5 มิ.ย. 2021 เวลา 09:32 • การศึกษา
ข้อสอบแบบไหนเหมาะกับลูกเรา
ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนหนึ่งไม่ชอบทำข้อสอบแบบปรนัย (ประเภทเป็นช้อยส์ให้เลือกคำตอบ ก ข ค ง) อาจเป็นเพราะความไม่เก่งของผม ทำให้ได้คะแนนไม่ดี ชอบโดนหลอกประจำ โดยเฉพาะเมื่อผมไม่มั่นใจกับช้อยส์ข้ออื่นๆ และมีให้เลือก "ง.ถูกทุกข้อ" ผมกาข้อนี้ประจำครับ
(โตมาถึงได้รู้ว่า มันมีวิธีทิ้งดิ่งข้อที่น่าจะเป็น)
เวลาผมอ่านหนังสือเตรียมสอบ ผมเน้นความเข้าใจมากกว่าท่องจำ ผมจึงชอบข้อสอบแบบอัตนัย (ประเภทเขียนบรรยาย) มากกว่าครับ ชอบเล่าเรื่องที่มี Keyword สำคัญๆ และสังเกตกับตัวเองเสมอว่า ข้อสอบแบบอัตนัยผมจะได้คะแนนดีกว่ามากครับ
ล่าสุด BBC (สำนักข่าวอังกฤษ) ได้เผยแพร่บทวิจัยที่น่าสนใจครับ เกี่ยวกับการทำข้อสอบของนักเรียนในยุโรป และพบว่าครูมักจะลำเอียงให้คะแนนกับเด็กที่มีพฤติกรรมที่ "ดี" และ "น่าสงสาร" มากกว่า
งานวิจัยได้ทำการค้นคว้ากับเด็กอายุ 14-18 ปี ประมาณ 1,200 คน แล้วนำผลคะแนนมาเทียบกับพฤติกรรมของเด็กในมุมมองของครู
โดยสรุป คือ เด็กที่ "ว่านอนสอนง่าย" และเด็กที่ "น่าสงสาร" ในสายตาของครูนั้น จะได้คะแนนดีกว่าเด็กที่ถูกมองว่า "หัวรั้น" ถึง 10% ทั้งนี้ให้เหตุผลว่า ครูจะเอ็นดูเด็กที่เรียบร้อย เชื่อฟังครู และเข้ากับผู้อื่นได้ดีมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ครูจะเห็นใจและรู้สึกสงสารเด็กที่กำลังประสบปัญหา และมีสภาวะเครียดทางจิตใจ หรือ ดูอมทุกข์จากเรื่องอื่นๆ
เด็กทั้ง 2 แบบนี้ ครูมีแนวโน้ม "ปล่อยคะแนน" ได้ง่าย
ในทางกลับกัน หากเด็กคนนั้นดูดื้อรั้น ไม่เชื่อฟัง หรือพูดง่ายๆ คือ เด็กไม่ดีในสายตาครู กลับจะได้คะแนนไม่ดีไปโดยปริยาย
งานวิจัยลงท้ายว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ครูจะมีอคติและทำไปแบบไม่รู้ตัว เพราะเป็นธรรมชาติของจิตใจมนุษย์
อย่างไรก็ดี อันที่จริงยังมีวิธีแก้ครับ โดยการปิดชื่อนักเรียนขณะตรวจข้อสอบ จะช่วยการให้คะแนนเป็นธรรมมากขึ้นครับ
แต่ก็อย่างว่า ในความเป็นจริง ใครจะไปบังคับครูทุกคนได้ละครับ
ผมว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือ ดูบุคคลิกของลูกเรา และเทียบกับโรงเรียนที่เรากำลังจะส่งลูกเข้าดูครับ ว่าเน้นการสอบแบบไหน ผลการเรียนของลูกเราจะได้ถูกตัดสินอย่างเหมาะสมมากขึ้นครับ
โฆษณา