31 พ.ค. 2021 เวลา 05:11 • ปรัชญา
การจัดการกิเลส (Passion Management)
กุลฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา
*************************
พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ได้ปรารถไว้ใน Youtube และหนังสือกิเลสแมนเนจเม้นท์ว่า “ถ้ามนุษย์เราจัดการกิเลสได้ชีวิตก็ง่ายขึ้น” กระผมจึงได้นำมาสรุปถอดความและย่อเนื้อหาจากคลิปวิดิโอผนวกกับหนังสือของท่านเพื่อให้ง่ายต่อผู้ที่สนใจในการอ่านได้เป็นประโยชน์ กล่าวคือ คำว่า “กิเลส” (Kilesa) มาจาก ภาษาอังกฤษว่า “Passion” คือ ความปราถนาอย่างแรงกล้า หรือสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง มี 3 ประการ ได้แก่ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง) หรือ อีกนัยหนึ่งในภาษาไทยทั่วไป คือ กิเลสตัณหา, อารมณ์, ความชอบ, กำหนัด,ความโกรธ ทุกวันนี้เรามีศาสตร์ทางด้านการจัดการทุกอย่างมากมายให้เรียนรู้กันอยู่ตลอด เช่น การจัดการทางสังคม การจัดการตลาด การจัดการทรัพยากร ฯลฯ เป็นศาสตร์ทาง How to ให้เรียนรู้และได้ปริญญาไปกันมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นการบริหารจัดการแต่ภายนอก แต่การจัดการ (บริหาร) กิเลส ในจิตใจของมนุษย์เรานั้งยังไม่ได้ถูกบรรจุลงในหลักสูตรใดๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสังคมในทุกๆเรื่องเพราะต้นตอของปัญหาทั้งหลายส่วนมากก็เริ่มต้นที่ กิเลสนี้เอง ถ้าคนเราสามารถบริหารจัดการกับกิเลสทั้งหลายได้ปัญหาทั้งหลายประดามีน่าจะลดลงและส่งผลดีต่อโลก สังคม ประเทศชาติ ตัวตนบุคคลไปจนถึงจิตใจ ซึ่งท่าน ว. ได้แนะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า ควรจะบรรจุหลักสูตรกิเลสแมนเนจเม้นไว้ให้นักศึกษา MBA เรียนกัน
1
กิเลส เป็นปัจจัยเชิงลบ ที่ทำให้จิตใจและปํญญาเสื่อมคุณภาพ กิเลสที่เกิดขึ้นทุกขณะจิตเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองของชีวิต แต่กิเลสไม่ใช่เนื้อหาเดิมของชีวิตที่มีมาแต่เดิม แต่กลับเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยต่างๆ เท่านั้น ฉะนั้นหากเราล่วงรู้เท่าทันธรรมชาติของกิเลสก็สามาถจัดการกับกิเลสได้ ซึ่งก็หมายรวมถึงความทุกข์ประดามีของมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งการดับทุกข์เป็นผลของการบริหารจัดการ ถ้าตัวทุกข์ส่วนใหญ่มีเหตุมาจากกิเลสแล้วไซร้ เราจึงควรมาเรียนรู้เกี่ยบกับการบริหารกิเลสให้เป็นการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบกันจะได้ไม่เป็นทุกข์มากล้นพ้นประดามี
สภาวะเดิมของจิตใจมนุษย์นั้นบริสุทธิ์ ผ่องใส แต่เศร้าหมองไปเพราะมี อาคันตุกะกิเลส (กิเลสจร) เข้ามาเพียงชั่วครั้งคราว เพราะความรู้ไม่เท่าทัน หากไม่รู้วิธีบริหารจัดการกับแขกแปลกหน้านี้ อาจจะอยู่กับเราถาวรก็เป็นได้ เมื่อเราเกิดมามักจะมีกิเลสเป็นของแถมติดตัวมาด้วยเสมอ ต่อมาเมื่อมีปัจจัยในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบ่มเพาะ กิเลสที่สุกงอมก็มักจะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา ซึ่งมีตัวหลักที่เราควรรีบบริหารจัดการที่พวกเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอิจฉาริษยา (อกุศลมูล หรือ รากเหง้าของความชั่ว) เพราะความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงล้วนมีรากเหง้ามาจาก โลภะ ก็คือ ตัณหา (ความอยากได้) โกรธะ ก็คือ มานะ (ความอยากใหญ่) และความหลง ก็คือ ทิฏฐิ (ความใจแคบ) นั่นเอง
1
แม้คนเราอาจจะไม่สามารถ “จัดการกิเลส” ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนกับพระอริยะบุคคล แต่เราก็ไม่ควรที่จะมีชีวิตอยู่อย่างคนที่ยอมตกเป็นทาสของกิเลสจนเต็มเวลา ในแต่ละวันของคนเรานั้นควจะมีบางช่วงเวลา หรือบางขณะจิตที่เป็นฝ่ายลุกขึ้นมาปราบดาภิเษกประกาศอิสรภาพเป็นนายเหนือกิเลสบ้าง โดยไม่ควรปล่อยให้กิเลสครอบงำชั่วนาตาปี
ความโลภ หรือความอยากระดับพื้นฐานในจิตใจของคนเรา เป็นแรงขับ แรงจูงใจ ให้คนต่อสู้ แส่ เสือกไส ตะเกียกตะกาย ดิ้นรนไขว่คว้า แสวงหา สะสมครอบครอง ทำให้คนเราประสบกับสุขๆ ทุกข์ๆ หม่นหมองครองเศร้าคลุกเคล้ากันไป ก่อเกิดการหลงวนใน ยศ ทรัพย์ อำนาจ เงินตรา ชื่อเสียงและอัตตาที่เป็นมายาของชีวิต ทำให้เป็นหอกหนามทิ่มแทงหัวใจ ว่ายวนไปในทะเลแห่งความทุกข์เมื่อใดที่คนเราขึ้นสู่ฝั่งได้จะได้พบกับความสุขที่ถาวร ซึ่งการจัดการกับความโลภให้อยู่เหนือความอยากนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ด้วยความสามารถในการมีความสุขจากความอยากดังนี้
1
1. มีความสุขจากการมีที่รู้จักพอ
2. มีความสุขจากการทำความดี หรือความสุขจากการทำเพื่อผู้อื่น
3. มีความสุขจากการให้เรียนรู้ และให้ความรู้แก่ผู้อื่น
4. มีความสุขจากการได้ทำในสิ่งที่ตนรัก
5. มีความสุขจากการหายใจอย่างมีสติ การทำสมาธิภาวนา
6. มีความสุขโดยอิสระจากความอยากหรือเจริญวิปัสสนากรรมฐานให้จิตตื่นรู้จากการ “หยุดความอยาก”
7. มีความสุขจากการเจริญมรณสติอยู่เสมอ เพราะการระลึกถึงความตายอยู่เนืองๆ จะลดการสะสมเกินจำเป็น ถอยห่างจากความโลภโมโทสัน เพราะรู้ทันความจริงของโลกเสียแล้วว่า “ครอบครองมากแค่ไหน สุดท้ายก็ไปมือเปล่า”
1
ความโกรธ อานุภาพของความโกรธเปรียบเสมือนอาวุธที่มีพลานุภาพมาก ถึงขั้นประหัตประหารกันได้ ดังนั้นจึงควรบริหารจัดการความโกรธให้ลดลงจนถึงขั้นไม่เกิดขึ้นเลยในตัวของเราดังวิธีการต่อไปนี้
1. หากเกิดความโกรธให้กำหนดลมหายใจเข้าออกหรือทำให้รู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบันขณะ
2. พยายามพาตนเองให้ห่างออกจากสถานการณ์ตรงนั้น
3. พยายามหาแหล่งน้ำที่พอจะทำให้เราสดชื่นรื่นเย็นเพื่อเรียกสติให้กลับมา
4. พยายามพิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธ
5. อย่าตัดสินใจในทุกๆเรื่องในขณะที่เรากำลังโกรธ
6. งดการพูดในทุกรูปแบบในขณะที่โกรธ
7. พยายามฝึกฝนการเปลี่ยนพลังงานความโกรธให้เกิดประโยชน์ เช่น ออกกำลัง ซักผ้า อาบน้ำ
8. ฝึกเจริญเมตตา ให้เห็นว่า “เราทั้งผองเป็นพี่น้องกัน” หรือแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
9. หมั่นฝึกฝนตนเองให้เจริญสติทุกวันด้วยการฝึกตามรู้ตามดูลมหายใจ (อานาปานสติ)
เราสามารถจัดการกับความโกรธได้ ด้วยการฝึก เจริญสติ จะเป็นวิธีที่ปิดประตูความโกรธได้อย่างถาวร โดยการเติมสติลงไปในทุกอิริยาบถ กล่าวคือ “ทำอะไรอยู่ก็รู้” ในทุกเรื่องที่ทำ ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว เรียกว่า การโกรธของเราจะพัฒนาขึ้นจนเป็นคนที่น่าคบ รักใคร่ชอบพอแก่คนทั่วไป
1
หนังสือกิเลสแมนเนจเม้นท์ ของ เจ้าคุณเมธีวชิโรดม
ความหลง การไม่รู้จักความจริงของชีวิต นั้นคือ ความหลง เช่น หลงกามรมณ์ หลงเงิน หลงอำนาจ หลงในการทำงานจนเสียสมดุล หรือแม้แต่ “หลงตัวเอง” ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้ตัวและอันตรายที่สุด มนุษย์จึงควรจะหากลไกวิธีในการบริหารจัดการกับความหลง ดังนี้
1. หมั่นศึกษาหาความรู้ทางโลกควบคู่คุณธรรมอยู่เสมอ ให้มีความเข้าใจในโลก ในชีวิตตนเองและในธรรมชาติอย่างชัดเจน เข้าใจปรากฏการณ์ภายใน ใกล้ตัวซึ่งสามารถดับทุกข์ได้
2. รู้จัก ยศ ทรัพย์ อำนาจ กิน กาม เกียรติ ถึงข้อดีและข้อเสียต่างๆ ให้ดี ซึ่งต้อง ได้มาโดยชอบธรรม ใช้มันอย่างโปร่งใส และเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
3. หมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐานและฝึกปฏิบัติตามแนวอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งจะสามารถขุดรากถอนโคนที่ซึ่งเป็นอวิชชาที่เป็นต้นตอแห่งความหลงได้โดยตรง
1
ความอิจฉา ริษยา เป็นภัยร้ายแรงอีกชนิดหนึ่งที่ยากจะกำจัด หากคนเรารู้ไม่เท่าทันความอิจฉาริษยา มันจะบั่นทอนความเป็นมนุษย์ลงไป การที่เห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนไม่ได้ หรือไม่อยากเห็นใครได้ดี การริษยาเขาก็คือการจุดไฟเผาตนเอง การจะลดทอนและให้ไฟที่รอนแรงนั้น เบาบางลง ด้วยการใช้พรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. การเอามานะมาละริษยาหรือเอากิเลสมาล้างกิเลส ใช้ได้ผลชะงัดมากคือ เวลาริษยาคน ก็คิดเสียว่า เขาทำได้ เราก็ต้องทำได้ แต่ควรพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่เราถนัดจะดีกว่าไม่ต้องเลียนแบบใคร
2. คลายริษยาด้วยวิธีเอาผู้ที่เราริษยามาเป็นมิตร ความอิจฉาจะพลันแปรเปลี่ยนไปเป็นมิตรภาพที่อาทร
3. หัดวางตนด้วยการโมทนาผู้ที่สำเร็จด้วยใจจริง เมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุขด้วยการฝึกหัดในการถ่อมตน
4. ฝึกหยุดนิ่งและปล่อยวาง ด้วยการหมั่นเจริญสติ ตื่นรู้ ดูใจในทุกๆ อิริยาบถ อย่าให้ตัวริษยาเข้ามาในใจได้ ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน นับเป็นวิธีการบริหารความริษยาขั้นเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด
สรุปบทส่งท้าย เรื่องกลวิธีและอุบายในการบริหารจัดการกิเลส (Passion Management)
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานและฝึกปฏิบัติตามแนวอริยมรรคมีองค์ 8 หรือหนทางสู่การดับทุกข์ ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เพราะการบริหารจัดการกิเลสตามที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงเปลือกผิวภายนอกของการปฏิบัติ จึงได้เสนอไว้เพียงเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ง่ายขึ้นเท่านั้น หากปฏิบัติได้ตามแนวทางของมรรคมีองค์ 8 แล้ว ก็จะสามารถหลุดพ้นจากสภาวะกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง
1. พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ,กิเลสแมนเนจเม้นท์, --นนทบุรี : ปราณ , 2558.
2. พระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ; “จัดการกับกิเลสได้ ชีวิตก็ง่ายขึ้น” ; Youtube.
1
โฆษณา