2 มิ.ย. 2021 เวลา 18:15 • ครอบครัว & เด็ก
“Being Brave”
อาจารย์ MIT เขียนในหนังสือเกี่ยวกับ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ไว้ว่า
มหาลัยชั้นนำของจีน Tsinghua University จะเลิกสอนให้นักเรียนเป็นเด็กมุ่งแต่ได้เกรด “ A ” แล้ว
และหันมาปลูกฝังให้เป็นคนแบบ “ X ” ที่กล้าคิด กล้าเสี่ยง กล้าลองทำสิ่งที่แตกต่างมากกว่า
เพราะคนที่ “กล้า” เช่นนี้ จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ใช่คนที่ทำตามแต่คำสั่ง
1
คนที่...
กล้าพูด กล้าฟัง
กล้าลอง กล้าล้ม
กล้ารู้ กล้าเป็น
...จะเป็นคนที่อยู่ในโลกอนาคตได้อย่างลงตัว
ธรรมชาติของเด็ก ๆ นั้น พร้อมเรียนรู้และสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรตัวยง กล้าคิดสิ่งใหม่ กล้าบอกความรู้สึก กล้าทดลองอะไรแปลก ๆ แต่เมื่อโตขึ้น คุณค่าทางสังคมที่เขาเจอ อาจจะทำให้ “ความกล้า” นั้นจางหายไป จะต้องมาหามันใหม่ ก็เมื่อเจอว่า โลกศตวรรษ 21 นี้ ต้องใช้นี่นา
เราจะช่วยให้เด็ก ๆ ยังคงความกล้าที่มีตั้งแต่เล็ก ใส่กระเป๋าไปจนโตได้อย่างไรกันนะ
1
เริ่มต้นด้วย “กล้าพูด กล้าฟัง”
ความหวัง : เราอยากให้เด็ก ๆ โตขึ้นเป็นคนที่ กล้าพูดสิ่งที่ตัวเองเชื่อ กล้ารับฟังความคิดที่แตกต่าง กล้าแสดงออก มีจุดยืน มีความคิดเป็นของตัวเอง
แต่อุปสรรคนึงที่น่าคิด : คือ “การไม่เถียงผู้ใหญ่”
เมื่อเด็ก ๆ ยิ่งโต ยิ่งมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น เริ่มใช้เหตุใช้ผลเป็น เขาจะเริ่ม “เถียง”
หากครอบครัวยึดติดว่าเป็นเด็กเป็นเล็ก ไม่ควรเถียงผู้ใหญ่อย่างเหนียวแน่นนั้น
สิ่งที่เรากำลังบอกเขาคือ “ความคิดของเขาไม่ดีพอที่จะมีคนรับฟัง”
แล้วเริ่มไงดี :
อันนี้เป็นเทคนิคนึงจากหนังสือ How to Talk So Kids Will Listen & Listen So Kids Will Talk :
ฟังเด็ก ๆ อย่างได้ยินจริง ๆ ว่าเขาพยายามจะพูดว่าอะไร ไม่ว่าความคิดของเขาจะเหมือนหรือต่างกับเรา ถูกหรือผิด มีตรรกะหรือไม่มีเหตุมีผล
สะท้อนสิ่งที่เราเข้าใจให้เขาฟัง เพื่อให้เด็ก ๆ รู้ว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูด
ถามความคิดเห็นและความรู้สึกเขา หากเป็นปัญหาที่เขาเจอ ก็สามารถถามว่าเขาคิดจะแก้ยังไง
ต่อมาด้วย “กล้าลอง กล้าล้ม”
2
ความหวัง : เราอยากให้เด็กๆกล้าลองผิดลองถูก กล้าเสี่ยง ไม่กลัวการตัดสินของคนอื่นจนเกินไป ไม่กลัวที่จะ fail เพราะเขามองมันเป็นการเรียนรู้ มีภูมิต้านทานทำให้ลุกขึ้นใหม่ได้เสมอ
แต่อุปสรรคนึงที่น่าคิด : คือการเป็น “คนเก่ง” ในแบบฉบับที่เห็นง่ายที่สุด
การตีกรอบ “ความเก่ง” ของเราทำให้เด็กๆ มองได้แคบลงหรือเปล่า
ถ้าเป้าหมายของเด็ก ๆ คือ การได้เกรด 4 สอบได้จุฬาธรรมศาสตร์ ติดหมอหรือเรียนสายวิทย์ เพราะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของสังคม หรือ เป็นสิ่งที่จะทำให้ครอบครัวภูมิใจเท่านั้น เขากล้าเดินออกนอกเส้นทางของคุณค่าที่สังคมปูไว้ให้ได้อย่างไร
แล้วเริ่มไงดี :
