10 มิ.ย. 2021 เวลา 10:55 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา เหตุผลที่ Disney+ Hotstar เลือกจับมือกับ AIS
2
เมื่อสองวันก่อน ข่าวที่ทำให้หลายคนสนใจ
คงหนีไม่พ้นการที่ทาง Disney+ Hotstar ประกาศเปิดบริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ซึ่งจะเปิดบริการวันแรกคือ 30 มิถุนายน 2564
โดยจะมีภาพยนตร์กว่า 700 เรื่อง และซีรีส์กว่า 14,000 ตอนให้เรารับชม
คิดอัตราค่าบริการปีละ 799 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 66.58 บาท
แต่ที่ทำให้หลายคนตื่นเต้น กลับเป็นเรื่องของ AIS ที่ประกาศว่าสำหรับลูกค้า AIS
จ่ายค่าบริการ Disney+ Hotstar ถูกกว่าเกือบเท่าตัวคือเดือนละ 35 บาท
เดือนที่ 2 ฟรี จากนั้นเดือนที่ 3 จนถึงเดือนที่ 13 จ่าย 35 บาท เหมือนเดิม
รวมเป็นจ่าย 420 บาท ดูได้ทั้งหมด 13 เดือน
พอเป็นแบบนี้ก็น่าจะทำให้ AIS กลายเป็นผู้ให้บริการ Video Streaming ระดับ Premium
ที่มีราคาเข้าถึงง่ายหากเทียบกับ Video Streaming เจ้าอื่น ๆ
เบื้องหลังของเรื่องนี้ก็น่าจะมาจากการที่ AIS เป็น Operator
และบริษัทไทยเพียงรายเดียวที่ทาง Disney+ Hotstar เลือกเป็นพาร์ตเนอร์
แล้วทำไม AIS ถึงได้เข้าร่วมทำธุรกิจนี้ และสามารถตั้งราคาได้ถูกขนาดนี้
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า Disney+ เปิดบริการแค่ 1 ปีกับ 6 เดือนมีผู้ใช้บริการสูงถึง 103.6 ล้านคน ใน 65 ประเทศทั่วโลก
1
การเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ ก็น่าจะทำให้ Disney+ กลายเป็นผู้ท้าชิงที่สมน้ำสมเนื้อกับ Netflix เจ้าตลาด Video Streaming ของโลก
ส่วนเรื่องที่หลายคนสงสัยว่าทำไม Disney+ ต้องมีคำว่า Hotstar ต่อท้าย
เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปในปี 1992 เมื่อบริษัท Star India ซึ่งก็มีธุรกิจ Video Streaming
ที่ใช้ชื่อว่า Hotstar ได้ทยอยขายหุ้นให้แก่บริษัท Fox จนหมด
Cr. HardwareZone
และก็อย่างที่เรารู้กันก็คือ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว Disney ได้ลงทุนซื้อกิจการ Fox ทั้งหมด
ด้วยมูลค่า 71,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งนั่นก็แปลว่า Hotstar ที่ทำธุรกิจ Video Streaming ก็จะมาอยู่ในมือของ Disney ทันที
เมื่อ Disney+ เข้ามาทำธุรกิจ Video Streaming ในแถบเอเชีย ก็จะใช้ชื่อว่า Disney+ Hotstar อย่างเช่น ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
ความน่าสนใจมันอยู่ตรงประเด็นที่ Disney+ จะทำอย่างไรให้มีสมาชิกได้รวดเร็วที่สุด
คำตอบก็คือ ในหลาย ๆ ประเทศที่ Disney+ เข้าไปทำธุรกิจนั้น Disney+ เลือกที่จะจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
และในประเทศไทย Disney+ ก็ได้เลือก AIS เป็นพาร์ตเนอร์
1
ธรรมชาติของโมเดลธุรกิจที่เป็น Video Streaming คือไม่มีต้นทุนแปรผันตามจำนวนผู้ใช้งาน
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือต่อให้มีผู้ใช้หลักแสนหรือหลักล้านคน
ต้นทุน Disney+ Hotstar ก็ยังเกือบ ๆ จะเท่าเดิม เช่น ค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบ การซื้อคอนเทนต์ ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์
1
สรุปก็คือต่อให้มีลูกค้าน้อยหรือจำนวนมาก ต้นทุนก็เกือบจะคงที่หรือที่เรียกว่า Fixed Cost นั่นเอง
พอเป็นแบบนี้เมื่อ Disney+ Hotstar เข้าไปทำธุรกิจในแต่ละประเทศ
ก็ย่อมต้องการจำนวนฐานสมาชิกให้มากที่สุด และเร็วที่สุด
และการจะทำอย่างนั้นได้ก็คือต้องมองหาบริษัทที่มีฐานลูกค้าจำนวนมหาศาล และมีโครงสร้างธุรกิจที่รองรับ Video Streaming
1
ซึ่งหากคิดจะทำธุรกิจในประเทศไทย ตัวเลือกที่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็น AIS
ปัจจุบัน AIS มีลูกค้าเกือบ 43 ล้านเลขหมาย
และลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง 1.43 ล้านราย
ด้วยฐานลูกค้าจำนวนมหาศาลขนาดนี้ Disney+ Hotstar น่าจะมองว่าหากเป็นพาร์ตเนอร์กับ AIS
พร้อมกับร่วมกันทำราคาที่จับต้องได้ง่าย ในช่วงวิกฤติโควิด 19 เช่นนี้
จำนวนสมาชิกในประเทศไทยก็น่าจะเติบโตรวดเร็วแบบก้าวกระโดด
แม้อีกขาหนึ่ง Disney+ Hotstar จะมีโมเดลธุรกิจเป็นของตัวเองที่ไม่ได้ผูกติดกับ AIS ก็ตาม
1
ส่วนเหตุผลอีกข้อก็น่าจะมาจากคุณภาพสัญญาณของ AIS
อย่าลืมว่าภาพยนตร์และซีรีส์ต่าง ๆ ของ Disney+ Hotstar คือ Full HD 1080p จนถึง 4K
หากคลื่นสัญญาณของ Device ไม่สามารถรองรับคอนเทนต์เหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ก็จะทำให้เสียอรรถรสในการรับชม เช่น ภาพค้าง ภาพกะพริบเป็นจังหวะ
ซึ่งปัจจุบัน AIS ถือเป็น Operator อันดับ 1 ของประเทศ
ที่มีคลื่นมากที่สุดและคุณภาพสัญญาณที่ดีที่สุด
อย่างในปี 2020 ที่ผ่านมา AIS ลงทุนในการพัฒนาเครือข่ายสัญญาณ 4G และ 5G รวมกัน 35,000-45,000 ล้านบาท
สุดท้ายก็น่าจะเป็นเรื่องของความสะดวกสบาย
เพราะการจับมือกับ AIS ทาง Disney+ Hotstar ไม่ต้องวุ่นวายกับการเก็บค่าบริการรายเดือน
ไม่ต้องใช้เงินทำโฆษณาและทำการตลาดเอง และอาจรวมไปถึงไม่ต้องดูแลลูกค้าเองอีกด้วย
Cr. AIS
พอเรื่องเป็นแบบนี้ก็น่าจะ Win-Win ทั้งสองฝ่าย
Disney+ Hotstar น่าจะมีจำนวนสมาชิกเติบโตแบบติดจรวดโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยมากนัก
ส่วนลูกค้าของ AIS ที่ได้สิทธิประโยชน์นี้ ก็ทำให้มีลูกค้าที่จะเปลี่ยนค่ายออกไปน้อยลง ในขณะที่กลุ่มคนที่ต้องการดู Disney+ ก็จะย้ายเข้ามาหา AIS มากขึ้น ทั้งในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบ้าน
เพราะด้วยอัตราค่าบริการ Disney+ Hotstar ที่ถูกกว่าปกติเกือบเท่าตัว
น่าจะทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้บริการค่ายอื่น ๆ ย้ายมาเป็นลูกค้า AIS
1
ส่วนประเด็นที่ว่า AIS เองก็มีธุรกิจ Video Streaming อย่าง AIS PLAY
จะทับซ้อนหรือแย่งชิงลูกค้ากันเองหรือไม่
เท่าที่ดูคอนเทนต์ของ 2 แพลตฟอร์มนี้ AIS PLAY จะมีคอนเทนต์ที่บรรจุอยู่ข้างในเป็นคนละแบบกับ Disney+ Hotstar ซึ่งไม่น่าจะทับซ้อนกัน
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ทำไม AIS ถึงหันมาทำธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบ้าน
สาเหตุก็เพราะการมีฐานลูกค้าอยู่ในมือราว ๆ 60% ของจำนวนประชากรในประเทศ
มันเป็นข้อได้เปรียบที่ไม่มีใครมี และสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ ได้อีก
และการจับมือกับ Disney+ Hotstar ในครั้งนี้ ด้วยราคาแบบนี้
ก็น่าจะเปิดธุรกิจใหม่กับ AIS ให้มีจำนวนสมาชิกแบบก้าวกระโดดตั้งแต่วันแรก..
 
References:
-งานแถลงข่าวออนไลน์ของ AIS
- รายงานประจำปี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
โฆษณา