5 มิ.ย. 2021 เวลา 09:00 • การศึกษา
Sandbox การศึกษา = ทางออกของประเทศ ?
จากบทความที่แล้วที่ได้สะท้อนถึงคำกล่าวของผู้บริหารประเทศที่ว่า “เด็กตกงานเพราะเรียนไม่ตรงความต้องการของประเทศ”
(อ่านย้อนหลังได้ที่ https://www.blockdit.com/posts/60ba37e58282c90d3187bc54 ) ที่เป็นประเด็นชวนให้หลายคนได้แสดงความคิดเห็นไปต่างๆ นานา
ในบทความนี้ Keep Telling จะขอเล่าในฐานะที่อยู่ในแวดวงการศึกษา และเป็นหนึ่งในทีมที่พยายามศึกษา หาข้อมูล เพื่อผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการผลิตและพัฒนากำลังคนที่ยังไม่ตรงต่อความต้องการของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หลายคนคงเริ่มได้ยินคำว่า “Sandbox” กันมากขึ้น และเริ่มมีหลายหน่วยงานที่พยายามปรับปรุงกระบวนการทำงานในรูปแบบนี้มากขึ้น ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีตัวอย่างในเรื่องของ “Phuket Sandbox” เกิดขึ้นมา โดยเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีน COVID-19 ครบโดสแล้ว เดินทางเข้ามาเที่ยวได้โดยไม่ต้องกักตัว
https://mgronline.com/south/detail/9640000053852
แล้วการศึกษาของไทย ควรมี Sandbox แล้วหรือยัง ?
คำตอบคือ จริงๆ แล้ว Sandbox ไม่ใช่เรื่องใหม่ของการศึกษาไทย แต่ปัญหาที่ส่งผลให้การดำเนินการดังกล่าว ไม่เกิดเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะติดในเรื่องของกฏ ระเบียบ และระบบการบริหารจัดการของราชการที่ไม่ยืดหยุ่นและยังไม่หลุดกรอบจากความคิดเดิมๆ
ทีนี้ ก่อนจะไปถึงเรื่อง “Sandbox การศึกษา = ทางออกของประเทศ” เรามาทำความเข้าใจก่อนว่า Sandbox คืออะไร
ถ้าหากค้นความหมายของคำว่า Sandbox ใน google จะพบว่า ส่วนใหญ่จะอธิบายไปในเชิงของการใช้เป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศัพท์ที่ใช้กันในแวดวงของนักเทคโนโลยี ดังนั้น Keep Telling อาจจะขออนุญาตนิยามคำว่า Sandbox ในมุมมองของ Keep Telling ว่า Sandbox เปรียบเสมือนสนามทดลอง ในการผลักดันให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย โดยที่ไม่พยายามยึดติดกับขั้นตอน กฏระเบียบ มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินการ
เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว แล้วแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่จะทำให้ Sandbox การศึกษา = ทางออกของประเทศ มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ?
Keep Telling ขอเล่าไปเรื่อยให้ฟังว่า แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ยังพอมีให้เห็นอยู่ แม้ปากอุโมงค์ยังมีหนทางที่ยาวไกล แต่ประเทศของเราไม่มีเวลาพอที่จะนั่งอยู่ในอุโมงค์แล้วมองแสงอันสวยงามที่ปลายอุโมงค์อีกต่อไปแล้ว
ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะปัจจุบันมีกลไกที่เปิดช่องในการที่จะสร้าง Sandbox การศึกษา เกิดขึ้นจริงแล้ว โดยกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา ได้เปิดโอกาสให้มีการสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา (Sandbox) โดยกลไกนี้ Keep Telling เห็นว่าจะช่วยยกระดับและพัฒนาการศึกษาของนักศึกษา รวมถึงส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่ออกนอกกรอบ และได้รับการยกเว้นกรอบของมาตรฐานการอุดมศึกษา เช่น การจำกัดจำนวนหน่วยกิตในการเทียบโอนเข้าสู่การศึกษาในระบบซึ่งขัดต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและระบบคลังหน่วยกิต หรือการกำหนดคุณสมบัติของผู้สอนและผู้รับผิดชอบหลักสูตร และการจำกัดจำนวนชั่วโมงสอนของอาจารย์พิเศษ ซึ่งจะไม่เอื้อต่อการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนเพื่อให้การผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน
โดยการดำเนินการสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา (Sandbox) จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาปัจจุบัน คือ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บัณฑิตเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตตั้งแต่ต้น หากจะให้ Keep Telling ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม Keep Telling ขอยกตัวอย่างโมเดลหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่
“สถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับ กลุ่มบริษัท กอไก่ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตรงต่อความต้องการของกลุ่มบริษัท กอไก่ และเปิดรับเด็กเข้าเรียนตั้งแต่เด็กยังเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา เพื่อเก็บหน่วยกิตไว้ในระบบธนาคารหน่วยกิต และเมื่อเด็กจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษามาเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ก็เน้นการเรียนรู้และปฏิบัติงานจริงในกลุ่มบริษัท กอไก่ และได้รับวุฒิปริญญา และสามารถเข้าทำงานกับกลุ่มบริษัท กอไก่ ได้ทันที เนื่องจากได้รับการฝึกทั้งเรื่องวิชาการ และการปฏิบัติงานจริง ที่ตรงต่อความต้องการของบริษัท กอไก่ มาแล้ว”
จากที่กล่าวมา เป็นเพียงตัวอย่างโมเดลหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในอนาคตอาจจะมีโมเดลอื่นๆ ตามมาอีก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปตอบคำถามตั้งต้นว่า “Sandbox การศึกษา = ทางออกของประเทศ หรือไม่นั้น ก็อาจตอบได้ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ mindset ของผู้บริหารทั้งฝั่งอุดมศึกษา (supply-side) และผู้บริหารฝั่งผู้ใช้บัณฑิต (demand-side) ในการทำงานร่วมกัน
สำหรับฝั่งอุดมศึกษา (supply-side) Keep Telling จะมาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันพวกเขากำลังปรับบทบาทและทำอะไรกันอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้
Keep Telling
5 มิถุนายน 2564
โฆษณา