10 มิ.ย. 2021 เวลา 10:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Ushijima the Loan Shark : จะกู้น้อยกู้มากก็หน้าเลือดเท่าเดิม
2
Ushijima the Loan Shark เป็นละครสัญชาติญี่ปุ่นที่ปรับจากหนังสือการ์ตูน(มังงะ)ในชื่อเดียวกัน ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเกี่ยวกับ “Loan Shark” หรือพวก “ปล่อยกู้เถื่อน” และพอจะเดาได้ว่าเนื้อหาคงไม่พ้นเรื่องเจ้าหนี้หน้าเลือดที่หาทางขูดรีดลูกหนี้แน่นอน
1
ตรงนี้ขอบอกเลยว่าเดาไม่ผิดครับ ละครนี้เป็นเรื่องของ “ฉะโจ” (ประธาน) และทีมงาน “Cow Cow Finance” บริษัทปล่อยกู้เถื่อน สโลแกนของบริษัทนี้ (ไม่เคยพูดตรงๆหรอก ผมเดาเอา) คือ “ไม่มีเงินให้มาหา แต่อย่าเบี้ยวดอกก็แล้วกัน”
ทีมงานนี้ปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยสุดโหด ที่ร้อยละ 50 ภายใน 10 วัน พูดง่ายๆ สมมติถ้าคุณยืมเงินผม 10,000 บาท จะต้องเอาดอกมาให้ 5,000 บาท ในอีก 10 วัน ซึ่งถ้าหากทบส่วนเงินต้นไปก็จะปิดยอดได้ครับ
ดอกเบี้ยโหดจนาดนี้แล้วจะมีคนกู้หรือเนี่ย? คำตอบคือมีครับ
ลูกหนี้มีหลายจำพวกครับ ตั้งแต่พวกที่ติดการพนันเล่นหรือปาจิงโกะ มนุษย์เงินเดือนที่ติดเที่ยวจนใช้จ่ายเกินตัว สาวทำงานกลางคืนที่อยากเอาเงินไปเปย์หนุ่มๆ แม่บ้านที่โดนผู้ชายหลอกเอาเงิน รวมถึงยากูซ่า
1
แม้จะดูต่างพวกกันแต่ก็มีจุดร่วมคือพวกนี้ต้องการเงินและมีเหตุผลที่ไม่สามารถไปกู้ในระบบได้ อาจจะด้วยไม่มีเครดิต หรือ ไม่อยากติดลิสต์เป็นลูกหนี้ในระบบ ส่วนยากูซ่านี่หนักหน่อยเพราะการไปกู้เงินนอกระบบถือว่าเสียชื่อเสียงมาก เอาเป็นว่าส่วนมากเงินที่ขอกู้มักไม่ได้ไปใช้ในกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ หรือสร้างงาน สร้างอาชีพ แต่อย่างใด
ผมมองว่าละครเรื่องนี้ใช้ได้ทีเดียวครับ มีทั้งส่วนที่จบเป็นตอนๆและที่วางพลอตยาวๆควบคู่ไป ดูได้เพลินๆ ไม่ถึงกับตื่นเต้นแต่ก็ไม่น่าเบื่อ
แต่ที่อยากชวนให้คิดคือเรื่องของปรากฏการณ์ กู้-ยืม ซึ่งถ้ามองตามหลักเศรษฐศาสตร์แบบมาร์กซ์ (Marxian economics) การให้กู้เหล่านี้ไม่ได้สร้าง “ผลิตภาพ” หรือศัพท์แบบมาร์กซ์คือ “มูลค่าส่วนเกิน” โดยตรง
เพราะ มูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้นได้ในกิจกรรมที่แรงงานกระทำกับวัตถุจนเกิดเป็น “สินค้า” และถูกนำไป “แลกเปลี่ยน” เพื่อผันแปรมูลค่าเหล่านั้นให้กลายเป็นรายรับและกำไรของผู้ว่าจ้างหรือนายทุน ดังนั้นการให้กู้จึงไม่ใช่กิจกรรมที่มีผลิตภาพเพราะตัวของมันเองไม่ได้ผลิตสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางการเงินไม่ใช่สิ่งที่แยกขาดจากกระบวนการผลิตในภาคเศรษฐกิจจริงครับ จะว่าไปแล้วมันก็เป็นการที่ผู้ให้กู้กระทำตนเป็น “แหล่งเงิน” เพื่อให้สามารถได้รับ “ส่วนเกิน” ในรูปแบบ “ดอกเบี้ย” ต่อไปในอนาคตได้
