4 มิ.ย. 2021 เวลา 12:18 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Move to Heaven : ทุกความตายล้วนมีเรื่องราว ... เมื่อเศรษฐกิจผลักบางคนให้ตายอย่างโดดเดี่ยว
Move to Heaven ซีรีส์ 10 ตอนที่ทำให้ผู้ชมได้เข้าใจความหมายของการมีชีวิต และความตายมากยิ่งขึ้น ผ่านฮันกือรู (รับบทโดย ทังจุนซัง) ผู้ดำเนินกิจการเก็บกวาดที่เกิดเหตุหลังจากมีคนเสียชีวิต เขามีอาการแอสเพอร์เกอร์ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ยากและไม่เข้าใจอารมณ์ผู้อื่น แต่เขากลับใช้ทักษะการสังเกตและการเอาใจใส่ ทำให้สามารถทำความเข้าใจและบอกเล่าสิ่งที่ผู้เสียชีวิตอยากจะบอกให้คนที่อยู่ข้างหลังรับรู้ได้ และยังมีโจซังกู (รับบทโดย อีเจฮุน) อาที่เพิ่งออกจากคุกมาและต้องมาเป็นผู้ปกครองแทนพ่อของเขาซึ่งเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ผู้คอยช่วยเหลือฮันกือรูในการเก็บกวาดที่เกิดเหตุไปพร้อมกับเก็บกวาดปมบางอย่างในใจ
11
"โจซังกู" รับบทโดย อีเจฮุน
"ฮันกือรู" รับบทโดย ทังจุนซัง
"ฮันจองอู" รับบทโดย จีจินฮี
ซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ไม่ได้ฉายภาพความสวยหรูของเกาหลีใต้ แต่กลับตอกย้ำความเหลื่อมล้ำเพิ่มเติมจากเรื่อง Parasite เข้าไปอีก
1
ว่าไม่จริงเลยที่ทุกคนเท่าเทียมกันตอนตาย หลายๆ ตอนในซีรีส์นี้จะพาเราไปพบเห็นความตายอย่างโดดเดี่ยวของคนที่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ทั้งเด็กหนุ่มโรงงานที่ถูกกดขี่ หญิงชราที่อยู่ตามลำพัง คู่รักวัยชราที่ป่วยหนัก ไม่มีลูกหลาน และชายเกาหลีไร้สัญชาติ วันนี้ Bnomics จึงอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ผ่านบริบททางเศรษฐกิจและสังคม
ความตายอันโดดเดี่ยว (Solitary Death) เป็นปรากฏการณ์ที่มักพบได้บ่อยในญี่ปุ่น โดยมีชื่อเรียกว่า Kodokushi ซึ่งเป็นคำที่คิดขึ้นมาในทศวรรษที่ 1980 เพื่ออธิบายการที่ผู้คน ซึ่งมักจะเป็นผู้สูงอายุวัยเกษียณ เสียชีวิตอยู่เพียงลำพังโดยไม่มีใครรู้ โดยกรณีแรกที่มีการรายงานในญี่ปุ่นได้สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างมากคือการพบศพชายชราวัย 69 ปี หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้วถึง 3 ปี เนื่องจากเขาจ่ายค่าเช่าบ้านและค่าน้ำค่าไฟผ่านการหักบัญชีอัตโนมัติ จนกระทั่งเงินหมดบัญชี จึงมีผู้พบโครงกระดูกที่บ้านของเขาในสภาพมีหนอนไชและแมลงวันตอมอยู่
8
เหตุใดผู้สูงอายุวัยเกษียณเหล่านี้ถึงอยู่เพียงลำพัง?
ต้องเล่าย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงนั้นมีคนย้ายจากชนบทเข้าเมืองเข้ามาหางานทำเป็นจำนวนมาก ตามมาด้วยการพัฒนาเมือง บ้านจัดสรร รถไฟ ถนนหนทาง ผู้คนเริ่มนิยมการเป็นมนุษย์เงินเดือน อีกทั้งมีค่านิยมสามีเป็นหัวหน้าครอบครัวและภรรยาเป็นแม่บ้าน ครอบครัวมีลูกอย่างน้อยสองคน และอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่สูงอายุ ซึ่งภรรยามักจะเป็นคนดูแลเป็นหลัก แต่หลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟองสบู่แตกเมื่อปี 1989 เศรษฐกิจก็อยู่ในภาวะซบเซา (Stagnation) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ทศวรรษที่หายไป” ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 แต่ผลกระทบของมันกลับกินเวลากว่า 2 ทศวรรษและยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป
5
ในตอนนั้น เด็กที่เกิดในยุคเบบี้บูม (1947-1949) ซึ่งมีกว่า 7 ล้านคนก็อยู่ในวัยที่กำลังก้าวขึ้นไปตำแหน่งสูงๆ ในบริษัทพอดี ซึ่งด้วยระบบโครงสร้างเงินเดือนแบบขั้นบันไดตามความอาวุโสของญี่ปุ่น พนักงานเหล่านี้ได้กลายเป็นค่าใช้จ่ายราคาแพงของบริษัท หลายบริษัทจึงเริ่มมีการให้เกษียณก่อนกำหนด ลดค่าล่วงเวลา ตัดโบนัส หรือบางบริษัทก็เปลี่ยนไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวแทน ส่งผลให้ลูกจ้างหลายคนต้องทำงานเกินชั่วโมงทำงานปกติ ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดที่ต่ำ
5
หลังจากปี 1990 เป็นต้นมา จำนวนลูกจ้างชั่วคราวได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ในสังคมญี่ปุ่นที่บูชาการทำงานประจำที่มั่นคงในบริษัทเดิมไปตลอดชีวิต การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กดดันให้ผู้ชายซึ่งถูกค่านิยมบังคับให้ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวกลายเป็นพวกที่บ้างาน ทำงานอย่างหนักจนหลายๆ คนไม่ได้แต่งงานมีครอบครัวเลยด้วยซ้ำ โดยคนบางส่วนก็ไม่มั่นใจในอนาคตของตนเองเพราะไม่มีงานมั่นคงจึงไม่แต่งงาน เมื่อเวลาล่วงเลยไป คนเหล่านี้เกษียณอายุก่อนวัย กลายเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยที่ไม่มีสวัสดิการของรัฐรองรับ ไม่ค่อยมีเงินออมเนื่องจากเงินเดือนที่มีพอใช้แค่เดือนชนเดือนมาตลอด และไม่มีลูกหลานที่จะมาดูแล
3
การที่ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้นประกอบกับอัตราการเกิดที่น้อยลง ญี่ปุ่นจึงเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยมีสัดส่วนของผู้ที่มาอายุเกิน 65 ปี มากกว่า 29% ซึ่งมากที่สุดในโลก และในปี 2040 ประมาณว่าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 40% แต่สิ่งที่น่ากังวลคือข้อมูลจาก The National Institute of Population and Social Security research พบว่ากว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี อาศัยอยู่ตามลำพัง บางส่วนไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ไม่ค่อยมีเงินออมมากนัก แม้ว่าตามค่านิยมดั้งเดิมแล้วผู้สูงอายุมักจะอาศัยอยู่กับลูกหลาน แต่สัดส่วนครอบครัวลักษณะนี้ได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากราคาบ้านในเมืองสูงลิบลิ่ว และบ้านในเมืองที่คับแคบทำให้การจะอยู่รวมกัน 3 รุ่น ในบ้านหลังเดียวดูจะเป็นไปได้ยากขึ้นในปัจจุบัน
3
สำหรับทางฝั่งเกาหลีใต้ก็มีปัญหาเรื่องนี้เช่นกัน โดยเรียกปรากฏการณ์การตายอย่างโดดเดี่ยวนี้ว่า “Godoksa” ซึ่งไม่ได้ต่างจากประเทศข้างเคียงอย่างญี่ปุ่นมากนัก ทั้งนี้ เกาหลีใต้กลายเป็นสังคมสูงวัยภายในเวลาเพียง 17 ปี จากข้อมูลในปี 2016 พบว่ามีครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพัง 1.2 ล้านครัวเรือน กว่าครึ่งหนึ่งมีฐานะยากจน ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากญี่ปุ่นคือ ผู้เสียชีวิตในเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นผู้สูงอายุ ยังมีอีกส่วนที่ยังอยู่ในวัยแรงงาน โดยในปี 2016 พบว่าเกินครึ่งของผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในเมืองหลวง เป็นผู้ชายอายุระหว่าง 45–65 ปี ซึ่งส่วนมากเป็นคนที่เกษียณก่อนวัย ตกงาน หรือหย่าร้าง
2
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวกำลังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่บีบให้แรงงานต้องห่างจากครอบครัวมาทำงานในเมืองใหญ่ ในสังคมที่การดูแลผู้สูงอายุขึ้นกับความเกื้อกูลกันในครอบครัว มันคงง่ายสำหรับรัฐ ที่จะลดงบประมาณในส่วนนี้ไปได้ โดยผลักสวัสดิการของรัฐให้ออกไปอยู่ในรูปของ “ความกตัญญู” แต่เมื่อโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นสวนทางกับเด็กที่เกิดน้อยลง อีกทั้งความไม่แน่นอนต่างๆ เกิดขึ้นได้เสมอ (ใน EP แรกๆ จะเห็นว่าหนุ่มโรงงานทำงานอย่างหนักเพื่อเก็บออมเงินไว้ให้พ่อแม่ แต่ก็ต้องมาจากไปเสียก่อนเนื่องจากบาดเจ็บจากการทำงานและไม่มีเงินรักษา) ความกตัญญูอย่างเดียวคงอาจไม่ใช่คำตอบ รัฐบาลในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับปัญหาความตายที่น่าหดหู่นี้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้ง “กระทรวงแห่งความเหงา” เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง ในส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่อาศัยอยู่คนเดียวและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลำพัง ผ่านทางเงินช่วยเหลือ 3 ครั้งต่อปี รวมมูลค่าราว ๆ 840 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมไปถึงการสนับสนุนความช่วยเหลือทางการแพทย์ ส่งเสริมให้มีการเยี่ยมเยียนระหว่างคนในละแวกใกล้เคียง เพื่อหมั่นตรวจสอบความเป็นไปของกันและกัน นอกจากนี้ยังมีมาตรการจูงใจให้บริษัทคงการจ้างงานต่อเนื่องแม้เลยวัยเกษียณไปแล้ว ซึ่งตามกฎหมายแรงงานล่าสุดของเกาหลีระบุว่า จะค่อย ๆ ขยายอายุเกษียณไปเรื่อยๆ จนอยู่ที่อายุ 62 ปี สำหรับผู้ชาย และ 60 ปี สำหรับผู้หญิง อย่างไรก็ดีข้อมูลจาก OECD พบว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่เกษียณอายุกันจริงๆ ตอนอายุ 72 ปี เนื่องจากส่วนมากได้เงินบำนาญพื้นฐานที่ได้เมื่อเกษียณเพียงราวๆ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (คิดเป็นมูลค่าน้อยกว่า 1 ใน 3 ของเงินที่จะทำให้พอยังชีพได้เสียอีก)
5
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษาสำหรับประเทศไทยว่า ในอนาคตเมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ เราจะเตรียมเงินออมหลังเกษียณไว้เพียงพอที่จะไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับรัฐบาลให้เตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบประกันสังคม สวัสดิการของรัฐ สร้างระบบบำนาญให้ครอบคลุม และเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยโอบอุ้มผู้สูงวัยเหล่านี้ในฐานะพลเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยช่วยสร้างประเทศนี้ขึ้นมา มิใช่ผู้อนาถาที่รอความช่วยเหลือจากรัฐแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐควรเร่งสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เต็มไปด้วยความหวังสำหรับคนหนุ่มสาวในการสร้างประชากรที่มีคุณภาพขึ้นมาเพิ่ม มิฉะนั้นระบบบำนาญอาจเกิดปัญหาล้มละลายได้ในอนาคต ที่มีแต่คนรับบำนาญ ไม่มีคนจ่ายเงินเข้าระบบ
2
ความตายอย่างโดดเดี่ยวนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ สักวันหนึ่งอาจจะเป็นตัวเรา หรือคนที่เรารักก็ได้ แม้ว่าผู้เสียชีวิตเหล่านั้นต้องจากโลกนี้ไปโดยไม่มีใครอยู่เคียงข้าง ไม่มีใครไว้อาลัยให้พวกเขา ไม่มีใครสักคนให้บอกลา แต่ความตายของพวกเขาก็ได้ส่งเสียงบอกเล่าให้รัฐหันมามองเห็นถึงปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ภายในเมืองใหญ่แห่งนี้มากขึ้น และหาทางป้องกันไม่ให้ใครต้องหมดลมหายใจอย่างเดียวดายเช่นนี้อีก
1
หลังจากอ่านบทความนี้จบ Bnomics อยากให้ทุกท่านลองหันไปใส่ใจคนรอบข้างให้มากขึ้น และใช้ชีวิตต่อจากนี้ให้คุ้มค่า เพราะบางทีชีวิตมันก็สั้นเกินกว่าจะทันได้บอกลาคนที่เรารักเสียด้วยซ้ำ
1
สำหรับสัปดาห์หน้า ถ้าอยากให้ Bnomics วิเคราะห์หนังเรื่องอะไร comment มาได้เลยนะคะ
1
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา