31 พ.ค. 2021 เวลา 14:18 • การศึกษา
สรุปหลักส่วนควบ มาตรา144
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โหลดภาพใหญ่ฉบับเต็ม ได้ที่ 👇🏻👇🏻👇🏻
ลักษณะของส่วนควบ มาตรา 144
📌 เป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไปมารวมกัน
📌 ต้องเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น
:
เป็นสาระสำคัญโดยสภาพ เช่น ล้อรถถือว่าเป็นส่วนควบของรถยนต์ เพราะล้อเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของรถยนต์ โดยสภาพแล้วรถยนต์ย่อมต้องมีล้อ
:
เป็นสาระสำคัญโดยจารีตประเพณี กล่าวคือ แม้โดยสภาพจะไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ตามจารีตประเพณีแล้ว ถือว่าเป็นสาระสำคัญ เช่น บ้านเป็นสาระสำคัญของที่ดินโดยจารีตประเพณี
📌 ไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
ผลของการเป็นส่วนควบ มาตรา 144 วรรคสอง เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบ และการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในส่วนควบเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมาย จึงไม่ต้องจดทะเบียนการได้มา
:
หากทรัพย์ประธานเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ส่วนควบของอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมเป็นของเจ้าของทรัพย์ประธาน
:
ประเด็น ทำนิติกรรมโอนทรัพย์ประธานโดยไม่ได้ระบุถึงส่วนควบ ผู้รับโอนทรัพย์ประธานก็มีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบ ตามมาตรา 144 วรรคสอง
⚖️ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1723/2551
:
บ้านพิพาทอยู่ในี่ดินที่ ท. จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้ ด. บุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของ ด. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์
ประเด็น ผู้ขายกับผู้ซื้อตกลงกันอย่างชัดแจ้งว่าซื้อขายกันเฉพาะที่ดินเท่านั้น ไม่รวมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน แล้วปรากฏว่าต่อมาผู้ซื้อได้ตกลงทำสัญญาซื้อสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นอีก ดังนี้ ผู้ซื้อย่อมได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างตามหลักส่วนควบ โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก (ฎ.3737/2553)
:
แต่ถ้า ทำสัญญาซื้อขายเฉพาะที่ดินและสัญญาซื้อขายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพร้อมกันในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่า คู่สัญญาต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม กรณีนี้ สัญญาซื้อขายสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินจึงไม่ใช่ส่วนควบ (ฎ.120/2559)
#ไม้ยืนต้นย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน เว้นแต่ว่าจะปลูกโดยมีระยะเวลาจำกัด ถ้าปลูกโดยมีระยะเวลาจำกัด ก็ถือว่า เป็นการปลูกโดยชั่วคราว ไม่ถือเป็นส่วนควบ (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146) (ฎ.1380/2532 (ญ))
📣📣📣 ประเด็นที่น่าสนใจ ที่จอดรถ เป็นส่วนควบของห้องชุดหรือไม่
⚖️ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2562
:
การที่ที่จอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลจะเป็นส่วนควบของห้องชุดหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 144 เมื่อพิจารณาสภาพของที่จอดรถของห้องชุดที่กำหนดไว้ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ก็ระบุไว้เพียงว่าเป็นรายการทรัพย์ส่วนบุคคลที่อยู่นอกห้องชุด ทั้งที่จอดรถสำหรับห้องชุดก็หาได้อยู่ติดกับห้องชุดไม่ โดยจะเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถแยกไว้ต่างหากในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่จอดรถ ประกอบกับ
:
ที่จอดรถนั้น แม้จะมีความสำคัญสำหรับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด ซึ่งต้องมีที่จอดรถสำหรับรถยนต์ของตนเอง แต่ที่จอดรถก็หาได้เป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีคู่กับห้องชุดทุกห้องไม่ โดยลักษณะของห้องชุดที่ซื้อขายกันทั่วไปนั้นอาจจะมีที่จอดรถรวมอยู่หรือไม่ก็ได้ และอาจจะซื้อที่จอดรถเพิ่มได้สำหรับบางอาคารชุด
:
ดังนั้น ที่จอดรถตามสภาพแห่งทรัพย์และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นจึงไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของห้องชุด สามารถแยกออกจากกันได้ ที่จอดรถจึงเป็นเพียงทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของห้องชุด #มิใช่ส่วนควบ
ข้อยกเว้น ไม่ถือว่าเป็นส่วนควบ มาตรา 146
:
[[ ทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราว + โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างไว้ ]]
:
ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือโรงเรือนเพียงชั่วคราว (ตอนต้น) ต้องพิจารณาจาก “เจตนา” ของผู้นำมาติด เช่น ปลูกไม้ยืนต้น แต่ผู้ปลูกมีเจตนาจะปลูกลงในที่ดินชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดเพียงชั่วคราว ย่อมถือได้ว่า เป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินเพียงชั่วคราวไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดิน (ฎ.1380/2532 (ญ))
:
⚖️ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6166/2562
:
ต้นไม้กฤษณาที่จำเลยปลูกในที่ดินเป็นการปลูกไว้เพียงชั่วคราวในระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อโตได้ขนาดก็จะตัดโค่นนำแก่นไปสกัดเป็นน้ำหอม ซึ่งบุคคลปกติทั่วไปรวมทั้งโจทก์อาจเล็งเห็นได้ ต้นไม้กฤษณาที่ปลูกลงในที่ดินจึงเป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินเพียงชั่วคราวตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่จำเลยนำไปจำนองไว้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำนองแก่ต้นไม้กฤษณาซึ่งตกเป็นของผู้ร้องนับแต่วันทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยแล้ว
#โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธิปลูกสร้างไว้ (ตอนท้าย) คำว่า “สิทธิในที่ดินของผู้อื่น” หมายถึง สิทธิที่เป็นทั้งทรัพยสิทธิ เช่น สิทธิเหนือพื้นดินในอันที่จะเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูก (ม.1410) การที่ผู้มีสิทธิในที่ดินนั้นปลูกทำสิ่งใดลงไว้ ก็ไม่กลายเป็นส่วนควบตามมาตรา 146 หรืออาจเป็นสิทธิที่เป็นบุคคลสิทธิ เช่น ให้เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างโรงเรือน โรงเรือนไม่ตกเป็นส่วนควบ (ฎ.370-371/2511, 882/2544)
⚖️⚖️⚖️ หลักกฎหมายในมาตรา 144 วรรคสอง ที่ว่า “เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น” ก็มีข้อยกเว้นอยู่หลายประการด้วยกัน และข้อยกเว้นที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ก็คือกรณีตามมาตรา 1310 และมาตรา 1314 ซึ่งเป็นเรื่องการสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ซึ่งติดกับที่ดินลงในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต หรือการเพาะปลูกต้นไม้ลงในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต
:
กรณีนี้ แม้ว่าจะใช้หลักส่วนควบตามมาตรา 144 วรรคสอง ทำให้เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือต้นไม้นั้นก็ตาม แต่เจ้าของที่ดินก็ไม่ใช่ว่าจะได้ทรัพย์ดังกล่าวไปฟรีๆ ตามหลักส่วนควบ เพราะมาตรา 1310 ก็บัญญัติสืบเนื่องต่อมาว่าเจ้าของที่ดินจะต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้สร้างด้วย (ดูตามแผนภาพที่แอดมินสรุปไว้🤓)
———ติดตามเราได้ที่———
โฆษณา