11 มิ.ย. 2021 เวลา 03:11
ติดตามโลกของการสื่อสารบนอาณาจักรออนไลน์ไปกับ “New Coolture”
หลายคนอาจจะพอเห็นภาพแล้วว่าข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศมีหลายบทบาทหน้าที่ เกี่ยวข้องกับหลายด้าน เข้าไปอยู่เกือบทุกสถานที่ คุยได้กับทุกคนทุกวงการและระดับ ดังนั้น จึงพูดได้ว่า หัวใจสำคัญในงานด้านการทูตก็คือ ‘การสื่อสาร’ อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าอกเข้าใจ ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการเสพสื่อ ที่แปรเปลี่ยนตามยุคสมัย ย่อมเป็นตัวแปรสำคัญด้วย นักการทูตจึงต้องตื่นตัวและพร้อมที่จะ ‘เป็นนักเรียนตลอดชีวิต’ เพื่อเข้าใจและเข้าถึงประชาชนในสิ่งแวดล้อมสังคมวัฒนธรรมใหม่ ๆ และประเด็นใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ล่าสุด กระทรวงฯ ได้ริเริ่มจัดงานเสวนา “New Normal : New Coolture in Digital Age” โดยมีเหล่าจอมยุทธ์ด้านการสื่อสารออนไลน์รุ่นใหม่มาร่วมวงคุยประสบการณ์อย่างตรงไปตรงมาในบรรยากาศเป็นกันเอง
งานเสวนา “New Normal : New Coolture in Digital Age”
ฟังประสบการณ์และแนววิเคราะห์ กระตุ้นต่อมความคิด ด้วยบทเรียนจากงานเสวนา “New Normal : New Coolture in Digital Age” จากกองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ
๔ เพจดัง แชร์ประสบการณ์ สื่อสารอย่างไรให้โดนใจคนรุ่นใหม่
จบไปแล้วสำหรับงานเสวนา “New Normal : New Coolture in Digital Age” ที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์จากเหล่าผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ได้แก่ คุณแท็ป รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของเพจและ Podcast “Mission to the Moon”, คุณมินท์ มณฑล กสานติกุล เจ้าของเพจและช่องยูทูป I Roam Alone, คุณวิศ วิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจ “วิเคราะห์บอลจริงจัง” และ คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์ The Standard
เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ทุกคนล้วนเริ่มต้นจากการนับหนึ่ง จากวันที่มีคนกดไลค์หลักสิบจนกระทั่งถึงวันที่มียอดผู้ติดตามหลักแสนถึงหลักล้าน ทุกคนต่างมีเรื่องราวที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราทุกคน จุดร่วมที่สำคัญที่สุดคือ โลกออนไลน์นั้นเป็น “พื้นที่” ในการปล่อย “ของ” แสดงความคิด ความเห็น ความสนใจ ทัศนคติ และนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจต่างๆ ได้ โดยไม่ต้อง “รอ” ให้โอกาสใดๆ มาถึง แต่ “สร้าง” โอกาสนั้นด้วยตัวเอง ผ่านแพลตฟอร์ม social media ต่างๆ
คุณแท็ป รวิศ หาญอุตสาหะ เริ่มต้นจากการเขียนบล็อคแล้วโพสลงบนเฟซบุค ด้วยเจตนาอยากแชร์ไอเดีย และหาคนมาร่วมงานกับศรีจันทร์สหโอสถ ที่ขณะนั้นยังไม่โด่งดังเป็นเครื่องสำอางค์ขวัญใจสาวน้อยสาวใหญ่อย่างทุกวันนี้ จากวันแรกที่หาคนมาร่วมงานยากเต็มที เขียนอะไรไปก็มีคนกดไลค์ไม่ถึงสิบคน วันนี้ Mission to the Moon มีคนไลค์หลักแสน มีช่องทางสื่อสารหลากหลาย ทั้งเฟซบุค ยูทูป และพอดคาสต์ ศรีจันทร์กลายเป็นแบรนด์เครื่องสำอางค์ที่เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ติดหนึ่งใน ๕๐ บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุด คุณแท็ปกลายเป็นทั้งนักธุรกิจหนุ่ม ผู้นำความคิด และการใช้ชีวิตแบบ super productive ขวัญใจคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากการคิด วิเคราะห์ ศึกษา และเลือกเรื่องราวที่จะนำเสนอ ทั้งเพื่อตอบโจทย์ตัวเองที่จะไม่ยอมตกยุค และตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่อยากจะก้าวไปข้างหน้าในยุคศตวรรษที่ ๒๑
