12 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
"Hello อยุธยา!"
รู้จักกับฝรั่งชาติต่าง ๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา นับเป็นยุคทองที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการปกครอง รวมไปถึงด้านการค้า ที่กรุงศรีอยุธยาได้มีโอกาสติดต่อและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ โดยเฉพาะกับชาวยุโรปหรือพวก "ฝรั่ง" ที่ชาวอยุธยารู้จักกัน
โดยในบทความนี้ เราจะขอพาทุกท่านไปทำความรู้กับฝรั่งชาติต่าง ๆ ที่ได้เดินทางมาเข้าในกรุงศรีอยุธยา มาดูกันครับว่าจะมีฝรั่งจากชาติไหนกันบ้าง?
1
• โปรตุเกส | ฝรั่งกลุ่มแรกของอยุธยา
โปรตุเกสคือชาติตะวันตกชาติแรกที่ได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา โดยหลังจากที่โปรตุเกสยึดครองมะละกาในปี 1511 โปรตุเกสก็ได้ส่งคณะราชทูตเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อถวายบรรณาการแก่สมเด็จพระราชาธิบดีที่ 2 (1491-1529) เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส
ชาวโปรตุเกสได้ถ่ายทอดวิทยาการที่ทันสมัยหลายอย่างให้กับชาวอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างป้อมปราการ อาวุธที่ทันสมัยอย่างปืนใหญ่และปืนไฟ รวมไปถึงเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสเฟื่องฟูถึงขีดสุดในสมัยของสมเด็จพระไชยราชา (1534-1546) เมื่อกรุงศรีอยุธยาทำสงครามกับพม่าและล้านนา
1
โดยโปรตุเกสได้ส่งกองทหารอาสา (จริง ๆ แล้วต้องเรียกว่าทหารรับจ้างมากกว่า) เพื่อช่วยเหลือกองทัพอยุธยาในการทำสงคราม ซึ่งทหารอาสาโปรตุเกสก็ได้มีส่วนสำคัญในชัยชนะของกองทัพอยุธยา
หลังเสร็จศึก สมเด็จพระไชยราชาได้ทรงตอบแทนชาวโปรตุเกส โดยการอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสสามารถสร้างสถานีการค้าและชุมชนของตนเอง ในบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ของเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งชุมชนแห่งนี้จะถูกเรียกว่า "ค่ายโปรตุเกส" หรือ "หมู่บ้านโปรตุเกส" ในเวลาต่อมา
1
• ฮอลันดา | เริ่มต้นดี แต่จบไม่สวย
นอกจากโปรตุเกสแล้ว ชาวดัตช์หรือฮอลันดา (Hollanda) ก็เป็นชาติตะวันตกอีกชาติหนึ่งที่ได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน
ฮอลันดาได้เริ่มเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (1590-1605) ในปี 1604
11
ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ (1605-1620) ชาวดัตช์ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าในกรุงศรีอยุธยาได้ ก่อนที่ในปี 1608 สมเด็จพระเอกาทศรถจะทรงส่งคณะราชทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฮอลันดา ซึ่งนับเป็นคณะราชทูตชุดแรกของไทยที่ได้เดินทางไปยังทวีปยุโรป
11
ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฮอลันดารุ่งเรืองถึงขีดสุด ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (1629-1656) ชาวดัตช์ได้สร้างสถานีการค้าและชุมชนของตนในบริเวณเกาะเมืองอยุธยา รู้จักกันในนาม "ห้างวิลันดา" หรือ "หมู่บ้านฮอลันดา"
16
ทว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ต้องมาขาดสะบั้นลงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (1656-1688) อันเป็นผลพวงจากการที่ญี่ปุ่นประกาศปิดประเทศในช่วงเวลานั้น
1
กล่าวคือฮอลันดาได้ประกาศเป็นตัวกลางในการค้าระหว่างกรุงศรีอยุธยากับญี่ปุ่น แต่ปรากฏว่าทางกรุงศรีอยุธยาสามารถค้าขายกับญี่ปุ่นได้ผ่านทางจีน ทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาฮอลันดา
3
ฮอลันดาจึงไม่พอใจเป็นอย่างมาก ฮอลันดาจึงประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงศรีอยุธยาและส่งเรือรบปิดล้อมอ่าวไทยในปี 1664
1
แต่สุดท้ายเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยุติลงโดยที่ไม่มีการสู้รบเกิดขึ้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฮอลันดาก็ไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้อีกเลย
2
• อังกฤษ | ล้มเหลวในอยุธยา
อังกฤษได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับทางฮอลันดา โดยในช่วงเวลานั้น (ราวศตวรรษที่ 16-17) อังกฤษยังไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหมือนในช่วงศตวรรษที่ 18-19 แบบที่เรารู้จักกัน
1
อังกฤษได้ย้ายสำนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) จากกัมพูชาเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่ทว่าการค้าของอังกฤษในกรุงศรีอยุธยากลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จนถึงขั้นที่อังกฤษได้ประกาศปิดกิจการบริษัทอินเดียตะวันออกในกรุงศรีอยุธยา
1
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (1611-1628) อังกฤษได้พยายามฟื้นฟูการค้ากับทางกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอีก สุดท้ายอังกฤษจึงได้ถอนตัวจากการค้ากับกรุงศรีอยุธยา และหันไปทุ่มเทกับการสร้างสถานีการค้าในอินเดีย รวมไปถึงแสวงหาดินแดนอาณานิคมในทวีปอเมริกาแทน
• ฝรั่งเศส | มิตรแท้ที่คู่ควร (หรือเปล่า?)
