3 มิ.ย. 2021 เวลา 12:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Impossible Trinity กฎที่ไม่ได้ห้ามแหก แต่อย่าลองเลย...
1
Impossible Trinity หรือทฤษฎีสามอย่างที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าใครก็ห้ามแหกกฎนี้
นี่คือ 3 นโยบายการเงินระหว่างประเทศที่ไม่ว่าประเทศใดก็ตามจะใช้พร้อมกันทั้งหมดไม่ได้ แต่ละประเทศจึงเลือกใช้พร้อมกันได้เพียง 2 จาก 3 นโยบายการเงินเท่านั้น
ถ้าหากประเทศไหนที่ยังฝืนใช้ทั้ง 3 นโยบายการเงินพร้อมกันก็จะเป็นการเปิดช่องว่างให้เหล่านักเก็งกำไรหรือ Hedge fund ระดับโลกเข้ามาทำกำไรจนเศรษฐกิจของประเทศพังลงไป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่หรือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)
นโยบายการเงินใน Impossible Trinity
Impossible Trinity หรือ Mundell-Fleming trilemma ถูกพัฒนาโดยสองนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่างโรเบิร์ต มันเดลล์ (Robert Mundell) และมาร์คัส เฟลมมิง (Marcus Fleming) โดยนโยบายการเงินระหว่างประเทศ 3 อย่าง ประกอบไปด้วย
1. กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่: สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่หรือปรับเปลี่ยนให้แข็งหรืออ่อนค่าได้
1
2. เงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี: ไม่จำกัดเงินทุนที่เข้าออกประเทศ
3. กำหนดนโยบายการเงินในประเทศอย่างมีอิสระ: ธนาคารกลางสามารถกำหนดนโยบายการเงินเพื่อรักษาสมดุลของเศรษฐกิจได้อย่างมีอิสระ เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ย การควบคุมปริมาณเงินในระบบ
2
โดยการอธิบายเรื่องนี้จะใช้สามเหลี่ยมที่มีนโยบายการเงินระหว่างอยู่แต่ละมุม และการที่แต่ละประเทศสามารถเลือกใช้นโยบายการเงินพร้อมกันได้เพียง 2 จาก 3 ก็คือการเลือกด้านใดด้านหนึ่งของสามเหลี่ยม เช่น ประเทศ A เลือกด้าน A ก็หมายความว่าประเทศ A เลือกใช้การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่และเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรีพร้อมกัน โดยที่ไม่สามารถกำหนดนโยบายการเงินในประเทศได้อย่างมีอิสระ
1
Source: The Economist
ด้าน A: เงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี / กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์
ประเทศนั้นสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่กับประเทศเดียวหรือหลายประเทศก็ได้ พร้อมทั้งไม่จำกัดเงินทุนที่เข้าออกประเทศ แต่ก็จะไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) หรือพูดให้ง่ายขึ้น ก็คือเมื่อไปกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกับประเทศใดก็ต้องรับนโยบายการเงินมาใช้ด้วยเช่นกัน เพราะหากมีความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยแล้วจะทำให้เกิดการเก็งกำไรด้วยการกู้เงินจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง จนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจต้องพังลงไป
ด้าน B: เงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี / กำหนดนโยบายการเงินในประเทศอย่างมีอิสระ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และไทย
สามารถปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าออกได้อย่างมีเสรีและสามารถกำหนดนโยบายการเงินในประเทศเพื่อรักษาสมดุลของเศรษฐกิจในประเทศได้ด้วย แต่ก็จะต้องปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปตามกลไกของความต้องการในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
2
ด้าน C: กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ / กำหนดนโยบายการเงินในประเทศอย่างมีอิสระ เช่น จีน
ทางเลือกนี้กำหนดให้ประเทศนั้นต้องควบคุมเงินทุนที่เข้าออกประเทศ เพราะหากอัตราดอกเบี้ยสูงหรือต่ำกว่าประเทศอื่นและยังไม่ควบคุมการเข้าออกของเงิน ก็จะเป็นช่องว่างให้เกิดการเก็งกำไรด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนหรือกู้เงินจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง วิกฤติต้มยำกุ้ง บทลงโทษผู้แหกกฎ
บทเรียนราคาแพงที่แสดงให้เห็นผลของการแหกกฏและโด่งดังจนเป็นกรณีศึกษาไปทั่วโลก คือวิกฤติต้มยำกุ้งซึ่งเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั่นเอง
2
ช่วงเวลานั้นประเทศไทยเลือกใช้ทั้ง 3 นโยบายการเงินระหว่างประเทศพร้อมกัน
กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่: กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ที่ 25 บาท/ดอลลาร์
เงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี:กู้ยืมเงินและไม่จำกัดการนำเงินเข้าออกประเทศ
กำหนดนโยบายการเงินในประเทศอย่างมีอิสระ: ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้
1
ในช่วงเวลาก่อนปี 2540 เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนประเทศเวียดนามในเวลานี้ โดยเฉพาะภาคส่วนอสังหาฯ ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยก็สูงกว่าสหรัฐฯ ทำให้มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศแล้วนำเข้ามาลงทุนหรือปล่อยกู้ในประเทศได้อย่างไม่จำกัด โดยตั้งกิจการวิเทศธนกิจไทย (Bangkok International Banking Facilities: BIBF) เพื่ออำนวยความสะดวก จนกลายเป็นฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ ด้วยความที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การเก็งกำไรจึงลุกลามไปยังตลาดหุ้น
ระหว่างที้เหตุการณ์ยังดำเนินอยู่ก็มีนักเก็งกำไรและ Hedge fund ที่โด่งดังอย่างกองทุน Quantum ของจอร์จ โซรอส (George Soros) ที่เห็นว่าประเทศไทยแหกกฎเข้าให้แล้ว และฟองสบู่ลูกโตกำลังจะแตก จึงโจมตีค่าเงินบาทด้วยการขายชอร์ตเงินบาท นั่นคือการยืมเงินบาทมาขายก่อนแล้วค่อยซื้อเงินบาทกลับไปคืน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำเงินดอลลาร์จากทุนสำรองระหว่างประเทศมาซื้อเงินบาทที่ถูกขายเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ที่ 25 บาท/ดอลลาร์
ซึ่งโดยปกติแล้วหากไม่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การที่เงินบาทถูกขายมากกว่าความต้องการซื้อจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนไม่อยู่ที่ 25 บาท/ดอลลาร์
การต่อสู้ระหว่างแรงขายเงินบาทจากนักเก็งกำไรกับแรงซื้อจากธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินไปได้ระยะหนึ่งจนทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศไทยเกือบหมด และในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นตั้งแต่แรกหากยึดถือตาม Impossible Trinity
ผลพวงของเหตุการณ์นั้นทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยบาดเจ็บหนักต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัว และก็ไม่สามารถกลับไปเติบโตอย่างที่เคยเป็นได้อีกเลย ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่แหกกฎจนต้องเจอกับบทเรียนราคาแพง แต่ประเทศเม็กซิโก (1994-1995) และอาร์เจนติน่า (2001-2002) ก็เป็นอีกสองตัวอย่างผู้แหกกฎจนเผชิญกับวิกฤติเช่นเดียวกัน
1
ชอบ "กดถูกใจ" ใช่ "กดแชร์"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
พบกับคอร์สออนไลน์การเงินการลงทุน โดยกูรูระดับประเทศที่ SkillLane คลิกเลย
โฆษณา