3 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
Not invented here syndrome (NIH)
ชนะใจบริษัทใหญ่...ยังไงดี??
เพื่อนๆ สตาร์ทอัพ ที่เคยนำเสนอไอเดียสตาร์ทอัพของตัวเอง กับหน่วยงานในบริษัทขนาดใหญ่ คงเคยเจอสภาวะหนึ่งที่เรียกว่า Not invented here syndrome (NIH) หรือการปฏิเสธ ไม่ยอมรับความเห็นจากคนนอกบริษัท
บ่อยครั้งการพูดคุยกัน เป็นไปในทางเพื่อหา “ตำหนิ” หรือ “จุดอ่อน” ของไอเดีย นั้นๆ มากกว่าที่ จะนำจุดแข็ง มาเพื่อยกระดับ การทำงานของบริษัท
ซึ่งหากเราเจอเหตุการณ์เช่นนี้ เราจะเอาชนะใจบริษัทใหญ่ ได้ยังไงดี??
จริงๆ แล้ว Not invented here syndrome (NIH) เป็นเหมือนสิ่งที่ถูกโปรแกรมในสมองคนเรา มานานแล้ว หากจะยกตัวอย่างกรณีศึกษา ก็ต้องเล่าเหตุการณ์ช่วงปลาย คริสต์ศตวรรษที่ 19...
ยุคนั้น การทำสงครามระหว่างกัน ยังใช้เรือรบเป็นหลัก โดยที่เทคโนโลยีในยุคนั้นก็คือ การยิงปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเรือ เพื่อทำลายเรือ หรือป้อมของฝ่ายตรงข้าม
โดยทางสหรัฐอเมริกาเอง ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำ สามารถทำสงครามชนะกองเรือรบของสเปนได้ ครองความยิ่งใหญ่ในทะเลแคริเบียน
แต่เชื่อหรือไม่ว่า...ความแม่นยำในการยิงปืนใหญ่ของเรือรบ ของสหรัฐฯนั้น อยู่ที่ 3% เท่านั้น!! (ยิงไปปืนใหญ่ 100 ลูก จมน้ำไป 97 ลูก ที่เหลือ 3 ลูก ก็โดนกาบเรือบ้าง แล้วก็โดนเป้าหมายบ้าง)
สาเหตุสำคัญก็คือ เรือไม่ได้จอดนิ่งๆ เหมือนอยู่บนบก แต่ในท้องทะเล ที่เต็มไปด้วยคลื่นลม และการเคลื่อนไหวของเรือศัตรู ทำให้การเล็งเป้าของพลปืนใหญ่ เป็นไปได้ยาก
ข้ามไปที่ ฝั่งทะเลจีนใต้ นายพลเพอร์ซี่ สก็อต แห่งราชนาวีของสหราชอาณาจักร เล็งเห็นถึงปัญหาความแม่นยำของปืนใหญ่ จึงพยายามปรับปรุงแก้ไข
สก็อต สั่งให้กองเรือรบของเขา ฝึกซ้อมยิงปืนอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรกก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในที่สุดก็มาพบว่า เรือลำหนึ่งในกองเรือ สามารถ ยิ่งเข้าเป้าได้อย่างแม่นยำเป็นพิเศษ เหนือกว่าคนอื่นๆ มาก
เคล็ดลับความสำเร็จก็คือ พลปืนใหญ่ในเรือลำนั้น ได้มีการปรับมุมยิงเพื่อชดเชยการเคลื่อนไหวของเรือจาก “คลื่น” ในทะเล
เมื่อได้เห็นดังนั้น ทางนายพลสก็อต ก็เลยสั่งให้ปรับอัตราทดเกียร์ เพื่อให้พลปืนใหญ่ปรับองศาชดเชยคลื่นในทะเลได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการผสมผสานกับการใช้ กล้องส่องทางไกล และติดตั้งศูนย์เล็งเล็กๆ เอาไว้ ให้เล็งเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
ผลจากนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้ความแม่นยำในการยิงปืนใหญ่เพิ่มขึ้น ถึง 30 เท่า ในช่วงระยะเวลาเพียง 6 ปี เทคนิดดังกล่าวถูกเรียกว่า “continuous-aim firing”
1
เรื่องที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์นี้ ก็คือ วิลเลี่ยม ซิม นายทหารชั้นผู้น้อย ของสหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสพบและเรียนรู้เทคนิคการยิงปืนใหญ่ กับทาง นายพลสก็อต
หลังการฝึกฝนเป็นเวลาไม่กี่เดือน วิลเลี่ยม ซิม รู้สึกทึ่ง ในประสิทธิภาพในการยิงปืนใหญ่ ที่เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัว เขาจึงได้ส่งรายงานหลายฉบับไปหาผู้บังคับบัญชา ที่กรุงวอชิงตัน โดยเสนอให้ นำเทคโนโลยีนี้มาขยายผลในกองทัพเรือสหรัฐฯ
แต่ผลที่ได้ก็คือ...ความเงียบ
วิลเลี่ยม ซิม รู้สึกหงุดหงิดมาก ที่พบแต่ความเงียบ
เขาก็เลยเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยการส่งรายงานไปที่หน่วยงานอื่นๆ ในกองทัพเรือสหรัฐฯ ด้วย จนในที่สุด ผู้บังคับบัญชาที่กรุงวอชิงตัน ก็ตอบกลับมา (สักที) ว่า...
หนึ่ง ปืนใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ดีอยู่แล้ว น่าจะดีพอๆกับของสหราชอาณาจักรนั่นแหล่ะ ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
สอง เรื่องที่ยิงไม่แม่น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปืน แต่น่าจะอยู่ที่การฝึกฝนมากกว่า (คือ พลทหารที่ยิงปืน ยิงไม่เก่งเองมากกว่า)
และสาม จากเหตุผลสองข้อแรก ข้อมูลในรายงานของ วิลเลี่ยม ซิม น่าจะผิดพลาด และ “continuous-aim firing” มันเป็นไปไม่ได้
วิลเลี่ยม ซิม เป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขาได้ส่งรายงานไปอีกอย่างต่อเนื่อง จนผู้บังคับบัญชา เริ่มตั้งข้อสงสัยในความจงรักภักดีของเขาต่อสหรัฐฯ
เขาเลยตัดสินใจ แจ้งเบาะแส แบบ whistleblower ตรงไปที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งก็คือ ธีโอดอร์ รูสเวลท์ บอกเล่าถึงประสิทธิภาพของนวัตกรรมแบบใหม่นี้
ผลลัพธ์ที่ได้เกินความคาดหมายโดย ประธานาธิบดีรูสเวลท์ ได้สั่งให้ วิลเลี่ยม ซิม กลับมาที่สหรัฐฯ และให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ จนในในที่สุดเขาก็สามารถขยายผลเทคโนโลยี “continuous-aim firing” ไปทั่วทั้งกองเรือรบสหรัฐฯ
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ คนส่วนใหญ่ก็มักจะปกป้องความคิดของตัวเอง พยายามพิสูจน์ว่าไอเดียที่คนอื่นเสนอมา เป็นไปไม่ได้แน่ๆ
อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ หรือ ไอเดียที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่มันประเมินได้ยากว่าจะส่งผลกระทบยังไง คนเรา ก็เลยเลือกที่จะทำเหมือนเดิมดีกว่า
และจะยิ่งยากมาก หากหน่วยงานนั้นๆ ไม่ได้มีความ “จำเป็น” ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีระบบระเบียบชัดเจน ทำแบบเดิมมานาน แล้วก็ดูเหมือนทุกอย่างจะ “สำเร็จ” ไม่ได้มีปัญหาใดๆ จะให้เปลี่ยนทำไม?
Not invented here syndrome (NIH) หากแปลตรงตัว ก็คือ ไอเดียนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นโดยทีมเรา ดังนั้น มันคงใช้การไม่ได้แน่ๆ
แต่ก็ด้วยความดื้อรั้น ความเชื่อมั่น ของ วิลเลี่ยม ซิม ที่พยายามที่จะนำเสนอสิ่งดีๆ ให้หน่วยงานของตัวเอง ถึงแม้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงจะไม่เห็นด้วย แต่วิลเลี่ยม ซิม ก็ยังพยายาม วิ่งไปทุกทาง จนในที่สุดก็ไปถึงคนที่มีอำนาจ สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ต้องบอกว่า ในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ก็เริ่มเปิดรับสิ่งใหม่ๆ กันมากขึ้น ในแง่โครงสร้างขององค์กร ก็มีหลายบริษัทที่มีหน่วยงานดูแลด้าน Open innovation หรือนวัตกรรมแบบเปิด โดยเฉพาะ
เพื่อนๆ เหล่า สตาร์ทอัพ หากอยากไปนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้องค์กร ขนาดใหญ่ ก็ลองหาช่องทางติดต่อ หน่วยงาน Open Innovation อาจเป็นทางเลือก ที่ดี
หรือหากมีสายสัมพันธ์ที่ดี เข้าถึงผู้นำระดับสูงของบริษัทนั้นๆ ได้ก็ยิ่งดีเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม นั่นก็คือ “Product” ที่เรานำเสนอนั้น ตอบโจทย์คนหน้างาน อย่างแท้จริง
และที่สำคัญคือ ความไม่ยอมแพ้ คือถึงแม้จะโดนล้ม (ไอเดีย) ไปกี่ครั้ง เราก็ยังมุ่งมั่น ที่จะทำตามความเชื่อให้ได้ เหมือนเช่นที่ วิลเลี่ยม ซิม ไม่เคยคิดที่จะยอมแพ้...
Cr. Time Magazine
(หลังจากการขยายผลเทคโนโลยีการเล็งปืนใหญ่ดังกล่าว วิลเลี่ยม ซิม ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จนได้รับจนถึงระดับพลเรือเอก และมีบทบาทสำคัญในการร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และยังได้รับรางวัล Pulitzer สาขาประวัติศาสตร์ จากหนังสือ The Victory at Sea ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์ ในช่วงสงครามโลกดังกล่าว)
หากเพื่อนๆ อยากปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจ หรือสตาร์ทอัพ ทักมาได้ใน Inbox เลย
และกดติดตาม Add Favorites เพจ "The Sandbox ล้มไม่น็อค ช็อคไม่ตาย" กันเอาไว้ได้เลย เพื่อไม่ให้พลาดเรื่องราวดีๆ
#TheSandboxTH
#NotInventedHere
โฆษณา