รำลึก 144 ปี “ครูบาเจ้าศรีวิชัย”
11 มิถุนายน ของทุกปี ศรัทธาชาวล้านนารวมถึงคนลำพูนถือเป็นวันครบรอบวันเกิดครูบาเจ้าศรีวิชัย มหาสมณะเจ้า หรือที่คนล้านนาเรียกท่านว่า “ตนบุญ”
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2421 ณ วันอังคารขึ้น 11 ค่ำปีขาล ตรงกับวันที่ 11 มิถุนายน 2421 เวลาพลบค่ำพระอาทิตย์คล้อยลงต่ำ ทันใดนั้นท้องฟ้าที่ใสสว่างกลับวิปริตมืดคลื้ม พายุพัดกระหน่ำพาเอาสายฝนเทลงมา เสียงฟ้าร้องคำราม อสุนีฟาดเปรี้ยงลงมาจนเกิดแผ่นดินไหว ทารกน้อยผู้หนึ่งได้ถือกำเนิดมาในกระท่อมเล็ก ๆ ในชนบทกันดารของหมู่บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ทารกผู้นี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “อินตาเฟือน” หรือ “อ้ายฟ้าร้อง” ตามนิมิตแห่งการเกิด
. เมื่อเยาว์วัยท่านเป็นเด็กเลี้ยงง่ายและอยู่ในโอวาทคำสั่นสอนของบิดามารดาช่วยประกอบสัมมาอาชีวะ ปกติท่านชอบเลี้ยงวัวเลี้ยงควายและรักความสงบตามธรรมชาติป่าเขา เป็นบรรยากาศที่ช่างเหมาะสมกับอุปนิสัยที่จะปลูกฝังโพธิญาณของพระโพธิสัตว์เจ้าโดยแท้
. ครั้นเมื่อท่านอายุได้ 18 ปี เกิดความคิดวิตกขึ้นในใจว่า ชาตินี้เกิดมามีฐานะลำบากยากจน ต้องทรมาณร่างกายด้วยการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพทั้งบิดามารดาและตนเอง ทั้งนี้เพราะบุพกรรมแต่ในอดีตที่มิได้ให้ทานรักษาศีลภาวนา การได้บวชบำเพ็ญภาวนาในพระพุทธศาสนาน่าจะเป็นผลบุญต่อไปในภายภาคหน้า ทั้งยังถือเป็นการตอบแทนพระคุณบิดามารดา ดังนั้นท่านจึงได้ขอลาบิดามารดาไปอยู่วัดบ้านปาง ศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัติยะ หรือ ครูบาแข้งแขะ เพราะท่านเดินขากระแผลก เมื่ออายุได้ 21 ปีจึงได้อุปสมบทที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสม สมฺโณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รับฉายาว่า “สิริวิชโย ภิกขุ” แต่ชาวบ้านจะเรียกท่านว่า “พระศรีวิชัย”
. พระศรีวิชัยได้ศึกษาไสยศาสตร์เวทมนต์คาถาจากครูแข้งแขะ โดยได้ยึดมั่นว่าเป็นของดีของวิเศษที่จะนำความสุขความเจริญมาให้ ท่านยังได้สักหมึกดำที่ขาทั้งสองข้างตามความเชื่อของลูกผู้ชายชาวล้านนาว่าจะช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน ต่อมาครูบาสม สมฺโณ ได้แนะนำให้พระศรีวิชัยไปนมัสการครูบาอุปละที่วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ครูบาอุปละได้เมตตาถ่ายทอดครองวัตรปฏิบัติวิชชาอาคมให้พระศรีวิชัยสมควรแก่ภูมิธรรมเป็นเวลา 1 พรรษา จากนั้นจึงได้กราบลาครูอุปละไปศึกษาต่อกับครูบาวัดดอยคำและกลับมาศึกษาต่อกับครูบาสม สมฺโณ ที่วัดบ้านโฮ่งหลวง การได้ศึกษากับพระอาจารย์ผู้เปี่ยมด้วยภูมิรู้และวัตรปฏิบัติ ทำให้ท่านเกิดความเข้าใจในพุทธศาสนาที่ถูกต้อง มีความมุ่งมั่นปฏิบัติในด้านกัมมัฏฐาน โดยละเลิกความสนใจทางด้านไสยศาสตร์ ด้วยเล็งเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งความหลุดพ้น
.
พระศรีวิชัยกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านปางอีกครั้งและปลีกตัวเองไปอยู่ในเขตอรัญญาวาส บำเพ็ญสมาธิภาวนาด้วยความสงบ ฉันอาหารมื้อเดียว ละเว้นจากการฉันเนื้อสัตว์และเว้นจากของเสพติดเช่น หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง บางครั้งท่านไม่ฉันข้าวนานถึง 5 เดือน ฉันแต่ผักผลไม้ ทำให้ชาวบ้านตลอดจนชาวเขาหลายเผ่าที่อยู่ในแถบนั้นพากันเคารพเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่าน
. พระศรีวิชัย ได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนาโดยแท้ ท่านเป็นผู้นำพัฒนาวัดบ้านปางเป็นแห่งแรก ก่อสร้างปฏิสังขรณ์กุฏิ วิหาร โบสถ์ และให้ชื่ออารามใหม่นี้ว่า “วัดจอมศะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเรียกว่า “วัดบ้านปาง” นอกจากนั้นท่านยังได้ปลูกสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและถาวรวัตถุทางศาสนาอีกหลายสิบวัดในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูน, วัดเชียงยืน, วัดพระพุทธบาทตากผ้า, วัดจามเทวี, วัดพระสิงห์, วัดสวนดอก, วัดศรีโสดา,วัดพระแก้วดอนเต้าลำปาง เป็นต้น
. ผลงานด้านการพัฒนาของท่านเป็นที่รู้จักและยังคงกล่าวขวัญถึงยุคปัจจุบันก็คือ ถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่สมัยนั้นถือได้ว่าเป็นการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนจากทั่วภาคเหนือที่พร้อมใจกันมาสร้างถนนก็ว่าได้ ในสมัยก่อนการจะเดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพต้องเดินเท้าขึ้นไปด้วยความลำบาก ใช้เวลาไม่ต่ำ 4 – 5 ชั่วโมง และการที่จะสร้างถนนขึ้นไปเป็นเรื่องที่ยากเกินจะเป็นไปได้ เพราะต้องใช้ทั้งแรงงานมากมาย เวลาและเงินตรามหาศาล ทั้งสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องจักรที่ทันสมัย รัฐบาลในสมัยนั้นซึ่งมีพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทราบเรื่องจากหลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) จึงได้ส่งนายช่างขึ้นมาทำการสำรวจเส้นทาง ระยะทางทั้งหมด 11.530 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 แล้วเสร็จในวันที่ 30 เมษายน 2478
วันที่ 22 มีนาคม 2481 ขณะที่อายุได้ 60 ปีเศษ ครูบาศรีวิชัยได้ถึงแก่กาลมรณภาพที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดจามเทวี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2489 ตามแบบประเพณีล้านนาไทย