คุณแท็ป รวิศ หาญอุตสาหะ
คุณมินท์ มณฑล กสานติกุล สร้าง I Roam Alone ด้วยความชื่นชอบการเดินทาง และอยากให้การเดินทางเป็นงานประจำที่สร้างรายได้ เธอสร้างโอกาสให้ตัวเองด้วยการออกเดินทางและเขียนบันทึกการเดินทางลงบนเว็บไซต์พันทิป และสร้างเพจของตัวเอง จนกระทั่งไปเตะตาสำนักพิมพ์ ได้ออกหนังสือท่องเที่ยวเล่มแรก จากนั้นลมชีวิตก็พัดพาเธอไปทั่วโลก และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร คุณมินท์บอกว่า คอนเทนต์ของ I Roam Alone นั้นเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในแง่ความสมจริง ให้คนดูได้เห็นในสิ่งที่มินท์ได้พบเจอจริง ๆ ไม่ต้องเน้นภาพสวยอลังการ ใช้โดรนถ่ายจากบนฟ้า แต่เน้นความ “จริง” ระหว่างการเดินทาง “ยิ่งมินท์ลำบาก คนดูยิ่งชอบ” เธอพูดกลั้วหัวเราะ
คุณมินท์ มณฑล กสานติกุล
คุณวิศ วิศรุต สินพงศพร นักข่าวหนุ่มที่มีความฝันแรงกล้าที่จะเป็นคอลัมนิสต์กีฬาชื่อดัง นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในวงการกีฬา แต่โอกาสที่จะได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์กีฬาที่เป็นที่รู้จัก เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก “ผมรอ ๑๐ - ๑๕ ปีไม่ไหว กว่าจะอาวุโสพอจะได้เขียนบทความลงสตาร์ซอคเกอร์” คุณวิศทำให้พวกเราเห็นว่า ถ้าคุณมีของ หาที่ปล่อยมันออกมา คุณวิศใช้เวลานอกเหนือจากงานประจำที่ Workpoint News เขียนบทความลงใน Facebook Fanpage “วิเคราะห์บอลจริงจัง” ซึ่งเป็นเพจที่เขาสร้างขึ้นเพื่อลงบทความวิเคราะห์กีฬาขนาดยาวที่มีเนื้อหาซับซ้อน แต่อธิบายอย่างเรียบง่ายที่สุด
คุณวิศ วิศรุต สินพงศพร
คุณวิศเล่าว่า ปีแรกมีคนติดตามเพียง ๔,๐๐๐ กว่าคน เขาเริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองมาถูกทาง คิดจะเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเป็นบทความสั้น คลิปวีดิโอ หรือ infographic เผื่อจะมีคนมาติดตามมากขึ้น แต่เมื่อสอบถามความเห็นของแฟนเพจกลับพบว่า ทุกคนชื่นชอบบทความยาวๆ แบบที่เขาทำอยู่นี่แหละ คุณวิศจึงมุ่งเป้าทำมันให้ดีที่สุด เลือกที่จะนำเสนอ content ต่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ รู้จักจุดแข็ง รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง แบบที่เขาบอกว่า “คนรักกีฬา ทำไมจะรักการอ่านด้วยไม่ได้ล่ะครับ” จนถึงตอนนี้ เรียกได้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ในวงการกีฬาที่น่าสนใจและต้องการคำอธิบายอย่างละเอียดเมื่อไหร่ละก็ เพจวิเคราะห์บอลจริงจังจะเป็นสิ่งแรกที่คนนึกถึงแน่ๆ
คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการข่าวคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตาที่สุดในยุคนี้ เล่าให้พวกเราฟังว่า เขาเคยทำงานกับสื่อสิ่งพิมพ์และมองว่าอีกไม่นานอาจถึงจุดล่มสลายของวงการสิ่งพิมพ์ จึงเกิดความคิดที่จะก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ คุณเคนรู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ใครล่ะจะเชื่อถือสำนักข่าวน้องใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า ถ้าจะครองใจคนบนสื่อออนไลน์ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และแตกต่าง จึงพยายามหาจุดกึ่งกลาง เน้นให้ The Standard เป็นสำนักข่าวที่เอาความคิดสร้างสรรค์มาผนวกเข้ากับความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าว ช่วงแรกต้องเผชิญกับคำวิจารณ์หนักหน่วงจนต้องทบทวนว่ามาถูกทางหรือยัง เพราะสื่อกระแสหลักมักนำเสนอข่าวประเภท tabloid แต่ The Standard มุ่งเป้าไปที่การนำเสนอข่าวเชิงโครงสร้าง กลับมาคิดวิเคราะห์ทบทวนจนตกผลึกว่า กลุ่มเป้าหมายของ The Standard มี ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มผู้นำทางความคิด (Opinion Leader) และกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Urban Young Adult) จึงตั้งใจเจาะกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะการตลาดแบบ Mass Market น่าจะหมดยุคแล้ว ในอนาคตต่อไปจะเป็น Target Market หรือการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายเท่านั้นจึงจะอยู่รอด ดังนั้น เมื่อกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่กลุ่มคนหมู่มาก The Standard จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างฐานผู้ติดตามพอสมควร แต่ข้อดีของการมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนคือทำให้การนำเสนอข่าวเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องตามกระแสสังคม มีจุดยืนของตนเอง เมื่อรักษามาตรฐานและสื่อสารตรงตามกลุ่มเป้าหมาย The Standard จึงค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก
คุณเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
คุณเคนเห็นว่า ในโลกออนไลน์ การสื่อสารมีความซับซ้อนมากขึ้น แนวทางความคิดกระจัดกระจายเป็น Fragmented World เปรียบโลกมีสองแผ่นดิน แผ่นดินแรกคือ Traditional Media หมายถึงสื่อที่ผู้ส่งสารส่งไปยังผู้รับได้ทางเดียว ผู้รับสารไม่สามารถติดต่อกลับทางตรงไปยังผู้ส่งสารได้ และแผ่นดินที่สอง คือ New Media หมายถึงสื่อที่เอื้อให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารทำหน้าที่ส่งสารและรับสารได้พร้อมกัน เป็นการสื่อสารสองทาง ซึ่ง New Media นี้ค่อย ๆ เติบโตจนกลายมาเป็นสื่อหลักในปัจจุบัน เช่น Facebook, Instragram, Twitter, Line และ Clubhouse เป็นต้น ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มีรูปแบบแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งค่านิยม วัฒนธรรม พฤติกรรมผู้บริโภค คนเล่น Facebook ก็มีพฤติกรรมแบบหนึ่ง คนเล่น Tiktok ก็มีพฤติกรรมอีกแบบ สนใจเรื่องอีกแบบ ดังนั้น การสร้าง content บนโลกออนไลน์จึงจำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างและปรับเปลี่ยนเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องในแต่ละแพลตฟอร์ม ไม่ควรนำเนื้อหาเดียวกันมาใช้ทุกแพลตฟอร์ม เพราะยากที่จะประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ การทำ content ต่าง ๆ ในยุคก่อนหน้า เมื่อนำเสนอไปแล้วไม่สามารถรับ feedback ได้ชัดเจน ต่างจากปัจจุบันที่ feedback แสดงผลได้ชัดเจน และรวดเร็ว (real-time) ดังนั้น นอกจากจะต้องสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ยังจำเป็นอย่างมากที่จะต้องฟังเสียงของคนที่เราสื่อสารด้วยเพื่อนำผลตอบรับมาปรับปรุงเนื้อหาให้ดีกว่าเดิม
