24 มิ.ย. 2021 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ประสบการณ์การใช้งาน AirPods Max มา 6 เดือน
วันนี้ผมจะกล่าวถึง 3 ประเด็นหลัก ๆ ของประสบการณ์การใช้งาน AirPods Max เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ช่วงวางขายใหม่ ๆ ครับ
1. ดีไซน์
2. คุณภาพเสียงและประสบการณ์การใช้งานทั่วไป
3. ความคุ้มค่า
1. ดีไซน์
สิ่งที่ทุกท่านรวมถึงผมคาดหวังเป็นส่วนมาก คือเรื่องของคุณภาพเสียงและดีไซน์ของ AirPods Max เพราะด้วยราคาที่สูงมาก ๆ ในอุตสาหกรรมหูฟัง รวมทั้งเป็นผลิตภัณฑ์หูฟังแบบครอบหู (Over-Ear Headphones) ชิ้นแรกในนามของ Apple ทำให้ผู้คนต่างสนใจ (หรือสงสัย) ว่ามีดีอย่างไรบ้าง
เริ่มแรกที่ดีไซน์ (ทั้งภายในและภายนอก) จะเห็นได้ว่าเป็นดีไซน์สไตล์ Apple ที่จะต้องมองระยะไกลแล้วรู้ได้ว่าเป็นของ Apple แปลกตาและเรียบง่ายในเวลาเดียวกัน
AirPods Max สีดำ
ตัว Head Band ด้านบนที่เป็นตาข่ายเพื่อกระจายการรองรับน้ำหนัก สวมใส่แล้วไม่รู้สึกอึดอัด แต่ด้วยตัวเครื่องที่ค่อนข้างหนักกว่าแบรนด์อื่น ๆ (4xx กรัม กับแบรนด์อื่น ๆ ที่ไม่เกิน 300 กรัม เพราะใช้พลาสติกเพื่อความเบาและคล่องตัวในการใช้งาน) โดยส่วนตัวทำให้เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะรู้สึกหนัก แต่ความแน่นในการสวมใส่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ตาข่าย (Mesh) เพื่อรองรับและกระจายน้ำหนักของหูฟังไม่ให้รู้สึกโดนกดทับที่จุดเดียว ให้ความรู้สึกใส่แล้วสบาย ไม่อึดอัด
แต่ถ้าก้มหรือเงยเยอะไป ก็มีสิทธิ์ที่ตัวหูฟังจะหล่นไปตามแนวการก้มหรือเงยได้ ทำให้ต้องมีความระมัดระวังบ้างในการใช้งาน
วัสดุที่ใช้ภายนอกให้ความรู้สึกที่หรูหรา เพราะใช้เป็นอะลูมิเนียมและสแตนเลสสตีลในส่วนของกรอบที่สามารถปรับระดับความยาว-สั้นของหูฟัง เพื่อให้เหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้ที่แตกต่างกันได้
ซิลิโคนที่ครอบ Head Band มีความทนต่อรอยขีดข่วนทั่วไปได้ดี แต่ต้องระวังที่ของมีคมไปขูดขีด Head Band แล้วทำให้ตาข่ายที่ใช้รับและกระจายน้ำหนัก (Mesh) ขาดได้ เพราะจะไม่มีการซ่อมเฉพาะส่วนตาข่ายอย่างเดียวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะต้องเปลี่ยนชิ้นใหม่เท่านั้น
ภายในมีการออกแบบและ Engineer อย่างดี ทนทานต่อรอยขีดข่วนทั่วไปได้ และมั่นคงและแข็งแรงในการพับเก็บหรือขยับหูฟัง โดยให้ความรู้สึกทนทานและเสียหายจากการใช้งานทั่วไปได้ยาก
ทั้งหูฟังจะมีปุ่มแค่ 2 ปุ่ม คือปุ่มแนวยาว เพื่อใช้งานการตัดเสียงรบกวนภายนอก (Noise Cancellation) หรือเปิดโหมดเสียงภายนอกทะลุผ่าน (Transparency Mode) เพื่อฟังเสียงภายนอกได้ และปุ่มเม็ดมะยมดิจิตอล (Digital Crown) ที่กดลงไป เพื่อควบคุมการเล่นเพลง และหมุนเพื่อควบคุมความดังของเสียงได้ ใช้งานง่าย แต่ต้องปรับตัวนิดหน่อย เพื่อให้คุ้นเคยว่าทิศไหนเป็นทิศเพิ่มเสียงหรือลดเสียง (ทั้งนี้ทั้งนั้น สามารถตั้งค่าได้ว่าให้ทิศไหนเพิ่มเสียงและลดเสียง)
Digital Crown และปุ่มยาวสำหรับเปิด Noise Cancellation หรือ Transparency Mode
ตัว Memory Foam ที่ใช้ประกบหูสามารถดึงออกเพื่อเปลี่ยนชิ้นได้อย่างง่ายดาย เพราะยึดติดกันแบบแม่เหล็ก เมื่อ Memory Foam ชำรุดหรือฉีกขาด สามารถซื้อคู่ใหม่มาเปลี่ยนได้ หรือสามารถเปลี่ยนเพื่อ Mix & Match เป็นสีสันและสไตล์ได้
Memory Foam ครอบหูที่สามารถถอดออกและเปลี่ยนได้ง่าย
2. คุณภาพเสียงและประสบการณ์การใช้งาน
ผู้เขียนขอแจ้งว่าไม่ได้เป็น Audiophile แต่หลงใหลในการเสพเสียง และสามารถแยกความแตกต่างของคุณภาพเสียงที่เทียบกันได้ในระดับหนึ่ง
คุณภาพเสียงของหูฟังนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม แต่ผมเองยังไม่เคยได้เทียบกับแบรนด์อื่นอย่างจริงจัง จึงไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าดีกว่าอันไหนหรืออย่างไรบ้าง
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ คุณภาพเสียงขึ้นกับแอปฟังเพลงที่ใช้งานด้วย
ส่วนตัวผมใช้ Apple Music เพราะเพลงจะถูก Optimize ให้ใช้งานกับ AirPods ได้ดีที่สุด และมีเพลงแบบ Lossless (ส่วนใหญ่เป็น CD Quality) อีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น การฟังเพลงแบบ Lossless จะต้องใช้ตัวแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอนาล็อก (Digital to Analog Converter หรือ DAC) ที่มีคุณภาพสูงและเครื่องเล่นเสียงที่เหมาะสมกับจุดประสงค์การใช้งานครับ และต้องต่อผ่านสายเท่านั้นครับ
ด้วยข้อจำกัดของปริมาณการส่งข้อมูล ทำให้การฟังเพลงแบบไร้สายผ่าน Bluetooth จะไม่สามารถฟังเพลงแบบ Lossless ได้บน AirPods ครับ
ผมได้ใช้งาน AirPods Max ทั้งแบบไร้สายและแบบเสียบสาย โดยในตอนนี้จะต้องซื้อสายแบบ Lightning to 3.5 mm Audio Cable ที่ขายบน Apple เท่านั้น เพราะจะเป็นแบบใช้ได้สองทาง คือสามารถเสียบเข้า iPhone แล้วต่อเข้ากับเครื่องเล่นใหญ่ได้ หรือแบบกลับกันที่เสียบหูฟังแล้วต่อเข้ากับ iPhone ด้วยแจ็คแบบ 3.5 mm ซึ่งการใช้งาน AirPods Max แบบเสียบสายจะเป็นการใช้งานแบบหลังครับ
การฟังเพลงแบบต่อสาย
การฟังเพลงแบบสายจะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า เนื่องด้วยการส่งข้อมูลได้มากกว่า และมี Delay ที่ต่ำกว่าแบบไร้สายพอสมควร เหมาะสำหรับนที่อยากได้ Latency แบบต่ำ ๆ เช่นการเล่นเกม การตัดต่อวีดีโอ การทำเพลง เป็นต้น
