4 มิ.ย. 2021 เวลา 02:36 • ครอบครัว & เด็ก
พ่อแม่มักกังวลเมื่อลูก ‘ไม่เหมือนคนอื่น’
แค่แตกต่าง ผิดด้วยหรือ ?
ในซีรี่ย์ Move to heaven Ep. 5 เป็นตอนที่พูดถึง ความคาดหวังในตัวลูก การยอมรับในตัวตนของลูก และประเด็น LGBT
(เนื้อหาต่อไปนี้มีสปอยบางส่วนจากซีรี่ย์ Move to Heaven EP.5)
...
ฮันกือรูได้ไขปริศนาแล้วพบว่าผู้ตายที่เป็นหมอ ลูกชายคนเดียวของครอบครัวคนรวย ได้คบหากับนักดนตรีเชลโลที่เป็นเพศเดียวกัน
ด้วยความที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ฮันกือรู จึงไม่ค่อยเข้าใจสถานการณ์ ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ของผู้ตายถึงไม่ชอบความสัมพันธ์รักของลูก ทั้งที่เขาทั้งคู่ต่างเป็นคนดี อาของกือรูจึงบอกว่า ‘พ่อแม่ของเขาคงอายที่ลูกชายไม่ได้มีความรักตามขนบ’ ฮันกือรูยังคงสงสัยเพราะคิดว่า ‘การรักใครซักคนไม่ใช่เรื่องน่าละอาย’ อาของเขาจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า ‘ฉันได้ยินว่าพ่อแม่มักกังวลเวลาลูกไม่เหมือนคนอื่น พ่อของกือรูก็คงคิดแบบนั้น’ (หมายถึงกือรูที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ไม่ปกติเหมือนคนอื่น) กือรูจึงรีบอธิบายว่า พ่อของเขานั้นไม่เคยอายเรื่องเขาเลย บอกว่าทุกอย่างโอเค “แค่แตกต่าง แต่ไม่ผิด”
*สามารถอ่านบทความ เข้าใจโรคแอสเพอร์เกอร์ไปกับฮันกือรู Move to heaven ได้ที่ https://www.facebook.com/107563871506743/posts/116610540602076/?d=n
...
“รักลูกที่เขาเป็นเขา หรือ รักลูกในแบบที่เราอยากให้เป็น”
หลายครั้งที่ความหวังดีต่อลูกของพ่อแม่ ก่อให้เกิดความคาดหวังที่ขัดกับสิ่งที่ลูกเป็น พ่อแม่หลายคนอาจกังวลว่าการที่ลูกไม่เหมือนคนอื่นจะทำให้ลูกเป็นทุกข์ อยู่ในสังคมไม่ได้ โดนดูถูกนินทา หรือแท้ที่จริงแล้วเป็นพ่อแม่เองที่ละอายใจ ยอมรับไม่ได้เพียงเพราะว่าสิ่งที่ลูกเป็นนั้นไม่เป็นไปตามที่สังคมนิยม รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นพ่อแม่ เป็นพ่อแม่ที่อยากเห็นลูกเป็นในแบบที่เราอยากให้เป็น รักลูกในแบบที่เราอยากจะรัก พอผิดจากที่เราคาดหวัง ก็ไม่พอใจ สิ่งนี้คือความหวังดี หรือนี่คือความรักแบบมีเงื่อนไข
...
“พ่อของฮันกือรู รักลูกในสิ่งลูกเป็น”
คีย์หลักสำคัญคือ ‘การยอมรับ’ พ่อของฮันกือรูเลี้ยงดูลูกโดยเริ่มจากการยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น รับรู้ถึงความแตกต่างของลูกไม่ได้กดดันอยากให้ลูกเป็นปกติเหมือนเด็กคนอื่น หากแต่ทำความเข้าใจในตัวโรคและคอยชี้แนะ เพื่อให้ฮันกือรูที่เป็น ‘เด็กพิเศษ’ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันและอยู่ในสังคมได้ อีกทั้งยังดึงเอาจุดเด่นในตัวลูกมาพัฒนาต่อ จนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ พ่อของเขาจึงเปรียบเสมือนตัวอย่างที่ดีแก่ลูก (role-model) ทำให้ฮันกือรูรู้สึกถึงความรักและความอบอุ่นจากพ่อของเขาเป็นอย่างดี เขาจึงเติบโตมาเป็นเด็กที่ ‘เห็นคุณค่าในตัวเอง’ (Self-esteem) ยอมรับถึงข้อบกพร่องของตนเอง เข้าใจถึงความแตกต่างและความหลากหลายของมนุษย์ เราเรียกการเลี้ยงดูแบบนี้ว่า การให้ความรักความอบอุ่น (parental warmth) คือ การดูแลเอาใจใส่ การสนับสนุนด้านจิตใจ และการยอมรับในตัวลูก (Acceptance-involvement) รวมถึงอิสระในการแสดงออกทางความคิดและพฤติกรรม (parental autonomy) ในทางกลับกันหากพ่อแม่เลี้ยงดูแบบคาดหวังในตัวลูกมากเกินไป ไม่ได้รักในสิ่งที่ลูกเป็น ปกครองลูกแบบเผด็จการ บังคับให้ต้องเชื่อฟัง จนลูกเกิดความกดดัน หรือกลายเป็นการฝากความหวังและความฝันที่พ่อแม่เองไม่สามารถทำได้ไว้ที่ลูก การเลี้ยงดูแบบนี้จะส่งผลในทางลบแก่ลูกมากกว่าทางบวก
...
“การเลี้ยงดูแบบการยอมรับจะช่วยให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง”
ผลวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า การเลี้ยงดูโดยการยอมรับและให้อิสระแก่ลูก จะส่งเสริมให้ลูกมีวุฒิภาวะ มีการคิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น (Nichamon, 2019) ช่วยให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง (Bean & Northrup, 2009) และยังส่งผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอีกด้วย (Froiland & Worrell, 2017)
ในเด็กกลุ่มออทิสติกพบว่าหากพ่อแม่ได้มีการพูดคุยอย่างเปิดเผยกับลูกตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของพัฒนาการเด็ก ทำความเข้าใจกับตัวโรค อธิบายให้เห็นถึงจุดเด่น จุดแข็งของตนเอง จะช่วยส่งเสริมให้ลูกเข้าใจถึงอัตลักษณ์ของตนเองมากขึ้น ยอมรับในตนเองได้ และมองตนเองในเชิงบวก (Riccio, Kapp, Jordan, Dorelien, & Gillespie-Lynch, 2021)
ในกลุ่ม LGBT พบงานวิจัยที่เสนอว่าทัศนคติของพ่อแม่ที่มีอาการเกลียดกลัวพวกรักเพศเดียวกัน (Homophobic) จะขัดขวางการสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศหรือตัวตนทางเพศของเด็ก (Weinstein et al., 2012) เด็กจะกังวลว่าพ่อแม่จะปฏิเสธตัวเขา ไม่รักเขาเช่นกันหากเขามีความรักกับเพศเดียวกัน ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมปกปิดตัวตนทางเพศของเด็กเพื่อความพึงพอใจของพ่อแม่
การยอมรับในตัวตนของลูก การให้อิสระทางความคิด เอาใจใส่ดูแลด้วยความรัก แต่ก็คอยกำกับดูแลส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสม จึงถือเป็นการเลี้ยงดูที่ดีที่สุด เพื่อให้ลูกได้มีเกราะป้องกันในการดำรงชีวิต เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจตนเอง ยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น รับรู้ถึงจุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง และเห็นคุณค่าในตนเองแบบฮันกือรู จาก Move To Heaven
โดย OT Mentor #ขอบคุณนะคะที่สอนหนู
#MoveToHeaven #กิจกรรมบำบัด
เอกสารอ้างอิง
Parental Psychological Control, Psychological Autonomy, and Acceptance as Predictors of Self-Esteem in Latino Adolescents. https://doi.org/10.1177/0192513X09339149
Parental autonomy support, community feeling and student expectations as contributors to later achievement among adolescents. https://doi.org/10.1080/01443410.2016.1214687
The Association of Role Transition, Parenting, and Perceived Parental Expectations on Psychosocial Maturity in Emerging Adults. http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69650
How is autistic identity in adolescence influenced by parental disclosure decisions and perceptions of autism? https://doi.org/10.1177/1362361320958214
Parental autonomy support and discrepancies between implicit and explicit sexual identities: Dynamics of self-acceptance and defense. https://doi.org/10.1037/a0026854
โฆษณา