1 มิ.ย. 2021 เวลา 07:03 • ประวัติศาสตร์
SMART TMAC (นายเท่ ทีแม็ค)
เขียนเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2557
ผมเขียนบทความนี้ ในวันที่ 1 ต.ค.2557 ซึ่งเป็นวันแรกในการเริ่มต้นปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในปีงบประมาณ 2558 และนับเป็นปีที่ 3 ของผมที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ TMAC นี้อีก 1 ปี
ผมได้อ่านประกาศของกองบัญชาการกองทัพไทย เรื่อง สมรรถหลัก (Core Competency) ของกองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2557 เรื่องกำหนดสมรรถนะหลักให้กำลังพลยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน โดยใช้คำย่อว่า SMART ประกอบด้วย 5 ด้าน ดังนี้
S (Sacrifice) : เสียสละ หมายถึง ทุ่มเททำงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมและเต็มใจที่จะสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากไม่ว่าภารกิจนั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก เสี่ยงอันตราย หรือไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน
M (Moral) : มีคุณธรรม หมายถึง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ซื่อตรงต่อหน้าที่ มีสัจจะรักษาคำพูด ไว้วางใจได้ ประพฤติปฏฺบัติตนอยู่ในกรอบของกฏ ระเบียบ แบบธรรมเนียม และจรรยาบรรณของการเป็นทหารอาชีพ มุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
A (Accountability) : ดำรงความถูกต้องพร้อมรับผิด หมายถึง มุ่งมั่นรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้มีความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนและหลักการด้วยความโปร่งใส โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ และพร้อมรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ และการตัดสินใจของตนเองทั้งทางบวกและทางลบ พร้อมและยินดีให้ตรวจสอบการกระทำหรือผลงานของตนเอง
R (Result oriented) : มุ่งมั่นในผลสัมฤทธิ์ หมายถึง เข้าใจถึงเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน พร้อมมุ่งมั่นปฏิบัติราชการให้เกิดผลสำเร็จอย่างดีที่สุด โดยพยายามพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์พัฒนากระบวนการทำงานให้ผลงานบรรลุผลสำเร็จยิ่งกว่าเป้าหมายหรือมาตรฐานที่กำหนด
T (Teamwork) : ร่วมคิดทำงานเป็นทีม หมายถึง ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยปฏิบัติตนได้สอดคล้องตามบทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิกที่ดีของทีม ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือคำวิจารณ์ และวิธีการทำงานที่หลากหลาย สามารถประสานการทำงานระหว่างสมาชิกในทีมได้เป็นอย่างดี พร้อมมีส่วนร่วมในทีมอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ผลงานของทีมบรรลุเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน
"SMART" ที่ท่านพลเอก ธนะศักดิ์ฯ ได้ให้แนวทางไว้ตามที่กล่าวมา ในความเห็นส่วนตัวแล้วเป็นสิ่งที่ดีมาก หากกำลังพลในกองบัญชาการกองทัพไทยได้พยามยามพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามสมรรถนะหลักได้แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมากมายมหาศาล แต่ตอนนี้ ท่านฯ เกษียณไปแล้ว คำว่า "SMART" จึงไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง แม้แต่ใน TMAC นี้เองก็ตาม กำลังพลคงเฝ้ารอแต่นโยบายของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านใหม่ ว่าจะมีแนวทางออกมาอย่างไร....
ปัจจุบันมีการนำคำว่า "SMART" มาใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น Smart Police, Smart Phone, Smart Mobile, Smart TV, Smart Office เป็นต้น ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับกำลังพลของกองบัญชาการทหารสูงสุดที่มาช่วยราชการใน TMAC นี้เกือบ 3 ปีแล้ว รู้สึกว่า "หลายคนไม่มี คำว่า SMART ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเลย ตกทุกสมรรถนะ" ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ท่านพลเอกธนะศักดิ์ฯ จึงต้องออกประกาศไว้ให้กำลังพลทุกคนพยายามทำ ก่อนที่ท่านจะเกษียณ
SMART TMAC (นายเท่ ทีแม็ค)
กำลังพลที่ปฏิบัติงานใน TMAC ปีงบประมาณ 2558 นี้ ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลเดิมจากปีที่แล้ว มันทำให้ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ "หลายคนที่ไม่ควรอยู่กลับได้อยู่ หลายคนที่ควรอยู่ กลับไม่ได้อยู่" ที่ผมกล้าพูดอย่างนี้ก็เพราะผมเห็นได้ชัดจากความประพฤติและผลการปฏิบัติงานในปีที่ผ่านมา
"ปีที่แล้ว เรามีเรือ 50 ฝีพาย แต่คนในเรือเอาเท้าราน้ำไปเสียครึ่ง พวกเราฝีพายกล้า..เหนื่อยมาก กว่าเรือของเราจะไปถึงจุดหมายปลายทาง และในปีนี้ก็เช่นกัน คนที่เอาเท้าราน้ำเหล่านั้น ก็ยังคงอยู่ ฝีพายที่เหลือเดิม ๆ ก็คงต้องเหนื่อยกันมากขึ้นอีก ถึงจะพาเรือลำนี้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อีกครั้ง"
เอาละ หากเรายังมีคนเดิมที่เอาเท้าราน้ำอยู่ เราก็ควรพยายามพูดคุยกับเขา ให้เขาเลิกเอาเท้าราน้ำ หันมาช่วยกันพายเรือให้ได้ ผมอยากให้ทุกคนมีความเป็น "SMART TMAC" สมาร์ทของผมนี้ไม่มีคำย่อภาษาอังกฤษใด ๆ แต่เป็นภาษาไทยตรงๆ เลย คือ เท่ หล่อ หรืออาจเรียกได้ว่า "นายเท่ ทีแม็ค"
คุณลักษณะพึงประสงค์ของนายเท่ ทีแม็ค (SMART TMAC)
ผมอยากให้กำลังพลใน TMAC มีคุณลักษณะพึงประสงค์ ใน 3 ด้าน ดังนี้
ทุกคนต้องมีความรู้ (Knowledge) หมายถึง ทุกคนที่ปฏิบัติงานใน TMAC ต้องมีความรู้เรื่องการปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน แล้วทำกันอย่างไร ทุกคนต้องรู้ว่าตนเองเป็นฟันเฟืองตัวไหน มีหน้าที่อะไร ที่จะช่วยหมุนปั่นขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย
ทุกคนต้องมีความเป็นมืออาชีพ (Professional) หมายถึง ทุกคนต้องพร้อมปฏิบัติงานได้หนักกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า มีความสามารถในการแก้ปัญหาเร็วกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า และมีผลงานมากกว่ากำลังพลทั่วไป 2 เท่า อย่างนี้เขาถึงจะเรียกว่าเป็นมืออาชีพ (สามยกกำลังสอง)
ทุกคนต้องมีความภูมิใจในองค์กร (Pound) หมายถึง ทุกคนควรศึกษาประวัติที่ผ่านมาขององค์กรว่า คนทำงานในอดีตเขาทำงานอะไรกันบ้าง เขาต้องเหนื่อยยากและเสี่ยงอันตรายอย่างไร ผลงานที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของ TMAC มีอะไรบ้าง พยายามค้นหาเรื่องราวย้อนกลับไป หากเป็นเช่นนี้ได้ ทุกคนก็จะเกิดความภูมิใจในองค์กร เมื่อทุกคนเกิดความภูมิใจ ก็จะก่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเกิดความหวงแหนในชื่อเสียงขององค์กร หันมาตั้งใจทำงานเพื่อรักษาชื่อเสียงขององค์กรต่อไป
ทุกคนที่มาปฏิบัติงานใน TMAC ควรมีลักษณะพึงประสงค์เช่นนี้ ผืนธงชาติไทยและอาร์มของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ที่ติดอยู่บนไหล่เธอทั้งสองข้าง จึงจะมีคุณค่าเพียงพอสำหรับเธอ อย่ามาเป็นเหลือบเกาะกิน TMAC เพื่อรับสิทธิแค่วันทวีคูณและรับค่าเลี้ยงดูไปวันๆ มันเป็นการเอาเปรียบกำลังพลอื่นๆ ที่เขาไม่มีโอกาส
#SMART #ทุ่นระเบิด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา