10 มิ.ย. 2021 เวลา 13:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Blockchain: นวัตกรรมแห่งความเชื่อใจที่กำลังจะเปลี่ยนโลก
Blockchain นวัตกรรมแห่งความเชื่อใจ
บล็อกเชน (Blockchain) เป็นนวัตกรรมที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเทคโนโลยีที่กำลังจะมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ หลายคนอาจจะรู้จักเพียงแต่ว่าบล็อกเชนเป็นเพียงเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเกิดขึ้นของคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วตัวของบล็อกเชนเองอย่างเดียวก็เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจและอาจจะกำลังสร้างผลกระทบที่ใหญ่กับเศรษฐกิจ จนถึงขั้นอาจจะเป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดนวัตกรรมหนึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาได้
5
📌 บล็อกเชนคืออะไร?
มีคำอธิบายและเปรียบเทียบความหมายของบล็อกเชนหลายแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงเหมือนกันคือ บล็อกเชนเป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลที่สร้างความเชื่อถือระหว่างกันได้ ในความเห็นของผู้เขียนเองชอบที่จะเปรียบเทียบเทคโนโลยีเหมือนหมู่บ้านที่แต่ละบ้านมีสมุดบันทึกของตัวเอง และเมื่อมีกิจกรรมอะไรระหว่างคนในหมู่บ้านก็จะมีการนำกิจกรรมนี้ไปบันทึกในสมุดของทุกๆ ลูกบ้าน ซึ่งส่วนนี้ก็คือ ผู้คนที่อยู่ในบล็อกเชน โดยมีคนที่คอยทำหน้าที่สอดส่องดูแล และคอยสร้างเข้ารหัสให้กับการจดทะเบียน เหมือนเป็นยามของหมู่บ้าน ซึ่งก็คือ คนที่ขุดคริปโต (Miners) ที่ก็จะได้ผลตอบแทนเมื่อทำหน้าที่สอดส่องของตัวเองได้อย่างดี
6
คำอธิบายแบบง่ายๆ ที่กล่าวข้างบนนี้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมอะไรที่เกิดขึ้นไปแล้วในหมู่บ้านทำได้ยากมากหากไม่ได้รับความยินยอมจากคนที่ทำกิจกรรมนั้น เพราะคนที่จะเปลี่ยนหรือพยายามจะแฮกเข้ามาก็ต้องเข้าไปเปลี่ยนสมุดบันทึกของลูกบ้านพร้อมๆ กันจำนวนมากนั่นเอง แต่ในบทความนี้ เราจะไม่เจาะลึกในเรื่องของเทคนิคไปมากกว่านี้ สิ่งที่เราจะพูดถึงมากกว่าคือแล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนมีจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร? หากต้องอธิบายในประโยคเดียว คำตอบคือ มันได้สร้างความเชื่อใจ (Trust) ให้เกิดขึ้นระหว่างคน
2
การสร้างความเชื่อใจที่เรากล่าวนี้ เกิดขึ้นจากปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีความพยายามในการจัดการกับมันมาอย่างยาวนาน สิ่งนั้นคือ “ปัญหาความไม่แน่นอน” ความไม่แน่นอนที่เรากำลังพูดถึงนี้เกิดขึ้น เมื่อมีเกิดติดต่อทำสัญญาหรือกิจกรรมใดๆ แต่ละฝ่ายดันมีข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจไม่เท่ากัน (Asymmetric information) และก็ทำให้เกิดความไม่เชื่อใจกัน ปัญหาอย่างเธอจะจ่ายเงินให้ฉันจริงไหม ของที่เธอขายจริงไหม ซึ่งถ้าเราไม่เชื่อใจ การค้า ธุรกรรม การแลกเปลี่ยนก็ไม่เกิด
