3 มิ.ย. 2021 เวลา 11:35 • ประวัติศาสตร์
รู้ยัง สมองซีกซ้าย ละม้ายกับซีกขวาไหม❓❓❓
ภาพจาก https://www.verywellmind.com/left-brain-vs-right-brain-2795005#persisting-myths
“หนึ่งสมองสองมือ” มักเป็นคำพูดที่เป็น cliché (สำนวนที่ใช้กันบ่อย ๆ หรือใช้จนเฝือ) แต่จริง ๆ แล้วเราท่านรู้กันดีว่าหนึ่งสมองนั้นแบ่งได้อีกเป็นสองซีก คือ ซีกขวา และซีกซ้าย สมองซีกซ้ายจะคุมด้านขวาทั้งหมดของมนุษย์ เป็นเรื่องของภาษา มีบริเวณที่เป็นสมองส่วนหน้าค่อนไปทางข้าง เรียก “สมองของโบรคา” (Broca’s brain) คุมการใช้ภาษาทั้งหมด สมองส่วนนี้รู้จักกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยในปี 1861 (พ.ศ. 2404 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐระเบิด โดยพรรคริพับลิกันชนะเลือกตั้ง อับบราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดี ในปี 1860 (ประมาณ 160 ปีที่แล้ว) ประกาศการเลิกทาสในสหรัฐ) ที่กรุงปารีส นายแพทย์ ปิแอร์ พอล โบรคา (Pierre Paul Broca) ได้ผ่าตัดสมองของคนไข้ชื่อ “Tan” และค้นพบว่าบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากโรคซิฟิลิสอยู่ตรงบริเวณสมองซีกซ้าย ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นศูนย์ควบคุมการประดิษฐ์ภาษาและตัวอักษร เพราะคนไข้ไม่สามารถพูดได้เลย
ภาพจาก https://pin.it/3WbEciX
ยังมีอีกที่หนึ่งบนสมองซีกซ้ายที่ค่อนไปด้านข้างช่วงหลัง เรียกว่า เวอร์นิเก (Wernicke) ซึ่งควบคุมความเข้าใจของภาษาพูด และภาษาเขียน สำหรับผู้ที่เป็น stroke หากสมองส่วนนั้นถูกทำลาย คนไข้ยังสามารถเข้าใจภาษาได้ แต่เพียงว่าความจำของศัพท์ต่าง ๆ และไวยากรณ์อาจถูกทำลายไปด้วย ทำให้เข้าใจแต่พูดไม่ได้ หรือ อาจถูกทำลายจนไม่เข้าใจภาษาเขียน และอาจพูดไม่คล่องหรือนึกไม่ออก พูดไม่ถูกหลักไวยากรณ์ หรือพูดเป็นคำ ๆ เรียกว่า non-fluent aphasia บางคนพูดคล่อง และเข้าใจภาษา ฟังออก แต่พูดเป็นประโยคสับสนและในที่สุดพูดไม่ได้ศัพท์ ทั้งที่ตนเองเข้าใจและพยายามพูดรัว ๆ หรือพูดมั่ว ๆ แต่เป็นคำพูดที่ไม่เป็นภาษา ทำให้คู่สนทนาเองก็ไม่เข้าใจ เราเรียกว่า fluent aphasia และบางครั้งคนไข้ก็ฟังคู่สนทนาไม่เข้าใจเพราะส่วนสมองที่รับสัญญาณที่หูถูกทำลาย หรือสามารถมองเห็นภาพเพียงครึ่งท่อน เพราะ stroke ทำลายประสาทตาด้าน occipital lobe อันเป็นส่วนสมองด้านหลัง เป็นต้น ผู้ค้นพบบริเวณนี้คือ นายแพทย์ คาร์ล เวอร์นิเก (Carl Wernicke) อายุเพียง 26 ปี เป็นชาวเยอรมัน เขาค้นพบสมองบริเวณนี้ในปี 1874 ประมาณ 13 ปีหลังจากที่โบรคาค้นพบ Broca’s brain ที่ฝรั่งเศสในปี 1861
ภาพจาก https://images.app.goo.gl/a79MLsJhTWHowduD6
จนกระทั่งอีก 100 ปีต่อมา ได้มีการค้นพบหน้าที่ของสมองซีกขวา โดยในปี 1981 โรเจอร์ สเพอร์รี (Roger W. Sperry) ได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นคว้าการรักษาโรคลมบ้าหมูที่ประจุไฟฟ้าในสมองจะวิ่งจากสมองซีกหนึ่งไปอีกซีกหนึ่ง (ค้นคว้าสำเร็จในช่วงปี 1961 ) และค้นพบว่าสมองด้านขวาควบคุมจินตภาพหรือจินตนาการ หรือการมองเห็นแบบจิตรกร ควบคุมอารมณ์อ่อนไหววูบวาบ ความมีไหวพริบปฏิภาณ และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนศิลปะและดนตรี การจดจำรูปร่างหน้าตารูปแบบและรูปลักษณ์ต่าง ๆ ตลอดจนความคิดแบบองค์รวม (holistic)
