4 มิ.ย. 2021 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Stock investment Ep. 5
=> การวิเคราะห์การลงทุนในหุ้น โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน
=> การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) คืออะไร
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์นั้นๆ โดยมีปัจจัยที่เราควรวิเคราะห์ดังนี้ การวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ , การวิเคราะห์ปัจจัยทางอุตสาหกรรม และการวิเคราะห์ปัจจัยทางบริษัท จากปัจจัยทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดว่ามันคือการวิเคราะห์ภาพรวมของสินทรัพย์ที่เราจะลงทุนนั่นเอง
 
=> ทำไมเราถึงต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ???
การที่เราจะเป็นนักลงทุนเราควรศึกษาและเข้าใจธุรกิจหรือสินทรัพย์ที่เราจะลงทุนให้ชัดเจน ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ โดยแต่ละการวิเคราะห์จะสามารถตอบคำถามในสิ่งที่เราอยากรู้และบอกในสิ่งที่เราควรจะรู้ เช่น บริษัทที่เราจะลงทุนทำธุรกิจอะไร , รายได้และผลกำไรของบริษัทเป็นอย่างไร , ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ , นโยบายใหม่ของรัฐบาลสร้างผลดีหรือผลงบแค่บริษัทของเรา เป็นต้น
 
=> 3 ปัจจัยที่เราควรจะวิเคราะห์
1) การวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เป็นการวิเคราะห์และพยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ทั้งแนวโน้มในระยะสั้นและระยะยาว เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก นโยบายต่างๆของรัฐบาล พฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการวิเคราะห์วัฏจักรเศรษฐกิจ เช่น ตลาดเกิดใหม่ที่ประเทศเวียดนาม , การเติบโตของ GDP ในประเทศเกาหลีใต้ , อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในประเทศเวเนซุเอลา แนวโน้มการเติบโตของประชากรผู้สูงอายุในไทยส่งผลให้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยสูงอายุมากขึ้น เป็นต้น
2) การวิเคราะห์อุตสาหกรรม เป็นการวิเคราะห์การแข่งขันในอุตสาหกรรมว่ามีการแข่งขันมากน้อยขนาดไหน แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร จะมีสินค้าทดแทนในเร็ววันนี้หรือไม่ มีความสามารถในการต่อรองกับลูกค้ามากน้อยขนาดไหน เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มีความสามารถในการต่อรองราคากับลูกค้าต่ำ เนื่องจากซื้อสินค้าจากบริษัทไหนก็เหมือนกัน เป็นต้น
3) การวิเคราะห์บริษัท โดยจะแบ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เช่นลักษณะการดำเนินงานของธุรกิจ ทำธุรกิจอะไรอย่างไรที่ไหน ผู้บริหารเป็นใคร ซื่อสัตย์หรือไม่ ขนาดของบริษัทใหญ่ขนาดไหน แผนงานในอนาคตเป็นอย่างไร เป็นต้น การวิเคราะห์เชิงปริมาณ เช่น ผลการดำเนินเป็นอย่างไร รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรเป็นเท่าไหร่ เป็นต้น
รูปแบบการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานสามารถแบ่งได้ 2 วิธี
1) วิเคราะห์แบบบนลงล่าง (Top-Down) เป็นวิธีการวิเคราะห์โดยมองจากภาพใหญ่ที่สุดลงมาที่ภาพเล็ก (ตัวหุ้น) หรือการวิเคราะห์การลงทุนโดย พิจารณาจากเศรษฐกิจโดยรวมก่อน
ตัวอย่างการวิเคราะห์จากบนลงล่าง => พี่ดอย วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานโดยใช้วิธีการแบบบนลงล่าง(Top-Down) โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ภูมิภาคและการเติบโตของ GDP ในแต่ละประเทศ พี่ดอยเลือกประเทศไทยเนื่องจากใกล้ตัวและเข้าใจง่าย ต่อมาได้ไปเจอข่าวว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว จึงทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโรงพยาบาล สุขภาพ และของเครื่องใช้ของผู้สูงอายุมีแนวโน้มการเติบโตเป็นขาขึ้น ขั้นตอนต่อมาคือค้นหารายชื่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าวและเริ่มวิเคราะห์บริษัททั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ
2) วิเคราะห์แบบล่างขึ้นบน (Down-Top) เป็นการวิเคราะห์จากหุ้นที่เราถูกใจหรืออาจจะเป็นหุ้นที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันหรือเคยได้ใช้บริการของบริษัทนี้แล้วเราถูกใจ โดยเราจะวิเคราะห์จากตัวบริษัทก่อน เสร็จแล้วจึงวิเคราะห์ภาพใหญ่อีกครั้ง
ตัวอย่างการวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน => วันหยุดวันหนึ่งน้องหมีได้ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้า แล้วไปเจอกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวหนึ่งที่มีคนต่อคิวซื้ออย่างล้นหลาม จึงซื้อมาลองใช้จนพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพ น้องหมีจึงลองไปหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ผลิตอาหารเสริมตัวนี้จนได้พบว่า บริษัทนี้มีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย น้องหมีจึงทำการวิเคราะห์บริษัท อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ จนพบว่าบริษัทนี้น่าสนใจที่จะลงทุน
สามารถ comment พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์
แลกเปลี่ยนความรู้กันได้นะครับ เผื่อผู้ที่เข้ามาอ่านจะได้ความรู้ใหม่ๆที่นำไปพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่เก่งขึ้นกว่าเมื่อวาน
โฆษณา