4 มิ.ย. 2021 เวลา 02:24 • ครอบครัว & เด็ก
EF พื้นฐาน 3 ด้านที่ควรเร่งฝึกให้ลูกก่อนเข้าเรียน
ในบทความที่แล้วทาง OT Mentor ได้ พาไปทำความรู้จักสมองส่วน EF กันไปแล้ว บทความนี้เราจะมาฝึกเด็ก ๆ ด้วย EF ขั้นพื้นฐานกัน พร้อมตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถฝึก EF ในกิจวัตรประจำวันได้ค่ะ
บทความ ทำความรู้จัก EF ทักษะสมองที่ส่งผลต่อความสำเร็จ https://www.facebook.com/107563871506743/posts/115549667374830/?d=n
มีงานวิจัยระบุว่า EF หรือ executive function ทักษะสมองในการบริหารจัดการชีวิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเอง ควรได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่ผู้ปกครองและครู ช่วงเวลาทองที่ควรเร่งส่งเสริมมากที่สุดในช่วง 3-6 ปี เนื่องจากในช่วงนี้ EF จะพัฒนาได้รวดเร็วมากกว่าช่วงอายุอื่น และเป็นพื้นฐานให้เด็ก มี EF ที่ดีขึ้นในช่วงวัยถัดไป การฝึก EF ตั้งแต่ยังเล็กจะเห็นผลดีมากกว่าการฝึกตอนโตหรือวัยรุ่น และท้ายที่สุด EF พัฒนาเต็มที่ที่อายุ 25 ปี
EF แท้จริงแล้วมีหลายด้าน แต่มี EF พื้นฐาน 3 ด้านที่ควรฝึกให้เด็ก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน ช่วยส่งเสริมให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น ลดปัญหาการเรียนของเด็ก เช่น ไม่ยอมไปโรงเรียน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ซนไม่นิ่ง ขี้เกียจเรียน ชวนเพื่อนคุย ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จะรบกวนการเรียนของเด็กเป็นอย่างมาก พ่อแม่จึงควรเปิดโอกาสการเลี้ยงดูที่สามารถช่วยส่งเสริม EF ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก
1. ความจำขณะใช้งาน (Working memory) คือ การจำข้อมูล ทำความเข้าใจ เปรียบเทียบ เชื่อมโยงและนำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยต้องอาศัยความใส่ใจจดจ่อ (Attention)
2. การยับยั้งตนเอง (Inhibitory control) คือ การคิดก่อนทำ ยังยั้งพฤติกรรมตามใจตนเพื่อทำในสิ่งที่สำคัญกว่า
3. ความคิดยืดหยุ่น (Cognitive flexibility) คือ การเปลี่ยนมุมมองความคิด การคิดนอกกรอบเพื่อการแก้ไขปัญหาไม่ยึดติดกับวิธีการแก้ไขแบบเดิม ๆ
โดยหลักการในการฝึก EF มีดังนี้
1. ตั้งเป้าหมายกิจกรรมให้ชัดเจน (Clear goal setting) : EF จะใช้งานได้ต้องมีเป้าหมาย โดยเป้าหมายจะนำมาซึ่งวิธีการ ดังนั้นพ่อแม่ควรให้คำอธิบายให้ชัดเจนกับเด็ก ว่าต้องการให้ทำอะไร เป้าหมายคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร
2. กิจกรรมสอดคล้องกับพัฒนาการปัจจุบันของเด็ก : การฝึก EF ควรล้อไปกับพัฒนาการของเด็กด้วย หากกิจกรรมยากเกินพัฒนาการของเด็ก เด็กก็จะไม่สามารถทำได้ จึงควรคำนึงถึงอายุด้วย
3. เน้นกิจกรรมใหม่ๆ สถานการณ์ใหม่ๆ : EF จะพัฒนาได้ดีเมื่อเป็นกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ต้องเกิดการเรียนรู้ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำได้อยู่แล้ว เช่น การฝึกปั่นจักยานครั้งแรกที่จะยากเสมอ แต่พอปั่นได้แล้วก็ไม่ท้าทายอีกต่อไป
4. จัดสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ให้เด็กได้เลือกและตัดสินใจ : การมีตัวเลือกทางเลือก เด็กจะได้ฝึกการคิดนอกกรอบ ได้ตัดสินใจด้วยตนเอง เช่น สนามเด็กเล่นหรือบ้านบอลที่มีเครื่องเล่นมากมายให้เลือก
5. ให้เด็กลงมือทำเอง : การลงมือทำเองเด็กจะได้ฝึกการแก้ไขปัญหาโดยการทดลองด้วยวิธีต่าง ๆ ตราบเท่าที่เด็กจะคิดได้เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย พ่อแม่ควรอดทนรอให้เด็กได้เรียนรู้ ไม่ควรรีบเร่งช่วยเหลือมากเกินไป
6. ผู้ใหญ่คอยกระตุ้น หรือชี้แนะให้เด็กรู้สึกสำเร็จ : เนื่องจาก EF ต้องใช้กิจกรรมใหม่ๆในการฝึกฝนบางขั้นตอนอาจยากเกินไปสำหรับเด็ก พ่อแม่สามารถช่วยชี้แนะ หรือทำให้ดูเพื่อให้เด็กรู้สึกถึงความสำเร็จหรือชัยชนะได้ เพื่อให้เด็กสนุกและอยากทำกิจกรรมต่อไป
7. ฝึกจากกิจวัตรประจำวัน : กิจวัตรประจำวันง่าย ๆ ที่เด็กควรทำได้เองอย่างเรียบร้อยก่อนถึงวัยเข้าเรียน โดยทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยทั้ง การจำลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ความอดทนพยายามที่จะแก้ไขปัญหาไม่อ่อนไหวต่อสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวนเพื่อให้งานเสร็จลุล่วง เช่น เด็กพยายามติดกระดุมด้วยตนเองตามที่แม่สอนก่อนไปโรงเรียน
8. หลีกเลี่ยงการลงโทษเด็กที่ทำให้เกิดความเครียด : เพราะความเครียดส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ดังนั้นกิจกรรมที่เด็กทำควรรู้สึกสนุกไม่เครียด ไม่กดดันจนเกินไป
9. ให้คำชมหรือรางวัลที่ความพยายามของเด็ก : เมื่อเด็กสามารถทำกิจกรรมได้ตามเป้าหมาย ผู้ปกครองควรมุ่งเน้นที่ความพยายามของเด็ก ไม่ควรมุ่งชมแค่ผลลัพธ์ เช่น วันนี้ลูกตั้งใจล้างจานได้ดีมาก เก่งมากค่ะ
เรียบเรียงโดย OT Mentor #ขอบคุณนะคะที่สอนหนู
#กิจกรรมบำบัด #พัฒนาการ #พฤติกรรมเด็ก
เอกสารอ้างอิง
สรุปความรู้จากการอบรมหลักสูตร 10 บทเรียนออนไลน์ การพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยไทย โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยากร
รศ.ดร. นัยพินิจ คชภักดี
อ.ดร. นุชนาฏ รักษี
คุณ อรพินท์ เลิศอวัสดาตระกูล
ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร
อ.ดร. กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา
โฆษณา