แต่จากคำกล่าวของ Apple จะได้ว่าการใช้งาน AirPods Max แบบเสียบสาย จะใช้ฟังเพลงแบบคุณภาพสูงอย่าง Lossless ได้ แต่เสียงที่ออกมาจะไม่ใ่ช่คุณภาพเสียงแบบ Lossless อย่างสมบูรณ์ (Not Completely Lossless)
คำอธิบายจาก Apple จากเว็บไซต์ https://support.apple.com/en-us/HT212183
เนื่องด้วย AirPods Max ที่มีการแปลงสัญญาณหลายขั้นตอนเกินไป ทำให้การแปลงสัญญาณหลายขั้นตอนเกิดการสูญเสียข้อมูลแค่ส่วนเล็กมาก ๆ จึงถือว่าไม่ใ่ช Lossless ในทางเทคนิคครับ
การเสียบ AirPods Max แบบสายเข้ากับ iPhone ที่ต่อหางหนู จะมีการแปลงสัญญาณจากดิจิตอลเป็นอนาล็อกหรืออนาล็อกกลับเป็นดิจิตอลทั้งสิ้น 3 ขั้นตอน จึงไม่ใช่ Lossless อย่างแท้จริงเพราะกระบวนการนี้ครับ
กระบวนการการแปลง DAC และ ADC (Analog to Digital Converter) เกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง คือ 1. ตอนออกจาก iPhone แปลงที่หางหนู 2. ก่อนเข้า AirPods Max 3. ก่อนขับเสียงใน AirPods Max
การใช้งานกับหางหนูแบบ Lightning ของ Apple จะให้เสียงคุณภาพที่ออกมาได้สูงสุดที่ 24-bit/48kHz เท่านั้น จะไม่สามารถใช้ฟังเพลงแบบ Hi-Res Lossless ที่ 24-bit/192kHz ได้ ต้องใช้ DAC ยี่ห้ออื่นครับ
การเสียบสายจะสามารถใช้งานกับอุปกรณ์ใด ๆ ที่มีแจ็ค 3.5 mm ได้ทั้งสิ้น หรืออย่าง iPhone รุ่นใหม่ ๆ สามารถใช้ตัวแปลง Lightning เป็นแจ็ค 3.5 mm (โดยทั่วไปจะเรียกสั้น ๆ ว่า “หางหนู”) เพื่อเสียบใช้งานหูฟังได้เช่นกันครับ
ในแง่ของการฟังเพลงนั้น เสียงจะมีมิติและมีความกังวาล Sound Stage ที่สัมผัสได้จากกรฟังเพลงอย่างชัดเจน ทั้งเพลงหนัก ๆ อย่าง Rock, Metal, Pop Rock หรือเบา ๆ อย่าง Acoustic หรือ Classical Music จะมีมิติเสียงที่ดี เสียงทุ้มพอดี (แต่ผมปรับ EQ ให้เบสหนักขึ้น เพราะส่วนตัวชอบเบสหนักประมาณหนึ่ง) และเสียงกลางกับเสียงสูงที่ไม่หนาและบางเกินไป
อีกแง่ที่ชัดเจนมาก คือการฟังเพลงที่สามารถแยก Layer หรือ Instruments ได้ชัดเจนมากในการฟังเพลง ซึ่งจะชัดเจนขึ้นหากฟังแบบสาย และ Blend กันอย่างลงตัว
ในแง่ของการดูหนัง มีความกระหึ่มมาก ๆ เหมือนอยู่ในหนัง ซีรีส์ อนิเมะนั้น ๆ ยิ่งการใช้แบบเสียงรอบทิศทาง หรือ Spatial Audio นั้น จะยกระดับประสบการณ์การดูหนังได้อย่างน่าสนใจมาก
การฟัง Podcast มีความชัดเจน เสียงผู้พูดมีความหนานุ่ม ฟังง่าย ได้ยินรายละเอียดครบถ้วน
การใช้งานคู่กับการตัดเสียงนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม เพราะส่วนตัวผมชอบ AirPods Max ตรงที่การตัดเสียงไม่ได้ตัดขาดมากเกืนไป แต่ตัดมากพอสมควร เช่น การฟังเพลงในขณะที่มีการดูดฝุ่น การฟังเพลงในขณะที่มีการใช้ไดร์เป่าผม เมื่อเปิด Noise Cancellation พร้อมฟังเพลงไปด้วย จะลดเสียงรบกวนรอบข้างได้ดีเยี่ยม
