6 มิ.ย. 2021 เวลา 09:53 • ปรัชญา
"Self-serving Bias : ความสำเร็จเป็นของฉัน แต่ความผิดนั้นไม่ใช่"
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเราทุกคนจะมี "อคติ" ติดตัวกันอยู่ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ว่า สิ่งที่เราคิดอยู่ตอนนั้นมันเกิดขึ้นจากอคติหรือไม่
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้อคติเป็นบรรทัดฐานในการคิดหรือตัดสินใจ ใช้เป็นประจำ มันจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเราที่เราจะมองสิ่งต่าง ๆ บิดเบือนไปจากความเป็นจริง
และอคติที่เราเจอได้บ่อยในชีวิตประจำวัน และเรามักจะไม่รู้ตัวว่า นั่นแหละคืออคติ นั่นคือ Self-serving bias
หากจำบทความที่ผมเคยเขียนได้ ผมมักจะย้ำอยู่เสมอว่า สิ่งสำคัญที่คนเราทุกคนจะพยายามปกป้องเอาไว้เสมอ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่นั่นก็คือ การรู้สึกว่าตัวเองนั้นมีคุณค่า หรือที่เรียกว่า Self-esteem
เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่า มันก็ไม่ต่างอะไรกับรถยนต์ที่ไม่มีน้ำมัน ใช้ขับไปไหนก็ไม่ได้ หนัก ๆ เข้าบางคนถึงขั้นไม่มีกำลังใจที่จะอยู่ต่อ
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงมักจะสร้างกลไกป้องกันความรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าอยู่ขึ้นมา ด้วยการคิดว่าตัวเราเองก็ยังมีข้อดีอยู่นะ แต่ถ้าอะไรที่มันไม่ดีละก็ สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากเราหรอก
ยังจำตอนที่เรายังเป็นนักเรียนกันอยู่ได้ใช่ไหมครับ เวลาที่เราสอบแล้วคะแนนออกมาไม่ได้ดีอย่างที่คิดเราจะใช้เหตุผลอะไรในการอธิบายเรื่องนั้นกับพ่อแม่? เชื่อว่าเหตุผลที่ผุดขึ้นมาในใจหลาย ๆ คนจะเป็นทำนองว่า อาจารย์ออกข้อสอบยากเกินไป อาจารย์สอนไม่รู้เรื่อง หรือข้อสอบออกไม่ตรงกับที่เก็งไว้ แต่จะมีแค่ส่วนน้อยที่จะยอมรับว่า ที่เราสอบได้คะแนนไม่ดีนั้นเกิดจากที่เราเตรียมตัวไปสอบไม่มากพอ
แต่ในทางกลับกัน ถ้าคะแนนสอบของเราออกมาดีกว่าที่คาด เราก็มักจะไม่คิดว่าข้อสอบง่ายเกินไป หรือดวงดีเดาคำตอบถูก แต่เรามักจะรับเครดิตนั้นเอาไว้เองว่า คะแนนที่เห็นนั้นเกิดจากความสามารถของเราเอง
นี่แหละครับ ตัวอย่างของ Self-serving bias อะไรที่เป็นเรื่องดีเรามักจะคิดว่ามันเกิดจากฝีมือของเราเอง แต่ถ้าอะไรก็ตามที่มันไม่ดีเรามักจะปัดให้เป็นความรับผิดชอบของสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เรามากกว่า
และ Self-serving bias นี่อยู่ใกล้ตัวกับชีวิตประจำวันเรามากกว่าที่คิดครับ เช่น เราเลือกที่จะแชร์ Fake News ได้โดยแทบไม่คิด เพียงเพราะเนื้อข่าวนั้นตรงกับที่ตัวเองคิด แต่ถ้าต่อมาคนที่เดือดร้อนจาก Fake News นั้นมาเอาผิดกับเรา เรากลับแก้ตัวว่า "ก็เห็นคนอื่นเค้าแชร์ ๆ กันมาอีกต่อ" ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราก็รู้ดีว่าการแชร์ Fake News เป็นสิ่งที่ผิดและเราก็ได้แชร์สิ่งนั้นไปแล้ว
หรือแม้แต่การตัดสินคนอื่นก็เช่นกัน เรามักจะตัดสินคนอื่นตามสิ่งที่เราเห็นและคิดว่าน่าจะเป็น (ซึ่งคนที่มีลักษณะนี้มักจะมองคนอื่นในแง่ลบเอาไว้ก่อน) แต่หากว่าคนอื่นไม่ได้เป็นอย่างที่ตนเองคิด เราก็มักจะปล่อยผ่านสิ่งที่เราเพิ่งกล่าวหาเขาไปเฉย ๆ บางทีแม้แต่คำขอโทษก็ไม่มี เหตุการณ์นี้มักพบเห็นได้บ่อย ๆ จากกรณี Cyberbullying บนโลกอินเตอร์เนท
Self-serving bias เป็นการพยายามคิดเพื่อรักษาคุณค่าของตัวเองเอาไว้ (ซึ่งรวมถึงความคิดว่า ความเชื่อหรือความคิดตัวเองนั้นไม่ผิด) แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็ได้บิดเบือนความเป็นจริงของสิ่งที่อยู่ภายนอกไปด้วย
คนที่เลือกใช้ Self-serving bias เป็นประจำจะมีผลทำให้เขาชอบที่จะเอาความคิดตัวเองเป็นหลัก ไม่ยอมรับความเห็นต่างของคนอื่น หรือที่เรียกว่า Self-centered ซึ่งลักษณะนี้มักจะสร้างปัญหาให้คนรอบข้างหรือสังคม
เพราะเขาจะมองทุกอย่างแค่ตามที่เขาคิดว่ามันถูกต้อง แต่ไม่สนใจความเป็นจริงที่แม้ว่ามันจะมีความสำคัญขนาดนั้น แต่หากมันขัดจากสิ่งที่เขาคิด เขาก็จะไม่สนใจมันอีกเลย
คนที่มี Self-serving bias จึงเป็นคนที่ปรับความเข้าใจได้ด้วยยากที่สุด และอยู่ร่วมด้วยยากที่สุด
โฆษณา