4 มิ.ย. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
จับตาศึก Plant-Based เมืองไทย สังเวียนนี้ใครจะชนะ?
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทรนด์หนึ่งในวงการอาหารที่ถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘Plant-Based Food’ หรือ ‘เนื้อสัตว์จากพืช’ อาหารทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ถามว่าร้อนแรงแค่ไหน ลองดูได้จากมูลค่าตลาด Plant-Based Food ทั่วโลกในปี 2562 ที่อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4.98 แสนล้านบาท และมีอัตราเติบโต 10% ต่อปี
ขณะที่ในประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงไทยระบุว่า ตลาด Plant-Based Food เมืองไทยปี 2562 มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567
สิ่งที่ชวนสงสัยคือ ทำไมอาหารทางเลือกถึงกลายเป็นที่นิยมขนาดนี้ ลองไปดูกัน
[ทำความรู้จัก Plant-Based Food]
ก่อนจะไปหาเหตุผล อาจต้องทำความรู้จักกับ Plant-Based กันสักนิด
1
Plant-Based Food คืออาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ทำจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว, เห็ด, สาหร่าย, ข้าวโอ๊ต, อัลมอนด์, ธัญพืช, แครอท, ฟักทอง, บีทรูท เป็นต้น
1
ซึ่งถ้าถามว่าแตกต่างจาก ‘โปรตีนเกษตร’ ที่เราคุ้นเคยกันในอาหารเจอย่างไร คงต้องบอกว่าอาหารกลุ่ม Plant-Based อาศัยนวัตกรรมมาพัฒนาโปรดักต์ให้ก้าวหน้าไปกว่านั้นมาก คือมีรสชาติ กลิ่น และสีสัน เหมือนกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
1
แล้วทำไมอาหารกลุ่มนี้ถึงได้รับความนิยมและคนยอมจ่าย ทั้งๆ ที่มีราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์แบบปกติ?
คือราคาเริ่มต้นที่ราวๆ กิโลกรัมละ 300 บาท ไปจนถึงหลักพันบาทก็มี
ขณะที่ราคาเนื้อหมูอยู่ที่ราว 145-155 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น
สาเหตุหลักๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น
2
-การหันมาสนใจกับสุขภาพและให้ความสำคัญกับอาหารการกินมากขึ้น โดยลดการกินเนื้อสัตว์แล้วหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชแทน
-เทรนด์ของกลุ่ม Flexitarian หรือกลุ่มที่พยายามกินเนื้อสัตว์เป็นครั้งคราวก็มีมากขึ้น ส่งผลให้อาหาร Plant-Based ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน
-สาเหตุอีกส่วนยังมาจากกระแสรักษ์โลกและความสนใจในสวัสดิภาพสัตว์ของผู้บริโภคที่มากขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลิตภัณฑ์จากพืชนั่นเอง
-รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 เองก็ทำให้ผู้บริโภคกังวลต่อการกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น เพราะกลัวการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ จึงหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชแทน
ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ตลาดเติบโตจนมีมูลค่าอย่างที่กล่าวไป ทั้งแนวโน้มตลาดที่ยังดูเหมือนจะไปไกลได้อีก ทำให้ผู้ประกอบการในไทยทั้งรายเล็กรายใหญ่ต่างดาหน้าเกาะเทรนด์นี้ตามกันมาเป็นขบวน ส่งผลให้ตลาดคึกคัก การแข่งขันระอุขึ้นมาถนัดตา
[ใครเป็นใครในสังเวียนนี้]
หากพูดถึงในตลาดโลก แน่นอนว่าผู้นำในธุรกิจนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Beyond Meat และ Impossible Food
โดยเฉพาะรายแรกที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2552 และก้าวมาไกลจนปัจจุบันสินค้าของ Beyond Meat ไม่เพียงแต่จะวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกรวมถึงในไทย แต่ยังถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเมนู Plant-Based Meal ในร้านอาหารมากมาย เช่น สตาร์บัคส์, แมคโดนัลด์, ทาโก้เบลล์, พิซซ่าฮัท รวมถึงเคเอฟซีด้วย
1
ขณะที่มูลค่ากิจการก็เติบโตไปมากเช่นกัน โดยปัจจุบันอยู่ที่ 8.53 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 2.65 แสนล้านบาท รายได้สุทธิปี 2563 อยู่ที่ 406.8 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.6% ส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 122.3 ล้านเหรียญ
ข้ามฝั่งมาที่ประเทศไทยกันบ้าง ที่ในตอนนี้เรียกได้ว่าทั้งรายใหญ่ทุนหนา และสตาร์ทอัพรายเล็กๆ ต่างตบเท้าเข้าสังเวียนกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น
