1 มิ.ย. 2021 เวลา 13:10 • การเมือง
10 ปีที่ผ่านมาได้เห็นและเข้าใจ “ลัดดาแลนด์” ในมุมที่ตื้นมาตลอดว่าธีร์ (พี่ก้อง-สหรัฐ) ที่เป็นพ่อ-เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้น ช่างน่าสงสารที่อุตส่าห์ซื้อบ้านแล้วก็ต้องมาเจอผี ซาบซึ้งกับความทุ่มเทไม่ลืมหูลืมตา มองเห็นผีเป็นตัวร้าย ทั้งที่จริงอย่างอื่นร้ายกว่าผี - รู้จากการได้อ่านหนังสือ “เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์”
สิ่งที่ร้ายกว่าผีหรือมุมลึกที่ซ่อนอยู่คือ ระบบทุนนิยม ที่ทุกอย่างคือเงิน วัตถุอย่างบ้าน กลายเป็นตัววัดความสุข ความสำเร็จ บนไม้บรรทัดอันเดียวกันนี้ ธีร์ คือคนพ่ายแพ้ จากโครงสร้างทางสังคม อำนาจ ระบบธุรกิจ ฯลฯ ที่ผลักให้คนชนชั้นแรงงานที่ผิดหวัง ต้องโทษตัวเอง รับทุกอย่างเอง แม้กระทั่งรู้สึกผิดเจ็บปวดจนตายไปเอง ถ้าคิดบวกไม่ได้ ถ้าพยายามไม่มากพอ แม้ในความจริงจะพยายามที่สุดแล้วก็ตาม ซึ่งความสุขอย่างการมีบ้าน ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่โครงสร้าง รัฐสวัสดิการ ไม่ได้มีหรือมาถึงธีร์อย่างแท้จริง
“แม่ยาย” ที่มักจะโทรมาคอยถาม คอยกด ก็เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่เป็นเพราะเขาเองที่ทำตัวไม่ได้เรื่อง ไม่พยายามมากกว่านี้ เกิดมาอยู่ในชนชั้นนี้
กระทั่ง “มะขิ่น” เองก็ได้รับผลกระทบจากระบบนี้ไม่ต่างกับธีร์ เธอเป็นต่างด้าว โนบอดี้ แต่ก็ต้องทำงานส่งเงินให้ที่บ้าน ในขณะที่ก็โดนข่มเหงเอาเปรียบต่างๆ กระทั่งโดนฆ่าตายไปแบบไม่มีใครเสียใจ
ท่ามกลางมุมลึก หนังก็จบที่มุมตื้นโดยการให้ครอบครัวที่เหลืออยู่ดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความคิดบวก มีความสุขและความอบอุ่นแทน เหมือนปัญหาโครงสร้างไม่มีอยู่จริง
ในหนังสือบอกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเรื่องอาจมาจากการจัดการอารมณ์ไม่ได้ก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนและการโยนความผิดให้เป็นเรื่องของใครของมันไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดเรื่องอันน่าเศร้านี้
ที่เจ๋งคือ การหยิบเรื่องลัดดาแลนด์ไม่ได้ทำเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ตามสไตล์คอหนังเฉยๆ แต่เพื่อมายกตัวอย่างเนื้อหาที่ในหนังสือเปิดปูมาให้เห็นภาพและใกล้ตัวเรามากที่สุด ว่าทุนนิยม-สัจนิยมแบบทุนคืออะไร การผลักความรับผิดชอบตัวใครตัวมันนั้นโหดร้ายแค่ไหน รวมถึงทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้ยังไงด้วย
#เมื่อโลกซึมเศร้า #ลัดดาแลนด์
โฆษณา