30 พ.ค. 2021 เวลา 06:19 • ครอบครัว & เด็ก
คำถามที่พบบ่อยว่า "ใครดุกว่ากันระหว่างพ่อกับแม่" ที่บ้านเราคำตอบก็คือ "เรายึดในกฎเดียวกัน จึงไม่มีใครดุกว่าใคร”
2
เรื่องนี้เราทำงานเป็นทีม ความดีความชอบใด ๆ ขอรับไว้ในนามพ่อและแม่ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเห็นแม่ take action มากกว่า แต่ในเวลาปกติ ช่วงที่มีแค่พ่อแม่ลูกนั้น พ่อเองก็มีส่วนร่วมในการดูแลอบรมพร้อมไปกับแม่
1
ในเวลาที่ใครคนหนึ่งปรี๊ดแตก อีกคนจะเย็นและเข้าคุมสถานการณ์เสมอ และถ้าใครอีกคนกำลังเข้มงวด อบรม อีกคนจะเข้าสนับสนุนผนึกกำลังเข้าช่วยในเวลาเหมาะสม
1
วินัยที่เราวางไว้สำหรับลูกก็คือ เรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวัน
- กิน / กินเอง / กินให้หมด / นั่งกินให้เป็นที่
- นอน / นอนเอง นอนยาว / เมื่อถึงเวลานอนจะหลับหรือไม่หลับก็ต้องอยู่บนเตียง / นอนกลางวัน
- รักษาคำพูด / สัญญาอะไรไว้ต้องทำตาม
- มีมารยาทตามสมควร / ผู้ใหญ่พูดกันต้องรอ ไม่พูดแทรก / พูดมีหางเสียง
- เล่น / ของเล่นๆแล้วต้องเก็บ / เล่นน้ำได้คือต้องเปลี่ยนชุดเปลี่ยนรองเท้า / ของมีคมห้ามเล่น / ไม่ทำลายของ-รักษาของ
- หน้าที่ / เมื่อได้รับมอบหมายงาน ต้องทำให้เสร็จ เรียบร้อยตั้งแต่ต้นจนจบ
2
จริง ๆ เรื่องวินัยพื้นฐานพวกนี้ เข้าใจว่าทุกบ้านก็คงอยากฝึกให้เป็นนิสัย แต่การฝึกเด็กก็เหมือนฝึกสัตว์ป่า ความพยศต่าง ๆ ย่อมต้องมี อยู่ที่ความเข้าใจธรรมชาติของลูก ใจเย็น และใจแข็ง มันไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไป เรื่องพวกนี้สอนกันไม่ได้ ตำราเล่มไหนก็ไม่เท่าการสังเกตและทำความเข้าใจลูกของเราเอง ลูกล่อลูกชน พระเดชพระคุณ ต้องเอามาใช้
7
นอกจากเรื่องวินัยที่มดกับพ่อมะลิเห็นตรงกันแล้ว อีกเรื่องที่ต้องตกลงร่วมกันคือเรื่องการเรียนรู้ พ่อมะลิขอให้เน้นเรื่องการอยู่ร่วมในสังคม การเล่นและอยู่กับธรรมชาติ การเรียนรู้จากการใช้ชีวิต มากกว่าการเรียนจากหนังสือหรือตำรา
ซึ่งเมื่อคุยรายละเอียดกันแล้ว มดก็ตกลงยินยอมตามนั้นทั้ง ๆ ที่มดเองก็วางแผนจะสอนนู่นนี่นั่นให้มะลิมากมาย เป็นอันพับไว้ก่อน ทุกวันนี้มะลิเรียนรู้หลายอย่าง จากการติดตามพ่อแม่ไปทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการเข้าสังคม รู้ว่าเรื่องไหนเด็กทำได้หรือไม่ได้ เรื่องไหนเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ รู้จักมารยาทในสถานที่ต่าง ๆ เสียงดัง-วิ่งเล่นได้/ไม่ได้
เมื่ออยู่บ้านเห็นพ่อแม่ทำงาน ก็ได้ช่วยเหลือในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำได้ หรือเรียนรู้ที่จะหากิจกรรมทำเองโดยที่ไม่ก่อกวนพ่อแม่
และเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่บ้านเรายึดถือก็คือ อย่าให้ลูกโตใต้ความกลัวของพ่อแม่ ดังนั้นความโลดโผนโจนทะยานของมะลิจะได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากพ่อแม่เสมอ ภายใต้ความปลอดภัยในระดับหนึ่ง
1
เด็กควรได้หกล้ม ได้แผล เจ็บแผล และเห็นมันตกสะเก็ดจนหาย ได้เห็นหัวปูดโน จนม่วงช้ำ และยุบหายในที่สุด บ้านเราอยากให้มะลิเรียนรู้ที่จะระวังตัวด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ต้องเคยล้มเคยเจ็บแล้วจะระวังเองเป็นโดยไม่ต้องเตือน
เมื่อมีใครบอกมะลิว่า "อย่าวิ่ง เดี๋ยวหกล้ม" แม่จะรีบปกป้องลูกทันทีว่า "ไม่เป็นไรค่ะ มะลิวิ่งได้ หกล้มได้" และปล่อยให้ลูกวิ่งอย่างเสรี
2
แต่ก่อนจะปล่อยให้เสรีได้อย่างมะลิ เราผ่านการสอนและแนะนำเรื่องสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วมีอะไรตามมา มะลิต้องสามารถวิเคราะห์ในเบื้องต้นได้ว่าสิ่งไหนอันตราย สิ่งไหนควรกลัวควรกล้า เมื่อไม่แน่ใจให้ถาม
และเมื่อกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว พ่อแม่มีหน้าที่แก้ไขโดยพลันอย่าปล่อยไว้นานโดยดูความพร้อมด้วยใจเป็นกลาง และเมื่อกล้าในสิ่งที่ไม่ควรก็ต้องรีบยับยั้งทันทีเช่นกัน
เรื่องสุดท้ายก็คือ ลูกคือลูก ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่เทวดาตัวน้อย ไม่ใช่ little boss (แม้ว่าจะเป็นแบบนั้น) ในวัยนี้ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ คำพูดคำสั่งของพ่อแม่ต้องมีน้ำหนักกว่า
1
ขออภัยเขียนแล้วติดลมค่ะ คำรำพึงรำพันของคนเป็นแม่นี่มันยืดยาวเหลือเกิน
*เขียนบันทึกไว้ เมื่อมะลิ 2 ขวบ*

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา