10 มิ.ย. 2021 เวลา 15:22 • ประวัติศาสตร์
“หนี้ที่ประชาชนไม่ได้ก่อ
แต่กลับต้องเป็นฝ่ายรับกรรมอย่างแสนสาหัส”
หนี้สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เยอรมนีต้องใช้เวลาถึง 92 ปีในการชดใช้ จนเกิดความทุกข์ยากของประชาชนไปหลายสิบปี
1
หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศเยอรมนีแทบจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่มีใครรู้จักมหาอำนาจในดินแดนยุโรปอีกต่อไป ชาวเยอรมันต้องสูญเสียชีวิตไปกว่า 3 ล้านคน ประเทศถูกบีบให้กลายเป็นสาธารณรัฐแทนระบอบราชาธิปไตยหลังจากการสละราชสมบัติของไคเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ในปี ค.ศ.1918 (ไคเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ลี้ภัยไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ที่นั่นจนเสียชีวิต)
 
ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และอิตาลี ได้ทำสนธิสัญญาหนึ่งขึ้นมาเพื่อเป็นการลงโทษแก่ประเทศที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และกำหนดให้ประเทศเยอรมนีต้องยอมรับผิดในฐานะผู้ก่อสงครามแต่เพียงผู้เดียว และบังคับให้ต้องชดใช้ค่าเสียหาย สนธิสัญญานี้เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “สนธิสัญญาแวร์ซาย”
 
สนธิสัญญาแวร์ซายไม่เพียงแต่ตำหนิประเทศเยอรมนีว่าพวกเขาเป็นต้นเหตุของสงคราม และสร้างความโหดร้ายอย่างน่าสยดสยองเท่านั้น แต่สิ่งน่าขมขื่นสร้างความยากลำบากแก่ประชาชน นั่นคือเงื่อนไขในการยอมจำนนของประเทศเยอรมนี
เพราะในสนธิสัญญาเรียกร้องให้มีการชดใช้ค่าเสียหายทางสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นมูลค่าถึง 1.32 แสนล้านมาร์คทอง หรือประมาณ 2.69 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน (ประมาณ 8.4ล้านล้านบาท)
ที่น่าตกใจ คือประเทศเยอรมนีเพิ่งจะชำระหนี้สงครามโลกครั้งที่ 1 หมดไปเมื่อปีค.ศ.2010 ซึ่งไม่มีใครคาดฝันได้ว่าประเทศเยอรมนีที่เศรษฐกิจอยู่อันดับต้นๆ ของยุโรปอยู่ตลอดจะใช้เวลาชำระหนี้นานถึง 92 ปี
เส้นทางระหว่างการชำระหนี้ครั้งนี้ มันเต็มไปด้วยการล่มสลายทางการเงิน ประชาชนต่างใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ท่ามกลางการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องว่าประเทศเยอรมนีควรชำระหนี้ขนาดนี้หรือไม่ และประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมารับผลกระทบอย่างเลือกไม่ได้ จากการตัดสินใจทำสงครามของผู้นำ
 
วันนี้จะมาเล่าเส้นทางการชำระหนี้สงครามโลกครั้งที่ 1 ของประเทศเยอรมนีให้ฟัง
1
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศเยอรมนีในยุคสาธารณรัฐถูกเปลี่ยนชื่อเป็น”สาธารณรัฐไวมาร์” (Weimarer Republik) ค่าเงินมาร์คทองถูกระงับ และประเทศถูกบังคับให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามด้วยการกู้ยืมแทน
การชดใช้ด้วยการกู้ยืมนี้ยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศตึงเครียดมากขึ้น และทำให้ค่าเงินมาร์คของสาธารณรัฐไวมาร์มีมูลค่าร่วงลงอย่างรุนแรง จนเกิดเป็นเกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงในไม่ช้า
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1923 มูลค่าเงินมีความเฟ้อมาก จนเงิน 42 พันล้านมาร์ค มีค่าเท่ากับเพียงแค่ 1 เซ็นต์ของอเมริกา
 
ด้วยภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ทำให้ประเทศเยอรมนี (ขอเรียกว่าประเทศเยอรมนีแทนสาธารณรัฐไวมาร์เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น) ไม่สามารถจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามได้อีกต่อไป ประเทศเจ้าหนี้จึงทำการประชุมกันเพื่อหาแนวทางที่จะทำให้ประเทศเยอรมนีสามารถชดใช้เงินแก่พวกเขาได้
 
“แผนของดอว์ส” (The Dawes Plan) จึงเกิดขึ้นในปีค.ศ.1924 มันคือแผนการลดหนี้สงครามของประเทศเยอรมนี และบังคับให้ประเทศเยอรมนีต้องใช้สกุลเงินใหม่ แต่การชดใช้ยังคงต้องดำเนินต่อไปโดยไม่มีการขอระงับช่วงเวลาจ่าย โดยประเทศสหรัฐอเมริกาจะให้ประเทศเยอรมนียืมเงินของตน เพื่อมาชดใช้ค่าเสียหายแก่ตนเอง แผนดังกล่าวได้รับการอนุมัติ และถือเป็นชัยชนะของประเทศสหรัฐอเมริกา
3
เงินที่เฟ้อในช่วงนั้น จนคนเอามาเรียงกันแบบไม่มีมูลค่า
ชาลส์ ดอว์ส นายธนาคารเจ้าของไอเดียซึ่งต่อมาได้กลายเป็นรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ภายใต้ประธานาธิบดีจอห์น แคลวิน คูลิดจ์ จูเนียร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ.1925 สำหรับบทบาทของเขาในการเจรจาแผนครั้งนี้
 
แต่อย่างไรก็ตาม 3 ปีต่อมา ประเทศเยอรมนีก็ยังคงประสบปัญหาในการชำระหนี้ “แผนของดอว์ส”ยังคงไร้ประสิทธิผล มันจึงถูกยกเลิกในปีค.ศ.1928 แทนที่ด้วย”แผนของยัง” (The Young Plan)
เด็กๆ เอาเงินมาทำเป็นงานประดิษฐ์กันเป็นจำนวนมาก
”แผนของยัง” คือแผนการลดหนี้สงครามให้กับประเทศเยอรมนี จากเดิม 1.32 แสนล้านมาร์คทอง ให้เหลือเพียง 1.21 แสนล้านมาร์คทอง มันทำให้ประเทศเยอรมนีเริ่มลืมหูลืมตา กลับมามีภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มกระเตื้องขึ้น
แต่ซ้ำร้ายที่ตามมา คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี ค.ศ.1929 มันเป็นเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุด ที่เกิดในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป และเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีก็เริ่มที่จะล่มสลายอีกครั้ง
 
ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ พยายามที่จะป้องกันความล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนี ด้วยสั่งระงับการจ่ายเงินชดเชยในปีค.ศ.1931 เป็นเวลา 1 ปี
ต่อมาผู้แทนฝ่ายพันธมิตรได้ประชุมกันที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพยายามที่จะยกเลิกหนี้สงครามทั้งหมดของประเทศเยอรมนี
แต่ประเทศสหรัฐอเมริกากลับปฏิเสธที่จะลงนามเห็นชอบ สิ่งนี้ทำให้ประเทศเยอรมนีที่กำลังจะรอดพ้นหนี้ทั้งหมด กลับยังคงตกเป็นลูกหนี้ของสงครามที่ตนเองพ่ายแพ้ต่อไป
 
หลังจากนั้นไม่กี่ปี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในปีค.ศ.1933 เขาสั่งยกเลิกการชำระเงินปฏิกรรมสงครามทั้งหมด
1
ฮิตเลอร์ไม่เพียงแต่ไม่จ่าย แต่เขายังสั่งล้มล้างสนธิสัญญาทั้งหมดที่เยอรมนีทำไว้กับประเทศที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1
การกระทำของเขาในครั้งนี้ถูกประชาชนมองว่าเป็นการกระทำของความรักชาติและความกล้าหาญแก่ประเทศเยอรมนี เพราะประชาชนมองว่าการชดใช้หนี้นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของความอัปยศอดสูสร้างความเสียหายแก่ประเทศ
 
ดังนั้นประเทศเยอรมนีในระหว่างการปกครองของฮิตเลอร์จึงไม่ได้ชำระหนี้เลยแม้แต่นิดเดียว
 
แน่นอนว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มันจบลงด้วยฝ่ายของประเทศเยอรมนีเป็นผู้พ่ายแพ้อีกครั้ง จักรวรรดิไรช์ที่ 3 จบลงด้วยการฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์ในเดือนเมษายน ค.ศ.1945 ผู้คนนับล้านต้องพลัดถิ่น ชาวเยอรมันมากถึง 8.8 ล้านคนต้องเสียชีวิต สถาบันส่วนใหญ่ของประเทศเยอรมนีต้องพังทลายลง และประชาชนในประเทศเยอรมนีที่ยังเหลืออยู่ต้องใช้ชีวิตอย่างอดอยาก
 
การชดใช้ค่าเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังไม่จบ ตามมาด้วยการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยฝ่ายพันธมิตร แต่ครั้งนี้ประเทศเยอรมนีไม่ได้จ่ายเป็นเงิน แต่เป็นการชดใช้ด้วยการรื้อถอนทางอุตสาหกรรม การกำจัดทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับใช้แรงงานเชลยศึกชาวเยอรมันหลายล้านคน
5
ชาวเยอรมันกำลังแยกชิ้นส่วนรถถังนอกกรุงเบอร์ลิน ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายเยอรมนี แท้จริงแล้วรถถังคันนี้เป็นรถถังอังกฤษ ที่เยอรมันยึดแล้วใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1
หลังจากการยอมจำนน ประเทศเยอรมนีถูกแบ่งออกเป็น 4 เขตยึดครอง และในปีค.ศ.1949 ประเทศเยอรมนีก็ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก
คำถามคือ เมื่อเยอรมนีกลายเป็นสองประเทศ
แล้วประเทศไหนจะรับภาระหนี้ที่เหลือ?
ในตอนนั้นเยอรมนีตะวันตกกลายเป็นประเทศเดียวที่ออกมาตกลงยอมรับหนี้และพยายามหาทางแก้ไขผ่อนปรนหนี้ทั้งหมด
เยอรมนีตะวันตกถูกตีความว่าพวกเขาเป็นหนี้ทั้งหมด 3 หมื่นล้านมาร์คเยอรมัน และพวกเขากำลังขาดแคลนเงินอย่างรุนแรง
คอนราด อาเดนาวเออร์ นายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนีตะวันตกจึงได้ทำข้อตกลงกับชาติตะวันตกหลายแห่ง และแสงแห่งความหวังก็ได้เกิดขึ้นเมื่อการประชุมที่ลอนดอนในปีค.ศ.1953 ได้อนุมัติให้ยกเลิกหนี้ของเยอรมนีเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง รวมถึงยืดกำหนดเส้นตายในการชำระเงินออกไป
และสิ่งที่ทำให้เยอรมนีตะวันตกกลับมาลืมตาอ้าปากกลับมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง นั่นคือข้อกำหนดที่จะให้เยอรมนีตะวันตกจ่ายหนี้ได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเกิดเกินดุลการค้าแล้วเท่านั้น (เกินดุลการค้า คือมูลค่าส่งออกมากกว่ามูลค่านำเข้า)
 
ส่วนหนี้ที่เหลือที่เยอรมนีเก่าเคยก่อขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 คู่กรณีเห็นพ้องกันว่าในเงินส่วนที่เหลือในจำนวนนั้นจะไม่ต้องจ่ายจนกว่าเยอรมนีจะรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว
 
ต่อมาไม่นาน เยอรมนีตะวันตกก็ได้รับการสนับสนุนจาก”แผนมาร์แชล” ซึ่งส่วนใหญ่คือการบรรเทาภาระการชดใช้หนี้ มันทำให้เยอรมนีตะวันตกเกิดมีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในยุโรป พวกเขาเรียกมันว่า “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ”
1
และสุดท้ายแล้วเยอรมนีตะวันตกก็ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าพวกเขาจะชำระหนี้ที่ถูกตีความไว้จนหมด
 
หลังจากการรวมประเทศในปีค.ศ.1990 ประเทศเยอรมนีก็ค่อยๆ ทยอยปลดหนี้ที่ยังเหลืออยู่ และหนี้ก้อนสุดท้าย ได้ชำระเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.2010 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปีของการรวมประเทศในเยอรมนี จบสิ้นระยะเวลา 92 ปีในการชดใช้ในสิ่งที่คนที่จ่ายไม่ได้ทำเอาไว้
บทความโดย : I’m from Andromeda
โฆษณา