ผลพวงจากการที่กรุงศรีอยุธยาถูกฮอลันดาส่งเรือรบปิดล้อมอ่าวไทย ทำให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำเป็นต้องหามิตรชาวยุโรปกลุ่มใหม่ ที่จะเข้ามาคานอำนาจกับฮอลันดา และเจริญสัมพันธไมตรีกับทางกรุงศรีอยุธยาด้วย ซึ่งหวยก็ตกลงมาที่ฝรั่งเศสนั่นเอง
2
ฝรั่งเศสนับเป็นชาติตะวันตกชาติท้าย ๆ ที่ได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา รวมไปถึงในทวีปเอเชีย
ในปี 1662 คณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้เดินทางเข้าในกรุงศรีอยุธยา คณะบาทหลวงเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเผยแพร่ศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ยังได้ถ่ายทอดวิทยาการสำคัญให้กับกรุงศรีอยุธยา อย่างการจัดโรงเรียนแบบตะวันตก การรักษาโรคแบบสมัยใหม่ รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารแบบตะวันตกอีกด้วย
ในปี 1686 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (Louis XIV of France) ได้ส่งคณะราชทูตชุดแรกเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาภายใต้การนำของ เชอวาลิเย เดอ โชมองต์ โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ทรงต้อนรับคณะราชทูตฝรั่งเศสด้วยความใหญ่โตสมเกียรติ
1
และเมื่อคณะราชทูตฝรั่งเศสจะเดินกลับประเทศ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ทรงส่งคณะราชทูตของกรุงศรีอยุธยา ให้เดินทางไปยังฝรั่งเศสพร้อมกับคณะราชทูตฝรั่งเศสด้วย
ซึ่งคณะราชทูตของไทยภายใต้การนำของโกษาปานก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ด้วย
3
แต่สุดท้ายความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะดีเยี่ยมระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส ก็ต้องมลายหายสิ้นภายในไม่กี่ปีต่อมา อันเป็นผลพวงจากการที่กองทหารฝรั่งเศสของนายพลเดส์ฟาร์จ ได้เข้ามามีอิทธิพลอยู่ในกรุงศรีอยุธยา โดยการกุมกำลังไว้ที่เมืองมะริดและเมืองบางกอก
รวมไปถึงกลุ่มคนไทยภายใต้การนำของพระเพทราชา เกิดความระแวงว่าออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กำลังวางแผนกับกองกำลังฝรั่งเศสของนายพลเดส์ฟาร์จในการยึดอำนาจในกรุงศรีอยุธยา
ผลสุดท้ายก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะสวรรคตในปี 1688 พระเพทราชาก็ประกาศรัฐประหารยึดอำนาจ และนำกำลังคนไทยสู้รบขับไล่กองกำลังฝรั่งเศสให้ออกไปจากกรุงศรีอยุธยา การขึ้นสู่อำนาจของพระเพทราชา คือจุดสิ้นสุดความสัมพันธ์ของกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศสไปโดยปริยาย
1
*** Reference
- หนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์ สังคม | จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex
เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ สำนักพิมพ์มติชน
- สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับเสริมการเรียนรู้เล่มที่ 3
#HistofunDeluxe
โฆษณา