คุณเคนเห็นว่า แพลตฟอร์มที่น่าสนใจมากตอนนี้คือ Youtube เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่คนส่วนใหญ่ใช้มากที่สุด และมีความหลากหลายมากที่สุด บวกกับ algorithm ของ application ค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน ไม่ถูกบดบังการมองเห็น ทำให้สามารถนำเสนอตรงไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ ไม่จำเป็นต้องเสียค่าโฆษณาจำนวนมาก
การเปลี่ยนแปลงในยุคโควิด-๑๙ และบทบาทของผู้ผลิต content ในการลดช่องว่างระหว่างวัย
คุณแท็ปเห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคน “Gen Z” และ “Gen Alpha” เป็นกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญ กับค่านิยมทางสังคม (Social Value) อย่างมาก เช่น สิ่งแวดล้อม การเมือง มีความรู้สึกว่า ตัวเองเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) และสามารถใช้สื่อดิจิทัลเข้าถึงมุมมองที่ชาวต่างชาติมีต่อประเทศไทยได้ในแบบที่คนรุ่นก่อน ไม่เคยเห็นมาก่อน คนกลุ่มนี้จึงมีมุมมองและความเข้าใจโลกที่แตกต่างกับคนรุ่นก่อนอย่างสิ้นเชิง
ในช่วงโควิด คนใช้เวลาออนไลน์เยอะขึ้นชัดเจน และยิ่งมากขึ้นไปอีก เมื่อแอปพลิเคชั่น "Clubhouse" ได้รับความนิยม ผู้คนมีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ นานขึ้น อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้คนก็จะเปลี่ยนไปตามความสนใจ ซึ่งอาจเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วมาก
“New Normal : New Coolture in Digital Age”
คุณวิศเห็นว่า ช่วงโควิด ผู้คนมีความจริงจังกับชีวิตมากขึ้นเพราะสูญเสียรายได้ที่เคยมี content เกี่ยวกับคำคมหรือแนวคิดการใช้ชีวิตแบบ “ไลฟ์โค้ช” ใช้คำพูดสวยงามให้กำลังใจกลับไม่ได้รับความสนใจอีกต่อไป ผู้คนหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม และนโยบายของรัฐที่มีผลกระทบกับตัวเอง ซึ่งผู้ผลิต content ต้องปรับตัวให้มีความจริงจังมากขึ้น บวกกับการที่คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงข่าวสารได้รวดเร็วมาก ผู้ผลิต content จะต้องมีเนื้อหาที่แข็งแรง และสามารถตอบคำถามที่คนรุ่นใหม่อยากรู้ได้
คุณเคนคิดว่า โควิดเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลก ความสนใจของคนเปลี่ยนมาเป็นประเด็นใหม่ ๆ เช่น (๑) ความคุ้มค่าในการใช้จ่าย การเงิน และการลงทุน (๒) สุขภาพ (wellness) เช่น บริการด้านสุขภาพ ความสวยความงาม ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ (๓) ค่านิยมทางสังคม (social value) เช่น ความหลากหลายทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ผู้ผลิต content ที่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความสนใจที่เปลี่ยนไปนี้ จะได้ประโยชน์อย่างมาก
ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งคือ ค่านิยมที่ผู้คนยึดถือ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น แต่จุดร่วมประการหนึ่งคือ ทุกคนต่างต้องการความ “จริง” (authentic) มากขึ้น คนต้องการเสพสื่อจากคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง เนื้อหาที่สนใจแตกต่างกันไปตามทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมของแต่ละคน ไม่มีสูตรสำเร็จในการผลิต content ที่จะถูกใจทุกคน ดังนั้น จะต้องชัดเจนว่า ต้องการสื่อสารกับใคร ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูล (data) ในแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความสำคัญอย่างมากเพื่อเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค
ช่องว่างระหว่างวัยเป็นปัญหาสังคมในระดับโลกด้วยค่านิยมที่ยึดถือต่างกัน คนรุ่นเก่าอาจยึดถือสถาบันต่าง ๆ ที่ยึดถือมานาน แต่คนรุ่นใหม่จะเต็มไปด้วยคำถาม เพราะมีการเสพข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล โจทย์สำคัญคือจะต้องมีเจ้าภาพ ที่จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมคนต่างวัยให้มีพื้นที่เดียวกันสำหรับพูดคุย ซึ่งการใช้ Social Media ทำสิ่งนี้ได้ยาก การพบปะพูดคุยกันต่อหน้ายังคงจำเป็น เพราะจะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ (empathy) และเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น สื่อหรือองค์กรอิสระที่มีความเป็นกลางอาจจะสามารถรับบทบาทนี้ได้ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง
หัวใจสำคัญของการลดช่องว่างระหว่างวัยคือ การเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่ว่ามีวิธีคิดอย่างไร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อดิจิทัล แต่เกี่ยวกับวิธีคิดมากกว่า
ขณะที่คุณมินท์เห็นว่า โควิดเป็นโอกาสให้กลับมาทำความเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น ก่อนหน้านี้ที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ อาจทำให้ไม่ได้สนใจเรื่องในประเทศมากนัก แต่เมื่อเกิดโควิด ทุกคนไปไหนไม่ได้ จึงหันกลับมามองประเทศไทย ได้รู้จักประเทศตัวเองมากขึ้น ส่วนตัวยังคงเดินทางเหมือนเดิม ทำงานเหมือนเดิม แต่นำเสนอมุมมองใหม่ๆ และการท่องเที่ยวชุมชน เพราะการท่องเที่ยวมีส่วนช่วยหลายอย่าง จนน่าจะถือได้ว่าเป็นหนทางกระจายรายได้ที่รวดเร็วและง่ายที่สุด content ที่จะทำต่อจากนี้ คือทำให้คนสนใจการเที่ยวใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ต้องรอให้มีเงินมีเวลา หรือต้องไปเมืองนอกเท่านั้น แต่การเที่ยวใกล้บ้านก็สนุกได้ การเดินทางไม่จำเป็นต้องไปที่ใหม่ แต่การมองสิ่งเดิมด้วยมุมมองใหม่ ๆ ก็ถือเป็นการท่องเที่ยวเหมือนกัน
 
คุณมินท์ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อการทำงานของภาครัฐด้วยว่า ช่วงโควิดเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ภาครัฐจะสร้าง content ให้คนไม่ลืมประเทศไทย และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการวางแผนเพื่อรับนักท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ กำหนดจุดขายของประเทศ รวมถึงการวางระเบียบ แนวทางต่าง ๆ ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
“New Normal : New Coolture in Digital Age”
Soft Power ของไทยและการสื่อสารกับสาธารณะ
คุณแท็ปแชร์ความเห็นว่า การจัดอันดับด้าน Soft Power ของนิตยสาร Monocle จัดให้เกาหลีอยู่อันดับหนึ่ง โดยถือเป็นประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จด้านการใช้ Soft Power ซึ่งเกาหลีเริ่มจากความเข้าใจของภาครัฐว่า Soft Power คืออะไร และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม (culture richness) หากจะสร้าง Soft Power ก็ไม่ใช่เรื่องยาก จึงควรเริ่มต้นจากการมีหน่วยงานเจ้าภาพ วางกลยุทธ์ที่จะทำให้ Soft Power เป็นสินค้าส่งออกประเภทหนึ่ง และต้องทำอย่างต่อเนื่อง
คุณวิศคิดว่า ภาครัฐของไทยยังขาดการสนับสนุนเรื่อง Soft Power อย่างจริงจัง แตกต่างกับเกาหลี อีกทั้งนโยบาย
กฎ ระเบียบและขนบธรรมเนียมต่าง ๆ มีส่วนทำให้คนผลิต content ลำบาก และไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถออกไปตีตลาดโลกได้
คุณวิศพูดถึงกระทรวงการต่างประเทศด้วยว่า คนทั่วไปยังไม่ค่อยเข้าใจว่ากระทรวงการต่างประเทศทำอะไร แต่ละหน่วยงานมีบทบาทอย่างไร จึงอาจจะต้องสื่อสารกับสาธารณะให้มากขึ้น รวมทั้งใช้โอกาสและแพลตฟอร์มออนไลน์สื่อสารเชิงรุกกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น การตั้งหัวข้อพูดคุย นำการสนทนา แบ่งปันประสบการณ์เรื่องต่างประเทศใน Clubhouse หรือการร่วมมือกับผู้ทรงอิทธิพลในการสร้าง content ต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น
คุณมินท์เห็นว่า ไทยมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ แต่ขาดหน่วยงานกลางที่จะทำงานต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่ทำให้ขาดความต่อเนื่อง และวัฒนธรรมไทยในปัจจุบันถูกทำให้เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ทำให้การสร้าง Soft Power ทำได้ยาก จึงต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น
จบท้ายที่คุณเคนซึ่งทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า กระทรวงการต่างประเทศควรกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ต้องการสื่อสารกับใคร และคิดว่าผู้ฟังอยากฟังอะไร กระทรวงฯ มีเนื้อหาอะไรด้านการต่างประเทศที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ฟัง ขณะเดียวกันก็ต้องคิดถึงวิธีการนำเสนอด้วยเช่นกัน คนยุคปัจจุบันต้องการ content ที่ไม่เป็นทางการนัก เรียบง่าย เข้าใจง่าย ซึ่งสามารถถ่ายทอดได้หลายรูปแบบ ในหลายแพลตฟอร์ม ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกแพลตฟอร์ม แต่ให้ความสำคัญไปที่ประสิทธิภาพในการสื่อสาร ทั้งนี้ กระทรวงฯ ไม่จำเป็นต้องสื่อสารทุกอย่างด้วยตัวเอง สามารถเป็นหุ้นส่วนกับสื่อ หรือผู้ทรงอิทธิพลด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับ content นั้น ๆ ซึ่งจะเข้าถึงประชาชนที่ติดตามสื่อหรือผู้ทรงอิทธิพลเหล่านั้นได้
คุณเคนคิดว่า ความเข้าใจต่อ Soft Power ของผู้มีอำนาจของไทยยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่พอสมควร น่าจะต้องมาคุยกันครั้งใหญ่ว่า Soft Power ของเราคืออะไร เรามีอะไรดี และอยากสร้างอะไรที่ดี ซึ่งประเด็นนี้จะต้องมีเจ้าภาพที่เข้าใจเรื่องนี้ลึกซึ้งที่สุด และคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องมีงบลงทุนสนับสนุน และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน เพื่อสร้าง Soft Power ให้เป็นสินค้าส่งออกของไทยได้อย่างแท้จริง
“New Normal : New Coolture in Digital Age”
การเสวนาในครั้งนี้เรียกได้ว่า จุดประกายความคิดให้กับผู้ฟังทุกคน บรรยากาศการเสวนาเป็นไปอย่างสบายๆ แต่เนื้อหาใจความเรียกว่าพุ่งตรงหมัดต่อหมัด น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ผ่าน digital platform และก็ไม่แน่ว่า อาจมีใครบางคนได้แรงบันดาลใจจากงานนี้ สร้าง platform ของตัวเอง จนกลายเป็น influencer ชื่อดังคนใหม่ต่อไปก็เป็นได้
โฆษณา