Transparency Mode ทำงานได้ดีมาก แทบไม่ต่างกับตอนที่ไม่ใส่หูฟัง ทำให้การฟังเสียงรอบข้างเมื่อไม่ได้ฟังเพลงได้อย่างดีครับ
ส่วนตัวผมใช้ AirPods Max กับการเล่นเกมกับ PS5 โดยต่อสายเข้ากับจอย ทำให้เสียงเกมนั้นสมจริง กระหึ่ม และรอบทิศทาง ถือว่าเป็นประสบการณ์การเล่นเกมที่ดียิ่งขึ้น
จำลองการเล่นเกม PS5 กับ AirPods Max
ในส่วนของการเก็บหรือเลิกใช้หูฟัง สามารถเก็บเข้า Smart Case ของ Apple ที่ให้มาได้ โดยการสอดเข้าไปและพับแม่เหล็กด้านหน้าได้
ส่วนตัวผมต้องการกระเป๋าเก็บเพื่อป้องกันหูฟังทั้งชิ้นและถือไปมาพร้อมอุปกรณ์พ่วงพิเศษอย่างหางหนูหรือสายแปลงได้ ผมเลยตัดสินใจซื้อเป็นกระเป๋าเก็บหูฟังพร้อมมีแม่เหล็กในตัว เพื่อเป็นการสั่งให้ AirPods Max เข้าสู่โหมด Stand By และเลิกใช้งานชั่วคราว เป็นการประหยัดแบตเตอรี่ ทำงานดั่งเคสที่ Apple ให้มาพร้อม AirPods Max ครับ
กระเป๋าเก็บหูฟัง เพื่อป้องกันและพกอุปกรณ์เสริมได้ครบจบในชิ้นเดียว พร้อมมีแม่เหล็กเพื่อให้ AirPods Max เข้าโหมด Stand By
โดยรวมแล้วเป็นประสบการณ์การใช้งานหูฟังแบบครอบหูได้ดีเยี่ยม โดยแบบไร้สาย จะใช้งานได้อย่างต่อเนื่องกับการสลับอุปกรณ์ เช่น เชื่อมกับ iPhone แล้วเปลี่ยนเป็นเชื่อมกับ iPad และการดูหนังที่มี Spatial Audio เพื่อเสียงสมจริงและรอบทิศทางครับ
หรือใช้งานได้ง่ายในการต่อแบบเสียบสายไม่ต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ได้ดี ใช้ได้กับทุกอุปกรณ์เช่นกัน
หากใช้งานแบบไร้สายกับอุปกรณ์อื่น ก็สามารถเชื่อมต่อได้ผ่าน Bluetooth ตามปกติครับ
3. ความคุ้มค่า
เทียบกับประสบการณ์การใช้งานแล้ว ผู้เขียนคิดว่า AirPods Max เป็นหูฟังที่ดีเยี่ยมชิ้นหนึ่ง ทั้งดีไซน์ ความเรียบง่ายในการใช้งานกับอุปกรณ์ Apple หรือการใช้งานทั่วไปจากการเสียบสาย ให้คุณภาพเสียงที่ดีมากและสมจริง ใช้งานได้ทุกประเภท ยกระดับประสบการณ์ทุกอย่าง ทั้งการฟังเพลงคุณภาพสูง การเล่นเกม การฟัง Podcast หรือการเสพความบันเทิงทั่วไป หรือแม้กระทั่งการใช้งานเพื่อการทำงาน เช่น การทำเพลงพื้นฐาน การตัดต่อวีดีโอ เป็นต้น
ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่า AirPods Max ให้ความคุ้มค่าที่ดี แต่ราคาสูงเกินไปเมื่อเทียบกับสิ่งที่แบรนด์อื่น ๆให้ได้เช่นกันในราคาที่ย่อมเยากว่า
แต่หากสนใจซื้อเพื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์ Apple ใน Apple Ecosystem ถือว่าเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจครับ
โฆษณา