พอมองแบบนี้ก็เริ่มเห็นภาพแล้วว่าเจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้ขูดรีด “สายตรง” ที่อยู่บนหน้างานการผลิต แต่เป็นผู้ขูดรีด “สายรอง” (subsumed) ที่รอรับส่วนเกินจากกิจกรรมของหนี้ในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งระบบเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะการให้กู้นอกระบบ ระบบการธนาคารทั่วไปก็ทำงานบนหลักการนี้ (โดยเฉพาะสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ)
แต่ส่วน “วิธีการ” ได้มาซึ่งดอกเบี้ยตรงนี้ถือว่าย่อมแตกต่างไปตามโครงสร้างและอุดมการณ์ขององค์กร ถ้าหากเป็นธนาคารปกติ การได้มาซึ่งดอกเบี้ยก็ต้องกระทำตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นการปล่อยกู้นอกระบบก็จะมีวิธีการสร้างสรรค์ (ในเชิงทำลายล้าง) ได้มากมาย
โดยในละครเราจะได้เห็นภาพลูกหนี้ที่แทบหมดสภาพ เพราะไม่สามารถใช้หนี้ได้ทัน เมื่อเป็นแบบนี้ดอกเบี้ยมีแต่จะทับถมงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าทีมงาน Cow Cow Finance ของเราไม่นิ่งเฉยครับ ความน่าทึ่งของทีมงานนี้คือมีเครือข่ายใต้ดินสีเทาและสีดำที่กว้างมาก ทำให้สามารจับลูกหนี้ไปทำงานที่ทำให้พวกเขาสามารถถูก “ขูดรีด” ได้อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งการบังคับให้ไปขอทานข้างถนนจนได้ดอกครบ การบังคับให้ไปทำงานในร้านนวดหรือบางกรณีถึงกับต้องขายตัว รวมถึงการหลอกแกมบังคับให้ลูกหนี้ขายอสังหาริมทรัพย์ หรือให้ลูกหนี้ไปหลอกเอาสินทรัพย์จากผู้อื่นอีกทีหนึ่ง
ที่กล่าวมานี้เป็นวิธีการบางส่วนนะครับ แต่ก็พอจะเห็นภาพได้ว่ากระบวนการขูดรีดอัตราดอกเบี้ยได้เชื่อมโยงกับกระบวนอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกับการผลิตส่วนเกินโดยตรงได้ ถ้าหากบังคับให้ลูกหนี้ไปทำงานในร้านนวดหรือขายตัว
อันนี้มองได้ตรงๆเลยว่าทีมงานได้นำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการสร้างมูลค่าส่วนเกิน (งานบริการทางเพศก็เป็นงานที่สร้างมูลค่าส่วนเกินเช่นกันนะครับ และจริงๆอาจจะถูกจัดพวกในงานแบบ care labor ที่สร้างมูลค่าส่วนเกินทาง “อารมณ์” ด้วย)
