2 มิ.ย. 2021 เวลา 01:54 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
คอสมอส ตอนที่ 2: ความกว้างใหญ่ของเวลา
“เราคือหนทางที่จักรวาลจะได้รู้จักตัวตนของมันเอง” กล่าวโดย คาร์ล เซแกน (carl sagan)
4
ในบริบทของจักรวาล มนุษย์นั้นเป็นสิ่งเล็กจิ๋ว ถ้าให้เทียบแล้วก็คงเหมือนเป็นเพียงแค่จุดสีเล็กๆ จุดหนึ่ง ที่แต้มอยู่บนก้อนฝุ่นที่ลอยอยู่ในอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาล
1
โดยภาพรวม​ จักรวาลยังคงสิ่งแปลกใหม่สำหรับเรา หากย้อนกลับไปซัก 4 ศตวรรษก่อนหน้านี้ เรายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร หรือยิ่งใหญ่แค่ไหน เพราะสมัยก่อนการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์มักมาจากการดูด้วยตาเปล่าและจดบันทึก ทำให้เกิดข้อจํากัดต่างๆ มากมายในการสำรวจจักรวาล เรื่องราวบนท้องฟ้าถูกปกคลุมเต็มไปด้วยปริศนา
ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวสรุปของเหตุการณ์สำคัญๆ ต่างๆ ตั้งแต่บิ๊กแบงจนถึงปัจจุบัน ทุกๆ มุม 90 องศาของภาพแทนเวลาที่ล่วงเลยไปแล้ว 1 พันล้านปี ภาพจาก Pablo Carlos Budassi/wikipedia
ย้อนกลับไปในปี 1599 ทุกคนรู้ดีว่าแสงที่มาจากบนฟ้านั้นคือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์ โดยที่เทหวัตถุเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างอยู่รอบโลก และเรายังคงคิดว่า โลกนั้นคือจุดศูนย์กลางของจักรวาล จักรวาลถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เราได้อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์และนักบวชชาวโปแลนด์นามว่าโคเปอร์นิคัส กลับมองภาพของโลกต่างออกไปในยุคของเขา ในมโนทัศน์ของเขานั้น มองว่าจักรวาลมีขนาดใหญ่โตกว่านั้นมาก ในขณะที่โลกก็ไม่ใช่จุดศูนย์กลางแต่อย่างใด
"โลกเป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง เช่นเดียวกับดวงอื่นๆ​ ที่โคจรอยู่โดยรอบดวงอาทิตย"
บาทหลวงหลายคนในยุคนั้นเช่นเดียวกับนักปฏิรูปมาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) ก็ถือว่าความคิดที่โลกไม่ใช่ศูนย์กลางนั้นขัดต่อพระคัมภีร์เกินไป พวกเขาหวาดผวา จึงส่งผลให้ความคิดของโคเปอร์นิคัสไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร
จอร์ดาโน บรูโน ภาพจากภาพพิมพ์ไม้ของ “Livre du recteur” ค.ศ.1578
อย่างไรก็ตามความคิดของโคเปอร์นิคัสก็ถูกสานต่อไปยังจอร์ดาโน บรูโน (Giordano Bruno) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 เขาเป็นนักบวช นักคณิตศาสตร์ และนักปรัชญาชาวอิตาลี อีกทั้งเขายังเป็นกบฏมาโดยกำเนิดอีกด้วย
เรื่องราวของเขานั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เขารู้สึกว่าจักรวาลที่เราอยู่อาศัยนั้นมันเล็กเกินไป และปรารถนาที่จะหลุดพ้นออกไปจากกรอบแห่งนี้ เขาเริ่มตั้งคำถามให้กับทุกสิ่ง และอยากรู้ว่าทำไมพระเจ้าจึงต้องสร้างจักรวาลแห่งนี้ขึ้นมา
จอร์ดาโน บรูโน จึงได้แอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งต่างๆ เพื่อค้นหาคำตอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหนังสือต้องห้ามโดยศาสนจักรนั้นมีชื่อว่า On the Nature of Things (ชื่อเดิมคือ De rerum natura ที่ถูกเขียนเอาไว้โดย นักกวี และ นักปรัชญาชาวโรมันลูเครเตียส (Lucretius))
De rerum natura by Lucretius In Latin, Copied by Girolamo di Matteo de Tauris for Sixtus IV, Italy, 1483
ลูเครเตียส จินตนาการให้ผู้อ่านได้ยืนอยู่บนขอบของจักรวาล แล้วจากนั้นก็ยิงธนูออกไป ในช่วงแรกลูกธนูนั้นควรล่องลอยต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันได้ปะทะเข้ากับกำแพงใดกำแพงหนึ่งที่อยู่ข้างนอกนั่น จึงทำให้เกิดความสงสัยต่อไปอีกว่า แล้วอะไรอยู่เลยออกไปจากขอบของจักรวาลนี้ออกไปอีก
หากเรายืนอยู่บนขอบของกำแพงแห่งนี้แล้วยิงลูกธนูต่อไป ก็จะมีความเป็นไปได้อยู่แค่ 2 ทาง นั่นคือลูกธนูนี้จะล่องลอยต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ปะทะเข้ากับกำแพงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งสภาพเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่จักรวาลนั้นไร้ขอบเขต ขณะที่ บรูโน ก็ค่อนข้างหลงใหลกับแนวคิดนี้เช่นกัน และเชื่อว่าจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับพระเจ้า
บรูโน เชื่อว่าแสงของดวงดาวบนท้องฟ้าส่วนใหญ่ก็คือดวงอาทิตย์อีกดวง และมันมีอยู่นับพันๆ ดวง โดยแต่ละดวงจะมีโลกของความเป็นไปได้ต่างๆ เคลื่อนที่อยู่ภายในนั้น รวมถึงสิ่งมีชีวิตเช่นอย่างเราก็ด้วย ดังนั้นจักรวาลจึงกว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีทิศทางลง หรือขึ้น ไม่มีพรมแดน และไร้จุดศูนย์กลาง พวกเราไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจักรวาลอันกว้างใหญ่เท่านั้น
เขาหลงใหลไปกับแนวคิดนี้เป็นอย่างมาก จนถูกสังคมมองว่าเป็นคนนอกรีต และถูกขับไล่ออกมาจากบ้านเกิดโดยศาสนจักร อย่างไรก็ตามเขายังคงเดินทางต่อไปเพื่อเผยแพร่แนวคิดเช่นนี้ให้คนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งขณะนั้นยุโรปกำลังถูกครอบงำด้วยความมืดบอดทางปัญญา
แต่ไม่ว่าเขาจะเดินทางไปที่ไหนเขามักถูกต่อต้านโดยผู้มีอำนาจเสมอ มีอยู่มาวันหนึ่งเขาถูกเชิญให้ไปบรรยายที่ออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ๆ ในท้ายที่สุดแล้วความคิดเขาจะถูกเผยแพร่ออกไป ต่อหน้าปัญญาชนทั้งหลาย
เขาบรรยายว่า หลักคิดของโคเปอร์นิคัสของคนในรุ่นก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่โต้แย้งเกี่ยวกับโลกที่ไม่ใช่จุดศูนย์กลางของจักรวาล และสนับสนุนว่าแท้จริงแล้วโลกนั้นโคจรอยู่โดยรอบดวงอาทิตย์ และไกลออกไปจากเราก็ยังมียังมีโลกแห่งอื่นๆ อยู่อีกมากมายข้างนอกนั่น ที่เคลื่อนที่อยู่รอบๆ จุดของแสงเล็กๆ บนฟ้าเหล่านี้ ซึ่งนั่นก็คือหนึ่งดวงอาทิตย์ และโลกต่างดาวที่ว่านี้บางที อาจมีสภาพเช่นเดียวกับโลกของเรา คือ มีน้ำ มีอากาศ และมีสิ่งมีชีวิต
อย่างไรก็ตามปาฐกถาของเขานั้นแทบไม่มีใครเห็นด้วยเลย แถมยังถูกมองว่าเป็นคนบ้า และงมงาย ทุกคนต่างส่งเสียงโต้แย้งออกมา บรูโน ก็พยายามพูดอยู่เสมอว่า
"พระเจ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุดของเราได้สร้างจักรวาลที่ไร้ขอบเขตแห่งนี้ขึ้น พร้อมกับได้สร้างโลกของความเป็นไปได้ต่างๆ ออกมามากมาย"
เขาสนับสนุนให้ทุกคนละทิ้งความเชื่อตามประเพณีโบราณ และเลิกยึดถือหลักของอำนาจเก่า อย่างไรก็ตามการโน้มน้าวเขานั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนเช่นเคย และถูกขับไล่ออกมาจนได้
ในมุมมองของผู้มีอำนาจทางศาสนจักรความคิดของเขานั้นน่ากลัว แต่จุดอ่อนของเขาก็คือ วิสัยทัศน์ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ในสมัยนั้น
ขณะเดียวกันในยุคที่เสรีภาพทางความคิดยังคงถูกปิดกั้น สำหรับผู้ที่ต่อต้านหลักความคิดเดิมจะถูกตีหน้าว่าเป็นคนนอกรีต และบทลงโทษสูงสุดคือ ประหาร
จอร์ดาโน บรูโน ถูกไต่สวนและคุมขังอยู่ที่กรุงโรมเป็นเวลานานกว่า 8 ปี และทุกครั้งที่เขามีโอกาสสารภาพบาป เขาก็ยังคงดื้อรั้นและเชื่อมั่นอยู่เช่นเดิมว่าจักรวาลอันไร้ที่สิ้นสุดของเขานั้นถูกต้อง จนในที่สุดเขาก็ถูกตัดสินว่าเป็นพวกนอกศาสนา และ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1600 จอร์ดาโน บรูโน ก็ถูกมัดตัวตรึงไว้กับเสา และถูกเผาทั้งเป็น อย่างน่าสลดใจ
Galileo Galilei (15 February 1564–8 January 1642)
10 ปีให้หลังจากการจากไปของ จอร์ดาโน บรูโน กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) ก็ได้ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาส่องไปยังสวรรค์เป็นครั้งแรก และตระหนักรู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่บรูโนเชื่อมั่นนั้นถูกต้องทั้งหมด
1
ดาราจักรทางช้างเผือกถูกสร้างขึ้นมาจากดาวฤกษ์จำนวนนับไม่ถ้วน และส่วนใหญ่ถูกซ่อนเอาไว้จากสายตาของเรา แม้ว่าบรูโนไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่ทัศนะของเขาที่มีต่อจักรวาลนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง ซึ่งการเดิมพันในความเชื่อของเขาในครั้งนั้นนับว่าโชคดี เนื่องจากเขาไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันถึงความถูกต้องดังกล่าวเลย เช่นเดียวกับการคาดเดาส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ที่มักจะผิดพลาดกันได้ และมีเห็นอยู่บ่อยๆ
บรูโน เหลือบเห็นความกว้างใหญ่ของอวกาศ แต่เขาไม่เข้าใจถึงความใหญ่โตของเวลา คนเราจะสามารถมีอายุได้มากกว่า 1 ศตวรรษได้อย่างไร ลำพังเพียงแค่จักรวาลในตอนนี้ก็มีอายุมากกว่า 13,800 ล้านปีแล้ว
เพื่อจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของเวลา เราจำเป็นต้องย่อส่วนของเวลาให้มาอยู่ภายในปฏิทิน 1 ปี ตามที่เราคุ้นเคยกันบนโลก เราอาจตั้งชื่อปฏิทินนี้ว่า ปฏิทินแห่งจักรวาลก็ได้ (Cosmic Calendar) โดยจุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่ง ถูกกำหนดให้มีตัวตนขึ้นเมื่อราวๆ เที่ยงคืนของวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเราจะถือว่าวันนี้คือวันเกิดของจักรวาล และเวลาในปัจจุบันก็คือก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม (หรือก่อนเริ่มนับศักราชใหม่)
ด้วยมาตราส่วนนี้ 1 วินาทีจะมีค่าเท่ากับเวลาของจักรวาลที่ล่วงเลยผ่านไปแล้ว 437.5 ปี ในขณะที่ 1 วันจะเทียบเท่ากับ 37.8 ล้านปี และใน 1 เดือนจะเทียบเท่ากับเวลาของจักรวาลราวๆ 1,150 ล้านปี
ดังนั้นในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 1 มกราคม​ ทันทีที่เข็มนาฬิกาเริ่มเดินสู่วินาทีแรก บิกแบงก็ถือกำเนิดขึ้น ในขณะนั้นมันมีขนาดเล็กมาก เล็กยิ่งกว่าอะตอมเดี่ยวๆ เสียอีก และร้อนยิ่งยวด ทันใดนั้นเพียงแค่เสี้ยวของเสี้ยววินาทีมันก็ขยายโตออกมาอย่างฉับพลัน และรุนแรง ซึ่งเป็นที่มาของพลังงานทั้งหมดที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้
1
สิ่งนี้ฟังดูเหมือนบ้าบอ อย่างไรก็ตามหลักฐานที่เราเห็นอยู่ในอวกาศได้ยังคงสนับสนุนว่า ทฤษฎีบิกแบง คือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมาจากหลักฐานของฮีเลียมที่หลงเหลือมาแต่เดิม การขยายตัวของคลื่นวิทยุที่หลงเหลืออยู่จางๆ ของการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่
เมื่อจักรวาลขยายตัว มันก็เย็นตัวลงด้วยเช่นกัน ก่อนจะเข้าสู่ยุคมืดมาเป็นเวลานานกว่า 200 ล้านปี ต่อมาแรงโน้มถ่วงก็ได้ดึงเอาทุกสิ่งภายในกลุ่มแก๊สมารวมกัน เพื่อทำให้มันร้อนขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือดาวฤกษ์ดวงแรกได้ส่องสว่างออกมา หรือเมื่อราวๆ วันที่ 10 มกราคมของปฏิทินจักรวาล
3
ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม ดวงดาวเหล่านี้ได้ถูกตรึงเข้าไว้ด้วยกันจนก่อให้เกิดกลายเป็นกลุ่มกาแล็กซีขนาดเล็ก และเมื่อกาแล็กซีเล็กๆ เหล่านี้รวมตัวกัน ก็นำไปสู่ผลลัพธ์ของกาแล็กซีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่นเดียวกับความเป็นมาของทางช้างเผือกเราที่ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 11,000 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคมของปีจักรวาล
เมื่อถึงจุดนี้กาแล็กซีของเราก็มีดวงอาทิตย์อยู่เป็นจำนวนกว่าแสนล้านดวง แล้วตรงไหนล่ะที่เป็นบ้านเกิดของเรา อันที่จริงแล้วดวงอาทิตย์ของเรายังไม่ถือกำเนิดในช่วงนี้เลยด้วยซ้ำ
กาแล็กซีในช่วงแรกๆ นั้นสุกสว่างสวยงามดุจดอกไม้ไฟ ทุกๆ จุดบนกังหันที่สว่างวาบออกมา คือการระเบิดของดาวฤกษ์ที่เรียกว่าซูเปอร์โนวา เมื่อวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่มีมวลมหาศาลมาถึง ใจกลางของดาวจะยุบตัวและระเบิดออกอย่างรุนแรง ส่งผลให้เศษซากของฝุ่นและก๊าซต่างๆ ได้แพร่กระจายไปทั่วกาแล็กซี
กลุ่มเมฆหมอกของฝุ่นและก๊าซเหล่านี้เมื่ออยู่รวมกันมากเข้า ครั้งเมื่อมันถูกกระตุ้น มันจะควบแน่นและกลั่นเป็นเม็ดฝนแห่งดวงดาวออกมา
ธาตุต่างๆ ส่วนใหญ่ตามตารางธาตุ คือผลพวงที่ตามมาจากกิจกรรมในยุคดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นออกซิเจนที่เราใช้หายใจ คาร์บอนที่อยู่ภายในกล้ามเนื้อของเรา แคลเซียมที่อยู่ในกระดูก หรือแม้แต่ธาตุเหล็กที่อยู่ในเลือด ธาตุในจำนวนเหล่านี้ถูกปรุงแต่งออกมาจากหัวใจของดาวฤกษ์ที่ดับสูญไปนานแล้วหลายพันล้านปี
The Cosmic Calendar | Cosmos: Possible Worlds
ในอีกแง่หนึ่งพวกเราทุกคนล้วนถูกสร้างขึ้นมาจากเถ้าถ่านของดวงดาว
ธุลีของดวงดาวเหล่านี้จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อใช้สร้างเป็นดวงดาวในรุ่นถัดไป วงจรเช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงในรุ่นของดวงอาทิตย์เรา ดวงอาทิตย์ที่คุ้นเคยนี้เริ่มก่อตัวขึ้นมาเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีที่แล้ว ถ้าเทียบกับเวลาในปฏิทินจักรวาลก็คือ วันที่ 31 สิงหาคม
เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์แห่งอื่นๆ โลกก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากจานของแก๊สและฝุ่นรอบดวงอาทิตย์ การชนกันของเทหวัตถุขนาดเล็กได้หล่อหลอมรวมกัน จงสร้างเป็นสนามความโน้มถ่วงของวัตถุที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะล้วนแล้วแต่ถือกำเนิดขึ้นมาในลักษณะเช่นนี้ทั้งนั้น โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งพันล้านปีแรก
เศษซากที่เป็นผลมาจากการชนกันของดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ทั้งสองดวงได้ให้กำเนิดดวงจันทร์ของเราขึ้นมา ในอีกทางหนึ่งดวงจันทร์ก็คือเครื่องย้ำเตือนใจถึงความรุนแรงในอดีต หากเราได้ไปอยู่ในเหตุการณ์ ณ ตอนนั้นเราจะพบว่า ดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าที่เห็นในทุกวันนี้ถึงร้อยเท่า เนื่องจากมันอยู่ใกล้กับโลกของเรามาก ราว 1 ใน 10
เมื่อโลกเย็นตัวลงทะเลก็ก่อตัวขึ้น กระแสน้ำพุ่งสูงขึ้นนับพันเท่าจนเกิดแรงเสียดทานขึ้นภายในโลก และผลักให้ดวงจันทร์ถอยห่างไป
ชีวิตอาจเริ่มต้นขึ้นที่ไหนสักแห่งบนพื้นโลกเมื่อวันที่ 21 กันยายนของปฏิทินจักรวาล หรือราวๆ 3,500 ล้านปีที่แล้ว เรายังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วชีวิตเริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่คาดการณ์ได้ก็คือบางทีมันอาจมาจากดินแดนอันห่างไกลภายในทางช้างเผือกก็เป็นได้
ทุกวันนี้จุดเริ่มต้นของชีวิตยังคงเป็นปริศนาที่ยิ่งใหญ่ แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังให้คำตอบที่แน่ชัดไม่ได้
2
การปรุงแต่งของชีวิต พัฒนาการของสูตรเคมีทั้งหมด ยังคงเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ และในวันที่ 9 พฤศจิกายน สิ่งมีชีวิตก็เริ่มหายใจ เคลื่อนที่ได้ กินได้ และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม พวกเราเป็นหนี้มหาศาลต่อจุลินทรีย์รุ่นบุกเบิกเหล่านี้ และที่สำคัญคือพวกเขาจะได้คิดค้นระบบการสืบพันธุ์ขึ้นมา ซึ่งสำคัญมาก เพราะจะนำไปสู่ความหลากหลายของชีวิตที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วตามมาในภายหลัง
1
Tiktaalik This is an updated illustration of Tiktaalik roseae in its natural environment. Credit: University of Chicago, Neil Shubin
ในวันที่ 17 ธันวาคม นับว่าเป็นวันที่ดีเลยทีเดียว ที่ชีวิตจะเริ่มต้นขึ้นใหม่อีกครั้ง ทิกทาลิก (Tiktaalik) คือผู้นำแห่งความกล้าหาญ เพราะมันคือสัตว์ชนิดแรกที่พัฒนาการขึ้นมาอยู่บนบก มีรูปร่างคล้ายที่ปลาและมีเท้า มันคงรู้สึกแปลกใจกับสิ่งที่ได้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ราวกับว่าสถานที่แห่งใหม่นี้ คืออีกดาวเคราะห์ดวงหนึ่งไปเลย
ป่าไม้ ไดโนเสาร์ นก แมลง ได้พัฒนากันขึ้นมาอย่างมโหฬารในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม และดอกไม้ดอกแรกก็เบ่งบานขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม
เมื่อป่าโบราณเหล่านี้เติบโตและตายไป ก็จะถูกฝังกลบอยู่ภายใต้พื้นดิน ซากบางส่วนของมันกลายสภาพไปเป็นถ่านหิน ซึ่งในอีก 300 ล้านปีถัดมา มนุษย์ก็จะได้ใช้มันมาเป็นพลังงานขับเคลื่อนให้แก่อารยธรรมของตน
เป็นเวลากว่า 100 ล้านปี ที่ไดโนเสาร์เป็นใหญ่และครอบครองโลกแห่งนี้มานานแสนนาน ในขณะนั้นบรรพบุรุษของเรายังคงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ที่ดูท่าทางลุกลี้ลุกลน และอยู่เบื้องใต้ของไดโนเสาร์มาโดยตลอด
และแล้วโอกาสของเราก็มาถึง เมื่อเช้าของวันที่ 30 ธันวาคม ช่วงเวลา 6 นาฬิกา 24 นาที ของปฏิทินจักรวาล อุกกาบาตขนาดใหญ่ได้ตกลงมาสู่คาบสมุทรยูคาทาน (Yucatán Peninsula) ผลกระทบอันใหญ่หลวงของเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ส่งผลทำให้ไดโนเสาร์เกือบทั้งหมดบนโลกต้องสูญพันธุ์ไป
สมมุติว่าอุกกาบาตลูกนั้นเฉียดผ่านโลกไป และไม่มีวันโลกาวินาศเกิดขึ้น หน้าตาของโลกในทุกวันนี้คงแตกต่างไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพวกเราทั้งหมด หรือแม้แต่ไดโนเสาร์ที่อาจจะยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามนี่คือตัวอย่างที่ดีของเหตุการณ์รุนแรงในธรรมชาติ บรรพบุรุษของมนุษย์อดทนรอคอยมาอย่างยาวนาน เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งราชาตัวโตบนพื้นโลกจะหายไป และเมื่อได้รับโอกาสนั้น พวกเขาก็ไม่พลาดที่จะคว้ามัน
ไม่ว่าดวงดาวจะก่อตัวมานานกว่า 13,500 ล้านปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าพวกเราจะถือกำเนิดขึ้น ในมหาสมุทรแห่งความอ้างว้างของเวลานี้ แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ก็ถือกำเนิดขึ้นใน 1 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนขึ้นสู่ศักราชใหม่ของปฏิทินจักรวาล
ในวันสุดท้ายของปี เวลาประมาณ 23:59 น. กับอีก 46 วินาที บันทึกทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดของเราก็มาถึงจุดเริ่มต้น และเพียงแค่ 1 วินาทีสุดท้ายก่อนถึงปีใหม่ ทุกสิ่งที่เรารู้จัก ผู้คน บ้านเมือง รถยนต์ เครื่องบิน เทคโนโลยีต่างๆ หรือแม้แต่การส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ และยานสำรวจอวกาศที่ท่องไปยังดาวเคราะห์ต่างๆ ภายในระบบสุริยะ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาเพียงแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ ใน 1 วินาที ของปฏิทินจักรวาลเท่านั้น
1
หากเราต้องการสำรวจต่อในมหาสมุทรของเวลาอันกว้างใหญ่ระดับจักรวาล บางทีแล้วเราอาจจำเป็นต้องย่อส่วนของเวลากันใหม่อีกครั้ง
พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นหน้าใหม่ที่ได้รู้จักกับจักรวาลแห่งนี้ เรื่องราวของพวกเราเริ่มต้นขึ้นในคืนสุดท้ายของปี เวลา 21:45 น. หรือประมาณ 3.5 ล้านปีที่แล้ว ต่อมาบรรพบุรุษของเราก็ได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้​ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากรอยเท้าว่าพวกเรารู้จักยืนขึ้นแล้ว ก่อนที่จะแยกทางออกมาจากกลุ่มเล็กๆ แห่งนั้น สายตาของเราไม่ถูกจับจ้องอยู่แต่บนพื้นอีกต่อไป จนถึงตอนนี้ เราก็มีอิสระที่จะมองขึ้นเพื่อเชยชมถึงความน่าอัศจรรย์ใจของจักรวาล
เมื่อมองขึ้นเราจึงเกิดคำถามขึ้นว่า ตกลงแล้วเราอยู่ที่ไหนในหมู่ดาว
เราสามารถติดตามร่องรอยของบรรพบุรุษที่เก่าแก่ที่สุดของเราได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ร่องรอยของผู้คนเมื่อกว่า 40,000 รุ่นที่แล้ว ขณะนั้นเรายังคงเป็นผู้พเนจร อาศัยอยู่ในกลุ่มเล็กๆ คอยติดตามฝูงสัตว์เพื่อออกล่า พวกเขารู้จักสร้างเครื่องมือ ควบคุมไฟ และตั้งชื่อให้กับสิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในชั่วโมงสุดท้ายของปฏิทินจักรวาล และเพื่อเจาะลึกให้เห็นถึงรายละเอียดที่เล็กลงไปอีก เราต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นในนาทีสุดท้ายของคืนนั้น (หรือเวลา 23:59 น. ของวันสุดท้ายในปฏิทินจักรวาล) จะพบว่าพวกเรายังดูเด็กมากในมาตราส่วนของจักรวาลเช่นนี้
เรายังไม่เริ่มต้นวาดรูปของพวกเราเลยด้วยซ้ำจนกระทั่ง 60 วินาทีสุดท้ายของปีจักรวาล ซึ่งก็คือเวลาประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว รูปที่เราวาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับฝูงสัตว์ป่า (History of painting) และเรื่องราวของดวงดาว
ดังนั้นแล้วอันที่จริง พวกเราล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากนักดาราศาสตร์ บรรพบุรุษของเราอยู่รอดได้โดยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดวงดาว เพื่อทำนายถึงฤดูกาลต่างๆ ที่กำลังมาเยือนถึง รวมถึงการอพยพของสัตว์ป่า
1
และเมื่อราวๆ 10,000 ปีที่แล้ว เราเริ่มมีพัฒนาการ การเป็นอยู่อย่างมีหลักแหล่งมากขึ้น บรรพบุรุษของเราเรียนรู้วิธีกำหนดสภาพแวดล้อม เริ่มมีการทำเกษตรกรรม และปศุสัตว์
ทุกอย่างนี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิงจากแต่ก่อน เมื่อสังคมเติบใหญ่ขึ้น ก็เริ่มมีการกระจายไปของผู้คนไปยังแหล่งพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งการประดิษฐ์ล้อก็ได้ช่วยให้การเดินทางของเราง่ายยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อข้าวของสัมภาระมากขึ้น เราจึงต้องมีการจดบันทึก เพื่อแสดงให้เห็นถึงจำนวนของฟางข้าว และของมีค่าอื่นๆ เอาไว้ เพื่อให้มั่นใจว่ามันไม่ได้ตกหล่นไปไหน
1
และใน 14 วินาทีสุดท้ายก่อนถึงเที่ยงคืน หรือประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว มนุษย์เริ่มมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้น และไม่นานก็เริ่มมีการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นได้มากกว่าแค่การนับตัวเลขของพุ่มไม้และเมล็ดพืช
สิ่งที่สำคัญสุดของการ “เขียน” ก็คือ ทำให้เราสามารถบันทึกความคิดของเราลงไปได้ และสามารถส่งต่อความคิดนั้นไปสู่ห้วงของกาลอวกาศ
ตัวอักษรเล็กๆ บนแผ่นดินเหนียวเหล่านี้ จึงได้กลายมาเป็นหนทางสำหรับการเอาชนะความไม่เที่ยงแท้ในชีวิตของเรา
"คนเราสามารถมีอายุได้มากกว่า 1 ศตวรรษได้อย่างไร"
แม้เราจะมีข้อจำกัดทางชีวภาพ แต่สิ่งที่จะยังคงอยู่เหนือกาลเวลานั้นก็คือความคิดที่ได้ถูกจดบันทึกเอาไว้ ทำให้เราสามารถระบุเรื่องราวต่างๆ ของคนในอดีตเอาไว้ได้อย่างมีความแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของโมเสสที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 วินาทีที่แล้ว พระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 วินาทีที่แล้ว พระเยซูที่เกิดขึ้นเมื่อห้าวินาทีที่แล้ว มุฮัมมัดเมื่อสามวินาทีที่แล้ว
และ 2 วินาทีที่แล้วไม่ว่าจะดีหรือร้าย คนจากทั้ง 2 ซีกโลกก็ได้เดินทางมาพบกัน
เพียงแค่ 1 วินาทีสุดท้ายของปฏิทินจักรวาล มนุษย์ก็เริ่มใช้วิทยาศาสตร์เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงเร้นลับของกฎธรรมชาติ
วิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้นทรงพลังมาก เราจะเห็นได้ว่าในตลอดกว่า 4 ศตวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่กาลิเลโอได้เริ่มส่องกล้องไปยังจักรวาล โลกของเราก็ได้วิวัฒน์ไปแบบก้าวกระโดด จนถึงขั้นที่สามารถประทับตราเท้าเอาไว้ยังบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
เราต้องการมองต่อไปข้างหน้าอีก ข้ามผ่านห้วงของเวลาและอวกาศ เพื่อค้นหาว่าแท้จริงแล้วเราอยู่ ณ ที่จุดไหน และเมื่อไหร่ของจักรวาล
วิดีโอ​บรรยาย​
เรียบเรียงจาก Cosmos: A Spacetime Odyssey: Standing Up in the Milky Way
(ข้อมูล​ได้รับการอัปเดต​ให้แล้ว)​
โฆษณา