เวลาเราพูดกับเด็ก ๆ หรือสิ่งที่เราชม เราให้ความสำคัญกับการทดลองหรือเปล่า เวลาเขา fail เราทำยังไง หรือ เราคอยเปรียบเทียบเขากับคนอื่น คุณค่าที่เราถืออยู่คืออะไร ควรแก่การเปลี่ยนไหม
เรามีความคาดหวังกับลูกที่จะต้องเรียนแบบนี้ หรือ เป็นแบบนั้น มากเกินไปหรือเปล่า ความหวังนั้นเกิดมาจากอะไร หากเด็ก ๆ มีทางที่ครอบครัวปูไว้ให้แล้วอย่างขยับไม่ได้ เขาจะไม่ได้ฝึกการกล้าลองและจะกลัวล้ม
งานวิจัยจากหนังสือชื่อว่า Range แนะนำว่าเราไม่จำเป็นต้องให้ลูกเก่งแค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่การได้เปิดประสบการณ์ที่หลากหลาย มีความสนใจที่อาจจะดูสะเปะสะปะ มีส่วนอย่างมากในการเป็นคนที่คิดแบบ interdisciplinary เพราะฉนั้น เราควรให้พื้นที่ทดลองความชอบความถนัดและสิ่งที่เขาสนใจเท่าที่เราทำได้
และปิดท้ายด้วย “กล้ารู้ กล้าเป็น”
ความหวัง : เราอยากให้เด็กๆกล้าเป็นผู้ที่ไม่รู้เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ไม่ถือว่าตนรู้ทุกอย่าง กล้าถาม รู้จักและเข้าใจตัวเอง กล้าที่จะแตกต่างในแบบของตัวเอง
อุปสรรคนึงที่น่าคิด :คือ “การเป็นที่รักของทุกคน”
การเป็นที่รัก ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเห็นด้วยกับทุกคน อ้อล้อทุกคน และต้องระวังความคิดของตัวเองตลอดเวลา แต่ ควรสอนให้ยอมรับว่า คุณค่าของตัวเองไม่ได้อยู่ที่ความคิดหรือความรู้สึกที่คนอื่นมีต่อเรา แต่มันอยู่ที่ตัวเราเองทั้งนั้น
แล้วเริ่มไงดี :
เราโอเคที่จะเรียนรู้ไปพร้อมลูกไหม เราไม่ได้รู้ทุกอย่าง แต่หากเราแสดงให้เขาเห็นว่าผู้ใหญ่ก็พร้อมจะเรียนรู้ เราจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเขา
เราโอเคกับความแตกต่างไหม ถ้าลูกจะไม่ “เหมือนคนอื่น” เรารับได้หรือเปล่า หากเขารู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ยอมรับเขา ในรูปแบบที่เขาอยากจะเป็น หรือ สิ่งที่เป็นธรรมชาติของเขา เด็ก ๆ ก็อาจจะไม่ได้อยากหรือกล้าแสดงออกลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นตัวของเขาเอง
หนังสือชื่อว่า The Courage to be Disliked มีประโยคหนึ่งที่เขียนว่า “Freedom is being disliked by other people.” เป็นสิ่งที่รู้สึกว่าทำยากมาก แต่ดูเป็นเป้าหมายที่ดีที่จะทดลอง
คิดไปเขียนไป ก็รู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้เราผู้ใหญ่เองยังทำได้ไม่เต็มที่เลย
แล้วทำไมเราถึงจะอยากให้เด็ก ๆ ทำได้ทันที
หรือพวกเรานี่แหละ ที่จะเป็น “จุดเริ่มต้น” ความกล้าหาญ ให้กับลูกๆ นั่นเอง
1
นิญตา ลิ้มปิติ (ครูพลับ)
Harvard Graduate School of Education
Technology, Innovation and Education
Refs:
Lifelong Kindergarten by Mitch Resnick
Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World by David Epstein
How to Talk So Kids Will Listen & Listen So Kids Will Talk by Adele Faber and Elaine Mazlish
Courage to be Disliked by Fumitake Koga and Ichiro Kishimi
โฆษณา