6 มิ.ย. 2021 เวลา 02:58 • ธุรกิจ
เปรียบเทียบแบรนด์ Plant-based Meat สัญชาติไทย
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 1 ในเทรนด์สุขภาพที่มาแรง ณ ปัจจุบันคือ เนื้อจากพืช (Plant-based Meat) หากลองมองย้อนกลับไปเนื้อจากพืชไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ คนที่รับประทานมังสวิรัติก็มีตัวเลือกของโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์อยู่แล้ว และอย่างในประเทศไทยก็มีโปรตีนเกษตรที่ปรุงแต่งจนคล้ายกับเนื้อสัตว์แบบแยกไม่ออก แต่ “เนื้อจากพืช” น่าจะมาถูกเวลามากกว่า ซึ่งขณะนี้เป็นยุคของอาหารสุขภาพ ยุคของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความกังวลต่อสารปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ จึงส่งผลให้ตลาดของเนื้อจากพืชขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี ค.ศ. 2019 ตลาดมีมูลค่า 3.77 พันล้านเหรียญ ถัดไป แต่คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2026 จะเติบโตไปถึง 9.43 พันล้านเหรียญ หรือเป็นการเติบโตประมาณ 14% ต่อปี
การเติบโตของตลาดเนื้อจากพืชไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกลุ่มคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่ยังมีกลุ่มของคนทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น หรือ flexitarian เป็นพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แบบง่ายๆ ที่ไม่ได้เคร่งครัดอย่างกลุ่ม Vegan และ Vegetarian แต่จะพยายามเว้นเนื้อสัตว์บางประเภท บางเวลา หรือบางมื้อ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน จากการสำรวจพบว่า 42% ของประชากรโลก เป็น flexitarian และพบมากในกลุ่มของ Gen Z ซึ่งในประเทศไทยเอง ก็มีประชากรกลุ่ม flexitarian ประมาณ 28% จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ตลาดเนื้อจากพืชจะมีการเติบโตสูง
จากความสำเร็จของ Beyond Meat แบรนด์เนื้อจากพืชสัญชาติอเมริกัน ที่สามารถจดทะเบียน เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในปี ค.ศ. 2019 หรือ 10 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท จนปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่า 9.16 พันล้านเหรียญ (2.85 แสนล้านบาท) จึงทำให้ตลาดเนื้อจากพืชมีการตื่นตัวมากขึ้น และก็มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ขยับเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ ในประเทศไทยเองก็มีแบรนด์เนื้อจากพืชของต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดไม่ว่าจะเป็น Beyond Meat หรือ OmniPork (เนื้อหมูจากพืชสัญชาติฮ่องกง) ขณะที่แบรนด์สัญชาติไทยก็มีออกมาสู่ตลาดให้ได้ชิมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ ปัจจุบัน มีด้วยกัน 4 บริษัท คือ Let’s Plant Meat, More Meat, Meat Avatar และล่าสุด Meat Zero ของรายใหญ่อย่างซีพี โดยทุกแบรนด์จะมีผลิตภัณฑ์เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ เนื้อบดจากพืช ดังนั้นจะขอทำการเปรียบเทียบ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จากทั้ง 4 แบรนด์
Let’s Plant Meat ของบริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องเทศและเครื่องปรุงรส จากเชียงใหม่ โดยแนวคิดการพัฒนาเกิดจากความต้องการที่จะลดปัญหาหมอกควันจากการเผาป่า เพื่อทำพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ “เนื้อบดจากพืช” ของบริษัทฯ มีส่วนประกอบของโปรตีนจากถั่วเหลืองและข้าว, น้ำมันรำข้าว, สารสกัดจากยีสต์, น้ำ, แป้งมันสำประหลังดัดแปลง, น้ำบีทรูท, สารให้ความข้นเหนียว
น้ำหนัก 75 กรัม ประกอบด้วย โปรตีน 11 กรัม โคเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม ไขมัน 2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม โซเดียม 290 มิลลิกรัม ให้พลังงาน 100 กิโลแคลอรี
ราคา 75 บาท ต่อ 150 กรัม
MEAT AVATAR ของบริษัท ดีเลคเทเบิล ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งชูประเด็นในด้านการบริโภคเนื้อสัตว์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม โดยการแก้ปัญหาเหล่านี้คือส่งเสริมการบริโภคโปรตีนจากพืช สำหรับ “เนื้อบดจำแลง” ของบริษัทฯ ประกอบด้วยโปรตีนผสม (ถั่วเหลืองและข้าวโพด), น้ำ, สารสกัดสาหร่าย, คาราจีแนน, สารสกัดจากยีสต์, น้ำมันคาโนล่า, ไฟเบอร์, น้ำบีทรูท, สารให้ความข้นเหนียว
น้ำหนัก 120 กรัม ประกอบด้วย โปรตีน 20 กรัม โคเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม ไขมัน 2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8 กรัม โซเดียม 130 มิลลิกรัม ให้พลังงาน 135 กิโลแคลอรี
ราคา 120 บาท ต่อ 240 กรัม
MOR≥ MEAT ของบริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด โดยเริ่มต้นจากการนำเข้าเนื้อจากพืช จากนั้นก็ผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิต เพราะเล็งเห็นว่าสินค้าที่นำเข้ามีโซเดียมสูงและไม่เหมาะกับการแปรรูปเป็นอาหารไทย นอกจากนี้ “โปรตีนจากพืช” ของบริษัทฯ มีจุดเด่นคือส่วนประกอบจากเห็ดแครง และส่วนประกอบอื่นๆ คือโปรตีนถั่วเหลือง (Non-GMO), น้ำ, แป้งสาลี, น้ำมันคาโนล่า, น้ำมันมะพร้าว, สารสกัดจากยีสต์, น้ำบีทรูท, สารให้ความข้นเหนียว
100 กรัม ประกอบด้วย โปรตีน 16 กรัม โคเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม ไขมัน 3.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10 กรัม โซเดียม 180 มิลลิกรัม ให้พลังงาน 130 กิโลแคลอรี
ราคา 267 บาท ต่อ 200 กรัม x 3 แพ็ค
MEAT ZERO ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มุ่งเป้าไปที่การเติบโตในกลุ่ม Flexitarian และการตั้งราคาที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ปกติ อีกทั้งยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายทั่วประเทศอย่าง 7-11 วางเป้าขึ้น Top 3 ตลาดเนื้อทางเลือกของโลกใน 3-5 ปี ซึ่ง “เนื้อบดจากพืช” ประกอบด้วยโปรตีนถั่วเหลือง, น้ำบีทรูท, เครื่องปรุงรส, แป้งสาลี
100 กรัม ประกอบด้วย โปรตีน 11 กรัม โคเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม ไขมัน 7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม โซเดียม 210 มิลลิกรัม ให้พลังงาน 140 กิโลแคลอรี
ราคา 69 บาท ต่อ 220 กรัม
จากทั้ง 4 แบรนด์ เมื่อนำมาเทียบเป็นเนื้อต่อ 100 กรัม พบว่า ทั้ง 4 แบรนด์พึ่งพาโปรตีนจากถั่วเหลือง ซึ่ง Meat Avatar ให้โปรตีนสูงสุด และมีไขมันกับโซเดียมต่ำสุด ขณะที่ Meat Zero ให้พลังงานสูงสุดและราคาถูกที่สุด ซึ่งจากข้อมูลทางโภชนาการก็เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้บริโภค ส่วนแบรนด์ไหนจะครองใจผู้บริโภคก็คงต้องดูกันต่อไปนับจากนี้ แต่ที่แน่ๆ ตลาดเนื้อจากพืชได้เข้าสู่สภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นเรียบร้อยแล้ว
…………………………….
At 14% CAGR, Trends in The Plant-based Meat Market Size & Share Value Will Grow to USD 9.43 Billion by 2026: Facts & Factors https://t.ly/c5VZ
…………………………….
42% Of Global Consumers Are Flexitarians & Driving Mainstream Plant-Based Shift, New Report Says https://t.ly/586R
…………………………….
Let’s Plant Meat
…………………………….
MEAT AVATAR
…………………………….
MOR≥ MEAT
…………………………….
MEAT ZERO
…………………………….
#BiotechAnalyst #FutureIsNow #TheFuturist #PlantBasedMeat #LetsPlantMeat #MeatAvatar #MoreMeat #MeatZero
โฆษณา