัณฑสีมา
พระบารมีแผ่ปกคุมหัวเมืองเหนือ
พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน)แห่งบ้านปางคาม เล่าให้ผมฟังว่า ชาวไทยใหญ่ทุกคนมีความเคารพและศรัทธาต่อสมเด็จพระนเรศวรฯ มาก เพราะท่านมีคุณูปการต่อชาวไทยใหญ่หลายครั้งหลายครา แม้เหตุการณ์ตอนที่พระองค์ฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองหาง ก็เพราะกำลังเดินทัพมาช่วยเหลือชาวไทยใหญ่นั้นเอง
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
บันทึกเจ้ายอดศึก
ที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S) ได้จารึกพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเอาไว้ ผมขอคัดในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับไทยใหญ่ โดยสรุปดังนี้
•พ.ศ.2107 สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 9 พรรษา บุเรงนอง กษัตริย์พม่า ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา ทรงถูกนำไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดี ประทับ 6 ปี ทรงรู้จัก "เจ้าคำก่ายน้อย" ของไทยใหญ่แห่งเมืองแสนหวี ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่กรุงหงสาวดี ตั้งแต่ พ.ศ.2098
•................
•พ.ศ.2126 สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 28 พรรษา ได้เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเมืองหงสาวดีไปตีเมืองคัง (ไทยใหญ่เรียกเมืองกลอง) ในรัฐไทยใหญ่ ตามคำสั่งของพม่า
•...............
•พ.ศ.2135 สมเด็จพระนเรศวรฯ พระชนมายุ 37 พรรษา สงครามยุทธหัตถี พม่า 240,000 คน ไทย 100,000 คน รบกันที่เมืองสุพรรณบุรี ทรงมีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา มังกะยอชวา แห่งกรุงหงสาวดี ด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์ เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2135 และในสงครามเมืองทะวาย ตะนาวศรี ไทย 100,000 คน ตีได้เมือง
•พ.ศ.2143 สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงส่งเจ้าคำก่ายน้อย กลับแสนหวี เพื่อรวมอาณาจักรเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งปวงขึ้นตรงต่ออยุธยา
•พ.ศ.2147 สงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรฯ ยกทัพไปตีกรุงอังวะ ด้วยกำลังทัพจำนวน 200,000 คน เพื่อทรงช่วยพระสหาย เจ้าคำก่ายน้อยแห่งแสนหวี ที่กำลังถูกอังวะรุกราน ระหว่างทางทรงประชวร และเสด็จสวรรคต ที่เมืองหาง (อยู่ในรัฐฉาน) เมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2148 สิริพระชนมพรรษา 50 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี
จากบันทึกดังกล่าวจึงเป็นสิ่งยืนยันได้ถึงสาเหตุของความเคารพศรัทธา ที่ชาวไทยใหญ่มีต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเรา
"พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยืนตระหง่านบนยอดดอยสูงสุด หลังของพระองค์ท่านฯ พิงขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทย สายตามองยาวไกลเพื่อกำราบทัพพม่า เจ้าจงอย่ามารุกรานชาวไทยใหญ่ที่ดอยไตแลง ภายใต้สายพระเนตรของพระองค์ฯ "
หลังพิงขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรไทย ปกป้องคุ้มภัย..ชาวไทยใหญ่..ที่อยู่ด้านหน้า สายตามองไกล..ไปยอดเขาลิบ กำราบทัพพม่า..ให้ยำเกรง
ลีลาคชยุทธ
จากการที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา มังกะยอชวา แห่งกรุงหงสาวดี ด้วยพระแสงของ้าว สิ้นพระชนม์นั้น จึงได้เกิดภาพวาดลีลาคชยุทธ จำนวน 12 ท่าติดเอาไว้ในศาลาเพื่อเป็นอนุสรณ์นั่นเอง ลีลาคชยุทธน่าจะเป็นเคล็ดวิชากระบวนท่าในการรบบนหลังช้าง เพราะสมัยก่อนแม่ทัพมักใช้ช้างเป็นพาหนะ จึงต้องมีการเรียนการฝึกฝนเพื่อให้ชำนาญและเชี่ยวชาญในการรบบนหลังช้าง ภาพลีลาคชยุทธ ที่ติดอยู่ประกอบด้วย 12 กระบวนท่า ได้แก่
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 1 นาคีพันหลัก
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 2 หักด่านลมกรด
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 3 องคตควงพระขรรค์
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 4 คชสารสะบัดงวง
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 5 ทะลวงประจัญบาน
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 6 คชสารประสานงา
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 7 บาทาลูบพักตร์
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 8 หักคอเอราวัณ
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 9 โค่นเขาพระสุเมรุ
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 10 เถรกวาดลาน
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 11 บั่นเศียรทศกัณฑ์
ลีลาคชยุทธ ท่าที่ 12 ประหารราชสีห์
ผมไม่มีความรู้เรื่องลีลาคชยุทธ จึงไม่สามารถอธิบายเคล็ดวิชาได้ แต่ผมได้ถ่ายภาพมาประกอบให้ชมด้านล่าง เผื่อว่าท่านผู้ใดมีความรู้จะได้อธิบายเพิ่มเติมได้มากยิ่งขึ้น
แต่ผมยังสงสัยว่า ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชา สิ้นพระชนม์นั้น ไม่ทราบว่าจะเป็นลีลาคชยุทธ ท่าที่ 11 บั่นเศียรทศกัณฑ์ หรือ ท่าที่ 12 ประหารราชสีห์ กันแน่ วานให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญได้ต่อยอดองค์ความรู้ นี้เพื่อประโยชน์ในทางศิลปะการต่อสู้ต่อไป
#ดอยไตแลง #ลีลาคชยุทธ #ชนช้าง #ยุทธหัตถี #สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา