4 มิ.ย. 2021 เวลา 04:00 • ประวัติศาสตร์
สงครามกลางเมืองประเทศอังกฤษ : เมื่อพระมหากษัตริย์อาจหาญทำตัวยิ่งใหญ่กว่ารัฐสภา
(***คำชี้แจง)
บทความชิ้นนี้ผู้เขียนจัดทำขึ้นเพื่อแบ่งปันเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วภายในประเทศอังกฤษเท่านั้น
ผู้เขียนขอความร่วมมือผู้อ่านทุกท่าน งดแสดงความคิดเห็นที่'ไม่เกี่ยวข้อง'กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างอิงถึงประเทศอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึงในเนื้อหา ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา
ส่วนผู้อ่านท่านใดที่คันไม้คันมือ อดแสดงความคิดเห็นถึงประเทศอื่นไม่ได้ ผู้เขียนจึงขอชี้แจงไว้ตรงนี้ว่า "รับผิดชอบตัวเองกันนะครับ"
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ประเทศอังกฤษ เป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบราชาธิปไตย กล่าวคือพระมหากษัตริย์นั้นทรงเป็นประมุขของประเทศ มิอาจจะมีบทบาททางการเมืองใดๆทั้งสิ้นได้ และยังคงอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญตามที่ได้บัญญัติไว้
ถึงกระนั้น พระมหากษัตริย์เองก็ยังคงมีพระราชอำนาจตามพระบารมี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางรัฐสภาจะรับรองและเห็นชอบตามพระราชประสงค์หรือไม่
อังกฤษเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบหลักการประชาธิปไตยของโลก เนื่องด้วยตัวของสถาบันกษัตริย์เองก็ดี ที่สามารถอยู่ร่วมกับราษฎรได้อย่างเป็นกันเอง จึงเกิดเป็นภาพลักษณ์ตามที่เราเห็นในข่าวหรือสื่อทั่วๆไป
หรือจะเป็นฝ่ายรัฐสภาเองที่ซึ่งสามารถบริหารประเทศโดยมิได้ก้าวก่ายสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด (รวมไปถึงสถาบันกษัตริย์ที่ไม่แทรกแทรงรัฐสภาเช่นกัน)
แต่หารู้ไม่ว่า ประเทศอังกฤษนั้นก็เคยผ่านจุดแตกหักมาก่อน เมื่อครั้งหนึ่งประเทศถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายกษัตริย์ที่เป็นเหมือนตัวแทนของพระเจ้าและฝ่ายรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของราษฎร อันนำมาซึ่งสงครามกลางเมืองที่ได้เปลี่ยนแปลงประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น เราค่อยๆไล่ลำดับเหตุการณ์กันไปตั้งแต่ต้น
[การสืบราชบัลลังก์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1]
พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้ขึ้นมาสืบทอดราชบัลลังก์ในช่วงปี 1625 แทนผู้เป็นบิดาอย่างพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ในฐานะพระมหากษัตริย์ของทั้ง 3 อาณาจักร (อังกฤษ สกอตแลนด์ และ ไอร์แลนด์)
พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะดำเนินตามรอยผู้เป็นบิดา โดยเฉพาะการรวบรวมอาณาจักรทั้ง 3 เข้าไว้ด้วยกันเป็นอาณาจักรเดียว
ปรัชญาการปกครองของพระองค์นั้นได้ต้นแบบมาจากพระบิดาของพระองค์เอง ที่ครั้งหนึ่งเคยเปรียบเปรยว่า ตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นดั่ง 'เทพองค์น้อยในโลกใบนี้' (Little gods on earth)
กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงไม่อยู่ภายใต้อำนาจใดทั้งสิ้นภายในโลก เนื่องจากได้รับพระราชอำนาจโดยตรงจากพระเจ้าตามหลักเทวสิทธิราชย์ (Divine Right of Kings) อันซึ่งเป็นหลักการความเชื่อตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)
พระเจ้าชาลส์ที่ 1 (King Charles I)
พระราชประสงค์และหลักปรัชญาของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้สร้างความไม่สบายใจต่อรัฐสภาอังกฤษเป็นอย่างมาก เนื่องจากการรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวนั้น อาจจะเป็นการทำลายประเพณีและวัฒนธรรมของอาณาจักรอังกฤษเอง อันซึ่งเป็นรากฐานของระบอบกษัตริย์ในเวลานั้น
ตามหลักเทวสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์เป็นดั่งสมมุติเทพ ผู้ใดที่พยายามขัดขวางพระราชประสงค์ ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อราชบัลลังก์ ซึ่งมีความผิดร้ายแรงมาก นั่นจึงทำให้รัฐสภาไม่สามารถที่จะ 'ไม่เห็นชอบ ปัดตก หรือคัดค้าน' พระราชประสงค์ได้เลย
2
รัฐสภา ณ ขณะนั้นไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองมากมายแต่อย่างใด พวกเขามีหน้าที่แค่เสนอข้อแนะนำเป็นครั้งคราว ส่วนการประกาศนโยบายจะขึ้นอยู่กับพระองค์เอง แม้แต่การประชุมสภาก็จำเป็นจะต้องได้รับการยินยอมจากพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถเปิดการประชุมเองได้ตามอำเภอใจ
1
และถ้าหากรัฐสภาพยายามที่จะยับยั้งหรือไม่เห็นชอบกับพระราชประสงค์แล้วล่ะก็ พระองค์ก็สามารถที่จะสั่ง'ยุบสภา'เมื่อไหร่ก็ได้ตามแต่พระองค์ สิ่งนี้เป็นเหมือนกับการ'มัดมือชก'รัฐสภาไปในตัว
แต่ถึงกระนั้น รัฐสภาก็ยังคงมีอำนาจต่อรองกับพระองค์อยู่บ้าง นั่นก็คือการ'เก็บภาษี' กล่าวคือการเก็บภาษีในสมัยนั้น เป็นเหมือนรายได้หลักของสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าหากไม่สามารถเก็บภาษีได้แล้วพระองค์ก็จะขาดรายได้
และผู้ที่สามารถดำเนินการเก็บภาษีได้นั้น ก็คือเหล่าชนชั้นนำภายในสังคมหรือผู้แทนราษฏรนั่นเอง
ลอกนึกภาพว่าถ้าหากบรรดาชนชั้นนำในสังคมต่างพากันลุกฮือต่อต้านพระองค์แล้วล่ะก็ คงจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อตัวพระองค์เองไม่มากก็น้อย
สิ่งนี้เองที่เป็นเหมือนการคานอำนาจเล็กๆน้อยๆต่อพระองค์
3
[รอยร้าวเล็กๆ]
การปีนเกลียวกันนั้นเริ่มก่อตัวขึ้นระหว่างรัฐสภาและพระเจ้าชาลส์ เมื่อพระองค์ได้ทำการ'แหกประเพณี'โดยการอภิเสกสมรสกับเจ้าหญิงจากฝรั่งเศษผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก กล่าวคือในอาณาจักรอังกฤษสมัยนั้น จะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เป็นหลัก
นั่นจึงทำให้รัฐสภามีความ'ไม่เห็นชอบ'กับการอภิเสกสมรสในครั้งนี้ รัฐสภาจึงทำการแก้เผ็ดพระองค์โดยประกาศงดให้ภาษีแก่พระเจ้าชาลส์ตลอดรัชสมัย และจะมอบให้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่อยากจะได้เงินภาษี จะต้องมาเจรจากับทางรัฐสภาเอาเองแบบปีต่อปี
ตรงจุดนี้เองที่ทำให้พระองค์ทรงขัดสนในเรื่องทุนทรัพย์ แต่ถึงกระนั้น จะด้วยความอยากผูกมิตรกับกลุ่มชาติพันธุ์ฝรั่งเศษก็ดี พระองค์จึงได้ประกาศเข้าร่วมสงคราม (สงคราม Thirty Years War) โดยมีพระราชประสงค์ให้อาณาจักรอังกฤษส่งทหารไปช่วยกลุ่มชาติพันธุ์ฝรั่งเศษ
จอร์จ วิลเลอร์ส ดยุคแห่งบัคกิ้งแฮม ได้รับหน้าที่ในการนำทัพ แต่สุดท้ายมันกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
รัฐสภา ซึ่งเดิมทีหมั่นไส้พวกบัคกิ้งแฮมอยู่แล้วเนื่องจากปัญหาการผูกขาดระบบอุปถัมภ์ของพวกราชวงศ์ ได้เปิดกระบวนการไต่สวนดำเนินคดีกับจอร์จ วิลเลอร์ส
แต่เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวว่าพวกของตน(พวกราชวงศ์)กำลังจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ก็ได้ทำการตอบโต้พวกรัฐสภาทันทีเช่นกันโดยการประกาศ 'ยุบสภา' มันซะเลย เป็นการหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีไปในตัว
1
การกระทำของพระองค์ในครั้งนี้ แม้จะเป็นการช่วยเหลือพวกราชวงศ์ด้วยกันเอง แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับฝั่งรัฐสภาเป็นอย่างมาก
[รื้อฟื้นรัฐสภา]
เมื่อพระเจ้าชาลส์ได้ประกาศยุบสภาไปแล้ว ทำให้พระองค์ยิ่งขัดสนในเรื่องทุนทรัพย์หนักมากขึ้นไปอีก เนื่องจากสภาที่คอยทำหน้าที่เก็บภาษีนั้นไม่มีอีกแล้ว นั่นจึงทำให้พระองค์ทรงประกาศตั้งสภาขึ้นมาใหม่ในปี 1628
แต่รัฐสภาใหม่ก็มีข้อต่อรองต่อพระองค์เช่นกัน โดยเรียกกันว่า 'สิทธิฟ้องร้องรัฐ' (Petition of Right)
Petition of Right
เนื้อหาหลักๆคือ การที่ภาษีจะสามารถถูกใช้ได้โดยผ่านรัฐสภาเท่านั้น กฎอัยการศึกจะไม่สามารถถูกประกาศใช้ได้ในยามปกติ และผู้ถูกจับกุมสามารถประท้วงการจับกุมได้ว่าเป็นธรรมหรือไม่
ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโต้พระเจ้าชาลส์ที่เคยประกาศใช้กฏอัยการศึกอย่างพรํ่าเพรื่อ เพื่อให้ประชาชนมอบอาหาร เครื่องแต่งกาย และอำนวยความสะดวกสบายต่างๆให้กับเหล่าทหารอย่างไม่มีเหตุอันสมควร
รวมไปถึงการ'บังคับ'​เก็บภาษี ซึ่งผู้ที่ปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีก็จะโดนจับกุมตัวไปขังคุก โดยไม่ได้รับการพิจารณาความผิดใดๆทั้งสิ้น
ข้อต่อรองของรัฐสภานี้ แม้จะทำให้พระเจ้าชาลส์สูญเสียพระราชอำนาจในบางเรื่อง แต่พระองค์เองก็ทรงยอมรับแต่โดยดี เนื่องจากหากไม่ยอมรับก็จะไม่สามารถตั้งสภาได้ และจะไม่สามารถเก็บภาษีได้นั่นเอง (ขาดรายได้นั่นแหละ)
[สิบเอ็ดปีแห่งการกดขี่ (Eleven Years' Tyranny)]
ในยุคสมัยที่พระองค์ทรงปกครองหลังจากตั้งรัฐสภาขึ้นมาใหม่นั้นถูกเรียกว่า 'สมัยการปกครองส่วนพระองค์ (Personal Rule of Charles I) หรือ สิบเอ็ดปีแห่งการกดขี่ (Eleven Years' Tyranny)
อันเนื่องมาจากเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงการเรียกประชุมรัฐสภา นโยบายต่างๆถูกบังคับใช้โดยไม่ได้มีการหารือกับรัฐสภาแม้แต่น้อย และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการประชุมสภานั้น พระองค์จำเป็นที่จะต้องยุติการเข้าร่วมสงครามของอาณาจักรอังกฤษ
แต่ถึงแม้อาณาจักรอังกฤษจะถอนตัวจากสงครามแล้ว นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อสภาพการเงินของพระองค์อยู่ดี อันเนื่องมาจากข้อตกลงกับรัฐสภาก่อนหน้านั้น พระองค์จึงได้ออกกฎหมายพิเศษบางอย่างเพื่อเรียกเก็บภาษีเพิ่ม
1
อาทิเช่น การนำกฎหมายโบราณมาบังคับใช้เพื่อเรียกค่าปรับย้อนหลังจากบรรดาขุนนางที่ไม่ได้มาร่วมงานอภิเสกสมรสของพระองค์ (ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยโน้นน่ะ) หรือจะเป็นการเก็บภาษีเรือจากเมืองต่างๆ แม้ว่าเมืองนั้นจะไม่ได้มีเรือ และจะไม่ติดทะเลก็ตาม
นโยบายเหล่านี้ได้สร้างความ 'อีหยังวะ?' แก่ผู้คนอย่างมากมาย เกิดแรงต่อต้านการเก็บภาษีในหมู่ประชาชน พวกเขามองว่ามันไม่สมเหตุสมผลและมองว่าภาษีนี้เป็น'ภาษีผิดกฏหมาย' เจ้าหน้าที่บางรายถึงขนาดตั้งใจ'ลืม'เก็บภาษีพวกนี้เป็นปีๆ นั่นจึงทำให้บางคนนั้นไม่ได้จ่ายภาษีเลยก็มี
ผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งถูกฟ้องร้องโดยพระเจ้าชาลส์เอง เนื่องจากความล้มเหลวในการเก็บภาษี'อีหยังวะ'เหล่านี้ และแน่นอนผู้แทนราษฎรท่านนี้พ่ายแพ้ในชั้นศาลเนื่องจากว่าผู้พิพากษาเกินครึ่งนั้นเป็นพวกกษัตริย์นิยม (Royalist)
นอกจากเรื่องภาษีที่สร้างความปั่นป่วนไปทุกย่อมหญ้าแล้ว พระเจ้าชาลส์ยังมีความพยายามที่จะแยกนิกายทางศาสนาผนวกเข้ากับธรรมเนียมโบราณดั่งเดิม ซึ่งสิ่งนี้เองก็สร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่อบรรดานักบวชเป็นอย่างมาก
1
พระองค์ได้จัดตั้งศาลขึ้นมา 2 ศาล ได้แก่ Court of High Commission และ Court of Star Chamber (หรือที่รู้จักในนาม ศาลโถงดาว) เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้เห็นต่าง
ซึ่งศาลอย่างหลังนี่เอง ที่ถือว่าเป็น'อำนาจมืด'ที่น่ากลัวที่สุดในยุคสมัยของพระองค์ เนื่องจากผู้ที่ถูกนำตัวขึ้นศาลนั้น ไม่จำเป็นจะต้องถูกกล่าวหาใดๆเลย และจะไม่มีสิทธิ์คัดค้านใดๆด้วย จะสามารถจับใครก็ได้มาขึ้นศาล และใช้วิธีการทรมานให้รับสารภาพผิด
1
อารมณ์ประมาณว่า ถ้าหมั่นไส้ใครก็จับขึ้นศาลแล้วก็ป้ายความผิดซะ
[ประชุม'รัฐสภาสั้น' (The Short Parliament)]
พระเจ้าชาลส์นั้นมีความพยายามเผยแพร่นโยบายทางศาสนาที่บังคับใช้แล้วในอาณาจักรอังกฤษไปยังสกอตแลนด์ แต่ก็มีแรงต่อต้านกลับมาจนกลายเป็นเหตุจลาจลขึ้นที่อาณาจักรสกอตแลนด์
การจราจลในสกอตแลนด์
ด้วยความที่พระองค์มีพระประสงค์ที่จะปราบจราจลแต่ดันขาดทุนทรัพย์ พระองค์จึงทำการเรียกประชุมสภาที่เคยแต่งตั้งเมื่อนานมาแล้ว เพื่อเป็นช่องทางในการหาทุนทรัพย์ไปปราบจราจล
แต่การประชุมสภาครั้งนั้นกลับล่มไม่เป็นท่า เนื่องจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการร้องทุกข์ต่อการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของพระองค์ในยุคสมัย 'สิบเอ็ดปี่แห่งการกดขี่' และมีแรงต่อต้านอย่างมากในความพยายามรุกรานสกอตแลนด์ของพระองค์
แต่พระองค์กลับมองว่านี่เป็นการดูหมิ่นและหยามเกียรติอย่างรุนแรง จึงทำการยุบสภามันซะอีกรอบเลย (ตั้งสภามา 10 กว่าปี พึ่งได้ประชุมสภากัน แถมประชุมได้แปบเดียวก็โดนยุบซะแล้ว บันเทิงจังวะ)
รัฐสภาแห่งนี้จึงถูกขนาดนามว่า 'รัฐสภาสั้น' (The Short Parliament)
[สงครามย่อมๆ ณ สกอตแลนด์]
1
มีการเรียกการประชุมสภาเกิดขึ้น ณ สกอตแลนด์เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายทางศาสนาของพระเจ้าชาลส์ แต่สุดท้ายแล้วนโยบายของพระองค์ก็ถูกปัดตกไป เนื่องจากสภาสกอตแลนด์นั้นให้ความเห็นว่า "เป็นนโยบายที่ยังไม่ได้ทดลองใช้" และบ้างก็ว่า "เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย"
พระองค์นั้นไม่ยอมรับและได้ตัดสินใจยกกองทัพเดินหน้าไปตีสกอตแลนด์ ทั้งสองฝ่ายจึงได้ทำการสู้รบกันในที่สุด ภายใต้ชื่อที่เรียกกันว่า 'สงครามบาทหลวง' (Bishops' War)
การต่อสู้นั้นเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง และสุดท้ายฝั่งสกอตแลนด์ก็เป็นผู้ชนะเหนือพระเจ้าชาลส์อย่างเบ็ดเสร็จ กองทัพของพระเจ้าชาลส์โดนพวกสกอตแลนด์บดขยี้จนแตกพ่ายเละเทะกลับมา
สกอตแลนด์เมื่อสบโอกาส จึงได้ทำการรุนรากอังกฤษกลับ และสามารถยึดตอนเหนือของอาณาจักรอังกฤษไว้ได้เกือบทั้งหมด
พระเจ้าชาลส์ถูกบังคับให้จ่ายค่าชดเชยสงครามรายวัน เพื่อหยุดยั้งไม่ให้สกอตแลนด์รุกรานอังกฤษไปมากกว่านี้ หนำซํ้ายังต้องจ่ายค่าบำรุงทหารอังกฤษเพื่อป้องกันไม่ให้สกอตแลนด์บุกรุกมาอีก
เรียกได้ว่าจะไปตีเขาดันแตกยับซะเอง แถมยังโดนเขาไถเงินอีก..
