พาล่องเรือในแม่น้ำโขง ไปชมถ้ำปากอู พุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งหลวงพระบาง
เมื่อมาถึง หลวงพระบาง ประเทศลาว แล้ว เราคงจะต้องไปล่องแม่น้ำโขงกันค่ะ เนื่องจาก แม่น้ำโขง ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศในแถบเอเชีย โดยแม่น้ำโขง ไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้
การที่แม่น้ำโขงไหลผ่านหลายประเทศเช่นเดียวกับ แม่น้ำดานูบในยุโรป ทำให้บางคนเรียกว่า แม่น้ำนานาชาติ และทำให้ได้รับการขนานนามว่า แม่น้ำดานูบตะวันออก
วันนี้จะพาท่านผู้อ่าน ล่องเรือในแม่น้ำโขง ไปชมถ้ำปากอู หรือ ถ้ำติ่ง พุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งหลวงพระบาง ค่ะ
ประวัติและความเป็นมา
ถ้ำปากอู หรือ ถ้ำติ่ง เป็นถ้ำที่อยู่กลางภูเขาลูกใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนริมแม่น้ำโขง ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบาง ประมาณ 29 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามบ้านปากอู จุดเชื่อมของแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำโขง และแม่น้ำอู มาบรรจบกัน จึงเป็นที่มาของ ชื่อ "ถ้ำปากอู" นี้
ถ้ำปากอู หรือ ถ้ำติ่ง เป็นเทวสถานของเจ้าที่แม่น้ำ และมีความสำคัญมาอย่างยาวนานกับชาวหลวงพระบาง โดยในสมัยโบราณเป็นที่สักการะบวงสรวงดวงวิญญาณ ผีฟ้า เทวดาผาติ่ง ซึ่งหินงอกหินย้อยที่มีอยู่มากมายภายในถ้ำนั้น เป็นที่สิงสถิตของผี ทั้งวิญญาณในน้ำ และในถ้ำ
ต่อมาศาสนาพุทธเริ่มเข้ามาเผยแผ่ผ่านมาทางชาวมอญในราวๆ พุทธศตวรรษที่ 13 และได้รับการนับถือกันอย่างแพร่หลายคู่ไปกับความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องของการนับถือบูชาผีฟ้า เทวดา
ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูแห่งศาสนาพุทธ ในรัชสมัยของพระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. 2063 - พ.ศ. 2090) พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้เลื่อมใสในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก ทรงสร้างวัดวาอารามต่างๆ มากมาย และประกาศยกเลิกไม่ให้ประชาชนนับถือผีสางแต่ให้มายึดมั่นในพระพุทธศาสนา
ความเชื่อในเรื่องการบูชาภูติผีจึงลดบทบาทไป ถ้ำติ่งจึงถูกทิ้งร้าง จนมาในปี พ.ศ. 2091 ถ้ำติ่งถูกค้นพบอีกครั้งโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา (พระเจ้าโพธิสารราช) ในขณะทำการก่อสร้างวัดปากอู ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้าม
ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่มายังถ้ำปากอู คือ ฟรานซิส การ์นิเย่ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1865
จากนั้นมาถ้ำติ่ง ก็กลายเป็นพุทธสถาน ที่นักแสวงบุญในพุทธศาสนาได้เดินทางมาสักการะอย่างต่อเนื่อง และตามธรรมเนียมความเชื่อ นักแสวงบุญก็จะทิ้งพระพุทธรูปไว้ในถ้ำ ทำให้ทุกวันนี้มีพระพุทธรูปกว่า 4,000 องค์ ส่วนใหญ่แล้วมีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 24-25 กว่า 2,500 องค์ ส่วนองค์ที่เก่าที่สุดนั้นสร้างจากไม้ และมีอีกหลายองค์ที่หล่อจากสำริดลงรักปิดทอง
เนื่องจากถ้ำปากอูเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวลาวหลวงพระบางให้ความเคารพนับถือกันมาอย่างยาวนาน และมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีกมากมาย รวมถึงมีความสำคัญทางศาสนาอย่างมาก ในเทศกาลสงกรานต์ชาวลาวจะนำน้ำมาทำพิธีกรรมเพื่อนำไปสรงน้ำพระในเมืองด้วย
จุดท่องเที่ยวสำคัญ
ถ้ำติ่งล่าง หรือถ้ำลุ่ม ในภาษาลาว อยู่เหนือจากท่าจอดเรือเล็กน้อย บริเวณหน้าปากถ้ำมีรูปแกะสลักจิ้งจอก 2 ตัวทาสีขาวหันหัวเข้าหากัน ตรงบริเวณโขดหิน แทนสัญลักษณ์ว่าเป็นจุดที่แม่น้ำ 2 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำโขงและแม่น้ำอู มีพระพุทธรูปจำนวนมากหลายขนาด ทำมาจากไม้ ดิน ปูน สัมฤทธิ์ฯ โดยถ้ำติ่งลุ่มมีลักษณะเป็นโพรงตื้นๆ สูงประมาณ 60 เมตร จากพื้นน้ำ มีหินงอกหินย้อยเล็กน้อย ตามความเชื่อโบราณกล่าวว่าจะมีสิ่งของมีค่าซ่อนอยู่ภายในถ้ำ
ส่วนใหญ่พระพุทธรูปภายในถ้ำปากอูจะมีลักษณะเป็นพระยืน มีทั้งปางประทานพร และปางห้ามญาติ ความสำคัญของถ้ำติ่งในสมัยโบราณคือการเป็นที่สักการะบวงสรวงดวงวิญญาณ ผีฟ้า ผีแถน เทวดาผาติ่ง ซึ่งเมื่อตอนค้นพบใหม่มีพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งทำด้วยเงิน และทองคำ แต่ปัจจุบันถูกลอกออกไปหมด
ถ้ำติ่งเทิง หรือถ้ำติ่งบน จะมีทางแยกซ้ายเดินขึ้นบันไดไป 218 ขั้น สองข้างทางจะร่มรื่นไปด้วยเงาไม้ ลักษณะถ้ำติ่งบนเป็นปากถ้ำไม่ลึกมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำเล็กน้อย ไม่เยอะเท่าถ้ำติ่งล่าง
การเข้าชมภายในถ้ำติ่งบนนี้ มีความมืดพอสมควร ต้องใช้ไฟฉายส่องนำทาง ซึ่งที่ปากถ้ำมีไฟฉายให้เช่าอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าไปชมภายใน
ผู้เขียนได้ไปชมเฉพาะ ถ้ำติ่งล่าง และสักการะ พระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รู้สึกได้ถึงความศรัทธาของชาวลาว ต่อพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับคนไทย
การล่องเรือครึ่งวันในแม่น้ำโขง และชมทิวทัศน์รอบๆเรือ พร้อมกับเพลิดเพลินไปกับสายลมเบาๆ และแสงแดดอบอุ่นยามเช้า ทำให้เป็นทริปที่ประทับใจ และขณะล่องเรือกลับ กำลังหิว ได้เวลาอาหารพอดี เราก็ได้รับประทานอาหารกลางวันกันบนเรืออย่างอิ่มอร่อยเลยค่ะ
การล่องเรือในครั้งนี้ น่าจะเป็นตัวเลือกให้ท่านผู้อ่านได้ไปเยี่ยมชมถ้ำปากอูได้บ้างนะคะ
อ้างอิง: