10 มิ.ย. 2021 เวลา 03:00 • สิ่งแวดล้อม
วิกฤตขาดแคลนน้ำ แหล่งน้ำจืดบนเทือกเขาหิมาลัยลดลงจากภาวะโลกร้อน
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่วิกฤตขาดแคลนน้ำในอนาคต - หากเรายังไม่เร่งลงมือทำอะไร
ตามรายงานใหม่ของ UNDP ที่เผยแพร่เมื่อ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว
โดยภายในปี 2100 น้ำแข็งบนเทือกเขาฮินดูกูช-หิมาลัยจะหายไปมากถึงสองในสามจากที่เคยมีอยู่
ถ้าน้ำแข็งหายไปในจำนวนที่ว่า - ผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่และลูกหลานของท่าน จะต้องพบกับวิกฤตขาดแคลนแหล่งน้ำจืดครั้งใหญ่
ในรายงานอ้างถึงผู้คนเกือบสองพันล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินเดีย เนปาล และปากีสถาน จะเผชิญกับวิกฤตน้ำและอาหาร
การละลายน้ำแข็งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงน้ำดื่ม แต่ยังลดปริมาณน้ำสำหรับงานเกษตร - ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในกระบวนการผลิต
และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ การท่องเที่ยว และภาคส่วนอื่นๆ ที่ค้ำจุนและสนับสนุนชีวิตมนุษย์ในพื้นที่ดังกล่าว
ในวันเดียวกันที่ UNDP เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ธนาคารโลกก็ได้เผยแพร่รายงานในประเด็นนี้ออกมาเช่นกัน
โดยได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำแข็งบนเทือกเขาฮินดูกูช-หิมาลัยหายไปเป็นหลัก
รายงานระบุว่าการหายไปของธารน้ำแข็งในภูมิภาคฮินดูกูช-หิมาลัย เป็นผลมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลและชีวมวล
การเผาไหม้เหล่านั้นทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อลอยอยู่ในบรรยากาศมันจะแปลงรังสีจากดวงอาทิตย์ที่เข้ามาเป็นความร้อน และเมื่อเกิดการตกตะกอนบนธารน้ำแข็ง ก็จะลดความสามารถในการสะท้อนความร้อนและทำให้เกิดการหลอมละลายอย่างรุนแรง
การละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาเหล่านี้ยังนำไปสู่การเกิดภัยพิบัติ
เมื่อน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น แหล่งรับน้ำที่เคยทยอยปล่อยน้ำตามสมดุลธรรมชาติอาจรับมวลน้ำที่ละลายลงมาสะสมในจำนวนมากไม่ไหว ก่อให้เกิดเหตุแผ่นดินถล่มอย่างรุนแรง หรืออาจนำไปสู่เหตุน้ำท่วมอย่างฉับพลัน
ยิ่งเมื่อนำมารวมเข้ากับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ความรุนแรงก็อาจทวีผลกระทบอย่างไม่อาจคาดเดาได้
[อ่านบทความ : ความเปราะบางของหิมาลัย ในวันที่สภาพภูมิอากาศกำลังแปรปรวน https://bit.ly/3q4HQy4]
ตามรายงานของธนาคารโลก คาดหวังให้พวกเราช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอนฯ โดยเฉพาะส่วนที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอันดับแรก และต้องทำให้ไว
การกำจัดคาร์บอนฯ ออกจากชั้นบรรยากาศนั้นสามารถทำได้โดยการหยุดปล่อยมลพิษ
เช่น การเพิ่มมาตรฐาน-ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ หรือการเปลี่ยนรถยนต์ดีเซลเป็นไฟฟ้า
ไปจนถึงเรื่องการปล่อยมลพิษโดยเตาเผาอิฐ อุตสาหกรรมและการเผาไหม้เชื้อเพลิงจำพวกไม้และถ่านหิน ซึ่งมีรายงานว่ามีส่วนสร้างคาร์บอนฯ 45-66% ในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม ในรายงานของธนาคารโลกยังให้ความเห็นประกอบอันแสนเศร้าว่า ต่อให้เราลงมือทำทุกอย่างทันที ก็ยังไม่อาจหลีกเลี่ยงความเสียหายได้
ความที่บางสิ่งบางอย่างเป็นปัญหาสะสมมานาน การเพิ่งมาลงมือแก้ไขตอนนี้อาจเป็นเรื่องที่สายเกินไป
อย่างน้อยๆ น้ำแข็งบนเทือกเขาฮินดูกูช-หิมาลัยจะหายไปแน่ๆ 20%
ทางด้านรายงานของ UNDP ก็มีเรื่องน่ากังวล ชวนให้หาผ้าเช็ดหน้ามาซับน้ำตาเพิ่มเช่นกัน
พวกเขาคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจสร้างเลวร้ายกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในบางประเทศที่ยังปรากฎ “ความเหลื่อมล้ำ” ทางสังคมของผู้คน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจไม่สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐาน นโยบาย ที่ไม่ได้เอื้อต่อคนด้อยโอกาส
ชุมชนที่ถูกกีดกันทางเศรษฐกิจ และสังคมจะเสียเปรียบมากหากวิกฤตการขาดแคลนน้ำเกิดขึ้น
การจะแก้ไขปัญหาของเรื่องนี้ จึงอาจต้องทำมากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องมองมิติทางสังคมควบคู่ไปด้วย
อนึ่ง เทือกเขาหิมาลัย การาโกรัม และเทือกเขาฮินดูกูชในเอเชียใต้ มีธารน้ำแข็งเกือบ 55,000 แห่ง ถือเป็นแหล่งเก็บน้ำจืดที่มากกว่าที่ใดๆ ในโลก หากไม่นับขั้วโลกเหนือและใต้
#IsLIFE #Himalayan #Meltingice #ClimateCrisis
อ้างอิง
Photo : Whitworth Images l Getty Images
โฆษณา