(**ถึงแม้พระเจ้าชาลส์จะเป็นพระมหากษัตริย์ของทั้ง 3 อาณาจักร (อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์) แต่อาณาจักรใครอาณาจักรมันนะครับไม่เกี่ยวกัน สกอตแลนด์และอังกฤษจึงสามารถรบกันได้แม้ว่าจะมีพระมหากษัตริย์องค์เดียวกันก็ตาม)
[รื้อฟื้น'รัฐสภายาว' (The Long Parliament) : รัฐสภาเอาคืน]
เมื่อต้องโดนสกอตแลนด์ไถเงินเรื่อยๆ แถมยังต้องจ่ายค่าบำรุงกองกำลังทหารอังกฤษอีก เงินในพระคลังก็ยิ่งร่อยหรอเข้าไปทุกที พระเจ้าชาลส์จึงได้สั่งรื้อฟื้นรัฐสภาขึ้นมาใหม่ในปี 1640 ด้วยความตั้งใจเดิมว่า"จะเอาไว้หาเงิน"
แต่รัฐสภานี้ยิ่งแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์เข้าไปอีกขั้น โดยการ'ฉะแหลกแบบไม่ไว้หน้า'ถึงการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของพระองค์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และยังได้ออกข้อบัญญัติมากมายที่เป็นการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และเพิ่มอำนาจให้กับรัฐสภา
อาทิเช่น การผ่านพระราชบัญญัติว่าสามารถเปิดการประชุมสภาได้โดยปราศจากคำสั่งของพระมหากษัตริย์ การที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ได้อีกตามอำเภอใจหากปราศจากการยินยอมของรัฐสภา รัฐสภามีอำนาจเหนือกว่าองคมนตรีของพระมหากษัตริย์
และข้อที่สำคัญที่สุด "พระมหากษัตริย์ไม่สามารถใช้พระราชอำนาจส่วนพระองค์ในการยุบรัฐสภาได้ หากปราศจากความเห็นชอบของรัฐสภา" เป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์จะไม่มีอำนาจเหนือรัฐสภาอีกต่อไป ลูกไม้เอะอะก็ประกาศยุบสภาจะไม่สามารถใช้งานได้อีกแล้ว
เนื่องจากพระเจ้าชาลส์ในตอนนั้นไม่เหลือทางเลือกมากแล้ว หากไม่ยินยอมพระองค์ก็คงจะถังแตกเป็นแน่แท้ พระองค์จึงได้ยินยอมแต่โดยดี
รัฐสภาที่เกิดขึ้นใหม่นี้จึงได้ถูกเรียกว่า 'รัฐสภายาว' (The Long Parliament) เพราะเป็นที่แน่แท้แล้วว่าจะไม่สามารถถูกยุบสภาได้อีก
แต่ถึงแม้ทางฝั่งรัฐสภาจะออกนโยบายที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับพระเจ้าชาลส์ ทางรัฐสภาเองก็ยังพยายามหาทางลดความตึงเครียดลง ด้วยการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ลงนาม'ปฏิญาณความจงรักภักดีต่อพระเจ้าชาลส์'
The Long Parliament
[ระเบิดเวลา (อ๊าาาาาาาา!!!!)]
ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ได้เกิดกองกำลังของไอร์แลนด์ที่พยายามเข้ามารุกรานในแผ่นดินของอาณาจักรอังกฤษ
รัฐสภาได้สั่งจับกุม โทมัส เวนท์เวิร์ธ (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนพระเจ้าชาลส์) ด้วยการกล่าวหาว่าโทมัสเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกองกำลังไอร์แลนด์และพยายามยุยงให้พระเจ้าชาลส์ใช้กองกำลังนี้รุกรานแผ่นดินอังกฤษเอง และทางรัฐสภายังได้เรียกร้องให้สำเร็จโทษประหารชีวิตแก่เขาซะ
Thomas Wentworth
ซึ่งหลักฐานที่ทางรัฐสภาใช้กล่าวหาโทมัสนั้น คือ'จดหมายลับ'ที่เชื่อกันว่าเขียนโดยตัวของโทมัสเอง โดยได้มาจากลูกชายของหนึ่งในองคมนตรีของพระเจ้าชาลส์อีกที
ความว่า "ท่าน(พระเจ้าชาลส์)ยังมีกองกำลังอยู่ที่ไอร์แลนด์ ท่านสามารถใช้กองกำลังนี้เพื่อลดขนาดของอาณาจักร(อังกฤษ)ได้"
แต่อย่างไรก็ดี องคมนตรีเจ้าของจดหมายลับปฏิเสธที่จะให้การต่อรัฐสภาแต่อย่างใด เนื่องจากความจงรักภักดีต่อพระเจ้าชาลส์ นั่นจึงทำให้รัฐสภาไม่สามารถเอาผิดโทมัสได้
เป็นเหตุให้ให้รัฐสภาต้องค้นหาวิธีเอาผิดโทมัสใหม่ นั่นก็คือที่กฎหมายที่เรียกกันว่า 'Bill of Attainder'
กล่าวคือกฎหมายนี้จะสามารถตัดสินให้ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดได้ โดยไม่ต้องมีการพิจารณาความผิดแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างไรก็ตามจะต้องได้รับการยินยอมจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการยืมมือพระมหากษัตริย์'สั่งฆ่า'นั่นเอง
นี่เป็นช่วงเวลาที่'วัดใจ'พระเจ้าชาลส์เป็นอย่างมาก ฝั่งที่ถูกกล่าวหาก็เป็นผู้สนับสนุนของเขาเอง แต่หากตัวของพระองค์ไม่ยินยอม ก็จะเป็นการผิดใจกับรัฐสภาอย่างที่สุด เพราะการกระทำของโทมัสนั้น ไม่ต่างอะไรกับการเป็น'กบฏ'ต่อราชอาณาจักรอังกฤษ
แรกเริ่มพระเจ้าชาลส์ตัดสินใจไม่ยินยอม แต่โทมัสเองก็ได้ส่งจดหมายถึงพระเจ้าชาลส์ว่าให้ตัดสินประหารชีวิตเขาซะ เพื่อยุติความบาดหมางและสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ท้ายที่สุดพระเจ้าชาลส์จึงตัดสินใจเซ็นยินยอม โทมัสจึงได้ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต
แต่การตัดสินโทษโทมัสนั้น ไม่ได้เป็นการคลี่คลายความหวาดระแวงลงเลย ทั้งฝ่ายรัฐสภาและพระเจ้าชาลส์เองต่างไม่ไว้ใจกันอีกต่อไปแล้ว ไม่ต่างอะไรกับ'ระเบิดเวลา'(อ๊าาาาา!!!!)ที่รอวันปะทุออกมา
และในที่สุดฟางเส้นสุดท้ายที่คอยค้ำจุนทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้ขาดลง..
[เมื่อฟางเส้นสุดท้ายขาดลง : จุดเริ่มต้นสงครามกลางเมือง]
เมื่อต่างฝ่ายต่างพยายามที่จะหาทางเล่นงานกันตลอดเวลา ผู้ที่เริ่มเปิดศึกก่อนโดยที่อีกฝ่ายไม่ทันตั้งตัวนั้นมักจะได้เปรียบเสมอ
ณ ช่วงเดือนมกราคมปี 1642 พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้นำกองกำลังทหารกว่า 400 นาย บุกเข้าไปกลางรัฐสภา เพื่อที่จะจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 5 คนด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น'กบฎ'
เนื่องจากพระองค์เชื่อว่า 5 คนนี้เป็นคนให้การสนันสนุนพวกสกอตแลนด์ในสงครามบาทหลวงเมื่อก่อนหน้านั้น
ในเวลาต่อมา 5 คนนี้ถูกขนานนามว่า 'Five Members'
นี่เป็นเหตุการณ์ที่อื้อฉาวเป็นอย่างมากในประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษ ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดอาจหาญทำการแทรกแทรงการทำงานของรัฐสภามาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กำลังทหารบุกเข้ามาถึงกลางสภาแบบนี้
รัฐสภาตกอยู่ในความวุ่นวายสุดขีดจากการโดนบุกรุก 4 ใน 5 คนนั้นไหวตัวได้ทัน และได้หลบหนีออกไปก่อนที่กองกำลังทหารจะมาถึง การบุกจับกุมตัวในครั้งนี้จึงกลายเป็นความล้มเหลวของพระเจ้าชาลส์
เมื่อไม่สามารถจับกุมตัวเป้าหมายได้ทั้งหมดตามที่หวังไว้ พระเจ้าชาลส์จึงได้ถามต่อประธานสภาถึงสถานที่ที่อีก 4 คนได้หลบหนีไป
แต่ตัวของประธานสภาเองในขณะนั้นอย่าง วิลเลี่ยม เลนทอลล์ ก็'เก๋าตีน'ใช้ได้และได้ตอบกลับพระองค์ไปโดยได้ใจความว่า "ข้าพเจ้ารับใช้รัฐสภาแห่งนี้ และข้าพเจ้ามิอาจให้คำตอบแก่พระองค์ไปได้มากกว่านี้" ซึ่งเป็นการตอบกลับกลายๆว่าตัวของประธานสภานั้น เลือกข้างรัฐสภามากกว่าข้างของพระมหากษัตริย์
William Lenthall (ประธานรัฐสภา) นั่งคุกเข่าตอบคำถามของพระเจ้าชาลส์ที่ 1
เมื่อไม่ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจ บวกกับความล้มเหลวในการบุกจับกุมตัว พระเจ้าชาลส์ที่ 1 จึงได้แต่ถอยร่นกลับไป
พระเจ้าชาลส์นั้นรู้ตัวแล้วว่าเขาได้ถลำลึกเกินขอบเขตไปมาก และไม่สามารถที่จะถอยกลับได้อีกแล้ว การตัดสินใจบุกสภาของพระองค์ไม่ต่างอะไรกับการประกาศสงครามต่อรัฐสภา ต่อจากนี้คงจะมีแต่การสู้รบกันให้ตายไปข้างนึงเท่านั้น..
