9 มิ.ย. 2021 เวลา 02:20 • ประวัติศาสตร์
“สงครามโลกครั้งที่ 1 (World War I)” สงครามที่นำไปสู่ “การปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution)”
“สงครามโลกครั้งที่ 1 (World War I)” เป็นสงครามที่ทำให้อาณาจักรหลายแห่งต้องสั่นสะเทือน และหนึ่งในนั้นคือ “รัสเซีย (Russia)”
“จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II of Russia)” ทรงประกาศสงครามต่อเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457)
ในเวลานั้น พระองค์ทรงเป็นพระประมุขแห่งดินแดนกว้างใหญ่ มีประชากรเกือบ 150 ล้านคน เนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล
จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II of Russia)
ในเวลาต่อมา ไม่ถึงสามปีหลังจากนั้น เดือนมีนาคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) หลังจากที่ทหารในเปโตรกราดเข้าร่วมกับคนงานที่ออกมาประท้วงพระเจ้าซาร์นิโคนัสที่ 2 พระองค์ก็ต้องสละราชสมบัติ
ในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น พระองค์และครอบครัวก็ถูกควบคุมองค์และปลงพระชนม์หมู่ ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟที่อยู่มานานกว่า 300 ปีต้องสิ้นสุดลง
1
การสังหารราชวงศ์โรมานอฟ
ภายหลังจากที่ราชวงศ์โรมานอฟล่มสลาย ต่อมา สหภาพโซเวียตก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก
จนถึงทุกวันนี้ นักประวัติศาสตร์ที่สนใจในเรื่องราวของราชวงศ์รัสเซีย ก็ยังมีคำถามที่ยังถกเถียงกันไม่รู้จบ
“สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการปฏิวัติรัสเซีย หรือเป็นเพียงสิ่งที่กระตุ้นทำให้ราชวงศ์รัสเซียที่ปรับตัวไม่ทันโลก ต้องล่มสลาย?”
ก่อนจะเกิดสงคราม บางคนอาจจะคิดว่ารัสเซียในเวลานั้นกำลังค่อยๆ ปรับตัว มีการปรับตัวทางการเมืองให้เข้ากับยุคสมัย มีคนที่มีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซียก็จัดว่าเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
3
แต่นักประวัติศาสตร์บางคนได้ให้ความเห็นว่า การปกครองของราชวงศ์โรมานอฟในเวลานั้น กำลังเจอกับความท้าทายที่น่าหนักใจหลายอย่าง ทั้งสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของคนงานที่อยู่ในขั้นเลวร้าย จนถึงการประท้วง การปะทะระหว่างผู้ประท้วงและทหารจนเกิดการนองเลือด
และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ทรงพยายามจะให้ชะลอการปฏิรูปประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ในปีค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) พระองค์ก็ทรงยินยอมให้มีการปฏิรูป
นักประวัติศาสตร์บางรายได้แสดงความเห็นว่า การที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงหวงอำนาจ ทำให้รัสเซียเริ่มจะตามหลังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ทั้งในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ด้วยภาวะเช่นนี้ ทำให้เมื่อเกิดสงคราม รัสเซียก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่เข้มแข็งนัก
โรงงานผลิตอาวุธของรัสเซียไม่สามารถผลิตอาวุธและกระสุนปืนได้มากพอสำหรับทหารรัสเซียกว่า 1.4 ล้านคน โดยในระยะแรกของสงคราม รัสเซียมีทหารในเครื่องแบบกว่า 800,000 คน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่มีปืนให้ฝึก เนื่องจากปืนมีจำกัด คนที่มีปืน ปืนที่ใช้ฝึกก็เก่ามาก มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี
ในสมรภูมิ ทหารบางรายต้องเข้าไปในสนามรบมือเปล่า ปราศจากปืน ต้องคอยเก็บปืนจากทหารที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ และประสิทธิภาพการผลิตกระสุนของรัสเซีย ก็อยู่ที่เพียงวันละ 13,000 นัดต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนทหาร
1
สถานการณ์เดิมก็เลวร้ายอยู่แล้ว และก็ยิ่งดิ่งหนักเมื่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงตัดสินพระทัย นำทัพด้วยพระองค์เอง ทั้งๆ ที่ทรงอ่อนประสบการณ์ และไม่เคยได้ฝึกจริงๆ จังๆ
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้เสด็จออกจากเปโตรกราดพร้อมกองทัพรัสเซีย ทิ้งให้ “จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Alexandra Feodorovna)” พระมเหสีซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากเยอรมนี ประทับอยู่ในรัสเซีย
จักรพรรดินีอเล็กซานดราทรงมีพระลักษณะที่หุนหันพลันแล่น ไม่ได้ทรงอ่อนโยน อีกทั้งพระองค์ยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ทรงโปรดวัฒนธรรมรัสเซีย ทำให้พระองค์ไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนเท่าไรนัก
จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Alexandra Feodorovna)
กองทัพรัสเซียภายใต้การนำของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ประสบกับหายนะ
กองทัพรัสเซียพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ทหารรัสเซียบาดเจ็บและล้มตายกว่า 30,000 นาย ถูกจับเป็นเชลยกว่า 100,000 นาย
สถานการณ์มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ และภายในสิ้นปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) รัสเซียก็ต้องสูญกำลังไปกว่าหนึ่งล้านนาย กระสุนก็แทบไม่เหลือ กระบวนการผลิตก็ไม่เพียงพอสำหรับอาวุธและกระสุน
ภายในฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) กองทัพรัสเซียต้องถอยทัพ และการถอยทัพนี้ ก็ทำให้กลุ่มผู้อพยพซึ่งไม่มีที่ไป ได้ลักลอบเข้ามาในรัสเซีย ซึ่งในเวลานั้น รัสเซียเองก็กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต
ในเวลานั้น รัสเซียอยู่ในภาวะย่ำแย่ สินค้าขาดตลาด เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วประเทศ ความหิวโหยกระจายไปทั่ว รัฐบาลรัสเซียก็รู้สึกกดดันอย่างหนัก
แต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ไม่ได้ทรงทุกข์ร้อนอะไร นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าพระองค์ทรงเชื่อว่าประชาชนนั้นรักและผูกพันธ์กับพระองค์
ราชวงศ์ของพระองค์อยู่มานานกว่า 300 ปีแล้ว และพระองค์ก็ทรงเชื่อว่านี่คือพระประสงค์ของพระเจ้า
2
ในช่วงสงครามที่ผ่านมา รัสเซียผลิตอาหารได้เพียงพอสำหรับประชาชน หากแต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่อดอยาก
1
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การผลิต หากแต่อยู่ที่การขนส่งและแจกจ่าย ทำให้เสบียงขาดแคลน และเนื่องจากความอ่อนด้อยในการบริหาร ทำให้หลายฝ่ายที่เคยสนับสนุนราชสำนัก เริ่มจะตีตัวออกห่าง
สภาดูมา (Duma) ซึ่งเป็นสภาที่ผู้นั่งในสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ไม่สามารถคัดค้านการบริหารที่ผิดพลาดของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ เนื่องจากพระองค์ทรงมีอำนาจที่จะยุบสภาได้หากพระองค์ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย
2
แต่ถึงอย่างนั้น สมาชิกสภาหลายคนก็บ่นดังๆ ถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
1
และเมื่อถึงต้นปีค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) รัสเซียก็ต้องประสบกับวิกฤต ชนิดที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จะทรงเป็นทองไม่รู้ร้อนอีกไม่ได้แล้ว
ผู้คนเริ่มอดอยากหนักขึ้น แถวที่แจกอาหารเริ่มผุดขึ้นตามเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในเปโตรกราด และในช่วงเวลานี้ เหล่าคนงานในโรงงานก็ประท้วง หยุดงานเพื่อขอขึ้นค่าแรง เนื่องจากค่าแรงที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอกับค่าอาหาร
ต่อมาไม่นาน ผู้คนนับหมื่นก็ได้ลงถนน เดินขบวนกลางกรุงเปโตรกราด โดยผู้ประท้วงมีทั้งเหล่าคนงานและผู้เป็นแม่ที่ต้องการอาหารเพื่อไปเลี้ยงลูก
ตลอดเวลาสามวันที่เกิดการประท้วง ราชสำนักได้สั่งให้ทหารทำการสลายการชุมนุม โดยอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงได้ ซึ่งก็จบลงด้วยการเสียชีวิตของคนเกือบ 100 คน
1
สุดท้าย ทหารกลับไปเข้าร่วมกับผู้ชุมนุม
ในเวลานี้ กองทัพซึ่งเล็งเห็นความล้มเหลวในการบริหารและศรัทธาที่เสื่อมถอยของประชาชน ก็ไม่เอาพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 อีกแล้ว ทำให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ต้องสละบัลลังก์ในที่สุด
สงครามได้นำพาให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงสูญเสียอำนาจ หากแต่การปฏิวัตินี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
เมื่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงสูญเสียอำนาจ ก็ได้เกิดรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลชั่วคราวก็ประกอบด้วยสมาชิกสภาดูมา และนักสังคมนิยมอีกจำนวนหนึ่ง
เยอรมนี ซึ่งต้องการจะกำจัดรัสเซียออกจากสงคราม เพื่อที่จะได้มุ่งในการสู้รบกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ก็ได้ทำการกดดันรัฐบาลชั่วคราวของรัสเซีย
มีการเรียกให้ “วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)” นักปฏิวัติ ผู้นำพรรคบอลเชวิค กลับมายังรัสเซีย โดยเลนินมีสโลแกนว่า
“สันติภาพ ดินแดน ขนมปัง (Peace, Land, Bread)”
สโลแกนของเลนินนั้นถูกใจคนรัสเซียจำนวนมาก ซึ่งในเวลานั้นกำลังเบื่อหน่ายสงคราม
วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)
ในที่สุด รัฐบาลชั่วคราวก็ล่มสลาย และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) พรรคบอลเชวิคก็ขึ้นสู่อำนาจ
1
ในเดือนมีนาคมปีต่อมา รัฐบาลบอลเชวิคได้เซ็นสนธิสัญญาสันติภาพเบรสท์-ลีตอฟสก์กับมหาอำนาจกลาง โดยยอมยกดินแดนกว่าหนึ่งล้านตารางไมล์ให้เยอรมนี
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ระบอบการปกครองของราชวงศ์โรมานอฟก็สิ้นสุด หากแต่สันติภาพยังคงไม่เกิดในรัสเซีย
ได้เกิดสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา โดยพรรคบอลเชวิคได้รับชัยชนะ และมีการเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อก่อตั้ง “สหภาพโซเวียต (Soviet Union)”
โฆษณา