จะเห็นว่าหน้าที่ของสมองทั้งสองซีกไม่ได้แบ่งกันเด็ดขาด แต่จะมีการทับซ้อนกันทั้งสองซีกเพราะสมองซีกซ้ายจะคิดเป็นคำพูด มีศัพท์บัญญัติที่เป็นตัวอักษร เป็นภาษาวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ หรือภาษาสัญลักษณ์ ตรรกกะ และ คณิตศาสตร์ ความคิดเป็นเหตุเป็นผล มีการใช้ภาษารัดกุมชัดเจน วางแผนค่อนข้างรอบคอบระมัดระวัง หัวสมัยเก่าคิดแล้วคิดอีก micromanagement คุมความเป็นระเบียบถูกต้องของการใช้ภาษา อ่านหนังสือเป็นตั้ง ๆ ทำทุกอย่างเป็นคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องมือการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น Operation Research และ Scientific Management ของ เฟรเดอริค วินสโลว์ เทย์เลอร์ (Frederick Winslow Taylor) ซึ่งเป็นสมองของคนในเจ็นเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ ( Baby Boomers Generation) และเจ็นเนอเรชั่น X (X Generation)
ส่วนสมองซีกขวาจะคิดเป็นรูปภาพ จินตนาการ และความสร้างสรรค์ เจ้าบทเจ้ากลอน เป็นกวีนิพนธ์ แต่งนวนิยายอารมณ์หวานแหวว วาดการ์ตูนพวก infographics animation หรือสื่อความหมายสั้น ๆ ด้วยภาพมากกว่าด้วยตัวอักษร ไม่สื่อด้วยการเขียนยาว ๆ มักใช้สัญลักษณ์ เช่น อีโมจิเป็นการสื่อความหมายแทนการเขียน ดังนั้นถ้าไปสำรวจร้านหนังสือจะพบว่าหนังสือชั่งกิโลขาย เป็นสมองของคนเจนเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ และ X ส่วนรูปเยอะ ๆ มักเป็นของคนเจนเนอเรชั่น Y
ความแตกต่างด้านภาษาของสมองสองซีก พบได้ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นต้องเรียนทั้งตัวอักษร Kana และ Kanji เป็นตัวอักษรภาษาจีน ซึ่งจะเริ่มเรียนหลังเกรดหนึ่ง ส่วน Kana เป็นตัวอักษรหวัด มักถูกสอนก่อนประมาณ 3,000 ตัวก็จะสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้
ดูเหมือนว่าต้องใช้สมองทั้งสองซีกเพื่อประมวลภาษา เพราะฉะนั้นคำถามคือ การพูด เขียน อ่าน ฟัง เข้าใจ ต้องใช้สมองทั้งสองซีกไหม? จากการทดลองพบว่าถ้าตัดบริเวณ โบรคา หรือ เวอร์นิเก ที่อยู่ด้านซ้าย จะมีผลอย่างรุนแรงต่อ การอ่าน เขียนและเข้าใจตัวอักษร Kana แต่ไม่มีผลต่อ ตัวอักษร Kanji จึงพออนุมานได้ว่า Kanji จะอาศัยในสมองซีกขวา ซึ่งเป็นภาพการ์ตูน หรือความคิด (Ideogram) ส่วน Kana จะมีความเป็นภาษามากกว่าในแง่ของการยึดเหนี่ยวเข้ากับเสียงของภาษาและอาศัยอยู่ที่สมองซีกซ้าย ซึ่งถ้าถูกตัดออกจะกระทบต่อการใช้ภาษาอย่างรุนแรง ดังนั้นภาษาโดยองค์รวม จึงถูกประมวลด้วยสมองทั้งสองซีก
1
ภาพจาก https://historyandarchaeologyonline.com/ugarit-and-the-origins-of-alphabet/ และ https://images.app.goo.gl/ppLyf2cu8uYpKsko7
มีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าวิวัฒนาการของภาษาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองทั้งสองซีก ตัวอักษร “เฮียโรกริฟฟิก” (Hieroglyphics) ของอียิปต์เป็นตัวอักษรรูป (Pictograph) และชาวอียิปต์โบราณใช้สมองซีกขวาในการประมวลรูปภาพและส่งไปที่สมองซีกซ้ายเพื่อให้แปลความหมายให้เข้าใจ ต่อมาภาษารูปได้วิวัฒนาการเป็นภาษาความคิด หรือ Ideogram หรือ idea เช่น ภาษาจีน และอาศัยอยู่ที่สมองซีกขวาก่อนที่จะพัฒนาต่อไปเป็น alphabet หรือตัวพยัญชนะซึ่งมากลายเป็นเสียง หรือ phoneme เมื่อประมาณ 1,800-1,500 ก.ค.ศ. ที่เมือง ยูการิต (Ugarit) ในซีเรีย คือ อักษรยูการิติก (ระบบการเขียนที่ใช้บนชายฝั่งซีเรียตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ก่อนคริสตกาล เชื่อกันว่าถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยไม่ขึ้นกับระบบการเขียนรูปคูนิฟอร์มอื่น ๆ) เป็นคูนิฟอร์มที่อาศัยในสมองซ้าย ดังนั้นสมองซีกซ้ายจะเป็นที่รวมของ phonemes ของภาษา แปลจากตัวอักษรที่อาศัยในสมองซีกขวาเป็นเสียงที่ทำให้เข้าใจภาษาถ้าตัดสมองซ้าย ถึงจะเห็นตัวอักษรในสมองขวาแต่จะประมวลเป็นภาษา คือ พูดและเข้าใจไม่ได้ในสมองซ้าย
คำถามเกี่ยวกับสมองสองซีกมีมากมาย:
1. การถนัดซ้าย ถนัดขวาหรือถนัดทั้งสองมือเกี่ยวข้องและอธิบายด้วยสมองซีกใดซีกหนึ่งหรือไม่ อย่างใด
2. การที่คนถนัดซ้าย แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะมากกว่าคนถนัดขวาหรือไม่
3. สมองส่วนขวาเป็นสมองอัจฉริยะที่มีความลี้ลับและเป็นศูนย์แห่งจินตนาการ ความฝัน จิตใต้สำนึก การสะกดจิต สมาธิจิต สติและผู้รู้ตัวตนอัตตา อิด (Id) และ อีโก้ (Ego) แบบซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) หรือการทดลองด้วยความคิดแบบไอน์สไตน์ (Thought Experiments) ที่ใช้จินตนาการสุดขั้วในสมองซีกขวาหรือไม่
4. คนที่ติดอ่าง เป็นอย่างที่ทั้งนักจิตวิทยาตะวันตกและตะวันออกเชื่อกันว่าเป็นผลมาจากการบังคับให้คนถนัดซ้ายมาเขียนหนังสือด้วยมือขวาหรือไม่
5. คนที่เป็นออทิสติกเป็นผลมาจากการกระทบกระเทือนทางจิต ของสมองซีกใด...
ปัจจุบันมีสมองซีกที่สามที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วไม่หยุดยั้งด้วยความสามารถของสมองซีกซ้ายของมนุษย์ที่เป็นนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนักคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสมอง “ดิจิทัล” ของมนุษย์เราที่เพิ่งถูกค้นพบในปลายศตวรรษที่แล้วและต้นศตวรรษนี้ ความเร็วของควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ที่ส่งประมวลผลสัญญาณ ไบนารี่ 0-1 พร้อม ๆ กัน จะเร่งความเร็วผ่าน “Digital Transformation” และ “Disruptive Economy and Technology” เข้าสู่ Superminds Superlearning และ Superthinking ของเครือข่ายสมองกลที่สาม ซึ่งเราอาจจะได้เห็นก่อนปี 2030-2050 นี้ คำถามที่ว่าจะเกิดสงครามระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์และเครื่องจักรหรือไม่อาจตอบด้วยคำถามต่อไปที่ว่ามนุษย์และเครื่องจักรตลอดจนหุ่นยนต์ที่มีความฉลาดเท่ากับหรือมากกว่ามนุษย์ จะสร้าง Singularity ใหม่ในจักรวาล “Superminds” ได้อย่างไร...คำถามนี้ต้องตอบว่า ไม่ใช่เป็นเรื่อง “IF” เสียแล้ว แต่เป็นเรื่อง “WHEN”
ขอจบด้วยข้อความจาก รพ.ตากสินที่ว่า
“สมองของเราก็เหมือนเครื่องจักรดี ๆ เครื่องหนึ่งที่ต้องการการเอาใจใส่เพื่อที่จะได้ทำงานอย่างดีและถึงที่สุดแล้วนักวิทยาศาสตร์ก็ทราบดีว่าไม่มีใครหรอกที่จะช่วยพัฒนาและรักษาสมองของคุณได้เท่าตัวคุณเอง”
สุดท้ายนี้ก็อยากให้ทุกคนไม่ลืมที่จะพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ให้กับสมองของเราอยู่เสมอด้วยการติดตามอ่านบทความดี ๆ จากเพจ Rishi‘s Secrets กันเยอะ ๆ นะครับ ขอขอบคุณทุกคนที่ติดตามและคอยเป็นกำลังใจให้กันครับ
โฆษณา