6 มิ.ย. 2021 เวลา 04:11 • นิยาย เรื่องสั้น
มา...มารีวิว กฎ 7 ข้อของนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมท่านหนึ่ง แนะนำถึงนักเขียนมือใหม่
'วี เอส ไนพอล' (V. S. Naipaul) เป็นนักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายตรินิแดดและโตเบโก เขาเป็นนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2544 (ปัจจุบันไนพอลได้เสียชีวิตลงแล้วในวัย 85 ปี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2561) ผลงานของไนพอลได้รับการขนานนามว่า "เป็นผลงานที่เลียนแบบได้ยากและมีคุณค่าเสมอ" เขาเป็นทั้งนักข่าวที่เขียนบทความและเขียนนวนิยายไปด้วย งานเขียนของเขาส่วนใหญ่จะเป็นการนำประสบการณ์มาเขียนในมุมมองที่หลากหลาย ทำให้ผลงานของไนพอลเข้าถึงคนได้ง่าย และทรงอิทธิพลต่อคนอ่าน มากๆ
สำหรับกฎทั้ง 7 ข้อของไนพอลนั้น อาจเหมาะกับการเขียนภาษามากกว่า แต่เราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้แน่นอน ส่วนจะมีอะไรที่เป็นข้อห้ามหรืออะไรที่ต้องทำนั้น มาดูกัน
1. อย่าเขียนประโยคยาวมากๆ
"ประโยคหนึ่งไม่ควรยาวเกิน 10 หรือ 12 คำ" ซึ่งแท้จริง...นักเขียนหลายคนไม่เคยนับว่าเขียนไปเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เราจะดูคำจากเวิร์ดว่าเขียนไปประมาณนั้น เขียนได้กี่หน้าแล้วมากกว่า ดังนั้นจึงอยากให้พึงระลึกไว้ว่า "ในหนึ่งประโยคควรมีใจความที่สมบูรณ์ครบถ้วน" จะเป็นประโยคความเดียว ประโยคความรวม หรือประโยคความซ้อนก็ได้ จะสั้นจะยาวก็ขอให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ตามกฎ 5W1H (Who, What, When, Where, why, How)
ประโยคความเดียว (simple sentence) มีประธานกริยากรรมและคำคุณศัพท์ หรือคำวิเศษณ์ขยาย เช่น ฉันเดินออกกำลังกายตอนเช้า ฉันเกลียดป้าสายเข้ากระดูกดำ
ประโยคความรวม (compound sentence) มีประโยคที่เชื่อกันมากกว่า 2 ประโยคขึ้นไป และหากตัดออกเป็นประโยคความเดียวก็ยังมีใจความครบถ้วนอยู่ เช่น วาทินีรักนายแต่นายกลับปฏิเสธซะงั้น เธอมองย้อนกลับไปถึงอดีตและคิดไม่ตกว่าจะหาทางแก้ไขอย่างไร มีคำเชื่อมประโยคเช่น และ แต่ หรือ หรือไม่ก็...
ประโยคความซ้อน (complex sentence) มีประโยคหลักและประโยคที่ขยายให้ประโยคหลักสมบูรณ์ หากแยกประโยคออกไปแล้ว จะทำให้ประโยคโดยรวมไม่สมบูรณ์ เช่น
หากฉันรักเธอ มันจะผิดมากไหม
วันแล้ววันเล่าสาฑินยังมานั่งคอยนุสนธิ์อยู่ตรงนี้อย่างไม่แปรเปลี่ยนเพราะเธอเชื่อเหลือเกินว่าวันหนึ่งเขาต้องกลับมาหาเธอ ณ ที่แห่งนี้
2. ทำให้แต่ละประโยคมีความชัดเจนอ่านแล้วควรเข้าใจได้ทันที ประโยคแต่ละประโยคต้องเชื่อมโยง เกาะเกี่ยวร้อยเรียง ผูกพันกัน (train of thought) คือเริ่มจากหนึ่ง เป็นสอง สามสี่ห้าไปเรื่อยๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน (make sense) ไม่ว่าจะเขียนจากสาเหตุไปหาผลลัพธ์ หรือเอาผลลัพธ์ย้อนขึ้นไปหาเหตุ เขียนจากรายละเอียดไปหาผลรวม หรือเอาภาพรวมมาแจกแจงอธิบายถึงเหตุ (inductive - deductive and vice versa)
3. เขียนให้ง่าย (simple writing) นักเขียนส่วนมากจะแนะนำไม่ให้ใช้คำใหญ่ (big words) หรือคำที่ดูเลิศหรูอลังการในงานเขียนของเรา หลายๆ คนอาจติดปัญหาตรงข้อนี้มากเพราะทุกคนก็อยากจะเขียนนิยายให้มีถ้อยคำที่สละสลวย มีภาษาสวยงาม แต่จะยิ่งยากมากถ้าเราไม่ได้อ่านเยอะๆ หรือมีคลังคำพูด (word storage) สะสมไว้มาก่อน ทางที่ดี กลับไปจุดที่ง่ายที่สุด (Back to Basic) คือเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เขียนเรื่องที่ยากให้เป็นเรื่องที่อ่านได้ง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราพัฒนาฝีมือไปได้อีกไกล
4. อย่าเขียนถ้าไม่รู้ความหมายจริงๆ
"นักเขียนที่ดี" ต้องไม่เขียนในสิ่งที่รู้ไม่จริง ข้อนี้สำคัญมาก นอกจากห้ามเขียนเพราะไม่รู้ความหมายแล้ว ต้องห้ามเขียนถ้ายังไม่แน่ใจด้วย เช่น เราจะเขียนนิยายในยุคประวัติศาสตร์ หรือเขียนแนวย้อนยุค ก็ไม่ควรมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยไปอยู่ในช่วงนั้น รวมถึงภาษาที่ใช้ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ควรอ้างอิงให้มีความเป็นจริงมากขึ้น แต่เราสามารถหาข้อมูลได้จากโลกออนไลน์ หาอ่านศึกษาให้มากพอที่จะใช้เป็นข้อมูลในการเขียนหรือหากเขียนแนวแฟนตาซีหลุดโลก ก็ควรเข้าใจว่าภาษาหรือถ้อยคำที่ใช้ เราเข้าใจความหมายในคำศัพท์ระบบเกม การเงินออนไลน์ โลกแห่งอนาคตดีพอหรือยัง ถ้ายังรู้จักไม่ดีพอ นิยายของเราก็จะไปได้อย่างไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไปได้ถ้าเราสามารถสร้างคำศัพท์ขึ้นมาใหม่แล้วมีการนิยามคำศัพท์อธิบายการใช้คำเหล่านั้นด้วย ก็จะเป็นไปได้เช่นกัน
5. ระวังเรื่องการขยายคำ/ความ ยกเว้น สี ขนาด และจำนวน
ในส่วนนี้เขาแนะนำให้ใช้คำวิเศษ หรือ Adverb ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับนิยายภาษาอังกฤษการขยายความมากเกินไปก็อาจจะไปผิดกฎข้อหนึ่งที่บอกว่าให้เขียนประโยคหนึ่งไม่เกิน 12 คำ ขณะที่ในภาษาไทยการขยายความหรืออธิบายคำนั้นเป็นวิธีทางภาษาอย่างหนึ่งที่ทำให้คนอ่านจินตนาการได้มากขึ้น โดยข้อดีของการเขียนขยายความจะทำให้คำ/ประโยคได้ใจความและสื่อความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียนั้น จะทำให้นิยายมีคำฟุ่มเฟือย/ซ้ำซ้อน และไม่กระชับ ดังนั้นนักเขียนต้องนำมาปรับวิธีการเขียนให้เข้ากับสไตล์การเขียนของตนเอง
6. ไม่ควรเขียนนามธรรมมากเกินไป
บางคนบอกว่านิยายคืองานสร้างสรรค์ ดังนั้นการจินตนาการจึงมีความเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้อยู่แล้ว แต่ทว่าเรื่องราวในนิยายกลับอิงกับความเป็นจริงหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งความคิด ประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้กับปัญหา เรื่องราวเหล่านี้จึงผสมผสานกันอย่างลงตัวจนทำให้คนอ่านเกิดจินตนาการตามไปด้วยเช่นกัน หากเราเขียนในสิ่งที่รับรู้ได้แค่ฝันในใจแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง หรือคนอ่านเข้าไม่ถึง นิยายของเราก็จะเป็นเพียงแค่นิยายฝันเฟื่องเท่านั้น คนอ่านก็จะไม่ได้อะไรจากนิยายของเรา ดังนั้น เราต้องพยายามเขียนเล่าเรื่องให้ชัดเจน และอิงกับความเป็นจริง แต่ต้องไม่ลืมว่ามันก็มีนิยายที่ฝันเฟื่องมากมายเช่นกัน และเราในฐานะผู้เขียนต้องสาธยายให้ได้ถึงแก่นสร้างจินตนาการร่วมให้เกิดกับคนอ่านให้ได้ มีนิยายแนวนี้ที่โด่งดัง เช่น
แฮรี่พอตเตอร์ เป็นต้น
7. ทำตามกฎทั้ง 6 ข้อนี้ติดต่อกันนาน 6 เดือน เริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีเขียนเป็นอย่างแรก ลองเขียนนิยายด้วยประโยคง่ายๆ แต่เข้าใจได้ดูก่อน จากนั้นลองเขียนบรรยายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และลองอ่านทวนซ้ำเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของเราอีกที การทำแบบนี้ซ้ำๆ ติดต่อกันทุกวัน ถือเป็นการฝึกการใช้ภาษาของเราไปด้วย แล้วจะเห็นว่ามีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุง มีส่วนไหนที่เราอ่านเองก็ยังงงๆ และไม่เข้าใจ วิธีนี้จะทำให้เห็นพัฒนาการของเราได้ดียิ่งขึ้น
Cr.พี่แนนนี่เพน
Columnist dek-d.com
25/01/62 16:00
โฆษณา