การบังคับให้ไปขอทาน อันนี้อาจจะไม่ข้องเกี่ยวกับการผลิตโดยตรง แต่ก็ไม่พ้นต้องไปขอจากคนที่ทำงานมีเงินจนได้ ส่วนการหลอกยึดอสหังหาฯ ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการทำงาน แต่จริงๆแล้วสินทรัพย์เหล่านั้น คือกายภาพที่เกิดจากการที่เราทำงานถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน และนำมูลค่าแรงงานมาสะสมจนเกิดสินทรัพย์
ดูไปแล้วการให้กู้เถื่อนหรือนอกระบบนี่ช่างโหดร้ายนัก แต่ผมอยากจะเสริมว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอ กล่าวคือมันอาจจะโหดร้ายก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องนำพามาซึ่งความโหดร้ายในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขูดรีดเสมอไป
ในละครมีกรณีที่ลูกหนี้ อายุ 35 เข้าไปแล้ว แต่มีดอกเบี้ยทับถมจากการเล่นปาจิงโกะ ไม่ทำการทำงาน เอาเงินไปใช้จ่ายมั่วซั่วไปเรื่อย แถมเกาะพ่อที่อยู่ในบั้นปลายการทำงาน และแม่ที่โดนหลอกให้ลงทุนในหุ้นปลอมๆอีก สุดท้ายไม่รอดทีมงาน Cow Cow Finance ไปได้ครับ ทั้งบ้าน ทั้งหุ้น โดยยึดไปด้วยกระบวนการที่แยบยลมาก (ลองไปดูในเรื่องเองนะครับ) แถมยังมาหักหนี้ไม่หมดต้องตามใช้ดอกกันไปเรื่อยๆ
แต่สิ่งที่ตามมาน่าสนใจคือ เจ้าลูกชายตัวปัญหาดันกลับใจได้ซะงั้น และตั้งใจทำงานที่เป็น “งาน” จริงๆ เพื่อทยอยผ่อนส่งดอกเบี้ย ซึ่งไม่รู้อีกกี่ชาติจะหมด แต่เหมือน ฉะโจ ให้สัญญาใจไว้ว่าจะไม่ชาร์จดอกเบี้ย (แหงดิ มึงยึดบ้าน ยึดหุ้นเค้ามาหมดแล้วนี่หว่า)
นอกจากนี้ผลที่ตามมากลายเป็นครอบครัวได้มาอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันแบบ “ครอบครัว” มากขึ้น เจ้าตัวปัญหาเองก็ดูเหมือนว่าได้ “เติมเต็ม” คุณค่าในชีวิตจากการทำงานเพราะมีคนที่มองเห็นคุณค่าของเขานั่นเอง
ในละครอาจจะดูเว่อร์ไป แต่จริงๆแล้วเราก็พบเห็นสถานการณ์นี้ได้ในโลกความเป็นจริงนะครับ เหมือนที่เคยมีข่าวออกมาว่ามีเจ้าหนี้นอกระบบตามทวงหนี้แบบด่าเสียๆหายๆ จนโดนด่ากันเต็ม social media ไปหมด ทีนี้พอมาคุ้ยข้อเท็จกลับเป็นหนังคนละม้วนเลย กลายเป็นเจ้าหนี้ใจดีซะงั้น เผลอๆควักเงินให้แบบใจสปอร์ตและพร้อมจะช่วยเหลือลูกหนี้ซะด้วย
สำหรับใครที่สนใจลองไปตามดูละคร หรือตามอ่านการ์ตูนดูได้ครับ
ขอบอกก่อนว่าเวอร์ชั่นละครนี่ค่อนข้างเบากว่าในการ์ตูนเยอะ ในละครเรายังเห็นมุมทางบวกจนทำให้ผมมาเล่าอะไรได้บ้าง แต่ถ้าในการ์ตูนล่ะก็จะเล่นกับด้านมืดของมนุษย์เป็นหลักทีเดียว ซึ่งถ้าใครชอบแบบนี้คงไม่ผิดหวัง
เครดิตบทความ :
ผู้เขียน : นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทความได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากผู้เขียนเพื่อเผยแพร่บนเพจหนังหลายมิติ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา