1 มิ.ย. 2021 เวลา 12:23 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
🌊🌴เคว้ง (The Stranded) : เรารู้เรื่องอวกาศมากกว่าเรื่องใต้ทะเลซะอีก
"เคว้ง - The Stranded" เป็นซีรี่ส์ที่พูดถึงชีวิตของ "คราม" เด็กหนุ่มชาวใต้ชั้นม. 6 ที่ได้รับทุนให้เข้าไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติสุดหรูอย่าง "โรงเรียนหฤทัยสมุทร" และจุดเริ่มต้นของความหายนะก็คือวันสุดท้ายของการเป็นเด็กมัธยมของเขาและเพื่อน ๆ ร่วมชั้นกว่า 30 ชีวิต พวกเขาต้องเอาชีวิตรอดบน "เกาะปินตู" เกาะเล็ก ๆ กลางทะเลอันดามัน และต้องพบเจอกับเรื่องราวลึกลับสุดคาดเดาที่ทยอยเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะชาติกำเนิดของครามที่ยังคงเป็นปริศนา
โปสเตอร์โปรโมทซีรี่ส์ เคว้ง
ในส่วนของโปรดัคชั่น ต้องบอกเลยว่ามีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ แต่จะพูดถึงนิดนึงละกัน ส่วนที่ชอบก็จะเป็นการแคสติ้งนักแสดงที่ทำได้ดีมาก พระเอกคมเข้มสมชายไทย นางเอก ตัวร้าย และตัวประกอบอื่น ๆ ดูมีความอินเตอร์และมีลูกครึ่งเยอะมาก (คิดว่าคงเพราะต้องการดึงดูดคนดูต่างชาติด้วย) และการผูกประเด็นน่าสนใจ ชอบการนำตำนานพื้นบ้านไทยมาผสมผสานกับโลกสมัยใหม่ ปมที่ทิ้งเอาไว้ให้คนดูคาใจหรือ "เคว้ง" สมชื่อเรื่อง อาจจะเป็นการทำให้คนดูเข้าใจสิ่งที่ตัวละครกำลังประสบอยู่ ส่วนที่ไม่ชอบคือ บทพูดที่ดูล้น ๆ เกิน ๆ ไปหน่อย แต่ส่วนตัวพอดูเป็นพากย์อังกฤษแล้วโอเคขึ้น ไม่รู้ใครรู้สึกเหมือนกันรึเปล่า
และต่อจากนี้ไป ขอสปอยล์ วิเคราะห์ เจาะลึก สับแหลก ตามแบบของเราเลยนะจ๊ะ สิ่งที่วิเคราะห์วิจารณ์นี้เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวนะ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจอะไรยังก็ขอโทษเอาไว้ตรงนี้ด้วยจ้า ใครอยากเสนออะไร ก็พูดคุยกันข้างล่างได้เลย ใครยังไม่ดูก็ปิดหน้านี้ไปก่อนแล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่กันนะ เริ่ม!!!
"เรารู้เรื่องอวกาศมากกว่า
เรื่องใต้ทะเลของเราซะอีก"
ครามที่กำลังค้นหาความลับของเรื่องราวทั้งหมด
🌊 เคว้ง คราม น้ำ ทะเล สัญญะที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้ชื่อ
สิ่งที่น่าสนใจคือชื่อของตัวละครและสถานที่ในเรื่อง ซึ่งถ้าลองมาวิเคราะห์กันดูดี ๆ เราจะเห็นความเชื่อมโยงกันมากมาย แต่ประเด็นหลักที่เรื่องต้องการนำเสนอคือ "เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์" โดย "ทะเล" ถูกเปรียบเทียบกับ "จิตใจ" ของมนุษย์ ซึ่งประสบกับความ "เคว้ง" เมื่อไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับสถานการณ์ที่ยากจะรับมือ เหมือนในฉากที่ครามพูดกับเมย์ว่า รู้มั้ยว่า มนุษย์เรารู้เรื่องอวกาศมากกว่าเรื่องใต้ทะเลซะอีก มันเป็นการบอกว่า คนเราอาจมีปม/เรื่องราว/ความลับ ที่ถูกปกปิดซ่อนไว้ในเบื้องลึกของจิตใจมากกว่าที่คิด เรามักอยากเรียนรู้เรื่องราวภายนอกมากกว่าที่จะค้นหาเรียนรู้ตัวตนของตัวเอง เพราะมันยากนักที่จะรู้ว่า จริง ๆ เรานั้นเป็นคนแบบไหน ต้องการอะไร
น้ำ สาวน้อยพลังจิตสายมูเตลู
ชื่อตัวละครก็มีความเกี่ยวข้องเช่นกัน คราม เป็นเฉดสีของน้ำทะเลที่หากมองเผินนั้นสวยงามสดชื่นสบายตา แต่เมื่อเริ่มออกห่างจากชายฝั่ง สีครามจะเข้มขึ้นตามระดับความลึกและกลายเป็นสีที่ดำมืดที่สุด สื่อถึงการพยายามค้นหาที่มาของตัวเองโดยดำดิ่งลงสู่ก้นทะเลหรือลงไปสู่ระดับจิตใต้สำนึก (แนะนำให้ฟังเพลง คราม ของ บอดี้สแลม จะเข้าใจมากขึ้น) หรือแม้แต่ ไอซ์ (นักเลง) ก็ยังสามารถสื่อถึงก้อนน้ำแข็งที่จมอยู่ด้านล่างผืนน้ำ ก็เปรียบกับห้วงลึกของจิตใจมนุษย์นั่นเอง ส่วน น้ำ (เราชอบตัวละครนี้ที่สุดละ) หญิงสาวที่มีจิตสัมผัสกับสิ่งลี้ลับ แต่เธอก็ได้ใช้ความสามารถของเธอช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ น้ำ สื่อถึงการชำระล้าง ความบริสุทธิ์ และพิธีกรรมที่คอยทำให้สะอาด เราจะเห็นได้ในฉากที่น้ำแกล้งทำพิธีปัดรังควานวิญญาณที่ตามติดตัวไอซ์ แม้จะเป็นการแกล้งหลอก แต่กลายเป็นว่า มันทำให้ไอซ์สบายใจขึ้นและเปลี่ยนเป็นคนละคน เหมือนเป็นการบำบัดจิตใจให้รู้สึกดีขึ้นนั่นเอง
หรือแม้แต่ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษของเคว้ง ซึ่งใช้คำว่า The Stranded น่าสนใจมากเลย เพราะคำว่า Strand ถ้าเป็นคำนาม จะแปลว่า ชายหาดหรือเส้นเชือกก็ได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นคำกริยา จะกลายเป็นคำว่า Stranded ที่หมายถึง เกาะเกี่ยวไว้ด้วยกัน หรือหมายถึงการติดเกาะ/การเกยตื้นก็ได้ แสดงถึงการที่เด็ก ๆ กว่าสามสิบชีวิตต้องมาติดเกาะด้วยกัน ที่น่าสนใจคือ มันอาจแปลได้ทั้งแง่และแง่ลบก็ได้ การเกาะเกี่ยวไว้ด้วยกันสื่อถึงการร่วมมือร่วมใจกันคนละไม้ละมือหรือหมายถึงการถูกพันธนาการไว้ด้วยกันด้วยผลประโยชน์หรืออะไรบางอย่าง
หญิงและไอซ์ สองคู่รักทะเลเดือด
❤️ Fuck, Marry, Kill สามคำสั้น ๆ วัดใจ เปิดเผยความนัยส่วนลึก
ในตอนต้นเรื่อง โจอี้ได้ชวนครามไปค้นหายาในบ้านพักของผู้ใหญ่บ้าน และเขาได้ชวนครามเล่นเกมง่าย ๆ สามารถบอกใบ้อะไรเราได้หลายอย่าง นั่นก็คือเกม "Fuck, Marry, Kill" โดยมีกติกาง่าย ๆ เพียงแค่เลือกว่าอยากมีอะไรกับใคร อยากแต่งงานกับใคร และอยากฆ่าใคร เกมนี้มีการเล่มกันอย่างแพร่หลายในฝั่งอเมริกา และปรากฏให้เห็นในวัฒนธรรมป๊อบต่าง ๆ มากมาย โดยเกมนี้สามารถเปิดเผยค่านิยมทางเพศของสังคมและรสนิยมในเรื่องความรักของตัวผู้เล่นได้ในระดับหนึ่ง อย่างเช่น ครามได้ตอบไปว่า เลือกมีอะไรกับหญิง เลือกฆ่าอริสา และอยากแต่งงานกับเมย์ ทำให้โจอี้รู้ว่าครามก็ชอบเมย์เหมือนเขานั่นเอง เรายังเห็นค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิงในระบอบปิตาธิปไตย หรือ ชายเป็นใหญ่ด้วย เช่น ผู้หญิงที่ดูแรง ไม่รักนวลสงวนตัวเหมือนหญิง หรือเก่งกล้าสามารถเกินผู้ชายอย่างอริสา มักไม่ถูกเลือกเป็นคู่ครอง เพราะทำให้ปกครองยาก มีแนวโน้มที่จะอยู่กันไม่ยืด ผู้หญิงที่ดูอ่อนโยน บอบบาง และไม่มีปากมีเสียง ผู้ชายส่วนใหญ่จึงชอบ (คราม โจอี้ อนันต์ ต่างรุมชอบเมย์)
เมื่อทุกคนแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย
🚫 เมื่อ "กฏหมาย" ถูกท้าทายด้วย "กฎหมู่"
เคว้ง นอกจากจะสะท้อนภาพของโลกของมนุษย์ที่ล่มสลายแล้วยังสะท้อนศีลธรรมที่เสื่อมสลายของจิตใจมนุษย์ด้วย เมื่อธรรมชาติทำลายเทคโนโลยี มนุษย์จึงต้องย้อนกลับไปสู่การใช้ชีวิตแบบพื้นฐาน/โบราณ/ง่าย ๆ อีกครั้ง (Back to Basic) เราจะได้เห็นการใช้ปืนยิงปลา การก่อไฟให้แสงสว่าง การกรองน้ำโดยใช้เครื่องกรองน้ำแบบทำมือ เป็นต้น แม้กระทั่งกฎหมายที่เคยมีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมก็ถูก "กฎหมู่" หรือ "ศาลเตี้ย" ขึ้นมาแทน เพราะในสมัยโบราณ มนุษย์อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และการกำหนดกฎเพื่อใช้ปกครองมักมาจากคนที่เป็นผู้นำเพียงคนเดียวหรือการตกลงกันในกลุ่ม
ที่น่าสนใจคือ กฎหมู่ตอบสนองด้านมืดในจิตใจมนุษย์ได้ดีกว่าและรวดเร็วกว่ากฎหมาย เช่น ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำเพื่อการอยู่รอดและปากท้องโดยไม่สนใจคนกลุ่มอื่นหรือคนที่ไม่ได้มีประโยชน์กับตัวเอง เนื่องจากทรัพยาการซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและเป็นสิ่งสำคัญสำหรับปากท้อง จึงมีการใช้กฎหมู่เพื่อแบ่งพรรคพวกระหว่างคนที่แข็งแกร่งและคนอ่อนแอเพราะเป็นตัวบอกว่า ใครสมควรได้ใช้ทรัพยาการ ใครสมควรอยู่หรือตาย การเกิดขึ้นของกฎหมู่คือมีบอกไว้ในเรื่อง เช่น ในฉากที่ครูหลินพูดถึง "Psychogenic Illness" ซึ่งหมายถึงการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมแบบใหม่ขึ้นจากการเริ่มต้นอะไรบางอย่างของคนในสังคม ถ้ามีใครเริ่มทำก่อน คนอื่น ๆ ก็อาจเห็นด้วยและทำตาม จนกลายเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นสิ่งที่ผิดก็ตาม อย่างการที่เด็ก ๆ ในเรื่องเริ่มทะเลาะกัน ไล่ล่ากัน เมื่อความเห็นไม่ลงตัว และคนที่ซวยและโดนขับไล่คือ กลุ่มคนที่ไม่สามารถยอมรับหรือทำตามกรอบกฎของกลุ่มได้และถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ เช่น คราม ตัวแทนคนท้องถิ่น/คนยากจน, เมย์ ตัวแทนผู้หญิงที่อยู่ในกรอบที่ต่อมาเลือกที่จะไม่เชื่อฟัง/ไม่อยู่ในโอวาทผู้ชายและไม่อยู่ในกรอบผู้หญิงที่ดี, ไอซ์ ตัวแทนคนเสเพล นักเลง ชอบใช้ความรุนแรง, หญิง ตัวแทนผู้หญิงที่ไม่ดี แรง วัตถุทางเพศ, อริสา ตัวแทนผู้หญิงที่แกร่งเกินหญิง, น้ำ ตัวแทนคนพิการ ป่วยจิต/เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หรือคู่หูกันต์-ณัฐ ตัวแทนเนิร์ด/เกย์/เพศที่สาม เป็นต้น นี่เองจึงเป็นภาพสะท้อนของเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ที่สถานการณ์ยากลำบากจะช่วยเปิดเผยธาตุแท้ของแต่ละคนออกมาซึ่ง เคว้ง ได้นำเสนอประเด็นนี้ได้ชัดและน่าสนใจมาก ๆ
ความสดใสของวัยรุ่นที่หายไป
🚻 เป็นวัยรุ่นมัน "เหนื่อย" ... เป็นผู้ใหญ่ "เหนื่อยกว่า"
เคว้ง ยังเล่นกับประเด็น "การค้นหาตัวตนของเด็กวัยรุ่น" เราจะเห็นได้ว่า ตัวละครเด็ก ๆ ในเรื่องจะพยายามค้นหาอะไรบางอย่าง เช่ย การค้นหาชาติกำเนิดของคราม การเข้าป่าไปค้นหาหอวิทยุของอริสา รวมไปถึงการหลีกหนีจากกลุ่มเพื่อนเพื่อไปพักผ่อนของเมย์ สะท้อนความต้องการที่จะค้นหาตัวตนและเป็นตัวของตัวเอง หรือแม้แต่อนันต์ซึ่งเป็นเด็กที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้ใหญ่/ผู้นำก่อนวัยอันควรผ่านการเป็นคอนดัคเตอร์ในวงออเครสตร้า การแบกรับความคาดหวังและความกดดันที่มากจนเกินไปทำให้แต่ละคนเกิดความเครียดและนำไปสู่ปมทางจิตที่ส่งผลร้าย เมื่อต้องมาเจอสถาการณ์ติดเกาะที่ทั้งบีบคั้น กดดันยิ่งกว่า พวกเขาจึงต้องพยายามเป็นผู้ใหญ่เพื่อเอาตัวรอดให้ได้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว พวกเขาก็เป็นเพียงแค่เด็กม. ปลาย ที่ยังอยากสนุกกับชีวิตและยังไม่รู้แน่ชัดเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง และจินตนาการว่า การพ้นจากรั้วโรงเรียนเพื่อไปใช้ชีวิตผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย มันคงจะตื่นเต้น สนุกสนาน แต่จริง ๆ แล้ว โลกของผู้ใหญ่นั้นโหดร้ายและเต็มไปด้วยความเครียดมากกว่าที่พวกเขาเคยคิดฝันกัน การติดเกาะนี่เองจึงเสมือนการจำลองโลกแห่งความเป็นจริงที่พวกเขาต้องเจอ
นอกจากนี้ เคว้ง ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และคุณค่า/ความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์อีกด้วย เช่น การที่ครามซึ่งเป็นเด็กยากจน แต่เรียนเก่ง จึงได้รับทุนให้เรียนในโรงเรียนอินเตอร์ เขาก็ยังต้องเจอกับการเหยียดหยามดูถูกจากอนันต์ที่เป็นคนรวยโดยกำเนิด หรือแม้แต่การที่พยายามจะเข้าหาเมย์ ก็สื่อถึงความพยายามที่จะก้าวข้ามให้พ้นสถานะคนชายขอบที่เขาเป็นอยู่เช่นกัน
จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่ขอไปนั่งคิดก่อนนะคะ ถ้านึกออกจะกลับมาแก้ไข วันนี้ขอตัวไปก่อนละค่ะ บายยย ^ ^ ใครนึกออกก็มาคุยกันได้นะ
โฆษณา