3 มิ.ย. 2021 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
วางแผนธุรกิจ ด้วยการเขียน Bullet Journal
วิธีการวางแผนธุรกิจนั้นมีมากมายหลายแบบ หลายเครื่องมือ
บางคนอาจเลือกทำเป็น Business Model Canvas ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการเขียนแผนธุรกิจ
ที่ได้รับความนิยม เพราะทำให้เราเห็นถึงภาพรวมของธุรกิจได้อย่างดี
แต่ในวันนี้ THE BRIEFCASE จะมาแนะนำอีกหนึ่งแนวทาง
ที่จะช่วยให้การวางแผนธุรกิจของเราเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น
นั่นคือการเขียน Bullet Journal ซึ่งเป็นรูปแบบการจดบันทึกรูปแบบหนึ่ง ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้
ที่น่าสนใจคือ การจดบันทึกรูปแบบนี้ ไม่เพียงแค่เหมาะเฉพาะกับผู้ที่จะวางแผนธุรกิจ
แต่ยังรวมถึงทุก ๆ คนที่ต้องการจะวางแผนการใช้ชีวิตของตัวเองเช่นกัน
การจด Bullet Journal หรือที่บางคนเรียกสั้น ๆ ว่า BuJo นั้น
คือรูปแบบการจดบันทึกที่ผู้จดต้อง ทบทวนอดีต จัดการกับปัจจุบัน และวางแผนสำหรับอนาคต
ซึ่งแตกต่างกับการจดบันทึกรูปแบบอื่น ที่ทำเพียงแค่จดสิ่งที่จะทำในปัจจุบันเท่านั้น
โดยการจด Bullet Journal นั้นเราจะต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละการกระทำ
เมื่อจบวันแล้ว จึงย้อนกลับมาดูว่า สิ่งที่เราทำในแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรสำเร็จ หรือไม่สำเร็จอย่างไร
เพื่อให้ในวันถัดไปเราจะสามารถทำงานได้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น
และช่วยให้เราไม่เสียเวลามานั่งคิดย้อนหลัง ว่าในวันนี้เราทำอะไรไปแล้วบ้าง
1
สำหรับหลักในการจด Bullet Journal จะแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบใหญ่ คือ
การจดที่กระชับ เข้าใจง่าย (Rapid Logging) และโครงสร้างการบันทึก (Module)
1. การจดแบบ Rapid Logging
โดยในหนึ่งหน้ากระดาษ จะประกอบไปด้วย
- “ชื่อหัวข้อ” เป็นชื่อของกิจกรรมที่เราต้องการจะทำ เพื่อให้ง่ายต่อการบันทึก และจัดหมวดหมู่
- “เลขหน้า” เป็นส่วนที่จะช่วยให้ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลในภายหลัง
- “Bullet” เป็นส่วนที่แสดงถึงสิ่งที่เราจะทำ โดยการจดแบบ Bullet ที่ดี คือการจดเป็นข้อสั้น ๆ ด้วยประโยคที่เข้าใจง่าย ช่วยให้เราสามารถจดจำการกระทำเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ในการจดแต่ละ Bullet นั้น ยังมีการกำหนดสัญลักษณ์เอาไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และแยกแยะสถานะของแต่ละกิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่ เช่น
• แทน สิ่งที่เราจะต้องทำ
X แทน งานที่ทำเสร็จแล้ว โดยปกติจะกาทับเครื่องหมาย “•”
> แทน งานที่ไม่เสร็จแล้วต้องย้ายไปวันอื่น
< แทน งานมีกำหนดการ
– แทน การจดบันทึกทั่วไป
o แทน Event หรือกิจกรรมที่ต้องทำ
1
นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายอื่น ๆ ที่เราสามารถเติมเพื่อบอกจุดประสงค์ของ Bullet นั้น ๆ เช่น
การเติม * นำหน้า Bullet ที่เรารู้สึกว่าเป็นงานที่สำคัญ
แต่ถ้าหากทุกงานที่เราจดนั้นมีความสำคัญเท่ากันหมด ก็ไม่จำเป็นต้องใส่
หรือการเติม ! นำหน้า Bullet ที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สัญลักษณ์ตรงนี้เราก็สามารถคิดขึ้นมาเองได้เช่นกัน
2. โครงสร้างการบันทึก (Module)
เมื่อเรารู้แล้วว่าแต่ละ Bullet ต้องจดด้วยสัญลักษณ์แบบไหน
จากนั้นจึงแบ่ง Module หรือแบ่งโครงสร้างสมุดบันทึกออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ
ได้แก่ ส่วน Index, ส่วน Future Log, ส่วน Monthly Log และส่วน Daily Log
- Index เปรียบเสมือน “สารบัญ” ที่บอกว่าอะไรอยู่ที่หน้าไหนของสมุดบันทึก
- Future Log นั้นจะเป็นการจดภาพรวมรายปี ว่าในแต่ละเดือนเรามีแผนอะไรบ้าง
- Monthly Log คือส่วนที่ลงรายละเอียดว่า ในเดือนนี้เราต้องทำอะไรบ้าง หรือจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
- Daily Log จะเป็นการลงรายละเอียดสิ่งที่จะต้องทำในแต่ละวัน
นอกจากนั้นเรายังสามารถเพิ่ม Log พิเศษแยกต่างหาก
เพื่อใช้สำหรับวางแผน หรือติดตามพฤติกรรมของตัวเอง
เช่น การวางแผนสำหรับวันหยุด, โปรเจกต์พิเศษที่อยากทำ, รายการหนังสือที่อ่าน หรือแม้แต่แผนธุรกิจที่เรากำลังคิดอยู่ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
แล้วการจด Bullet Journal จะช่วยในการวางแผนธุรกิจได้อย่างไร ?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การจด Bullet Journal คือการจดที่เราต้องทบทวนอดีต
จัดการกับปัจจุบัน และวางแผนสำหรับอนาคต นั่นหมายความว่า
ในการทำธุรกิจเราก็ต้องมองเห็นภาพรวมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของธุรกิจ
ทำให้เรามองเห็นว่า อดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ที่จะทำให้ธุรกิจเราเติบโต
ปัจจุบันธุรกิจของเราเป็นอย่างไร กำลังดำเนินไปได้ตามที่เราคิดหรือไม่
และอนาคตที่เคยกำหนดไว้ เราจะสามารถเดินทางไปถึงได้หรือไม่
ทั้งนี้ การจด Bullet Journal เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความอดทนในการจดเป็นอย่างมาก
ไม่ต่างจากการทำธุรกิจที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทน จึงจะสามารถไปถึงเป้าหมายที่ฝันไว้ได้
และนี่ก็คือความน่าสนใจของการจดบันทึกแบบ Bullet Journal
ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ
ที่ช่วยให้เราทำงานสำเร็จ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้นได้..
โฆษณา