31 พ.ค. 2021 เวลา 12:51 • ดนตรี เพลง
BrandNew Sunset - Of Space and Time (2016)
"พวกเราจะใช้วิธีแจมกันในห้องซ้อมครับ จนกว่าจะได้เพลงออกมามันเวลาเลยใช้เวลาค่อนข้างนานในการทำอัลบั้ม แต่ข้อดีคือมันจะได้เรื่องความลื่นไหลของแต่ละเพลง" พี่ชาย สุชาย ชูเชิด มือกีต้าร์ของวงเล่าถึงวิธีการทำเพลงในแบบของ BrandNew Sunset วงร็อคที่คร่ำหวอดในวงการเพลงไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยความที่วงขึ้นชื่อในเรื่องการแสดงสด พวกเขาเลยตั้งใจจะนำบรรยากาศรวมถึงพลังงานเหล่านั้นมาอยู่ในเวอร์ชั่นอัลบั้มด้วย "เราไม่ได้กำหนดไว้ก่อนนะว่าเพลงไหนจะออกมาเป็นยังไง ความยาวเท่าไหร่ เราจะใช้ความรู้สึกตัดสิน เพราะเราเล่นด้วยกันมานาน ทำอัลบั้มมาก็หลายชุด เลยพอจะเข้าใจว่ามูฟเม้นท์ของแต่ละเพลงจะเป็นยังไง บางเพลงมันเลยยาวมาก บางเพลงก็สั้นนิดเดียว"
หลังจากซ้อมจนได้เพลงออกมา วงจะอัดเสียงจากหัองซ้อมโดยใช้เครื่องอัดแบบพกพาของ Zoom เพื่อนำมาดูภาพรวม "บางเพลงก็แก้เยอะ บางเพลงก็ไม่แก้เลย เราใช้วิธีนี้เพราะสะดวกและแต่ละคนก็ไม่ถนัดเรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่าไหร่" พวกเขาจะทำพาร์ทดนตรีจนเสร็จก่อนที่เนื้อร้องและเมโลดี้จะตามมาทีหลัง "เนื้อร้องกับเมโลดี้จะเป็นผม, ตูน (ศุภลักษณ์ โตวัชระกุล - ร้องนำ) และ ก้อง (ธนัช คงเกรียงไกร - กีต้าร์) ช่วยกันทำ แต่ตูนจะเป็นคนแต่งเนื้อเพลงหลัก" เพลงแรกที่เริ่มทำในอัลบั้มนี้คือเพลง “Fire (in Our Hearts)” ซึ่งพี่ชายบอกว่าในแต่ละอัลบั้มไม่มีการกำหนดแนวทางหรือธีมมาก่อน "มันเหมือนเป็นช่วงวัย ณ เวลานั้น BrandNew Sunset จะไม่เคยวางกรอบว่าชุดนี้ต้องเป็นแนวนี้ วงเรามีส่วนผสมหลายอย่างจะหนักก็ไม่หนักจะเบาก็ไม่เบา อย่างตูนกับยุทธ (กานต์ณัฐ พหลกุล - เบส) จะชอบฟังเพลงหนักๆ ผมจะชอบเพลงที่มีเมโลดี้ ส่วนเติร์ก (วรุตม์ หุนตระกูล - กลอง) จะพังค์จ๋าเลย ด้วยความชอบของแต่ละคนมันเลยรวมกันออกมาเป็นแบบนี้"
จากวิธีการทำงานของวงทำให้อัลบั้มแต่ละชุดเว้นวรรคนานหลายปี จึวส่งผลต่อมุมมองในอัลบั้มด้วยวัยที่เพิ่มขึ้น "อย่างในชุด Welcome Home เมโลดี้จะเป็นแบบป็อบพังค์สนุกๆ แต่พอมาชุด Of Space and Time เหมือนเราโตขึ้นเมโลดี้ก็จะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น หรืออย่างกีต้าร์ก็ลดบทบาทของการโซโล่ลง แต่มาเน้นเรื่องการสร้างบรรยากาศแทน ซึ่งมันเกิดจากโทนของเพลงในช่วงเวลานั้น ที่น่าจะมีเสียงแอมเบียนต์ของกีต้าร์ห่อหุ้มอยู่" ในช่วงขั้นตอนการแต่งเพลงและทำเดโมนั้นใช้เวลาประมาณเกือบๆ 2 ปี ก่อนจะเริ่มต้นบันทึกเสียง
BrandNew Sunset บันทึกเสียงกันที่สตูดิโอ 630 ซึ่งเป็นบ้านของพี่ชายและใช้ที่นี่สำหรับซ้อมดนตรีด้วย โดยจะใช้วิธีอัดเสียงแบบเล่นพร้อมกันหมดสำหรับเบสิกแทร็ก ก่อนจะโอเวอร์ดับกีต้าร์และเสียงร้องเข้าไปในภายหลัง โปรแกรมที่ใช้อัดเสียงคือ Pro tools ใช้ออดิโออินเตอร์เฟสของ Metric Halo และปรีไมค์ของ API สาเหตุที่ใช้วิธีเล่นพร้อมกันหมดนั้น พี่ชายเล่าว่า "ตอนชุด Welcome Home เราอัดแยกแต่ละชิ้นแล้วค่อยนำมารวมกัน รู้สึกว่าบรรยากาศตอนอัดเสียงมันค่อนข้างเครียดเหมือนมันไม่ได้คอนเนคกับคนอื่น อาจจะเพราะวงเราเป็นวงที่ถนัดเล่นสด และเล่นด้วยกันมานาน เราเลยชอบที่จะสื่อสารกับคนอื่นไปด้วยในขณะที่เล่น มันจะอาจจะออกมาไม่เพอร์เฟ็คแต่มันจะได้เรื่องของอารมณ์มากกว่า"
พี่เติร์กใช้กลองของTama ใช้ไมค์ AKG C414 สองตัวสำหรับโอเวอร์โฮดซึ่งเก็บเสียงไฮแฮทไปด้วย, กลองทอมใช้ Audix D4 ทั้งทอม 1 และฟลอร์ทอม, สแนร์ใช้ Shure SM57 จ่อบน,ล่าง และใช้ AKG C414 จ่อข้างๆเพื่อเก็บบอดี้เนื่องจากสแนร์ที่ใช้ขนาดค่อนข้างเล็ก, เบสดรัมทั้งสองใบใช้ Audix D6 ,ฉาบไรด์ใช้ Audix เป็นไมค์คอนเดนเซอร์แบบปากกา และมีไมค์ Neumann U87 วางเหนือศรีษะของมือกลองเพื่อเก็บบรรยากาศเหมือนมีคนนั่งฟังอยู่ในห้องซึ่งจะมีเสียงกีต้าร์และเบสโผล่เข้าไปบางส่วน
เบสของพี่ยุทธจะใช้ Warwick 5 สายสำหรับเพลงที่ต้องการย่านโลว์ต่ำๆและ Fender Precision สำหรับเพลงที่ต้องการซาด์แบบกระชับ จากนั้นจะต่อผ่าน D.I. ของ Avalon U5 สำหรับใช้เป็นเสียงคลีน ส่วนภาคเสียงแตกจะใช้ตู้ Ampeg SVT แบบหลอดซึ่งใช้วิธีจั๊มพ์โวลุ่มเพื่อให้ได้เสียงโอเวอร์ไดร้ฟ์แบบธรรมชาติแล้วบูสต์ด้วย Fulltone OCD ใช้คาร์บิเนตแบบ 4x10 จ่อด้วยไมค์ Shure SM57 และ Audix D4 การใช้เสียงแตกกับเบสนั้นพี่ชายบอกว่าเพื่อเพิ่มความคมของปิ้กแอทแทค และช่วยให้เพลงหนาขึ้นเหมือนเป็นกีต้าร์ที่มีย่านโลว์อีกตัว
กีต้าร์ของชายที่ใช้เป็นตัวหลักคือ Gibson Les Paul Custom กับ Gibson ES335 ส่วนพวกเสียงแอมเบียนต์และซิงเกิ้ลโน้ตต่างๆจะใช้ Fender Stratocaster กับ Fender Telecaster ใช้แอมป์ Marshall JCM800 และ Vox AC30 สำหรับพาร์ทริทึ่ม ส่วนพาร์ทโซโล่ใช้ Marshall Plexi โดยจะเปิดเสียงแตกที่หน้าตู้ไม่มากแล้วใช้ Tube Screamer บูสต์เพิ่มเกน (ยกเว้น Plexi ที่เปิดเบอร์ 10 ทุกปุ่มแล้วใช้ Hot Plate เป็นมาสเตอร์โวลุ่ม) ใช้คาร์บิเนตของ Orange กับ Mesa Boogie จ่อด้วยไมค์ Shure SM57 และริบบ้อนไมค์(จำยี่ห้อไม่ได้) ใช้ Noisegate ของ ISP Decimator และดีเลย์ของ ElectroHarmonix Deluxe Memory Man ส่วนพี่ก้องใช้ Gibson SG กับ Gibson Les Paul Standard ใช้แอมป์ Orange Rockerverb สำหรับริทึ่ม และโอเวอร์ดับโดยใช้ Mesa Boogie Dual Rectifier ใช้ไมค์ Shure SM57 และ Sennheiser MD421 จ่อที่คาร์บิเนต
พี่ตูนใช้ Shure SM58 สำหรับเสียงสำรอก ส่วนเสียงคลีนและเสียงประสานใช้ AKG C414
พี่ชายรับหน้าที่โปรดิวเซอร์รวมถึงมิกซ์และมาสเตอริ่งเองที่สตูดิโอ 630 ใช้เวลาบันทึกเสียงประมาณ 3 เดือน อัลบั้ม Of Space and Time ได้รับรางวัลสีสันอวอร์ดส์ในสาขาศิลปินร็อคยอดเยี่ยม และ เพลงร็อคยอดเยี่ยมจากเพลง “Fire (in Our Hearts)” ในปี 2017
...
จากบทสัมภาษณ์กับพี่ชาย ในคืนวันที่ 18 มิ.ย. 2020 โดยเพจสตูดิโอแลนด์
#สตูดิโอแลนด์
#BrandNewSunset
โฆษณา