5 มิ.ย. 2021 เวลา 10:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บริษัทเทคโนโลยี กำลังเจอศึกรอบด้าน
 
หลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นการดิสรัปต์ของบริษัทเทคโนโลยีรุ่นใหม่
ที่ได้ส่งผลกระทบรุนแรง จนบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมบางแห่งปรับตัวไม่ทัน
เช่น Netflix บริการดูหนังสตรีมมิง ที่เข้ามาทดแทนการเช่าแผ่นซีดีจากร้าน Blockbuster
หรือ Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์
ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งเม็ดเงินค่าโฆษณามหาศาล
และสามารถทำรายได้จากค่าโฆษณาระดับ 8 แสนล้านบาทต่อปี
ธุรกิจเหล่านี้ ทำให้หลายบริษัทในอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์
ได้รับผลกระทบโดยตรง และหลายรายก็ต้องล้มหายตายจากไป
แม้ว่าเมื่อก่อน บริษัทเหล่านี้จะดิสรัปต์ธุรกิจเดิมจนก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในปัจจุบัน
แต่สถานการณ์ตอนนี้ ดูเหมือนกับว่าบริษัทที่กล่าวมาทั้งหมด
มีขนาดใหญ่จนหลายธุรกิจทับซ้อนกันและกำลังแข่งขันกันเอง
แล้วความท้าทายที่บริษัทเทคโนโลยีต้องเจอ มีอะไรบ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ช่วงแรกสำหรับการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยี
ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดภายในอุตสาหกรรมเดิม
ด้วยการหาสินค้าและบริการที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคในส่วนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
และด้วยความที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี การขยายธุรกิจจึงทำได้อย่างรวดเร็ว
พอถึงจุดหนึ่ง พบว่าตัวเองได้กลายเป็นบริษัทขนาดยักษ์ในอุตสาหกรรมเสียแล้ว
สะท้อนมาจากบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก
อันดับที่ 1 Apple
อันดับที่ 2 Microsoft
อันดับที่ 3 Saudi Aramco
อันดับที่ 4 Amazon
อันดับที่ 5 Alphabet เจ้าของ Google และ YouTube
 
จะเห็นได้ว่าจาก 4 ใน 5 บริษัทเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น
และหากเราไปดูอัตราการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ ก็จะเรียกได้ว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด
 
คำถามต่อมาคือ บริษัทควรจะทำอย่างไรต่อ
ในเมื่อธุรกิจเริ่มใหญ่ขึ้น แต่มีทรัพยากรให้ใช้อีกมากมาย
3
คำตอบที่ได้ จึงเป็นการข้ามไปแข่งขันในอุตสาหกรรมอื่น
โดยการใช้ Ecosystem ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ นั่นจึงกลายเป็นที่มาว่า
ทำไมเหล่าบริษัทเทคโนโลยีหลังจากสำเร็จแล้ว ก็จะเริ่มเข้าไปแข่งขันกันเอง
2
เช่น Facebook ที่เริ่มต้นจากการเป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์
ซึ่งเมื่อก่อนนั้นมีรายได้จากค่าโฆษณาที่เป็นรูปภาพและตัวอักษรเท่านั้น
แต่บริษัทเองเห็นว่าโฆษณาแบบเดิมใหญ่มากแล้ว
จึงต้องหาช่องทางรายได้เพิ่มเติม
และพบว่าโฆษณาวิดีโอสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกเยอะ
 
Facebook ขยับมาสู่การสร้าง Ecosystem ให้กับเหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์วิดีโอ
โดยมีฐานผู้ใช้งานในมือหลายพันล้านบัญชีอยู่แล้ว
1
การที่ Facebook เข้ามาทำแบบนี้ ก็ถือเป็นการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งและเป็นการแข่งขันกับ YouTube ทันที
และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Facebook ได้เพิ่มฟังก์ชันใหม่ขึ้นมาคือ Marketplace รวมถึง Dating
แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทกำลังขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ว่าทำไมสุดท้ายบริษัทเทคโนโลยีต่างต้องแข่งขันกัน
2
หรืออย่างบริษัท SEA เองที่เริ่มต้นจากการทำธุรกิจ Garena ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเกม
แต่ต่อมาก็ได้รุกเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ด้วยแพลตฟอร์ม Shopee
และขณะนี้บริษัทก็เริ่มจริงจังกับธุรกิจการเงินอย่าง AirPay ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น ShopeePay
Cr.bullvpn.com
Alibaba และ Tencent ในประเทศจีนก็ไม่ต่างกัน
แม้ว่าเริ่มแรกทั้งคู่จะทำธุรกิจไม่เหมือนกัน
Alibaba เริ่มจากการเป็นอีคอมเมิร์ซ
Tencent เน้นเกมออนไลน์และแอปพลิเคชัน WeChat
แต่ภายหลัง Alibaba และ Tencent กำลังเข้ามาแข่งธุรกิจในพื้นที่เดียวกันทั้งทางอ้อมและทางตรง
ในปี 2013 Alibaba มีส่วนแบ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ 62%
แต่ปีที่แล้วกลับลดลงเหลือเพียง 51%
เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าการเติบโตของ Pinduoduo และ JD.com
อีคอมเมิร์ซที่ได้รับเงินระดมทุนจาก Tencent กำลังเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะ Pinduoduo ที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
หากย้อนกลับไปในปี 2018 Pinduoduo มียอดขายคิดเป็นราว 4% ของ Alibaba เท่านั้น
แต่ในปีที่ผ่านมา ยอดขายของ Pinduoduo ขยับมาเป็น 10% ของ Alibaba เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
1
นอกจากนี้ Alipay กับ WeChat Pay ของ Tencent
ก็ยังแข่งขันกันในธุรกิจกระเป๋าเงินดิจิทัลโดยตรง อีกด้วย
ซึ่งนอกจากการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจแล้ว
กฎเกณฑ์ข้อบังคับระหว่างบริษัทก็เริ่มมีการควบคุมที่เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันข้อมูลบัญชีผู้ใช้งาน
ในกรณีของ Apple ก็ได้ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะทำการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลของตนจากแพลตฟอร์มโซเชียลอย่าง Facebook หรือไม่
จุดนี้จะทำให้ประสิทธิภาพของโฆษณาบน Facebook ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกความท้าทายที่เห็นได้ชัดก็ยังมีเรื่องของ การกลับมาของบริษัทยักษ์ใหญ่เดิม
หลังจากที่เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิม
โดนบริษัทเทคโนโลยีน้องใหม่เข้ามาดิสรัปต์เป็นเวลานาน
บางบริษัทที่สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้
ก็เหมือนจะกำลังรุกกลับและปรับตัวให้เข้าแข่งขันได้อีกครั้ง
อย่าง Disney เองหลังจากปล่อยให้ Netflix
นำคอนเทนต์ของทางบริษัทไปให้บริการอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง
ปัจจุบัน Disney ก็ได้ลุกขึ้นมาพัฒนาธุรกิจสตรีมมิงเป็นของตัวเอง
จนกลายมาเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่เรียกว่า “Disney+”
ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด จนตอนนี้มีผู้สมัครใช้บริการ 100 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับจุดแข็งของบริษัทเก่าแก่ขนาดใหญ่ ก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนและฐานะทางการเงินที่มั่นคง
1
ในกรณีของ Disney ที่มีหนี้สินระยะยาวต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 0.5 เท่า
ในขณะที่ Netflix มีหนี้ระยะยาวต่อทุนสูงถึง 1.4 เท่า
สะท้อนให้เห็นว่า Disney ยังมีความสามารถในการจัดหาเงินทุนเพื่อขยายกิจการได้อีกมากในอนาคต
1
Cr.mxphone
นอกจากนี้ Disney ยังมี Ecosystem ที่ครบวงจรอีกด้วย
เช่น สวนสนุก โรงแรม สื่อต่าง ๆ อย่าง ABC ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ช่องฟรีทีวีใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
รวมถึงลิขสิทธิ์ต่าง ๆ อีกมากมาย ทั้ง Marvel, Star Wars และ Pixar
และสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปอีก
จากตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่าตอนนี้ Netflix อาจจะเจอกับการตีกลับครั้งใหญ่เข้าให้แล้ว
นอกจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์แล้ว
อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งก็เป็นเช่นเดียวกัน
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เหล่าค้าปลีกแบบดั้งเดิม
อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ Walmart สามารถเข้ามาตีตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
ถือเป็นเรื่องน่ากังวลที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยีต้องรับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ดั้งเดิม
ที่มีความได้เปรียบทั้งด้านฐานะการเงินของบริษัทและ Ecosystem เดิมของตน
ศึกรอบด้านของบริษัทเทคโนโลยียังไม่ได้หมดเพียงแค่นี้
เพราะ “กฎหมายของแต่ละประเทศ” ก็เป็นอีกประเด็นที่เริ่มถูกพูดถึงกันมากขึ้น
นั่นก็เพราะว่าบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งใหญ่จนเรียกได้ว่าผูกขาด
อุตสาหกรรมนั้นไปโดยปริยาย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลก
ก็เริ่มเข้ามาออกเกณฑ์การควบคุมเพื่อลดปัญหาดังกล่าว
เช่น สหภาพยุโรปกำลังตรวจสอบอำนาจการผูกขาดของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่
ประเทศออสเตรเลียเองก็เพิ่งออกกฎหมายบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีต้องจ่ายเงิน
สำหรับการแชร์เนื้อหาข่าวสารต่าง ๆ
1
ทางฝั่งประเทศจีน รัฐบาลกำลังเข้ามาควบคุมการผูกขาดของบริษัทเทคขนาดใหญ่เช่นกัน
เช่น Alibaba ที่เพิ่งถูกรัฐบาลสั่งปรับเงินครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 8.8 หมื่นล้านบาท
จากการที่ Alibaba บังคับให้เหล่าร้านค้าในแพลตฟอร์มของตน ไม่สามารถไปขายกับแพลตฟอร์มอื่นได้
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ก็ยังมีเรื่องของ Ant Group บริษัท Fintech ในเครือ Alibaba
ที่ถูกรัฐบาลสั่งระงับการ IPO จากการที่รัฐกลัวเสียอำนาจในการควบคุมธุรกิจการเงินในประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่กำลังโดนรัฐบาลไล่ตรวจสอบเรื่องการผูกขาด
ก็ยังมี Tencent, ByteDance, JD.com และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมแล้วถึง 34 บริษัทเลยทีเดียว
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าบริษัทเทคโนโลยีในตอนนี้
นอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ก็ยังต้องมาเผชิญกับธุรกิจดั้งเดิม
ที่สามารถปรับตัวและกลับเข้ามาร่วมแข่งขัน
รวมถึงกฎเกณฑ์จากทางภาครัฐในแต่ละประเทศ เช่นกัน
4
ก็ดูเหมือนว่า เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เพียงผลกระทบระยะสั้นเหมือนกับโรคระบาดที่มาแล้วก็ไป
แต่อาจจะกลายมาเป็นศึกรอบทิศทางของบริษัทเทคโนโลยี
ที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไร กว่าศึกนี้จะจบลง..
โฆษณา