3 เคล็ดลับจากงานวิจัย “คุย” ยังไงให้ลูกฉลาด
เคล็ดลับที่ 1/3
“#ความลับอยู่ที่จำนวนครั้งของการโต้ตอบ!”
คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินกันแล้วว่า “จำนวน”คำศัพท์ที่ลูกได้ยิน ส่งผลต่อความสามารถทางภาษา พ่วงไปถึงความสามารถในการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ เช่นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และแน่นอนความสามารถในการเข้าสังคม
แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจาก Harvard และ MIT พบว่าไม่ใช่ “จำนวนของคำศัพท์” แต่เป็น “จำนวนครั้งของการโต้ตอบ” ต่างหาก เป็นเป็นพระเอกของเรื่องนี้
.
.
ในงานวิจัยนี้ ทีมวิจัยให้คุณพ่อคุณแม่บันทึกเสียงการสนทนาภายในบ้านตั้งแต่ลูกตื่นจนหลับเป็นเวลาเฉลี่ย 8 วัน
จากนั้นใช้โปรแกรมนับ 1) จำนวนครั้งที่พ่อหรือแม่พูด 2) จำนวนครั้งที่ลูกพูด และ 3) จำนวนครั้งของการโต้ตอบระหว่างพ่อ/แม่กับลูก จากนั้นนำจำนวนครั้งเหล่านี้มาหาความสัมพันธ์กับความสามารถทางภาษา และความสามารถในการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ
สิ่งที่ทีมวิจัยพบก็คือ “จำนวนการโต้ตอบ” ระหว่างพ่อแม่ลูกนั้น เป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสามารถทางภาษาและการเรียนรู้ของลูก มากกว่า “จำนวนครั้งที่พ่อหรือแม่พูดฝ่ายเดียว”
นอกจากนี้การทดลองโดยใช้เครื่องสแกนสมองชนิด fMRI (functional Magnetic Resonance Imaging Study) ก็พบผลที่สอดคล้องกันว่า เด็กที่ปกติแล้วที่บ้านมี “จำนวนการโต้ตอบมาก” เมื่อมาฟังนิทานเฉย ๆ เหมือนเด็กคนอื่น ๆ กลับพบว่ามีการทำงานของสมองส่วนการพูดและการสื่อความหมาย (Broca’s area ของสมอง) ที่มากกว่า
การคุยกับลูกแบบที่มีการโต้ตอบแบบนี้ เรียกว่า Back and Forth Conversation
(ในงานวิจัยจะเรียกตัวแปรนี้ว่า conversational turns)
แล้วเราจะสร้าง Back and Forth Conversation กับลูกได้อย่างไรบ้าง
อยู่บ้านโควิด-19 คุยกับลูกจนหมดมุขแล้ว!
โพสนี้มีไอเดียและเทคนิคเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับคุณพ่อคุณแม่นะคะ
.
.
#อ่านนิทานแบบ interactive
ระหว่างอ่านหนังสือให้ลูกฟัง คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกพูดคุยโต้ตอบกันไปด้วย แม้จะเป็นการอ่านนิทานธรรมดา ๆ ก็สามารถทำได้ มีหลายเทคนิกมากค่ะ เช่น
[recognition] ชวนชี้ดูรูปว่าเห็นมั้ย ว่าสัตว์ สิ่งของที่หนังสือพูดถึงอยู่ตรงไหน
[calculation] ชวนนับจำนวนสัตว์ สิ่งของ
[recalling] ชวนคิดถึงประสบการณ์ หรือสถานที่ในชีวิตจริงที่ลูกเคยเจอ
[perspective taking] ถามว่าตัวละครเค้าน่าจะคิดว่าอะไร รู้สึกว่าอะไร
[scenario thinking] ถามคำถาม what if แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นล่ะ อย่างนี้ล่ะ
ระดับพลังงานของคุณพ่อคุณแม่สำหรับกิจกรรมนี้ 3-4/5 คะแนน
Tips: ถ้าลูกตอบคำถามเราไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรนะคะ เราก็ลองใบ้ ลองช่วยตอบ ลองเปลี่ยนคำถาม เราไม่เน้นตอบได้ หรือตอบถูก เราเน้นการได้ชวนเค้าพูดคุยกับเรา เลือกคำถามที่เขาสามารถมี”ส่วนร่วม”กับเราได้ไว้ก่อน
.
.
#ชวนลูกเล่นบทบาทสมมุติ
พอได้ยินคำว่าบทบาทสมมุติ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะรู้สึกว่ายากจัง เพราะว่าคิดไม่ออกว่าจะเล่นอย่างไร บางท่านก็อาจจะกลัวว่าจะคิดเรื่องไม่ออก จริง ๆ แล้วมันมีเคล็ดลับ (อีกแล้ว) ค่ะ
#เคล็ดลับคือ “OWL & F” หรือ Observe, Wait, Listen & Follow your child’s lead
Step 1 Observe
แค่เข้าไปนั่งใกล้ ๆ ลูกตอนที่เค้ากำลังเล่นอะไรอยู่ “สังเกต” ว่าลูกกำลังสนใจอะไร ดูจากสีหน้า ท่าทางว่าลูกกำลังอินกับอะไร กำลังพยายามทำอะไรอยู่
Step 2 Wait
อย่าเพิ่งพูดอะไรนะคะ แค่ ”รอให้ลูกเริ่มก่อน” หาจังหวะสบตา คอยมองหาท่าทีของลูกที่จะชวนเราเข้าไปในโลกของเค้าด้วยค่ะ
Step 3 Listen
พอลูกเริ่มส่งสัญญาณชวนเรา ไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือท่าทาง ให้ “ฟัง” อย่างตั้งใจที่สุด
Step 4 Follow your child’s lead
เมื่อรับสัญญาณชวนแรกของลูกมาแล้ว สิ่งที่ให้ทำทันทีคือการ “โต้ตอบให้ตรงกับเรื่องที่ลูกส่งมา” เช่นถ้าเค้ากำลังต่อบล็อกขึ้นคล้ายจะเป็นตึก แล้วเค้าส่งสัญญาณมาด้วยสายตามองมาที่เรา เราก็ตอบโต้เลย เช่น “ว้าววว ลูกกำลังสร้างตึกใช่ไหมคะ/ครับ” “โอ้โห ตึกสูงมากเลย”
แล้วจากนั้นให้กลับไปที่ Step 1-2-3 OWL ใหม่อีกครั้ง แล้วค่อยตอบโต้ เมื่อลูกส่งสัญญาณมาอีก
การใช้เทคนิค OWL & F “ลูก” จะเป็นผู้ “นำ” คุณพ่อคุณแม่เองค่ะ ความสำคัญจะไม่ใช่การคิดเรื่องราวให้สร้างสรรค์ แต่เป็นการสังเกตและฟังเพื่อค้นหาสิ่งที่ลูกสนใจ แล้วตามเค้าไปมากกว่าค่ะ วิธีนี้จะทำให้เกิด “จำนวนการโต้ตอบ” มหาศาล ช่วยพัฒนาการด้านภาษา และการเรียนรู้อีกมากมายเลย
ระดับพลังงานของคุณพ่อคุณแม่สำหรับกิจกรรมนี้ 3-5+/5 คะแนน
Tips: ช่วงแรกอาจจะรู้สึกฝืน ๆ นิดหน่อย เพราะต้องพึ่งพา step แต่พอทำไปเรื่อย ๆ จังหวะของคุณพ่อคุณแม่กับลูกจะเข้ากันมากขึ้น การเล่นด้วยกัน โดยเฉพาะในลักษณะที่เป็นเรื่องราวบทบาทสมมุติก็จะไหลลื่นขึ้นเอง
.
.
จริง ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกทำกิจกรรมอะไรก็ได้เลยค่ะ เพียงยึดหลักการมี interaction ด้วยการถามคำถามต่าง ๆ เพื่อชวนคิด ชวนคุย
และลองใช้เทคนิก OWL & F กับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นการเล่นบทบาทสมมุติก็ได้ เช่น การทำงานบ้าน การทำอาหารหรือขนมง่าย ๆ
และนี่ก็คือเคล็ดลับแรก จากงานวิจัย “คุย” ยังไงให้ลูกฉลาดนะคะ
คุยแบบที่มีจำนวนการโต้ตอบกับลูกเยอะ ๆ นั่นเองค่ะ
ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีเทคนิกอื่น ๆ ในการหาเรื่องคุยเล่นโต้ตอบกับลูก อย่าลืมมาแชร์ให้เพื่อน ๆ ชาว Pluto Parents ฟังกันด้วยนะคะ
พญ.ขวัญกมล เดขาติวงศ์ ณ อยุธยา (หมอแยม)
Harvard Graduate School of Education
Human Development & Psychology
อ่านเพิ่มเติม
2) แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ Serve and Return Response ของ Harvard’s Center for the Developing Child ซึ่งเป็นที่มาของ OWL+F เว็บไซต์นี้แนะนำมาก ๆ เลยค่ะ แยมเคยเรียนกับอาจารย์ประจำศูนย์นี้ 1 คลาส อาจารย์น่ารัก อินกับเรื่องนี้มาก ๆ และสอนเก่งมาก ๆ นอกจากนี้ center นี้ยังรวมผู้เชี่ยวชาญจากทั้งฝั่งการแพทย์ การศึกษา การออกแบบ และเทคโนโยลีด้วยค่ะ