10 มิ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
อ่านงบกำไรขาดทุนใน 5 นาที
งบกำไรขาดทุน เป็นงบสุดฮิตที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ เพราะมันช่วยบอกเราได้ว่ากิจการดำเนินการได้ดีมีกำไรอยู่หรือเปล่า
วันนี้เราจะชวนทุกคนมาอ่านงบกำไรขาดทุนกันแบบง่ายๆ เข้าใจได้ภายใน 5 นาทีกัน
อ่านงบกำไรขาดทุนใน 5 นาที
งบกำไรขาดทุน คือ อะไร?
งบกำไรขาดทุนคืออะไร
งบกำไรขาดทุน คือ งบที่แสดงผลการดำเนินงานของกิจการว่าดีหรือไม่ ในระหว่างช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในงบกำไรขาดทุน บรรทัดสุดท้ายบอกว่ามีกำไร 100,000 บาท ในปี 2563
นั่นแปลว่า ในช่วงเวลา 1 ปีตั้งแต่ 1 มค. – 31 ธค. 2563 เรามีผลการดำเนินงานที่ดีเพราะมีกำไรสุทธิจำนวน 100,000 บาท
สมการงบกำไรขาดทุน
สมการของงบกำไรขาดทุน เป็นอย่างไร?
สมการของงบกำไรขาดทุน เกิดจาก 3 องค์ประกอบง่ายๆ ตามนี้
รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไรหรือขาดทุน
1. รายได้ ลบด้วย
2. ค่าใช้จ่าย เท่ากับ
3. กำไรหรือขาดทุน
จำตัวเลข 3 กลุ่มนี้เอาไว้ดีๆ แล้วไปดูกันต่อว่า แต่ละกลุ่มมันอยู่ตรงไหน ในตัวอย่างงบกำไรขาดทุนจริง
ตัวอย่างงบกำไรขาดทุน
ถ้าลองดูตัวอย่างงบกำไรขาดทุนที่นิยมใช้กันข้างบน
เราจะพบว่างบนี้จะมีองค์ประกอบของ 1) รายได้ 2) ค่าใช้จ่าย และ 3) กำไรหรือขาดทุน อย่างครบถ้วนเสมอ (3 หมวดนี้ชื่อคุ้นๆ เหมือนในสมการเลย)
หมวดรายได้ จะอยู่บนสุด และจะแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ
ส่วนค่าใช้จ่าย จะอยู่ในส่วนถัดมา เพราะต้องเอามาหักลบกับรายได้
แต่ค่าใช้จ่ายจะพิเศษกว่ารายได้สักนิด เพราะจะมีค่าใช้จ่ายบางส่วน แยกแสดงออกมาด้านล่างๆ คือ ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ (แต่โดยรวมแล้วมันก็คือค่าใช้จ่ายเหมือนกันนะ)
สาเหตุที่งบนี้แยกประเภทค่าใช้จ่ายออกมาหลายจุด เพราะต้องการแสดงกำไรขาดทุนแบบหลายๆ ขั้น ตั้งแต่ 1) กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน 2) กำไรก่อนภาษีเงินได้ และ 3) สุดท้าย คือ กำไรสุทธิ เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูล
จากงบตัวอย่างนี้ ถ้าลองกดเครื่องคิดเลขเล่นๆ
กิจการมีรายได้รวม 380,140 บาท หักด้วยค่าใช้จ่าย (239,000+ 300 + 25,000) ทำให้มีกำไรสุทธิ = 115,840 บาท ตรงตามสมการที่อ่านมาเป๊ะ
ที่นี้มาดูรายละเอียดแยกเป็น 3 กลุ่มกัน ว่าแต่ละอันมันหมายความว่าอย่างไรบ้าง?
กลุ่ม1: รายได้คืออะไร?
กลุ่ม 1 รายได้ (Income)
รายได้ คือ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจของเรา
เมื่อมีรายได้เข้ามาแน่นอนว่ามันมักจะให้กระแสเงินสดของกิจการเพิ่มขึ้น หรือกิจการมีความร่ำรวยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ในงบนี้ รายได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยๆ คือ
1) รายได้จากการขาย เป็นรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าหรือบริการจากการดำเนินงานตามปกติของธุรกิจเรา เช่น กิจการขายน้ำปลาร้า มีรายได้จากการขายน้ำปลาร้าบรรจุขวด
2) รายได้อื่น หมายถึง รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานตามปกติของธุรกิจเรา เป็นผลพลอยได้เล็กๆ น้อยๆ ของกิจการ เช่น ดอกเบี้ยรับ
กลุ่ม2: ค่าใช้จ่าย
กลุ่ม 2 ค่าใช้จ่าย (Expenses)
ค่าใช้จ่าย ตัวนี้เป็นต้นทุนส่วนที่หักออกจากรายได้ในงบกำไรขาดทุน เป็นการใช้จ่ายเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการ หรือทำเพื่อให้มีรายได้เข้ามาในกิจการ
จากตัวอย่างงบกำไรขาดทุนนี้ ค่าใช้จ่ายถูกแบ่งเป็น 5 ประเภทหลักๆ
1) ต้นทุนขาย ก็คือ ต้นทุนของสินค้าที่ขาย หรือต้นทุนบริการที่ให้แก่ลูกค้า ขึ้นอยู่กับว่ากิจการเรามีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง เช่น กิจการขายน้ำปลาร้า มีต้นทุนขายเป็นค่าผลิตน้ำปลาร้าบรรจุขวด
2) ค่าใช้จ่ายในการขาย เป็นค่าใช้จ่ายที่ทำให้ขายได้ ขายดี ขายเร็ว เช่น ค่านายหน้า ค่าพนักงานขาย ค่าโฆษณา
3) ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปในการบริหารงานออฟฟิศ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าน้ำค่าไฟสำนักงาน ค่าเงินเดือนพนักงานบัญชี เป็นต้น
4) ต้นทุนทางการเงิน อ่านแล้วคงขัดหูสักหน่อย แต่แปลง่ายๆ ต้นทุนตัวนี้คือ ค่าดอกเบี้ยจ่ายนั่นเอง บางกิจการมีการกู้ยืมก็จะมีค่าใช้จ่ายตัวนี้เกิดขึ้น
5) ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (สูงสุดอยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิทางภาษี)
กลุ่ม3: กำไรหรือขาดทุน
กลุ่ม 3 กำไรหรือขาดทุน (Profit or Loss)
กลุ่มสุดท้ายนี้ เป็นผลจากการหักลบกันระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย
ขอสรุปสั้นๆ ง่ายๆ แบบนี้ว่า
ถ้า รายได้ มากกว่า ค่าใช้จ่าย = มีกำไร => ดี
ถ้า รายได้ น้อยกว่า ค่าใช้จ่าย = ขาดทุน => ไม่ดี
** ต้องขอดอกจันทน์ไว้นิดนึงว่า รายได้และค่าใช้จ่ายในที่นี้ หมายถึงรายได้และค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกิจการ ถ้ากิจการไหนเปรียบเทียบออกมาแล้วมีกำไรล่ะก็ถือว่าเจ้าของกิจการบริหารได้ดี มีผลการดำเนินงานที่ดี
ปิดท้ายก่อนจากกัน ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า เราได้อะไรจากการอ่านงบกำไรขาดทุน?
ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดสุดตอนนี้ คงเป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าของกิจการรู้ว่าปัจจุบันสถานะผลประกอบการเป็นอย่างไร
1
และจะเลือกบริหารแบบไหน ให้รายได้เพิ่ม ค่าใช้จ่ายลด เพื่อกำไรในอนาคตนั่นเอง
#zerotoprofit #งบกำไรขาดทุน
โฆษณา