[ความแตกแยกในอาณาจักร]
ความแตกแยกของรัฐสภาและพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรอังกฤษ ได้เริ่มเกิดผลกระทบทางการเมืองในหมู่ประชาชนทั่วๆไป ประชาชนบางส่วนภายในอาณาจักรถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง
ฝั่งหนึ่งให้การสนับสนุนรัฐสภาเพราะนี่คือตัวแทนของประชาชน บวกกับการที่ทนไม่ได้อีกต่อไปในการปกครองประเทศของพระเจ้าชาลส์ โดยเฉพาะช่วงสมัย'สิบเอ็ดปีแห่งการกดขี่' แต่อีกฝั่งหนึ่งยังคงให้การสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ต่อไป
[สงครามกลางเมืองครั้งที่ 1 (First English Civil War) : 1642-1646]
เพียงไม่กี่วันหลังจากที่พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้นำกำลังทหารบุกไปยังรัฐสภา พระองค์ก็ตระหนักถึงภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้ นั่นจึงทำให้พระองค์พาครอบครัวลี้ภัยออกจากเมืองลอนดอนไปทางตอนเหนือ
เมืองบางเมืองในขณะนั้น ก็ทำการเลือกข้างเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ภายในอาณาจักรยังคงความ'เป็นกลาง'ไว้ แต่อย่างที่เขาว่ากันว่า "การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน" ความเป็นกลางนั้นจึงอยู่ได้ไม่นาน
ความขัดแย้งเริ่มแผ่ไพศาลไปสู่ผู้คนทุกระดับชั้น ตั้งแต่คนรากหญ้าไปจนถึงบรรดาชนชั้นสูง จนสุดท้ายเกิดเป็นการทะเลาะวิวาทขึ้นในหลายพื้นที่
ทั้ง 2 ฝ่ายเองก็คอยสะสมกองกำลังทหารเรื่อยๆ ว่ากันว่าแต่ละฝ่ายนั้นมีกองกำลังทหารมากถึงฝ่ายละ 15,000 นายเลยทีเดียว
และในที่สุดหลังจากต่างฝ่ายต่างแอบสุ่มสะสมกองกำลังกันอยู่นาน การปะทะกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกก็เกิดขึ้น ณ วันที่ 23 กันยายน 1642 ภายใต้สมรภูมิที่เรียกกันว่า 'Battle of Powick Bridge' เมื่อกองทหารม้าจากหน่วยลาดตระเวนของทั้ง 2 ฝั่งได้มา'บ๊ะ'กันเข้า การต่อสู้นั้นจบลงด้วยชัยชนะของฝั่งกษัตริย์นิยม
Battle of Powick Bridge
หลังจากคว้าชัยชนะมาได้ในช่วงแรก ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ตัดสินใจเคลื่อนกองทัพโดยมีจุดหมายอยู่ที่ลอนดอนเมืองหลวงของอาณาจักร เพราะพวกเขาคิดว่าฝ่ายรัฐสภาจะต้องยกกองทัพมาขัดขวางระหว่างทางอยู่ดี บวกกับตอนนั้นทั้ง 2 ฝ่ายมีความ'ร่างกายอยากปะทะ'เป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจสู้กันจังๆให้ตายกันไปข้างนึงเลยดีกว่า
นั่นจึงนำมาซึ่งการสู้รบกันอีกหลายๆสมรภูมิ ชัยชนะบ้างก็ตกเป็นของฝ่ายกษัตริย์นิยม บ้างก็ตกเป็นของฝ่ายรัฐสภา หรือบางที่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ดันประกาศชัยชนะทั้งคู่ก็มี (อ้าวเวร..)
ทั้ง 2 ฝ่ายนั้นต่างสูญเสียด้วยกันทั้งคู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วชัยชนะจะตกเป็นของฝ่ายกษัตริย์นิยมซะมากกว่า
ในช่วงแรกของการสู้รบกัน ดูเหมือนว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมนั้นจะได้เปรียบและสามารถคุมสถานการณ์ทุกอย่างไว้ได้ทั้งหมด แต่สุดท้ายพวกเขาก็พลาดและถูกตีโต้กลับซะเอง เนื่องจากทางฝั่งรัฐสภานั้นได้รับความช่วยเหลือจากพวกสกอตแลนด์มาเสริมกำลังรบเพื่อแลกกับสัมปทานในการปฏิรูปศาสนา
รวมไปถึงการจัดตั้งกองกำลังใหม่ของฝั่งรัฐสภาภายใต้ชื่อ 'New Model Army' ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีฝีมือการรบน่ากลัวที่สุดของฝั่งรัฐสภา
New Model Army
ถึงแม้พระเจ้าชาลส์จะพยายามหากำลังมาเสริมแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะต้านทานฝั่งของรัฐสภาที่ได้รับการช่วยเหลือจากพวกสกอตแลนด์อีกทีได้เลย
ท้ายที่สุดการฆ่าฟันกันจึงได้ยุติลงด้วยชัยชนะของฝั่งรัฐสภาในช่วงเดือนพฤษภาคม 1646 และพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้ถูกจับกุมตัวไปขังคุก..
(จบสงครามกลางเมืองครั้งที่ 1)
[แตกหักอีกรอบ เพราะแย่งชิงอำนาจ]
ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐสภาจะสามารถคว้าชัยชนะได้ในสงครามกลางเมือง พวกเขาก็เกิดการ'เสียงแตก'ในฝ่ายเดียวกันเอง เนื่องจากนโยบายในการบริหารอาณาจักรที่ไม่ลงตัวโดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปศาสนา
กล่าวคือเสียงส่วนใหญ่ในฝ่ายรัฐสภานั้นต้องการปฏิรูปศาสนาทั้งอาณาจักรเป็นนิกายโปรเตสแตนต์แบบเพรสไบทีเรียน (ได้รับอิทธิพลมาจากสกอตแลนด์)
แต่ New Model Army นั้นไม่อยากจะให้มีนิกายประจำอาณาจักรเลย คือใครจะนับถือนิกายไหนก็แล้วแต่เลยจะได้ไม่ต้องมีปัญหากันอีก
และผู้แพ้สงครามอย่างฝ่ายกษักตริย์นิยมบางส่วน (ถึงจะแพ้สงครามแต่เขาก็ยังนับญาติอยู่) ต้องการที่จะคงไว้ซึ่งนิกายโปรเตสแตนต์แบบดั้งเดิม
และในเมื่อตกลงกันไม่ได้ ผู้สนันสนุนนิกายโปรเตสแตนต์แบบเพรสไบทีเรียนบางส่วนจึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าชาลส์ที่ 1 และสกอตแลนด์
พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แม้จะตกอยู่ในสถานะนักโทษ แต่พระองค์ก็ไม่เคยหยุดคิดที่จะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และสุดท้ายพระองค์ก็ได้พันธมิตรที่จะก่อสงครามกลางเมืองอีกรอบ..
[สงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 (Second English Civil War) : 1648-1649]
ความชิบหายได้มาเยือนอาณาจักรอังกฤษอีกครั้งหลังจากสงบไปได้ราวๆ 2 ปี เมื่อมีการรุกรานอาณาจักรอังกฤษโดยพวกสกอตแลนด์ และมีการก่อจราจลขึ้นทั่วอาณาจักรโดยพวกกษัตริย์นิยมเก่า ซึ่งทั้ง 2 พวกที่กล่าวมานี้ได้รับการสนันสนุนจากพระเจ้าชาลส์ที่ 1 อีกที
พวกเขาเหล่านี้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะนำพาพระเจ้าชาลส์ที่ 1 กลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง!
"Make King Charles I, great AGAIN!" (อันนี้เติมเอง)
แต่แล้วการก่อความไม่สงบกลับถูกปราบโดย New Model Army ของฝั่งรัฐสภาได้อย่างง่ายดาย จะมีแค่บางพื้นที่เท่านั้นที่ค่อนข้างดุเดือดและกินเวลานานกว่าที่อื่น
สุดท้ายแล้วฝั่งรัฐสภาสามารถคว้าชัยชนะเหนือฝ่ายกษัตริย์นิยมได้อีกรอบ ณ สมรภูมิ Battle of Preston เป็นการปิดฉากสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ไปโดยปริยาย
Battle of Preston
และแน่นอน เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นก็ย่อมต้องมีคนรับผิดชอบ แต่ครั้งนี้มันถึงคราวของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แล้ว และฝั่งรัฐสภาเองก็จะไม่ไว้หน้าอีกต่อไปแม้จะเป็นถึงพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรก็ตาม
(จบสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2)
[พระมหากษัตริย์ผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฎ]
New Model Army ได้ทำการบุกยึดรัฐสภาและได้กำจัดเสี้ยนหนามที่ไม่ให้การสนับสนุนพวกเขาในการนำตัวพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ขึ้นศาล
45 คนถูกจับ
146 คนถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าสภา
มีเพียง 75 คนที่สนับสนุน New Model Army เท่านั้นที่ได้รับอนุญาติให้เขาสภาได้
เหตการณ์ในครั้งนี้ถูกเรียกว่า 'การกวาดล้างของไพร์ด' หรือ Pride's Purge (ตั้งตามชื่อผู้นำปฏิบัติการอย่าง โทมัส ไพร์ด (Thomas Pride))
รัฐสภาที่เหลืออยู่ตอนนี้ถูกขนาดนามว่า รัฐสภารัมพ์ (Rump Parliament)
และเมื่อไม่เหลือผู้ใดให้คัดค้านอีกต่อไป ผู้แทนราษฎรทั้ง 75 คนจึงมีคำสั่งให้นำตัวพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ขึ้นศาลในข้อหาเป็นกบฎต่ออาณาจักร
1
ณ วันที่ 27 มกราคม 1649 ศาลได้ตัดสินให้พระเจ้าชาลส์ที่ 1 มีความผิดจริงในข้อหากบฎต่ออาณาจักร หนำซํ้าตลอดการพิจารณาคดียังเรียกพระเจ้าชาลส์ว่าเป็น 'ทรราช คนทรยศ ฆาตกร และศัตรูของสาธารณะ' อีกด้วย
พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดหัวในอีก 3 วันต่อมา..
การประหารชีวิตพระเจ้าชาลส์ที่ 1
ถึงแม้พระเจ้าชาลส์ที่ 1 จะถูกทางรัฐสภาตัดสินโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนนั้นที่จะเห็นด้วยกับเหตุการณ์นี้
เซอร์ โทมัส แฟร์แฟ็กส์ ผู้นำสูงสุดของกลุ่ม New Model Army คือหนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วย หลังจากเหตุการณ์นั้นเขาได้ถอนตัวจากกลุ่มไปเลยเพราะไม่สามารถยอมรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการเปิดทางให้ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มแทน
Oliver Cromwell
และเมื่อพระมหากษัตริย์องค์ก่อนได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว ผู้เป็นบุตรชายก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะสืบทอดบัลลังค์โดยชอบธรรม และพระเจ้าชาลส์ที่ 2 คือผู้นั้น
แต่อย่างไรก็ดี รัฐสภาของอังกฤษได้ประกาศให้อาณาจักรอังกฤษกลายเป็นสาธารณะรัฐ ภายใต้ชื่อ 'เครือจักรภพแห่งอังกฤษ' (Commonwealth of England) ซึ่งเป็นการยกเลิกระบบกษัตริย์ไปในตัว
ฉนั้นแล้วพระเจ้าชาลส์ที่ 2 จึงไม่ได้รับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรอังกฤษไป แต่อย่างไรก็ดีพระองค์ยังทรงได้รับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์อยู่
King Charles II
[ความพยายามกลับมามีอำนาจเหนืออังกฤษของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 - สงครามกลางเมืองครั้งที่ 3 (Third English Civil War) : 1649-1651]
พระเจ้าชาลส์ที่ 2 นั้นมีความพยายามที่จะกลับมามีอำนาจเหนือเครื่องจักรภพอังกฤษอีกครั้ง เมื่อพระองค์สามารถรวบรวมกองกำลังกษัตริย์นิยมดั้งเดิมผนวกเข้สกับพวกสกอตแลนด์บางส่วน และได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อเครือจักรภพอังกฤษอย่างชัดเจน
พวกอังกฤษเองก็รับรู้ถึงภัยคุกคามของพระองค์ที่ได้ร่วมมือกับสกอตแลนด์ จึงได้ส่ง New Model Army นำโดย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ มาต่อกร
ถึงแม้พระเจ้าชาลส์ที่ 2 จะรวมรวมกองกำลังทหารได้จำนวนหนึ่ง แต่เมื่ออยู่ต่อหน้า New Model Army ที่เป็นดั่ง'พญามัจจุราชในสนามรบ'แล้วย่อมไร้ความหมาย กองกำลังของพระองค์จึงได้โดนตีแตกยับและพ่ายแพ้ไปในที่สุด
พระเจ้าชาลส์ที่ 2 จึงได้ระเห็ดหนีไปอยู่เนเธอร์แลนด์ และไม่กลับมาอีกเลยเป็นเวลาเกือบ 10 ปี
เป็นอันปิดฉากสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน..
(จบสงครามกลางเมืองครั้งที่ 3)
[ผลที่ตามมาหลังจากสงครามกลางเมือง : 9 ปีแรก]
โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ผู้นำสูงสุดของ New Model Army ได้ทำการยุบสภารัมพ์และได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของอาณาจักร
เขาเลือกที่จะเป็น 'ผู้พิทักษ์' (Lord Protector) มากกว่าที่จะสถาปนาตัวเองเป็นพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเขามองว่าอาณาจักรแห่งนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีพระมหากษัตริย์อีกต่อไป
1
ครอมเวลล์ปกครองอาณาจักรอังกฤษจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1658
ลูกชายของครอมเวลล์ 'ริชาร์ด' เข้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อจากผู้เป็นพ่อที่ได้เสียชีวิตไป แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานก็โดน New Model Army สั่งปลดหัวทิ่มกลางอากาศ เนื่องจากไม่สามารถบริหารอาณาจักรได้ดีพอ (ผนงรจตกม นั่นเอง)
รัฐสภารัมพ์ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แต่ถึงกระนั้น ได้เกิดความร้าวฉานขึ้นระหว่าง New Model Army และรัฐสภารัมพ์เอง รัฐสภารัมพ์จึงได้ถูกสั่งยุบไปอีกรอบ (เวรกำอีกแล้วววว)
หนึ่งในผู้นำคนสำคัญของ New Model Army ได้จัดตั้งรัฐสภาขึ้นมาใหม่โดยวิธีการเลือกตั้ง
ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 1660 รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้ประกาศรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยการเชิญพระเจ้าชาลส์ที่ 2 มารับตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอังกฤษ
นับว่าเป็นการผูกมิตรแบบ Happy Ending และยุติความบาดหมางในอดีตลงได้ในที่สุดระหว่างฝ่ายรัฐสภาและฝ่ายกษัตริย์นิยม
เหตุการณ์การผูกมิตรไมตรีระหว่าง 2 ฝ่ายได้กลายมาเป็นรากฐานการปกครองแบบราชาธิปไตย (พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) ของประเทศอังกฤษดั่งที่เราเห็นในโลกยุคปัจจุบัน..
Mr. Bean หนึ่งในราชวงค์อัง.. เอ้ย! มายังไงวะเนี่ย! (๋จากหนังเรื่อง Johnny English)
[ผลที่ตามมาหลังจากสงครามกลางเมือง : ระยะยาว]
ถึงแม้ว่าสงครามกลางเมืองจะจบไปแล้วเป็นเวลานานกว่าเกือบ 400 ปีจนถึงปัจจุบัน แต่สงครามกลางเมืองในครั้งนั้นยังคงเป็นข้อยํ้าเตือนต่อเหล่ากษัตริย์เสมอมา ว่าจะทำตัวใหญ่กว่ารัฐสภาอันเป็นเสมือนตัวแทนของราษฎรมิได้
เหตุการณ์นำกองกำลังบุกกลางสภาของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ได้กลายมาเป็นประเพณีสุดคลาสสิคอย่างหนึ่งของประเทศอังกฤษ
กล่าวคือในสมัยเปิดการประชุมสภาแต่ละครั้งนั้น รัฐสภาจะเชิญพระมหากษัตริย์มากล่าวเปิดงานเสมอ
โดยก่อนที่จะกล่าวเปิดงาน จะมิพิธีที่เรียกกันว่า Black Rod เป็นการปิดประตูใส่หน้าผู้แทนกษัตริย์ ผู้แทนกษัตริย์เองก็จะต้องใช้คทาประจำตัวเคาะประตูเพื่อร้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐสภาเปิดประตูให้ "เปิดให้ข่อยแหน่!"
ประเพณีนี้มีขึ้นเพื่อจะคอยยํ้าเตือนว่า กษัตริย์มิอาจจะก้าวก่ายต่อรัฐสภาที่เปรียบเสมือนตัวแทนของราษฎรได้โดยเด็ดขาด ถ้ารัฐสภานั้นไม่อนุญาติ..
(จบแล้วจ้าาาา)
[บทส่งท้าย]
บทความเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมใช้เวลาศึกษาและเขียนนานพอสมควร เนื่องจากในช่วงแรกของการเขียนผมได้อ้างอิงจาก reference ภาษาไทยเป็นหลัก
ซึ่งมันดันออกมาคล้ายกับต้นฉบับมากเกินไป ผมจึงได้เรียบเรียงมันใหม่ตั้งแต่แรกโดยอ้างอิงถึง reference ฉบับภาษาอังกฤษแทน
ถ้าผู้อ่านท่านใดได้อ่านมาจนถึงตรงนี้กระผมขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
=/\= (ยกมือไหว้)
ฝากกดติดตามด้วยนะครับผม!
โฆษณา