7 มิ.ย. 2021 เวลา 10:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Stock investment Ep. 6
=> ทำความรู้จักวัฏจักรเศรษฐกิจ
จากโพสที่แล้ว Stock investment Ep. 5 ได้พูดถึงการวิเคราะห์การลงทุนในหุ้นโดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งวันนี้ Stock investment Ep. 6 จะมาเจาะลึกหัวข้อการวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจกันครับ ใครที่ยังไม่อ่านบทความก่อนหน้านี้สามารถย้อนกลับไปอ่านเพื่อจะได้เช้าใจภาพรวมมากขึ้นครับ
วัฏจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle ) คืออะไร ??
หมายถึง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเสี่ยงและผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยแต่ละสินทรัพย์จะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน
 
วัฏจักรเศรษฐกิจจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยในแต่ละระยะไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่เท่ากัน โดยเฉลี่ยแต่ละระยะจะใช้เวลาประมาณ 2-5 ปี ซึ่งโดยรวมแล้ววัฏจักรเศรษฐกิจจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี จึงมีคำกล่าวที่หลายๆคนเคยได้ยินว่า วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี แต่มันก็ไม่เสมอไปนะครับ
วัฏจักรเศรษฐกิจจะประกอบไปด้วยหลายตัวแปรที่กำหนดการเปลี่ยนแปลง แต่จะมี 2 ตัวแปรหลักที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ อัตราเงินเฟ้อ และ อัตราดอกเบี้ย
 
อัตราเงินเฟ้อ ( Inflation ) คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยที่ประชาชนจะมีอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าต่ำ แปลง่ายๆเลยว่า ของชิ้นเดิมแต่เราต้องซื้อในราคาที่แพงขึ้น ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2530 ข้าวผัดจานละ 10 บาท แต่ในปี พ.ศ. 2564 ข้าวผัดจานละ 50 บาทแถมได้น้อยลงด้วย
 
อัตราดอกเบี้ย (Interest rate) คือ ต้นทุนทางการเงินที่สำคัญของผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และผู้ลงทุน โดยส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยจะถูกกำหนดจาก ภาพรวมอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางทั่วโลก , ภาวะเศรษฐกิจเทียบกับเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น ถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำลงจะทำให้ต้นทุนของบริษัทที่ต้องการเงินลงทุนต่ำ
วัฏจักรเศรษฐกิจสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะดังนี้
 
1) ระยะฟื้นตัว ( Recovery ) เป็นภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด ในระยะนี้เศรษฐกิจโดยทั่วไปเริ่มจะดีขึ้น ราคาสินค้าเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น กำไรของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น ผู้ผลิตจะหันมาลงทุนในกิจการมากขึ้น การผลิตผลผลิตเพิ่มขึ้น การจ้างงานก็จะสูงขึ้น ประชาชนเริ่มมีรายได้ดีขึ้น ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารรวมทั้งสถาบันการเงินอื่นๆจะเริ่มปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำลงเพื่อกระตุ้นการลงทุนของผู้ประกอบการ
Lead indicator => อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ
=> ในช่วงระยะนี้เป็นช่วงนี้เหมาะแก่การลงทุนมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเนื่องจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องผลิตมากขึ้น กลุ่มพลังงานและกลุ่มขนส่ง การฟื้นตัวจะทำให้เกิดการเดินทางและการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง กลุ่มอุปโภคบริโภคเติบโตตามความต้องการสินค้า
 
2) ระยะเฟื่องฟู ( Peak ) ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบมีกำไรไปในทางที่ดีมาก นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ การลงทุนต่างๆจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นมาก และสามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการได้มากขึ้น เป็นระยะที่มีการซื้อง่ายขายคล่อง เศรษฐกิจจะมีการเจริญเติบโตในอัตราสูง ราคาของสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจนอาจจะก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อขึ้นมาได้
Lead indicator => อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่ปรับสูงขึ้น
=> ในช่วงระยะนี้สินค้าฟุ่มเฟือยทางด้านเทคโนโลยีจะค่อนข้างขายดี เครื่องประดับจะขายดี ประชาชนมีกำลังที่จะจับจ่ายใช้สอย กลุ่มพลังงานยังคงเติบโตรวมถึงการขนส่ง ในระยะนี้นักลงทุนบางกลุ่มจะหันมาสนใจพวกกลุ่มที่เป็น Defensive stock เช่นกลุ่มโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุน
 
3) ระยะถดถอย ( Recession ) เป็นระยะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากการที่มีการผลิต การลงทุน และการบริโภครวมเกินกว่ากำลังการผลิตของประเทศ รวมทั้งการที่ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้นเพราะจะต้องแข่งขันกันในการแย่งทรัพยากรการผลิต สภาพการแข่งขันกันผลิตทำให้ราคาและผลตอบแทนลดต่ำลง ผู้ผลิตจึงลดการลงทุน ส่งผลให้การผลิตและการจ้างงานลดลง รายได้ของประชาชนน้อยลง สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปเริ่มมีแนวโน้มที่แย่ลง
Lead indicator => อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง
=> ช่วงระยะนี้จะกลับเป็นกลุ่มที่ไม่ว่ายังไงทุกคนก็จำเป็นต้องใช้เช่น กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มค้าปลีกอุปโภคบริโภค และกลุ่มธนาคารที่ได้ผลดีจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงคือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มเทคโนโลยี
 
4) ระยะตกต่ำ ( Trough ) การลงทุนรวมจะลดลงมาก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ธนาคารและสถาบันการเงินจะเร่งรัดให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการชำระเงินต้นและจ่ายคืน ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะไม่มีความมั่นใจในกำไรและอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ สินค้าเหลือค้างจำนวนมาก ในที่สุดเศรษฐกิจจะเกิดการหดตัวลงถึงจุดต่ำสุด การจ้างงานและการบริโภคจะต่ำลง
Lead indicator => อัตราเงินเฟ้อเริ่มอ่อนตัวลง อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่จะเริ่มเห็นมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดอัตราดอกเบี้ย
=> ช่วงระยะนี้ยังคงเน้นเกี่ยวกับจำพวกกลุ่มสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันพวกอุปโภคและบริโภค
โฆษณา