4
ในอดีตไล่มาจนถึงปัจจุบัน วิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาความไม่แน่นอนนี้ คือ การสร้างคนกลางหรือสถาบันขึ้นมาตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันทางกฎหมาย หรือแม้แต่รัฐบาล โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง ดั๊กลาส นอร์ท (Douglass North) ได้ทำการศึกษาและอธิบายบทบาทของคนกลางที่เข้ามาช่วยลดความไม่แน่นอนไว้ อย่างไรก็ดี หน้าที่ของการตรวจสอบผ่านตัวกลางนี้ก็ยังมีต้นทุน ยังกินระยะเวลาที่นาน และถูกกล่าวจากบางคนว่าเป็นการกีดกันคนที่ไม่สามารถเข้าถึงตัวกลางหรือสถาบันเหล่านี้ เช่น คนที่ไม่มีเงินมากพอเปิดบัญชีธนาคาร ออกไปจากระบบเศรษฐกิจ
2
ดั๊กลาส นอร์ท ผู้นิยามบทบาทของ "สถาบัน"
จุดนี้เองคือจุดที่บล็อกเชนเข้ามาช่วยจัดการได้ เพราะการตรวจสอบความจริงผ่านระบบของบล็อกเชนในหลายกิจกรรมสามารถทำได้โดยมีต้นทุนการตรวจสอบที่ต่ำกว่ามาก ยกตัวอย่างการนำไปใช้ เช่น ในประเทศฮอนดูรัส แม้คุณจะมีโฉนดที่ดินของตัวเอง วันดีคืนดีทางรัฐบาลก็อาจจะเดินมาบอกว่าที่ดินนี้ตามระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐบอกว่าไม่ใช่ ที่ดินนี้ก็จะไม่ใช่ที่ดินของคุณแล้ว ซึ่งบล็อกเชนแก้ปัญหานี้ได้ หรือจะเป็นปัญหาการซื้อขายสินทรัพย์ทางปัญญาต่างๆ เช่น วิดีโอ เพลง หรือแม้แต่สิทธิบัตร ในโลกปัจจุบันสามารถทำได้แล้วผ่านการพิสูจน์ตัวตนของผลงานนั้นๆ ผ่านทางบล็อกเชน วิดีโออย่าง “Chalie Bit My Fingers” ที่เคยเป็นหนึ่งในวิดีโอที่มีคนดูมากที่สุดใน Youtube ก็กำลังจะถูกขายออกไป หรือปัญหาการทำธุรกรรมซื้อขายปกติ หรือการโอนเงินข้ามประเทศ บล็อกเชนก็เข้ามาสร้างระบบการตรวจสอบต้นทุนต่ำได้เช่นกัน
5
Blockchain แก้ปัญหาการซื้อขายสินทรัพย์ที่ดิน
คลิปไวรัลชื่อดัง "Charlie Bit My Finger"
อีกหนึ่งข้อดีของบล็อกเชนคือความเป็นส่วนตัว เพราะคุณสามารถเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้นในการทำธุรกรรม ซึ่งจะเพิ่มอำนาจในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้กับตัว ป้องกันการนำข้อมูลของเราไม่ให้ถูกนำไปใช้อย่างไม่เต็มใจ
1
พอเราพูดบล็อกเชน ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีด้วย แต่ต้องขอเกริ่นก่อนว่าเราจะไม่ได้แนะนำว่าควรซื้อหรือขาย แต่เล่าเรื่องและปัจจัยบางประการที่คุณอาจจะควรพิจารณาเมื่อพูดถึงคริปโตเคอร์เรนซี
1
คริปโตเคอร์เรนซี ก็คือตัวกลางหรือบางคนอาจจะเรียกว่าเป็น “เงิน” ที่ใช้ในระบบบล็อกเชน ที่ต้องเน้นคำว่าเงินไว้เพราะว่ามีหลายคนที่ตั้งคำถามว่าคริปโตเป็นเงินจริงหรือเปล่า?
📌 ตามทฤษฎีแล้ว เงินต้องสามารถทำหน้าที่ได้สามอย่าง
1
(1) เป็นตัวกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า (Medium of Exchange)
(2) ใช้เป็นหน่วยวัดมูลค่าได้ (Unit of Account) และ
(3) สามารถเก็บรักษามูลค่าของตัวเองได้ (Store of Value)
หน้าที่ข้อที่ตัวคริปโตมักจะถูกโจมตีเสมอคือข้อที่ 3 เพราะราคาของคริปโตหลายสกุลมีความผันผวนสูงมาก ที่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตัวบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่เป็นคริปโต (Crypto) ที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดก็ราคาตกลงต่ำกว่า 1,000,000 ล้านบาทต่อหนึ่งบิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่ต่ำว่าครึ่งของมูลค่าสูงสุดที่เคยไปถึง อีกหนึ่งคำถามที่มักจะมีคนถามอยู่เสมอคือ มูลค่าที่แท้จริงของคริปโต(Crypto) คืออะไร? เราจะไม่ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่จะขอเล่าเรื่องของเงินที่ใช้กันปกติให้ฟังสั้น ๆ
3
เริ่มแรก มนุษย์แลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรง เธอมีข้าวนำมาแลกกับหมู แต่พอต่อมาเริ่มมีการนำโลหะมีค่ามาเป็นตัวกลางทองแดง ทองคำ ล่วงเลยมาอีกเริ่มมีการนำ “กระดาษมาพิมพ์เป็นเงิน” ที่เรียกกันว่าธนบัตร (Fiat Currencies) ธนบัตรที่สกุลที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกปัจจุบัน อย่างดอลล่าร์สหรัฐฯ เริ่มแรกก็มีการนำทองคำมารับประกันมูลค่าไว้เบื้องหลัง คือใครไม่เชื่อในมูลค่าธนบัตร ก็สามารถนำธนบัตรมาแลกกับทองคำได้ ต่อมาในปีค.ศ. 1971 อเมริกาก็ได้ยกเลิกการใช้การรับรองมูลค่าผ่านทองคำ (The Gold Standard) นี้ ดังนั้นก็พูดได้ว่ามูลค่าของธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของคนเป็นสำคัญ ประกอบกับที่รัฐบาลอเมริกายังรับการจ่ายภาษีและหนี้ผ่านเงินสกุลนี้อยู่ ดังที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอีกท่านอย่าง พอล ครุกแมน (Paul Krugman) ที่เป็นหนึ่งในคนที่ยังสงสัยในคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) บอกไว้ว่า “ที่ธนบัตรเหล่านี้ยังมีมูลค่าอยู่ก็เพราะว่ากลุ่มคนที่มีปืนบอกว่ามันมี (Fiat currencies have underlying value because men with guns say they do)”
5
พอล ครุกแมน มองคริปโตไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่
สิ่งที่คริปโตต้องพิสูจน์ตัวต่อไป คือ
📌 (1) ตัวมันจะสร้างความน่าเชื่อแบบสกุลเงินที่รัฐบาลพิมพ์ออกมาได้ไหม และจะสร้างได้อย่างไร เพราะการพิสูจน์บทบาทของคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นปัจจัยสำคัญว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจมากแค่ไหน คริปโต (Crypto) จะเข้ามาปฏิวัติจนมีบทบาทกระจายทรัพยากรออกไปมากจนถึงขั้นที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรี
📌 หรือ (2) คริปโตจะมีบทบาทสุดท้ายที่เป็น “Stable coin” ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงมูลค่าอยู่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Tether ที่สร้างคริปโตที่อ้างอิงมูลค่ากับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือคริปโตที่อ้างอิงด้วยสินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ น้ำมัน
📌 หรือ (3) คริปโตจะมีบทบาทในฐานะของ Stable coin ที่ออกโดยภาครัฐ ที่เรียกกันว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) โดย CBDC ที่โด่งดังที่สุดในปัจจุบันก็คือ Digital Yuan ของจีน ที่ล่าสุดเปิดทดลองให้คนทั่วไปใช้จำนวน 500,000 คน ซึ่งสกุลเงินนี้อาจจะเป็นใบเบิกทางที่สำคัญที่จะนำพาจีนไปสู่เป้าหมายการเป็นที่หนึ่งในเศรษฐกิจแบบบล็อกเชนแบบที่ตัวเองคาดหวัง และสร้างให้ Yuan กลายเป็นเงินที่ทรงอิทธิพลต่อระบบการเงินโลกมากขึ้น
2
เงินสกุลดิจิทัลหยวน (Digital Yuan)
คำถามเหล่านี้ แต่ละคนย่อมมีคำตอบในใจคิดจากประสบการณ์และเหตุผลของตัวเอง แต่มีเพียง “เวลา” เท่านั้นที่จะบอกได้ว่า คำตอบไหนที่จะเป็นคำตอบที่ถูกของเรื่องบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี
ผู้เขียน: ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
2
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา