11 มิ.ย. 2021 เวลา 09:51 • ท่องเที่ยว
🏛เมืองหลวงเก่าของจีนที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก🗻
1
กำแพงเมืองประวัติศาสตร์ แต่ที่เห็น สร้างใหม่หมดนะครับ 7.2 กม.
⛈สวัสดียามฟ้าฝนครึ้ม ๆ ครับ ไกด์ปิงไม่ได้พาเที่ยวหลายวันครับ วันนี้แพ็คของส่งหมดแล้วจะพาไปเที่ยวทิพย์กันอีกทีนึงนะครับ
🏛วันนี้เราไปกันที่เมือง "ต้าถง" ตั้งอยู่ในมณฑล ซันซี ถ้ายังจำกันได้ ถึงเมืองโบราณ "ผิงเหยา" ที่ผมเล่าไปก่อนหน้านี้ มณฑลนี้ก็ยังมีสถานที่เก่าแก่ที่สำคัญอีกหลายแห่งทีเดียวครับ สำหรับเมืองต้าถงนี้ หลายคนคงไม่รู้จัก แต่ถ้าเรานึกย้อนไปถึงข่าวเหมืองถ่านหินถล่มในประเทศจีนในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา จนมีคนงานเหมืองติดอยู่ หรือถูกฝังทั้งเป็น เกิดขึ้นที่เมืองนี้เกือบทั้งนั้นครับ เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวมเหมืองถ่านหินที่ใหญ่และมากที่สุดของประเทศจีน ระยะทางจากปักกิ่งมุ่งสู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 350 กม.เดินทางโดยรถยนต์ราว 5 ชั่วโมง 🚃รถไฟธรรมดาราว 6 ชั่วโมง และตอนนี้มีรถไฟด่วน🚄 ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงเองครับ
1
🏛ลองนึกภาพตามว่า เหมืองถ่านหินมากมายหลายแห่งในเมือง ๆ นี้ จนอาชีพหลักของประชากรคือ คนงานเหมืองถ่านหิน ในสมัยก่อนที่ยังไม่ถูกปิดตัวไปหลาย ๆ แห่ง คนงานเหมืองถ่านหินในเมืองนี้มีกว่าสองล้านคน และแต่ละเหมืองก็จะมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลทั้งบนดินและใต้ดิน เทียบกับบ้านเราถ้าใครเคยไปเหมืองแม่เมาะ ก็ประมาณนั้นเลยครับ แต่ด้วยว่าควันจากการเผาถ่านหินเป็นมลพิษ โดยเฉพาะเทคโนโลยีโบราณ ทำให้ทั้งเมืองถูกปกคลุมด้วยควันไฟ และเขม่าสีเทา ๆ ดำ ๆ มลภาวะสูงมาก ทำให้สุขภาพความเป็นอยู่ของประชากรแย่มาก ๆ ภายหลังเหมืองถูกปิดตัวไปมากมาย สิ่งที่มาทดแทนถ้าเราเดินทางโดยทางรถ หรือทางรถไฟในประเทศจีนคือ โซลาร์ฟาร์ม และกังหันลม ที่มีอยู่มากมายทดแทนพลังงานถ่านหิน
🛢ในสารคดี National Geographic กล่าวถึงความตื่นตัวในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ประเทศจีนมีบทบาทมากกว่าสหรัฐอเมริกา ที่คอยโจมตีเสียอีก เพราะขณะที่จีนมีการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาดแบบก้าวกระโดด แต่อีกฝั่งยังเคลื่อนที่แบบช้า ๆ ยกตัวอย่าง เวลาผมเดินทางในเมืองใหญ่ ๆ เราสามารถมองเห็นรถพลังงานไฟฟ้า อย่างเช่น Tesla วิ่งกันกลาดเกลื่อน รวมถึงสกู้ตเตอร์ไฟฟ้า บางทีผมเรียกว่า "มหันตภัยเงียบ" เพราะเค้าขี่กันบนทางจักรยาน บางทีก็ขี่บนทางเท้า(ที่กว้างมากกกก) และเราจะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย บางทีกว่าจะรู้ตัวว่ามีอาหมวย อาตี๋ขี่สกู้ดเตอร์มาใกล้ ๆ พวกก็เสียบเข้าหว่างขาเราเรียบร้อยแล้ว จนต้องขี่ไปบีบแตรไป ไม่งั้นคนเดินถนนก็จะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย พูดถึงเรื่องบีบแตร บ้านเรากลายเป็นสัญญาณเริ่มต้นแห่งการทำสงครามบนท้องถนนไปซะนี่ ในขณะที่ต่างบ้านต่างเมืองเค้าใช้เป็นสัญญาณเตือนกัน และการชาร์จแบตสามารถทำได้ทั่วไป ทั้งตามสถานีบริการน้ำมัน ที่จะมีมุมนึงสำหรับชาร์จไฟโดยเฉพาะ ลานจอดรถตามโรงแรม ยิ่งสำหรับสกู้ตเตอร์ มักจะมีตู้ชาร์จไฟตามหน้าร้านของชำทั่วไป บางเมืองมอเตอร์ไซค์ใช้น้ำมัน ก็กลายเป็นของต้องห้ามไปแล้ว
👨‍👩‍👧‍👦เมื่อรายได้หลักของเมืองนี้ ถูกเปลี่ยนไปจากถ่านหิน เป็นการท่องเที่ยว รัฐบาลท้องถิ่นก็ได้ทำการบูรณะสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เคยมี แต่ถูกทำลายไปในช่วงเปลี่ยนราชวงศ์ และตามกาลเวลา สิ่งนึงที่ตื่นตาตื่นใจผมมากคือ กำแพงเมืองประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 2 ปี คุณอาจจะสงสัยละสิ ว่าผมกำลังพูดถึงอะไร
กำแพงเมืองกลายเป็นไฮไลท์ใหม่ของที่นี่
🏛เนื่องจากสมัยปี ค.ศ.386 ที่นี่ถูกสร้างขึ้นเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์เว่ยเหนือ (ในบรรดาหลาย ๆ ราชวงศ์ในสมัยประวัติศาสตร์จีน บางครั้งชื่อราชวงศ์เหมือนกัน แต่มีคำต่อท้ายเช่น เว่ยเหนือ-ใต้ ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งเมืองหลวง ในช่วงต้น ต้าถงเคยเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์เว่ย เลยเรียกว่า เว่ยเหนือ หลังจากนั้นในปี ค.ศ.534 มีการย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง "ลั่วหยาง" ที่ตั้งอยู่ทิศใต้ เลยเรียกเป็นราชวงศ์ "เว่ยใต้"
เมืองนี้ก็ถูกทิ้งร้าง แต่ในช่วงรุ่งเรือง ได้มีการสร้างกำแพงเมือง พระพุทธรูปแกะสลัพถ้ำผาหิน "ยุหวินกัง" และวัดแขวนหน้าผา "เสวียนกง" ซึ่งผมจะได้มาเล่าในตอนต่อไป
วัดแขวนหน้าผา เสวียนกง อยู่แบบนี้มา 1400 ปีแล้ว
❄หนึ่งในแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองต้าถงคือ กำแพงเมืองเก่า ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ เสร็จเมื่อราวสองปีที่แล้ว ซึ่งความน่าทึ่งคือ เป็นกำแพงเมืองที่สร้างใหม่โดยล้อมรอบบริเวณเมืองเก่าทั้งหมด ไม่ได้สร้างเฉพาะจุด ๆ แต่โดยรอบเป็นระยะทางถึง 7.2 กม. ในตอนค่ำ ณ ลานประตูเมืองด้านใต้จะมีการแสดงแสงสีเสียง พร้อมกับน้ำพุ อย่างอลังการ กลายเป็นลานรวมพลของชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนที่นี่ ซึ่งบอกได้เลยว่าต่างชาติน้อยมาก มีโอกาสสมควรไปเป็นอย่างยิ่ง
ถ้ำหินแกะสลัก ยุหวินกัง 1400 ปีเช่นกัน
❄นอกเหนือจากนั้น นักท่องเที่ยวท้องถิ่นยังสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานในเหมืองถ่านหิน ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินเกือบหนึ่งกิโลเมตร โดยเหมืองบางแห่งที่ปิดตัวลงแล้ว ได้ทำการปรับปรุงสภาพให้ดูสวยงาม สะอาดตาขึ้น แต่ยังคงให้เห็นสภาพการทำงานของชาวเหมืองในสมัยก่อน ให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนชุดเป็นคนงานกำมะลอ แล้วโดยสารลิฟต์ไปตามปล่องลงสู่ใต้ดิน ให้ได้ความรู้สึกร่วมเหมือนตัวเองเป็นคนงาน ประมาณนั้น ก็นับเป็นไอเดียที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะหารายได้จากการท่องเที่ยว แทนที่อุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลภาวะ นอกเหนือจากนั้น ทั่วทั้งเมืองมีการปลูกต้นไม้นับล้าน ๆ ต้น เพื่อฟอกอากาศ และป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน คือพายุทรายจากมองโกเลีย ผมเคยเจอครั้งนึงในกรุงปักกิ่ง ช่วงเดือนพฤษภาคม บอกได้เลยว่า ควันไฟป่าในเชียงใหม่ที่ผมอยู่ถือว่าจิ๊บจ๊อยไปเลยเมื่อเจอพายุทรายเข้า มันลืมหูลืมตาไม่ขึ้น หายใจเข้าไปนี่ได้กลิ่นทรายเต็ม ๆ
☃️น่าจะให้ผู้บริหารบ้านเมืองของเราได้เข้าไปศึกษาดูงานบ้านเขา แบบได้อะไรกลับมานอกจากของฝากและรูปถ่ายกันซะบ้าง แต่คงได้แค่ฝัน ไม่รู้วันนั้นจะเป็นจริงเมื่อไหร่ แต่ยังไง ๆ ผมก็จะกลับมาเล่าสิ่งมหัศจรรย์ทางประวัติศาสตร์อีกสองแห่งของเมืองต้าถง ที่เราไม่ค่อยรู้จักกันนี้ ในตอนต่อไป อย่าลืมติดตามนะครับ ช่วยกดไลค์ กดแชร์ และเสนอคอมเมนท์ให้ไกด์ปิงเป็นกำลังใจด้วยนะครับ ขอบคุณครับ🙏
กำแพงเมืองต้าถงในยามค่ำ , กิจกรรมออกกำลังกายของชาวเมือง และสภาพเส้นทางจากปักกิ่งสู่เมืองต้าถง
โฆษณา