-Meat Avatar หรือ มีท อวตาร บริษัทเล็กๆ ที่พัฒนาโปรดักต์และเริ่มวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2562 โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลักๆ คือ เนื้อหมูจากพืชที่มาในชื่อหมูกรอบและหมูสับจำแลง
2
-Let's Plant Meat จากบริษัทเครื่องปรุงและเครื่องเทศจากเชียงใหม่อย่าง บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ก็ได้เปิดตัวเบอร์เกอร์เนื้อและเนื้อจากพืชบด วางขายทั้งช่องทางออนไลน์และโมเดิร์นเทรดกว่า 150 สาขา ทั้งเทสโก้ โลตัส, ฟู้ดแลนด์ และกูร์เมต์ มาร์เก็ต เป็นต้น
1
-More Meat สตาร์ทอัพที่เปิดตัวในปี 2563 มีสินค้าเป็นหมูสับที่ทำมาจากเห็ดแครง โดยมีบริษัทของ ‘อภิรักษ์ โกษะโยธิน’ อย่าง ‘วี ฟู้ดส์’ ที่ขายข้าวโพดฝักและน้ำนมข้าวโพดในเซเว่นฯ ตัดสินใจลงทุนและออกโปรดักต์คือเมนูลาบทอดจากพืช
1
-ซีพีแรม (CPRAM) บริษัทผู้ผลิตอาหารพร้อมกินส่งเข้าเซเว่นฯ เปิดตัวแบรนด์ VG for Love ในเดือน ก.พ. 2564 โดยส่งอาหาร Plant-Based พร้อมทานจำนวน 10 เมนูเข้าสู่ตลาด เช่น ข้าวกะเพราะหมูพีบี, ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี, ข้าวผัดกะเพราขี้เมาเห็ดออรินจิพีบี, ข้าวผัดแกงเขียวหวานไก่พีบี เป็นต้น
3
-เนสท์เล่ ที่ในเดือน ก.พ. 2564 ประกาศนำอาหาร Plant-Based ภายใต้แบรนด์ Harvest Gourmet ของบริษัทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีโปรดักต์เป็นเบอร์เกอร์เนื้อ , ไส้กรอก, นักเก็ต, เนื้อสับ เป็นต้น โดยเน้นจำหน่ายให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและโรงแรม
-ไทยยูเนี่ยน ที่สนใจอาหาร Plant-Based มาสักระยะ ล่าสุดในเดือน มี.ค. 2564 ก็ได้ฤกษ์ส่งแบรนด์ OMG Meat (โอเอ็มจี มีท) เข้าสู่ตลาด โดยมีทั้งรูปแบบอาหารทะเลจากพืช ได้แก่ หอยจ๊อปู ขนมจีบปู เนื้อปู นักเก็ต และรูปแบบไม่ใช่อาหารทะเล อย่างเนื้อหมู ไก่ จากพืช ได้แก่ ซาลาเปาหมูแดง และนักเก็ตไก่
1
-ซีพีเอฟ (CPF) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอาหาร ที่ในเดือน พ.ค. 2564 ได้ส่งเปิดตัวแบรนด์ MEAT ZERO โดยมีสินค้าครอบคลุมทั้งกลุ่มอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน
-ปตท. ส่งบริษัทย่อยอย่างอินโนบิก (เอเซีย) เข้าร่วมทุนกับ NRF จัดตั้งบริษัทร่วมทุนมาผลิตและจำหน่ายโปรตีนทางเลือก ซึ่งคาดว่าโรงงานที่มีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี จะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2565
[ศึกนี้ใครจะชนะ]
ถ้าหากมองในตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รายแรกๆ ที่เข้ามาสู่ตลาดอย่าง Meat Avatar ก้าวนำคู่แข่งไปแล้วพอสมควร เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักและวางขายแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ฟู้ดแลนด์, ท็อปส์, แมคโคร, วิลล่ามาร์เก็ต, บิ๊กซี ฯลฯ รวมถึงร่วมมือกับอีกหลายกิจการ เช่น รส’นิยม, กับข้าว’ กับปลา, สดอร่อย, ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ, Black Canyon, Audrey Cafe เป็นต้น
1
แต่ที่ต้องจับตาคือความแข็งแกร่ง, เครือข่ายแน่น และสายป่านที่ยาวของบริษัทรายใหญ่ๆ ทั้งหลาย ที่นอกจากจะมีช่องทางการขายของตัวเองอยู่แล้ว เช่น ซีพีแรมที่มีเซเว่นฯ และแมคโคร, ซีพีเอฟ มีเซเว่นฯ, แมคโคร และโลตัส ก็ยังมีเม็ดเงินที่พร้อมสำหรับการขยายกำลังการผลิตในอนาคต
1
รวมไปถึงเป้าหมายของแบรนด์ใหญ่ที่ไม่ได้คิดจะเติบโตแค่ในประเทศไทยเท่านั้น อย่างบริษัทร่วมทุนของ ปตท. ก็ตั้งเป้าว่าโรงงานที่จะสร้างจะเป็นศูนย์กลางผลิตและจัดจำหน่าย Plant-Based ในอาเซียน
ฟากฝั่งซีพีเอฟก็วางแผนว่าจะส่ง MEAT ZERO ไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยอาศัยฐานตลาดต่างประเทศที่มีอยู่แล้วเป็นตัวช่วย ทั้งยังมั่นใจว่าจะก้าวสู่เบอร์ 1 ในตลาดเนื้อทางเลือกเอเชีย และติดท็อป 3 ผู้นำเนื้อทางเลือกของโลกได้ภายในเวลา 3-5 ปี
2
ท้ายที่สุด ณ ขณะนี้อาจยังบอกไม่ได้ว่าใครกันแน่ที่จะอยู่ในฐานะผู้นำและเจ้าตลาดที่แท้จริง ด้วยความที่ศึกเพิ่งเริ่มต้น และคู่แข่งบางรายก็เพิ่งลั่นกลองรบ
แต่สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือ ยิ่งการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น คนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือผู้บริโภค ที่น่าจะได้ซื้อสินค้าในราคาถูกลง แต่มีคุณภาพมากขึ้น และหลากหลายมากขึ้นอีกในอนาคต
2
โฆษณา